Skip to main content
sharethis

เอ.ที.ดี โลกที่สี่แห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเพื่อน เอ.ที.ดี.แห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนบุคคลอิสระ องค์กร และ สถาบัน ร่วมจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เนื่องในโอกาสที่วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ และร่วมกันเผยแพร่วันที่สำคัญนี้ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ได้ที่เว็บไซต์ www.overcomingpoverty.org โดยสามารถ เปิดตัวกิจกรรมของผู้ร่วมรณรงค์ พร้อมส่งภาพถ่ายและรายงานสั้นๆ สรุปผลงานมาเข้าร่วม

องค์การนานาชาติ เอ.ที.ดี โลกที่สี่เป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา หรือ การเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2500 โดยบาทหลวง โจเซฟ วเรซินสกี้ (2460-2531) ในชุมชนแออัดชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีจุดมุ่งหมายในการ ขจัดความยากจนในประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งในประเทศที่มีฐานะร่ำรวย และ ประเทศยากจน

คำว่า เอ.ที.ดี เป็นคำย่อจากภาษาฝรั่งเศส Aide a toute detresse มีความหมายว่า การให้ความช่วยเหลือเพื่อขจัดความทุกข์ยาก ส่วนคำว่า “โลกที่สี่” หมายถึงคนทุกข์ยากที่ไร้สถานะทางสังคมอย่างสิ้นเชิง องค์การฯมีลักษณะเฉพาะ 2 ประการด้วยกันคือ มีบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครเต็มเวลาหลากสัญชาติทำงานอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก และมีผลงานที่องค์การสหประชาชาติ และสภายุโรปให้การยอมรับ จึงทำงานร่วมกับคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ (ECOSOC) ยูนิเซฟ ยูเนสโก และองค์การแรงงานระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

การมีส่วนร่วมในวันที่ 17 ตุลาคมไม่ว่าจะในส่วนเล็กๆเพียงใด นับเป็นการย้ำเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งจะนำมาสู่ความสงบสุขนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ที่ใด หรือมาจากพื้นเพและวัฒนธรรมใดก็ตาม

วันสากลแห่งการขจัดความยากไร้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีมาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาสู่การสื่อสารและความเข้าใจระหว่างชาวบ้านในชุมชนยากไร้และสังคมภายนอก

สำหรับแนวคิดในปี 2555 เป็นไปภายใต้คำขวัญว่า ยุติความยากไร้อันทารุณ: มาร่วมเสริมสร้างพลังและสันติภาพ

แนวคิดสำหรับวันที่17 ตุลาคมในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อขององค์การสหประชาชาติที่ว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกชีวิตได้รับความเคารพในศักดิ์ศรี ความรู้ และสิทธิในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ยังมีผู้คนจำนวนมากรวมทั้งเด็ก สตรี ชาวพื้นเมือง ชาวบ้านในชุมชนแออัด และเกษตรกรไร้ดินทำกิน ซึ่งต้องดำรงชีวิตประจำวันภายใต้ความยากไร้ และการถูกกีดกันจากสวัสดิการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พวกเขาต้องแบกรับ ผลเสียจากการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขาต้องประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและอันตราย เต็มไปด้วยมลพิษทางน้ำและอากาศ และมหันตภัยเช่นดินถล่ม อุทกภัย และภัยแล้ง พวกเขาต้องย้ายถิ่นฐานอยู่ร่ำไป โดยปราศจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพ สุขภาพ และการศึกษา

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะนิ่งดูดายกับชีวิต พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวหน้าในการจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม จัดสร้างการต้านภัยด้วยทุนทรัพย์ที่น้อยนิด แต่ความรู้และประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยม ซึ่งพวกเขาได้สั่งสมมาจากการดำรงอยู่ท่ามกลางความยากลำบากหลายช่วงอายุคน เมื่อประเทศไทยต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครอบครัวจากชุมชนยากไร้ในกรุงเทพฯต่างเข้าร่วมในโครงการบรรเทาทุกข์อย่างพร้อมเพรียง บ่อยครั้งซึ่งความร่วมมือของพวกเขากลับถูกมองข้ามในการแก้ปัญหาต่างๆของสังคม “การพัฒนาโครงการในชุมชนยากไร้เป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะเมื่อคุณได้เห็นว่า ชีวิตของพวกเขายากลำบากเพียงไร และพวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไร พวกเขาจะยังคงไร้ซึ่งสิทธิ์และเสียง ตราบใดที่สังคมซึ่งอยู่เหนือพวกเขาต่างเบือนหน้าหนี แม้ว่าเราจะออกมาเรียกร้องอะไร ก็อาจไม่มีใครฟัง” สมาชิกเครือข่ายชุมชนรายหนึ่งกล่าว เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้นำชุมชนในหลายพื้นที่ในการก่อตั้งกองทุนเงินกู้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในก้าวแรกของการขจัดความยากไร้ภายในประเทศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net