PATANI FORUM: การตื่นตัวของมุสลิมในสังคมไทย ช่วงปี พ.ศ.2510-2530

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ

ในปัจจุบันของสังคมไทย ภาพของหญิงสาวที่แต่งตัวคลุมฮิญาบ ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด โดยไม่เปิดเผยส่วนใดๆ ของร่างกายเว้นแต่ใบหน้า และฝ่ามือ ถือเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นโดยทั่วไปของกลุ่มคนมุสลิมในสังคมไทย อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้โดยทั่วไป แต่การได้มาซึ่งฮิญาบในสังคมไทย มันใช่เป็นเรื่องกาย การเรียกร้องการคลุมฮิญาบที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิได้เป็นเพียงแค่ข้อเรียกร้องในการแต่งกาย แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น กำลังแสดงให้เห็นว่า มุสลิมในสังคมไทย กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติในคำสอนของศาสนาที่เข้มข้นขึ้น ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอิสลามที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งจะได้เห็นถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้นและนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

การฟื้นฟูอิสลามกับบริบทโลก

การฟื้นฟูอิสลาม (Islamic revival) เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ซึ่งการฟื้นฟูอิสลาม ไม่ใช่เป็นการสังคายนาหลักคำสอนที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการนำคำสอนที่มีอยู่เดิมนั้น ไปสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ การฟื้นฟูอิสลามจึงเป็นกระบวนการที่สร้างสังคมให้กลับไปสู่หลักคำสอนของอิสลามตามรูปแบบที่มีอยู่ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีวิธีการที่หลากหลายในการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูอิสลาม เป็นการฟื้นฟูอิสลามได้มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีชาวมุสลิมหลายกลุ่มที่ใช้วิธีการต่างๆ นานาในการฟื้นฟูอิสลาม

การฟื้นฟูอิสลามสมัยใหม่ได้เริ่มเข้มข้นถึงในช่วงทศวรรษ 1970 ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของโลกอิสลามในสมัยนั้น อีกทั้งยังคงมีการกล่าวอ้างว่าจักรวรรดิอุษมานียะห์คืออาณาจักรของคอลีฟะฮฺ ซึ่งการสูญเสียจักรวรรดิอุษมานียะห์ในครั้งนี้ส่งผลให้ระบอบคอลีฟะฮฺที่ปกครองกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1300 ปีต้องสิ้นสุดลง พร้อมกับการที่ดินแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์ บริเวณตะวันออกกลางแทบทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศยุโรป ทั้งต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงและทางอ้อม

 

ภาพ 1 แสดงแผนที่ให้เห็นถึงรัฐชาติสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง หลังจากสิ้นสุดอาณาจักรอุษมานียะห์ รวมถึงประเทศเจ้าอาณานิคม และปี ค.ศ. ที่ประเทศในตะวันออกกลางได้รับเอกราช

โดยที่กระแสของการฟื้นฟูอิสลามเริ่มก่อตัวในตะวันออกกลางด้วยปัจจัยหลักที่ว่า สังคมมุสลิมเริ่มที่จะอ่อนแอและล้าหลัง ประกอบกับปัจจัยที่ว่า อเมริกา ผู้นำในสังคมโลกขณะนั้นได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอล ขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์ ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ประเทศในตะวันออกกลางได้มีความร่วมมือกันทำสงครามเพื่อขับไล่ชาวอิสราเอลออกจากปาเลสไตน์ แต่ทุกครั้งที่เกิดสงครามขึ้น อเมริกาได้มีการสนับสนุนชาวอิสราเอล ทำให้ชาวอาหรับได้รับความปราชัยในสงครามทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศอาหรับได้เกิดความไม่พอใจต่ออเมริกาจึงลดการส่งน้ำมันให้กับอเมริกา จนทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นทันที อีกทั้งการพุ่งสูงขึ้นของราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบข้างเคียงไปถึงราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ รวมไปถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ค่าน้ำมันได้มีราคาที่สูงขึ้น ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มประเทศอาหรับ และกลุ่มประเทศอาหรับได้นำผลกำไรนี้เอง มาเป็นทุนการศึกษาให้แก่มุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เดินทางไปศึกษาและสัมผัสกับวัฒนธรรมอิสลามในตะวันออกลาง และหลังจากจบการศึกษาได้นำความรู้ที่ได้รับมาเผยแพร่ยังพื้นที่ของตนเอง

การปฎิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1978-1979 ของอิหม่ามอยาตุลลอฮ์ โคมัยนี  ในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เรชา ชาห์ ปาลาวี และอิหร่านได้ดำเนินการปกครองแบบอิสลาม ใช้รัฐธรรมนูญตามหลักการอิสลามปกครองประเทศ โดยในการปฏิวัติอิหร่านนั้น ได้สร้างความต้องการให้มุสลิมในพื้นที่อื่นๆ มีความต้องการในการปฏิวัติประเทศของตนเอง เพื่อให้มีการปกครองในระบอบการเมืองอิสลาม เฉกเช่นเดียวกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างอิหร่าน กับมุสลิมทั่วไป ที่อิหร่านเป็นมุสลิมชีอะฮ์ แตกต่างจากมุสลิมซุนนีย์ ที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของโลกมุสลิม การปฏิวัติอิหร่าน จึงมีฐานะเพียงแค่อุดมการณ์ในการปฏิวัติอิสลาม มิใช่การนำรูปแบบการปกครองแบบมุสลิมชีอะฮ์ ที่ใช้ในประเทศอิหร่าน มาเป็นรูปแบบปกครองประเทศมุสลิมอื่นๆ แต่ถึงอย่างไร การปฏิวัติอิหร่านในครั้งนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแนวคิดการฟื้นฟูอิสลามให้แก่สังคมมุสลิมโดยทั่วไป

การดำเนินงานเพื่อการฟื้นฟูอิสลามที่มีหลากหลายรูปแบบที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั้น เช่น การติดอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ คือ การตั้งรัฐอิสลาม และมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม เป็นหนึ่งในวิธีการของการฟื้นฟูอิสลาม อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวนี้ ไม่ได้ถูกยอมรับในสังคมมุสลิมทั่วไป เพราะเป็นวิธีการที่รุนแรง ปราศจากสันติวิธี และเป็นการสร้างรัฐอิสลามที่เปราะบาง อันเนื่องมาจาก การบังคับให้เปลี่ยนแปลง มิใช่การเปลี่ยนแปลงที่มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

มุสลิมบางกลุ่มได้แปรสภาพองค์กรการฟื้นฟูอิสลาม มาเป็นพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในบางประเทศเช่น ตุรกี อียิปต์ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านของประเทศไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กลุ่มเหล่านี้พยายามที่จะนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ในรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการทางประชาธิปไตย และความเห็นชอบของประชาชน โดยในกรณีของตุรกี พรรคการเมืองนิยมอิสลามได้รับชัยชนะ รวมถึงประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ เช่น อียิปต์ ตูนิเซีย ที่เพิ่งมีการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงอาหรับสปริงส์ที่ผ่านมา


ภาพ 2 สัญลักษณ์พรรคปาส พรรคนิยมอิสลามในมาเลเซีย 
 

  ภาพ 3 สัญลักษณ์พรรค PKSพรรคนิยมอิสลามในอินโดนีเซีย

องค์กรมุสลิมอีกจำนวนมากที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ แต่ได้เคลื่อนไหวกิจกรรมสาธารณะกุศลอื่นๆ เช่น การสร้างโรงเรียน เพื่อการเรียนการสอนในวิชาการทั่วไป และวิชาการในหลักการของอิสลาม การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อการบริหารจัดการทางเงิน ตามระบอบเศรษฐกิจอิสลาม การสร้างโรงพยาบาล การสร้างศูนย์บรรเทาทุกข์ต่างๆ เพื่อการช่วยเหลือผู้คน แต่ทั้งหมดนี้ก็พยายามที่จะเผยแพร่หลักคำสอนตามศาสนาอิสลาม

ในสังคมไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย มุสลิมได้รับเอาแนวคิดการฟื้นฟูอิสลามเหล่านี้ ผ่านกลุ่มนักเรียนนอก ที่ได้รับทุนการศึกษา ของกลุ่มประเทศค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง รับเอาแนวคิดนี้ เข้ามาปฏิบัติใช้ในสังคม กระทั่งได้รับอิทธิพลในแนวคิดของการฟื้นฟูอิสลามอย่างกว้างขวาง

การเกิดขึ้นของนิตยสาร AZAN และการนำเสนอ “อิสลามคือวิถีชีวิต”

นิตยสาร Azan ถือเป็นนิตยสาร ที่ทำขึ้นเพื่อการเผยแพร่ความรู้อิสลาม ที่ใช้ภาษามลายูหัวแรก ที่เป็นผลิตผลของคนในพื้นที่เอง การปรากฏขึ้นของ นิตยสารนี้ ถือเป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ในการปรับใช้สื่อสิ่งพิมพ์/เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมือง  ถือกำเนิด ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนเซาวาล ฮ.ศ. 1392 อันตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยมีอุบัยดีลละห์ มะห์มูดเป็นบรรณาธิการ อิสมาแอ ลุตฟีเป็นรองบรรณาธิการ

เนื้อหาของนิตยสารมีทั้ง ด้านศาสนา วัฒนธรรม วรรณกรรม และด้านอื่นๆ โดยใน นิตยสารอาซาน ฉบับแรก มีบทบรรยายธรรมหรือคุ๊ตบะห์ของวันฮารีรายออีดิลฟิตรี (วันสิ้นสุดการถือศีลอดเดือนรอมฎอน) ในหน้าที่ 9 ในชื่อเรื่องว่า “เนื้อแท้ของฮารีรายอ” ซึ่งเป็นบทวิพากษ์สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสังคมปัตตานีอย่างเข้มข้น

นิตยสารออกรายวันสำคัญ ในวันอีดทั้งสอง แต่หลังจากที่ออกนิตยสารได้เพียง 7 ฉบับ อาซาน ก็ยุติบทบาทลง หลังจากที่ผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนหนุ่มนั้น ได้เดินทางไปศึกษาต่อ จนทำให้อาซาน เป็นเพียงตำนานสื่อสิ่งพิมพ์

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสารอาซาน ได้แสดงให้เห็นถึง ภาพสะท้อนของกระแสการฟื้นฟูอิสลามได้อย่างเด่นชัด นั่นคือ การนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุม ซึ่งเป็นการนำเสนอให้มุสลิมที่บริโภคเนื้อหาจากนิตยสารนี้ ได้รับรู้ถึงหลักคำสอนที่ว่า “อิสลามคือวิถีชีวิต”

ฮิญาบ วิกฤติการณ์ความขัดแย้ง บนเส้นทางการตื่นตัวของมุสลิม

 

ในปัจจุบันภาพของหญิงสาวที่แต่งกายมิดชิด ไม่เปิดเผยส่วนหนึ่ง ส่วนใดของร่างกาย เว้นแต่เพียงใบหน้าและฝ่ามือ เป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติและธรรมดาในสังคมไทยปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การได้มาซึ่งสิทธิในการคลุมฮิญาบของหญิงสาวมุสลิมเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเรียกร้องขอคลุมฮิญาบของหญิงสาวมุสลิม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ของผู้คนในสังคมไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สังคมไทยต้องเผชิญอยู่กับความขัดแย้งอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการเรียกร้องคลุมฮิญาบในสถานศึกษาและสถานที่ราชการ

ในกรณีของฮิญาบ เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า มุสลิมในสังคมไทยเริ่มที่จะตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งฮิญาบเปรียบเสมือนสัญญาณที่ได้เผยออกมาว่า สังคมมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม จากการกระแสการตื่นตัวของชาวมุสลิมที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านของการคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม แต่อุปสรรคในการแต่งกายตามหลักการของศาสนาที่ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มราชการไทย ในมุมมองของพวกเขา การคลุมฮิญาบได้ผิดต่อกฏระเบียบข้าราชการ การคลุมฮิญาบจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ค่อนข้างยาก โดยวิกฤติการณ์ความขัดแย้งในการคลุมฮิญาบของสังคมไทย ที่เด่นชัดได้เริ่มต้นเมื่อปี 2527 โดยทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรได้มีคำสั่งให้สตรีมุสลิมออกจากราชการในช่วงการทดลองงาน ด้วยเหตุผลที่ว่า สตรีมุสลิมคนนี้คลุมศีรษะในขณะที่ปฏิบัติงาน

ปัญหาในการอนุญาตคลุมฮิญาบของสตรีมุสลิมยังคงดำเนินอยู่ ในเดือนกันยายน 2529  ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคำสั่ง ให้การคลุมฮิญาบผิดต่อหลักการปฏิบัติของราชการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้ถูกต้องรับจากหน่วยงานราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สร้างปัญหาในการแต่งกายของมุสลิมเป็นอย่างมาก จึงมีการเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว และได้มีการตอบรับจากกระทรวงมหาดไทย ให้ยุติคำสั่งดังกล่าวของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สตรีมุสลิมสามารถที่จะเข้าทำงานราชการโดยการแต่งกายตามหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาที่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างหน่วยงานของราชการและกลุ่มมุสลิมที่ต้องการคลุมฮิญาบ ในกรณีของวิทยาลัยครู ยะลา ประกาศสั่งห้ามนักศึกษาที่แต่งกายคลุมฮิญาบเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยในปี 2530 เหตุการณ์ครั้งนี้ นำไปสู่การตื่นตัวของมุสลิมครั้งใหญ่ เกิดการประท้วง ต่อรอง เพื่อที่จะให้ทางวิทยาลัยอนุญาตให้คลุมฮิญาบเข้าศึกษาได้

องค์กรมุสลิมที่มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขอให้สตรีมุสลิมสามารถที่จะคลุมฮิญาบเข้าศึกษาได้นั่นคือ ชมรมส่งเสริมคุณธรรมอิสลาม ซึ่งมีกลุ่มมุสลีมะฮ์ได้เข้ามาร้องเรียนว่า ถูกบังคับให้ถอดฮิญาบสำหรับการเข้าศึกษาในวิทยาลัยครู ยะลา

การเคลื่อนไหวของชมรมในระยะแรก ถูกปฏิเสธจากอาจารย์ในวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจารย์จะงดสอนในชั้นเรียนที่มีสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบ กระทั่งได้เกิดการยินยอมของกลุ่มนักศึกษาที่ยอมถอดผ้าคลุมฮิญาบออก เพื่อที่จะเข้ารับการศึกษาต่อไป โดยในการเคลื่อนไหวต่อมาทางวิทยาลัยครูได้มีการต่อรองกับกลุ่มนักศึกษาที่คลุมฮิญาบว่า อนุญาตให้คลุมเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของทางศาสนาอิสลาม และอนุญาตให้คลุมได้เมื่อขณะออกจากบ้าน ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงวิทยาลัยแล้ว วิทยาลัยจะเตรียมไม้แขวนผ้า เพื่อให้นักศึกษาถอดฮิญาบและเก็บไว้ที่นั่น อย่างไรก็ตามความขัดแย้งยังคงดำเนินไปต่อ กระทั่งถึงคราวสอบของวิทยาลัย ทางวิทยาลัยได้เข้มงวดต่อการคลุมฮิญาบของสตรีมุสลิม ถึงขั้นที่ไม่อนุญาตให้เข้าสอบ หากจะเข้าสอบให้คลุมฮิญาบก่อน

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “ทำไมถึงเพิ่งมาคลุม” ก่อนหน้านั้นการรับรู้ของชาวมุสลิมมีความรู้สึกว่า การคลุมฮิญาบเป็นบทบังคับสำหรับชาวมุสลิม แม้กระทั่งบรรยากาศในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งปอเนาะ ไม่ได้มีความเคร่งครัดมากนัก ถึงขนาดกับว่าไม่มีการบังคับให้คลุมผม

บทสรุป

การตื่นตัวในการฟื้นฟูอิสลามที่ก่อตัวขึ้นในโลกตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาอิสลาม ได้แพร่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดิมทีการเข้าถึงหลักการมุสลิมอย่างเข้มข้นนั้น ถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม และมีลักษณะที่ค่อนข้างหลากหลาย รวมไปถึงหลักการบางประการที่สำคัญยังคงถูกละเลย ชาวมุสลิมเลือกที่จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างผิวเผินเท่านั้น ในกรณีของฮิญาบ เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า สังคมมุสลิมยังคงขาดความเข้าใจในการแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา ในช่วงเวลาต่อมาเมื่อกระแสการฟื้นฟูอิสลามได้โหมเข้ามาในสังคม ชาวมุสลิมจำนวนมากพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัด แม้ในช่วงระยะเวลาแรกจะเกิดปัญหา เนื่องด้วยการขาดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลกมุสลิม

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: PATANI FORUM

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท