ประวัติศาสตร์ฉบับย่อว่าด้วยการเลิกทาสและไพร่สยาม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จำได้ว่าในช่วงชั้นมัธยมต้น เมื่อใดที่วันปิยมหาราชเวียนมาถึง บรรดาคุณครูวิชาสังคมมักตักเตือนให้นักเรียนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ห้าในการยกเลิกระบบไพร่และทาส โดยเน้นว่าเป็นการค่อยๆ ยกเลิกทีละขั้นทีละตอน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อ ดังเช่นที่เกิดกับประเทศอเมริกา ซึ่งการเลิกระบบทาสทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ผมและเพื่อนๆ ก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมานาน จนกระทั่งได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ ‘ป่าเถื่อน’ มาก เนื่องจากข้อสมมุติแรกสุดของวิชานี้เริ่มต้นโดยถือว่า มนุษย์ทุกคนเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ในความหมายว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ นั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง ศีลธรรมจึงไม่มีที่ทางในวิชานี้

David Feeny นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเสนอว่า เราควรจะเข้าใจเรื่องนี้ภายใต้บริบทใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงของยุครัชกาลที่ห้าในสามประเด็นคือ การขยายตัวของการค้าและระบบตลาด, ความขัดแย้งระหว่างกษัตรย์และขุนนางในการควบคุมแรงงาน, และการปฏิรูปเพื่อรวมศูนย์อำนาจรัฐเข้าสู่กรุงเทพฯ

ภายหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี พ.ศ. 2398 แล้ว การค้าระหว่างประเทศของสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่เส้นทางเดินเรือกลไฟระหว่างจีนตอนใต้กับสยามทำให้มีแรงงานจีนอพยพเข้าสู่กรุงเทพมหาศาล เนื่องจากมีค่าแรงสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเพิ่มขึ้นของกรรมกรจีนซึ่งเป็นแรงงานรับจ้าง ไม่ใช่แรงงานไพร่ที่ถูกเกณฑ์และบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน (ซ้ำยังต้องเตรียมเสบียงกรังมาเองสำหรับใช้ในช่วงที่ถูกเกณฑ์ด้วย) ย่อมมีแรงจูงใจที่จะทำงานมากกว่าไพร่

ดังนั้น มันจึงคุ้มค่ากว่าที่ผู้ปกครองจะจ้างกรรมกรจีนให้ทำงานแทนการบังคับใช้แรงงานจากไพร่ ผู้ปกครองจึงเริ่มอนุญาตให้ไพร่จ่ายเงินทดแทนการเกณฑ์แรงงานได้ แต่พวกไพร่ๆ จะไปหาเงินจากไหนมาจ่าย หากระบบเศรษฐกิจการตลาดและการหมุนเวียนของเงินตรายังไม่ขยายตัว คำตอบคือการขยายตัวของการส่งออกข้าวหลังสัญญาเบาว์ริ่ง พูดอีกแบบคือ พวกไพร่เมื่อไม่ต้องถูกบังคับใช้แรงงานแล้วจึงหันไปปลูกข้าวขาย เอาเงินมาจ่ายให้ผู้ปกครองแทนการเกณฑ์แรงงาน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2413 ต้นรัชการที่ 5 ไพร่หลวงต้องจ่ายเงิน 9-12 บาทแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน และลดลงเหลือ 6 บาทต่อปีในช่วง พ.ศ. 2440-2441 ต่อมาจึงยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่ หันมาเก็บภาษีรัชชูปการแทน (ภาษีต่อหัวที่สามัญชนทุกคนต้องจ่ายรายปี–poll tax) ในปี 2442 รวมทั้งออกกฎหมายเกณฑ์ทหารในสามปีถัดมา เป็นอันว่าภาษีรัชชูปการและการเกณฑ์ทหารจึงมาแทนการทำงานของระบบไพร่เมื่อร้อยปีเศษมานี่เอง

ส่วนเรื่องการคานอำนาจระหว่างกษัตรย์และขุนนางในการควบคุมแรงงานนั้น การอนุญาตให้จ่ายเงินแทนการใช้แรงงานไพร่ทำให้กษัตริย์ได้ประโยชน์ในขณะที่พวกขุนนางเสียประโยชน์ เพราะเงินที่ได้จากไพร่ไปสู่กษัตริย์มากกว่า ในขณะที่พวกขุนนางก็ไม่สามารถใช้แรงงานและควบคุมไพร่ที่จ่ายเงินได้อีกต่อไป อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ความสามารถในการควบคุมไพร่และทาสของขุนนางนั้น เป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของขุนนางต่อกษัตริย์สยามมาแต่ไหนแต่ไร การปฏิรูประบบไพร่นี้จึงเป็นการลดทอนอำนาจของขุนนางโดยตรง ซึ่งก็คือหนึ่งในมาตรการปฏิรูปการปกครองของ ร.5 เพื่อรวมศูนย์อำนาจรัฐจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพ และจากขุนนางในกรุงเทพฯ เข้าตัวกษัตริย์เอง

การค่อยๆ ยกเลิกระบบทาสก็เกิดขึ้นในบริบทเดียวกันนี้เอง เช่นเดียวกับไพร่ จำนวนทาสที่อยู่ใต้การควบคุมของขุนนางก็คือฐานอำนาจของขุนนาง ประเด็นหลักของการค่อยๆ ยกเลิกซึ่งกินเวลากว่า 41 ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ ก็เพื่อที่จะลดแรงต้านทานของพวกขุนนาง อีกเหตุผลหนึ่งที่หนุนส่งให้การค่อยๆ ยกเลิกไม่ถูกต่อต้านจากขุนนางมากนักก็คือ การที่ราคาที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่งนา มีมูลค่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าของทาส เนื่องจากการเฟื่องฟูของการส่งออกข้าวหลังสัญญาเบาว์ริ่ง

ดังนั้น พวกขุนนางและชนชั้นสูงจึงหันไปพัฒนาที่ดิน หรือถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร (เช่น การขอสัมปทานขุดคลองรังสิตของตระกูลบุนนาค) แทนที่จะถือครองทาสไว้ในฐานะทรัพย์สินเช่นในอดีต พร้อมๆ กับการที่รัฐสยามก็ค่อยๆ ยอมรับกรรมสิทธิ์ของเอกชนในการถือครองที่ดินมากขึ้น

แม้อาจจจะมองได้ว่า บางมุมของแรงจูงใจในการเลิกทาสนั้น ไม่ใช่เป็นเหตุผลเชิงผลประโยชน์เสียทั้งหมด แต่อาจเป็นเหตุผลเชิงศีลธรรม เช่น การที่รัชกาลที่ 5 เคยให้เหตุผลว่า การบังคับให้เด็กที่เกิดจากทาสต้องตกเป็นทาสด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเด็กแรกเกิดย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่สมควรที่จะต้องรับกรรมที่ผู้ให้กำเนิดเป็นผู้ก่อไปด้วย (สาเหตุการตกเป็นทาสมีสองเหตุใหญ่คือ จากการขายตัวเองลงเป็นทาสเพื่อชำระหนี้ หรือถูกวาดต้อนมาจากบ้านเมืองอื่น เมื่อเมืองนั้นแพ้สงคราม)

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจแรงจูงใจเชิงศีลธรรมนี้ในภาพกว้างด้วย กล่าวคือ หากสยามต้องการได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืน ซึ่งสูญเสียไปเมื่อครั้งเซ็นสัญญาเบาว์ริ่ง สยามมีภาระต้องแก้ระบบกฎหมายภายในประเทศให้เป็น ‘อารยะ’ ในสายตาของตะวันตกเสียก่อน แต่บรรยายกาศขณะนั้น ความเป็นอารยะหมายถึงสังคมที่ปราศจากทาสด้วย แต่กว่าที่ระบบทาสจะหมดสิ้นไปจากสยามในขอบเขตทั่วประเทศก็ล่วงเข้าปี 2458 หรือยุครัชกาลที่ 6 แล้ว และกว่าที่สยามจะได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมาทั้งหมดก็เมื่อล่วงเข้ายุคคณะราษฎรหลัง พ.ศ. 2475

โดยสรุป แม้ว่าระบบไพร่และทาสที่ถูกกฎหมายจะหมดสิ้นไปจากสยามในรัชกาลที่ 6 แต่กว่าที่ภาษีรัชชูปการ ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นไพร่ จะถูกกำจัดไปก็หลังปี 2481 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีการสถาปนาประมวลรัษฎากรขึ้นใช้แทน ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม โดยกำหนดให้ผู้มีรายได้มากเสียภาษีมาก ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย

ในโอกาส 80 ปี การปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 อยากเตือนผู้ลืมเลือนว่า หากไม่มี 2475 เราอาจต้องจ่ายภาษีรัชชูปการอยู่ทุกปีก็ได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Feeny, D. (1989) “The Decline of Property Rights in Man in Thailand, 1800-1913” The Journal of Economic History, Vol. 49, No.2., pp.285-296.

 

ที่มา: ไทยพับลิก้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท