Skip to main content
sharethis

(16 ต.ค.55) ผลการประมูลใบอนุญาตบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00น. โดยมีการประมูลทั้งหมด 7 รอบ มีมูลค่าเงินประมูลรวม 41,625 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส เสนอราคาสูงสุดที่ 14,625 ล้านบาท จึงมีสิทธิเลือกแถบคลื่นความถี่ก่อน โดยเอไอเอสได้เลือกแถบคลื่น 7, 8, 9

ส่วนบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรูมูฟ และบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท จึงต้องจับสลาก โดยทรูได้เลือกก่อน จึงเลือกแถบคลื่น 4, 5, 6 ส่วนดีแทค ได้ช่วงคลื่น 1, 2, 3 สรุปทั้ง 3 บริษัท ได้แถบคลื่นไปรายละ 15MHz

ทั้งนี้ จากช่วงคลื่นทั้งหมด 45MHz แบ่งเป็นสล็อตๆ ละ 5 MHz ได้ทั้งหมด 9 สล็อต มีการแข่งขันเสนอราคาเพื่อแย่งชิงช่วงคลื่นเพียง 3 สล็อตเท่านั้น ที่ราคา 4,725 ล้านบาท 1 สล็อต และ 4,950 บาท จำนวน 2 สล็อต ที่เหลืออีก 6 สล็อตอยู่ที่ราคาตั้งต้นคือ 4,500 ล้านบาท เท่ากับว่ามูลค่าคลื่นทั้ง 45 MHz ที่ กสทช.จะได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ใบอนุญาตกับเอกชนทั้ง 3 รายเพื่อนำไปให้บริการ 3G เป็นเวลา 15 ปี มีราคารวม 41,625 ล้านบาทเท่านั้น โดยสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 1,125 ล้านบาท หรือประมาณ 2.78% 


ปธ.ทีดีอาร์ไอ จี้ กสทช.รับผิดชอบ ประเมินทำรัฐสูญร่วม 1.6 หมื่นล้าน
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผลการประมูลคลื่น 3G เป็นไปตามที่คาดหมายของผม คือ ได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 2.8 เท่านั้น คือ เพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบ ที่ 40,500 ล้านบาท เป็นเพียง 41,650 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น

ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3G ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือน “ลาภลอย” ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญการที่แต่ละรายได้คลื่น 3G มูลค่าถูกแสนถูกต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านบาทต่อปี จะไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการ 3G ที่ประชาชนต้องจ่ายแต่อย่างใด นอกจากจะเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น

ผลการประมูลครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่ กสทช. พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขันมาก เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดมีความแตกต่างกันมาก เสมือนเป็นที่ดินทำเลดีติดทะเลกับที่ดินแออัดติดถนนใหญ่ไม่เป็นความจริง และตอกย้ำความเชื่อของสาธารณชนในวงกว้างที่ว่า การประมูลครั้งนี้มีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผลการประมูลยังชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการคือ หนึ่ง การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น สอง การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร ทั้งนี้ หาก กสทช. ได้รับฟังข้อทักท้วงของฝ่ายต่างๆ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น

ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ กสทช. รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยให้แถลงต่อประชาชนว่า จะมีการรับผิดชอบอย่างไร และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ นอกจากนี้ ในการประมูลคลื่นความถี่ 4G และคลื่นความถี่อื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไป ก็ขอให้ระวังอย่าได้ใช้แนวทางเดียวกันมาดำเนินการอีก

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, เฟซบุ๊กสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net