Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาสะท้อนปัญหา เสนอรัฐต้องเปลี่ยนมุมมองต่อการพัฒนาและกระบวนการยุติธรรม “นฤมล ทับจุมพล” ปัจฉิมกถา สนับสนุนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ย้ำความขัดแย้งไม่ใช่แค่เทศนาให้คนปรองดองสมานฉันท์ 

14 ต.ค.55 เวลา 10.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มูลนิธิ 14 ตุลา ได้จัดพิธีรำลึก 39 ปี 14 ตุลาคม 2516 ในงานดังกล่าวมีการปาฐกถา 14 ตุลา หัวข้อ "ประชาธิปไตยกับการปกป้องทรัพยากร" โดย จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และปัจฉิมกถา โดย ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จินตนา แก้วขาว ขณะปาฐกถา

ในการปาฐกถา จินตนา แก้วขาว ได้เล่าถึงประวัติการต่อสู้ของตนเองและกลุ่มในการปกป้องทรัพยากรในชุมชน ปัญหาของการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ทั้งคนในกลุ่มและตนเองประสบจากการถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในข้อหาบุกรุก จากกรณีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่บ้านกรูดบ่อนอก หลังจากที่ต่อสู้คดีมานานถึง 9 ปี

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ขณะที่ตนเองถูกคุมขังว่า หากไม่มี ส.ว. หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และทั่วประเทศให้ความสนใจกับกรณีที่ตนเองประสบ อาจไม่สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยในเรือนจำ โดยก่อนหน้าที่จะเข้าเรือนจำได้มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่าตนเองจะไม่เรียกใครว่า “นาย” ในนั้น ไม่ทำงานในเรือนจำ ไม่เอาเงินปันผล ตนเองเพียงมาอาศัยอยู่ 4 เดือน เพราะตนเองไม่ผิด

จินตนา ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า คุกขังได้แต่คนจน คนไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีทนาย เพราะจากที่ตนเองเข้าไป พบคนที่ไม่ได้กระทำผิดแต่ต้องมาติดคุกจำนวนมาก โดยยกตัวอย่างกรณีหญิงชราคนหนึ่งที่ป่วยสะโพกหลุด ถูกจับมาแทนลูก แต่เมื่อลูกรับผิดและติดคุกแล้ว แม่กลับไม่ได้รับการปล่อยตัว

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวอีกว่า “ขณะนี้ แพะ เราไม่รู้ว่ามีอีกกี่คน และแพะจะเข้มแข็งได้แค่ไหนในขณะที่เขาไม่ได้ทำผิด” สิ่งที่ประสบในกระบวนการยุติธรรมยังมีกระบวนการเกลี้ยกล่อม แม้ไม่ผิดก็ให้ยอมรับ จินตนา ยังมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นกลาง ตั้งแต่กระบวนการในชั้นตำรวจเป็นต้นมา

จินตนา เสนอให้มีการแยกคดีชาวบ้านออกจากคดีอาญา ถ้าการกระทำของชาวบ้านเหล่านั้นเป็นการกระทำเพื่อสาธารณะที่ไม่ได้เอาไว้เพื่อตนเอง

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เสนอว่า สำหรับการพัฒนา รัฐต้องยอมรับการมีส่วนร่วมและสิทธิในการจัดการพื้นที่ของประชาชน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีสิทธิชุมชน สิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วม แม้มีประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 ก็ไม่ได้ใช้ คนที่ใช้กลายเป็นนักการเมืองและนายทุน ในขณะที่การต่อสู้ของพี่น้องที่ประจวบฯ ยึดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐมองว่าเป็นพวกหัวแข็งและพยายามใช้ทุกวิถีทางในการจัดการ

จินตนา สะท้อนมุมมองด้านการพัฒนาที่แตกต่างกันในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ว่าในขณะที่รัฐมองว่าพื้นที่ตรงนั้นควรเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านต้องการเป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่ท่องเที่ยว รัฐมองว่าจังหวัดประจวบฯ ยาว จึงควรมีโรงไฟฟ้า ในขณะที่ชาวบ้านมองว่าพื้นที่ยาวมีชายฝั่งยาวยิ่งควรเป็นแหล่งท่องเที่ยว

สุดท้ายจินตนา กล่าวโดยหวังว่าการต่อสู้ของพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคมไทยได้บ้าง โดยย้ำด้วยว่าต้องใช้เวลานานในการต่อสู้เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจกับคนทั่งประเทศ เพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งคาราวะการต่อสู้ของคนรุ่นเก่า คนรุ่น 14 ตุลา ที่ได้ปูแนวทางบางอย่างไว้ให้กับพวกตนได้เดินตาม

นฤมล ทับจุมพล

หลังจากนั้น ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปัจฉิมกถาต่อว่า มี 3 ประเด็นที่ได้จากการเรียนรู้คุณจินตนา แก้วขาว

1. สังคมไทยยังมีความรุนแรงมาโดยตลอด ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือเหตุการณ์เดือนตุลาที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ เหตุการณ์เมษา-พ.ค. ที่ผ่านมา สังคมไทยที่มักพูดถึงความเมตตากรุณา ยิ้มสยาม แต่กลับไม่ได้สะสางสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นความรุนแรงโดยรัฐและโครงสร้างต้องได้รับการสะสาง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างๆแสดงแสดงให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาโดยตลอด ตัวเลขช่องว่างระหว่างรายได้ ระหว่างกลุ่มคนจนสุดกับกลุ่มคนรวยสุดสูงถึง 30 เท่า การถือครองที่ดินห่างกันถึง 2 แสนเท่า ในขณะที่การตั้งคำถามกับความรุนแรงของรัฐของโครงสร้างกลับถูกใช้ความรุนแรงกลับมา ดังนั้นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่กับการจัดการของรัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อคนที่ตั้งคำถามเหล่านั้นด้วย

2. การต่อสู้ของชุมชนเป็นปฏิบัติการสันติวิธีในการปกป้องทรัพยากรชุมชนเพื่อนำไปสู่การสื่อสารกับสังคม ที่ไม่ได้ทำเพื่อตนเองแต่ทำเพื่อสาธารณะ และผู้ปฏิบัติการพร้อมที่จะรับผลจากการปฏิบัติการนั้น ที่จินตนา แก้วขาวทำเป็นปฏิบัติการที่ต้องใช้ความกล้าและการเผชิญหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะในสังคมไทยสอนให้ยอมจำนน ยอมรับอำนาจ ดังนั้นสิ่งที่จินตนา แก้วขาวและกลุ่มทำคือการไม่ยอมจำนนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แสดงให้เห็นถึงการที่สามารถไม่ยอมจำนนและไม่ใช้ความรุนแรงได้ จึงต้องอาศัยความกล้าหาญ นวัตกรรมและความอดทน

นฤมล ทับจุมพล ยังกล่าวด้วยว่าการต่อสู้ของชาวบ้านไม่ใช่แค่หน้าข่าวเท่านั้น แต่เขาต้องสู้เป็น 10 ปี กับการต่อสู้คดี ดังนั้นคนในเมืองไม่ควรไปดูแคลนเขา ดังนั้นการต่อสู้ของพวกเขาทำให้พบความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงกายภาพ เช่น การข่มขู่ การฆาตกรรม อย่างกรณี เจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก หรือกรณีจินตนาเองที่ถูกขัง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่จะเห็นเมือมีการต่อรอง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จากการที่สังคมโดยรวมไม่ยอมรับว่ารัฐกระทำผิดต่อพลเมือง เพราะเรามีวัฒนธรรมให้ยอมๆกันไป

ในประเด็นที่ 3 ปัญหากระบวนการยุติธรรม สังคมไทย สังคมไทยเราต้องตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่าได้สร้างหลักนิติธรรมหรือยัง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชุมนุมพูดถึงสิทธิชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าในกระบวนการยุติธรรมใช้เพียงกฎหมายอาญา  เฉพาะวันนี้กลุ่มองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและความเป็นธรรม มี 3,000 คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังไม่รวมคดีทางการเมืองอีกจำนวนมาก หากบุคลากรในกรบวนการยุติธรรมไม่ใช้กฎหมายตามหลักความยุติธรรมจะเป็นการผลักให้ประชาชนเหล่านั้นใช้วิธีอื่นในการต่อสู้

นฤมล ทับจุมพล กล่าวสรุปในตอนท้ายของปัจฉิมกถาว่า สังคมไทยต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างคนรวยกับคนจน และในระหว่างที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องสร้างกลไกเพื่อคลีคลายในการจัดการความขัดแย้ง สร้างเวทีต่อรอง รวมทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะความขัดแย้งไม่ใช่แค่เทศนาให้คนปรองดองสมานฉันท์ แต่เราต้องดูบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในช่วงบ่าย ที่บริเวณลานโพ หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีพิธีประกาศรับรองวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดตัว ปฏิมากรรม “หมุด 14 ตุลา” โดยมี นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นประธานเปิด

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net