Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผู้เขียนกลับมานั่งอ่านบทความของตนเองที่เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ “มุมมองบ้านสามย่าน” อีกครั้ง เมื่อบทความเหล่านี้ถูกรวบรวมเข้าด้วยกันเพื่อเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือออนไลน์ โดยสำนักพิมพ์ประชาไท ผู้เขียนเองเพิ่งได้สังเกตว่าบทความชิ้นที่เก่าที่สุดถูกเขียนเอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2551 หรือเกือบ 4 ปีที่แล้ว

นอกจากความผิดพลาดด้านภาษาที่ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ในการพิมพ์ครั้งแรกและความตื้นเขินของการวิเคราะห์ที่เกิดจากความเร่งด่วนในการรีบส่งต้นฉบับบางตอนแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการกลับไปอ่านบทความเหล่านี้ช่วยให้ตนเองได้พบข้อสังเกต 2-3 ประการ
 
ในฐานะที่บทความเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นสนองตอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น การอ่านบทความเหล่านี้อาจมีคุณค่าอยู่บ้างในแง่ของการสังเกตการณ์แนวโน้มเชิงประวัติศาสตร์ของวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตเชิงคุณค่าของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นในกึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่มีแกนกลางคือ ระบบทุนนิยมเสรีแบบอเมริกัน ข้อสังเกตประการแรกก็คือ คำกล่าวที่ว่า “เป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลกมากกว่าการจินตนาการถึงจุดจบหรือทางออกจากระบบทุนนิยม” มีความจริงอยู่ไม่น้อย

ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นจากวิกฤตซับไพรม์ในปี 2550-2551 นั้นจะส่งผลกระทบรุนแรงเพียงใด และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและความพยายามในการทบทวนข้อผิดพลาดและปัญหาของกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาในระดับไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็ทำให้เห็นว่าระบบทุนนิยมได้ฝังรากลึกในสังคมจนถึงขนาดทำให้จินตนาการที่จะนึกถึงทางเลือกอื่นนั้นเป็นไปได้ยากมาก

หากผู้อ่านจะถามหาสาเหตุหรือรากเหง้าของจินตนาการที่จำกัดนี้ บทความหลายชิ้นคงได้สะท้อนคำตอบในตัวเองว่า ตามความเห็นของผู้เขียน มาจากวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบที่เรียนและสอนกันอยู่ในปัจจุบันเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การสร้างความเป็นนักวิชาชีพให้กับนักเศรษฐศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญทำให้พวกเขาได้ผูกขาดการเสนอ “ความจริง” เรื่องเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจตลอดมา

ในแง่หนึ่ง บทความชุดนี้จึงมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือ พยายามตั้งคำถามกับการครอบงำของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นวาทกรรมหลักของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism)

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการครอบงำเชิงอุดมการณ์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะเกิดขึ้นอย่างหมดจดหรือปราศจากการต่อต้านโดยสิ้นเชิง การติดตามประวัติศาสตร์ของวิกฤตทุนนิยม โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ช่วยให้ผู้เขียนค้นพบว่า คนกลุ่มที่มองเห็นถึงปัญหาของระบบทุนนิยม รวมทั้งกลุ่มคนที่มีจินตนาการเกี่ยวกับทางเลือกของระบบทุนนิยมมีปรากฏอยู่ไม่น้อย หากแต่พวกเขามักไม่มีเสียงดังเพียงพอในระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ฝ่ายทุนและรัฐทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการผลิตซ้ำวาทกรรมเสรีนิยมใหม่อย่างเข้มข้น

นั่นจึงนำมาสู่ข้อสังเกตประการต่อมาว่า ข้อบกพร่องของประชาธิปไตยระบบตัวแทน (representative democracy) และวัฒนธรรมการเมืองที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์เศรษฐกิจที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ ยังซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
กล่าวคือ ถึงแม้วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้นในสเกลของโลกจะทำให้คนจำนวนมากขึ้นมองเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมและพยายามเรียกร้องระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่การเมืองแบบเก่าที่มีส่วนสร้างระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบที่เป็นอยู่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ “การเปลี่ยนแปลง (Change)” ที่ผู้คนคาดหวัง ในกรณีของสหรัฐฯ ระบบการเมืองดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโอบามาไม่สามารถผลักดันนโยบายที่มีลักษณะคล้ายกับนโยบายแบบรัฐสวัสดิการอย่างที่หาเสียงเอาไว้ ในทางกลับกัน ความกลัวอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจกลับหยิบยื่นโอกาสให้พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ที่ไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐฯ แต่ทั่วโลก กลับเข้ามาเสนอวาระเสรีนิยมใหม่อีกครั้งในนามของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของขบวนการทีปาร์ตี้ และชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายขวาในสเปนและกรีซ เป็นต้น

หันกลับมามองที่สังคมไทย ภาพแทนของระบบทุนนิยมแบบอเมริกันกลับทำงานได้อย่างสมบูรณ์เสียยิ่งกว่าต้นฉบับ ความงมงายในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและการครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ไปไกลถึงขนาดทำให้กลไกตลาดและการแข่งขันเสรีมีความหมายเดียวกับ “ความเป็นธรรม” นักเศรษฐศาสตร์เองผูกขาดความเป็นเจ้าของความจริงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่ตระหนักว่าตนเองตกเป็นเครื่องมือแห่งการผลิตซ้ำความรุนแรงดังกล่าวอย่างไร้เดียงสา ฝ่ายนายทุนก็กลับสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการเมืองที่เป็นมิตรกับทุนอย่างถึงที่สุดถ่ายโอนความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจไปให้กับภาคแรงงานอย่างอิสระไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยหรือคนงานข้ามชาติ ขณะที่ความตระหนักรู้เท่าทันเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและกลไกการทำงานของมันผ่านระบบการเมืองแบบตัวแทนในสังคมไทยนั้นแทบจะยังไม่ปรากฏให้เห็น

ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าเราไม่อาจมองข้ามความพยายามของคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะอุปสรรคอันเกิดจากโลกทุนนิยมใบเก่าตามที่ต่างๆ ทั่วโลก การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวอย่าง Occupy Wall Street และ Indignados จากใจกลางของวิกฤตทุนนิยมนั้นที่พยายามผลักดันการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อเป็นก้าวแรกไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแรงบันดาลใจและจินตนาการต่อโลกใบใหม่ยังไม่สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง คนจำนวนมากขึ้นและมากขึ้นเริ่มเชื่อว่าโลกอื่นที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้นั้นมีอยู่จริง ไม่ว่าโลกใหม่ใบนั้นจะเป็นเพียงทุนนิยมใหม่หรือระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าย่อมเป็นเรื่องดีทีเดียวหากเราจะร่วมกันใฝ่ฝันถึงโลกใหม่ใบนั้นร่วมกันตั้งแต่ตอนนี้.

>> ดาวน์โหลดฟรีสำหรับไอแพดและแท็บเล็ตแอนดรอย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net