Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน 'เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ' เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา ประกอบด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.) เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PNYS) ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน "เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

ช่วงเช้า มีการเสวนา ภายใต้หัวข้อ "เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น: บทเรียนจากตากใบ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง" และตอนบ่ายมีการแสดงกิจกรรมด้านหน้าที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารไปยังสังคมโลกว่า “ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมานั้น คนมลายูปาตานีถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมสยามหรือรัฐไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์ตากใบเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยนั้น ประชาชนจะไม่มีวันได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงแน่นอน”

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา  อดีตแกนนำนักศึกษาชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี 2550 กล่าวว่า

เหตุการณ์ตากใบนั้นเป็นบทเรียนและบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีท่าที่ต่อสิทธิเสรีภาพ ต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างหวาดระแวงไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่ตากใบถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตด้วยวาทกรรมที่ชนชั้นปกครองแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ กล่าวหาว่าพี่น้องตากใบเป็นโจรไม่ใช่ประชาชน

และเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนเหมือนกันอีกว่า วิถีการต่อสู้ของประชาชนในการตอบโจทย์การกำหนดชะตากรรมชองตนเองในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตาม หตุการณ์ตากใบนั้นก็เป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เป็นการก่อจลาจล ก่อสงครามกลางเมืองแต่อย่างใด แต่ด้วยวิธีการชุมนุมที่ไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือแกนนำและไม่มีความชัดเจนในเจตจำนงของการชุมนุม จึงตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสี จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นปกครองกล้าที่จะตัดสินใจทำร้ายพี่น้องตากใบ โดยอาศัยความเชื่อของประชาชนที่ถูกปลุกปั่น

ดังนั้นบทเรียนตากใบเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมทั่วโลก ว่าจะทำอย่างไรที่จะป้องกันและสกัดกั้นไม่ไห้อำนาจเผด็จการซ่อนรูป ไม่สามารถทำร้ายหรือฆ่าประชาชน ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนจริงๆ

“ถ้าชนชั้นปกครองสร้างอาชญากรรมต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิต ดังเช่นเหตุการณ์ตากใบต่อไปในอนาคต หากประชาชนตอบโต้กลับ ประชาชนจะมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน”

ตูแวดานียา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางรูปธรรมที่จะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานีนั้น “กลไกการเมืองโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ต้องเข้ามามีบทบาท ชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นั่นก็คือการทำประชามติฟังเสียงประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมตนเอง เหมือนกับประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกหรือประชาชนชาวซูดานใต้”

ตูแวดานียา ได้อ้างถึง มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมต่างๆ ประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ(Minority Groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ และในกรณีของหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ส่วน นายวิศรุต บุญยา ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนมองว่า การชุมนุมที่ตากใบเป็นการชุมนุมของประชาชน และการชุมนุมก็เป็นแนวทางการต่อสู้ที่สันติที่สุด จะด้วย อย่างไรก็ตาม แม้นว่าผู้ชุมนุมจะนิ่งเงียบ ไม่ตอบคำถาม หรือไม่ยอมสื่อสาร การชุมนุมก็ย่อมชอบธรรม และถ้าเกิดการสื่อสารไม่เข้าใจแล้ว ก็เป็นเพราะการขาดประสิทธิภาพและความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ชนชั้นปกครองไทยชั้นบนสุดนั้นไม่ใช่รัฐบาล ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจในการจัดการกับปัญหาถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังต้องยอมให้กับแนวทางของกองทัพอย่างชัดเจน นั่นจึงชี้ว่า มันมีอำนาจเหนืออยู่จริง  เหตุการณ์ตากใบจึงสรุปไม่ได้ว่า ผู้ที่เป็นนายกฯต้องมารับผิดชอบ และเราจะเห็นว่า เหตุการณ์ตากใบก็เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโค่นรัฐบาลทักษิณเช่นกัน

แน่นอน ปัจจุบันชนชั้นปกครองซ่อนรูปเผด็จการนั้นให้เงินเยียวยา โดยให้ความหมายว่าให้ความเป็นธรรม แต่กลายเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศต้องแบกรับ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ กระนั้นก็ตาม นั่นก็ยังไม่ใช่ความเป็นธรรม เพราะบางทีอาจเป็นเรื่องของการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองก็เป็นได้ และเงินจำนวน 7.5 ล้าน ก็ไม่เท่ากับค่าของชีวิตของคนๆ หนึ่ง

วิศรุต มองว่า เหตุการณ์ตากใบ ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐและชนชั้นปกครองขาดความชอบธรรมในการปกครอง เพราะหวาดระแวงต่อประชาชน และออกมาปิดกั้นการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน หมายความว่าชนชั้นปกครองไม่กล้าที่จะให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย

การที่จะพูดถึงสันติภาพหรือประชามตินั้น จำเป็นที่จะต้องลดอำนาจและจำนวนเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงการที่ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ เสียก่อน ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพแล้ว การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่คิดต่างจากรัฐ จะยังคงถูกมองว่าเป็นโจรเสมอ

แน่นอน ประชาธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชน ประชาชนปาตานีจึงมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อยู่แล้ว มีสิทธิที่จะปกครองตนเอง จะด้วยโมเดลอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องฟังเสียงของประชาชนปาตานี และทุกภาคส่วนจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ในแนวทางการเมืองอย่างสันติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net