Skip to main content
sharethis

ส.ส.การคลังอังกฤษวิจารณ์เฟซบุ๊กว่า "ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรม" จากการที่บริษัทเฟซบุ๊กอังกฤษ เลี่ยงภาษีอย่างไม่ผิดกฏหมายโดยการไปจดทะเบียนไว้ที่ไอร์แลนด์

 

11 ต.ค. 2012 สำนักข่าว The Independent รายงานว่าเฟซบุ๊กถูกวิจารณ์ว่า "ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรม" หลังมีรายงานข่าวว่าบรรษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่ผู้นี้จ่ายภาษีบรรษัทให้ประเทศอังกฤษแค่ 238,000 ปอนด์ (ราว 11,700,000 บาท) เมื่อปีที่ผ่านมา
 
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะให้ข้อมูลว่าบริษัทเฟซบุ๊กสร้างรายได้ราว 175,000,000 ปอนด์ (ราว 8,619,000,000 บาท)ในอังกฤษเมื่อที่ผ่านมา แต่เฟซบุ๊กก็หลบเลี่ยงภาษีบรรษัทโดยการเลี่ยงไปจดทะเบียนตั้งสำนักงานที่ไอร์แลนด์
 
รายงานผลประกอบการประจำปีตีพิมพ์เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) ระบุว่าบริษัท Fackbook UK จำกัดได้รับผลประกอบการเป็นเงินเพียง 20,400,000 ปอนด์ (ราว 1,004,000,000 บาท) โดยอาศัยช่องทางกฏหมาย แต่การวิเคราะห์ของ Enders ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยอิสระได้ประเมินผลประกอบการของเฟสบุ๊คในอังกฤษว่าพวกเขามีรายได้ราว 175,000,000 ปอนด์ และเป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงดึดดูดโฆษณาเข้ามาได้อีก
 
นอกจากเฟซบุ๊กแล้วยังมียักษ์ใหญ่ของวงการออนไลน์ที่หลบเลี่ยงการรายงานผลกำไรในอังกฤษผ่านการตั้งสำนักงานในไอร์แลนด์หรือส่วนอื่นๆ ของยุโรปที่มีอัตราภาษีบรรษัทต่ำกว่า มีรายงานวิเคราะห์ฉบับหนึ่งเมื่อต้นปีนี้เปิดเผยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง Apple, Amazon, Google, eBay และ Facebook สามารถเลี่ยงภาษีได้ถึง 650,000,000 ปอนด์ (ราว 32,014,000,000 บาท) จากวิธีการดังกล่าว
 
The Independent รายงานว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฏหมาย แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่ามันเป็นต้นเหตุให้อังกฤษประสบปัญหาภาวะขาดดุลงบประมาณ และชวนให้ตั้งคำถามว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกออนไลน์พวกนี้ได้ให้อะไรกลับคืนแก่ประเทศที่พวกเขาได้แสวงหากำไรไปมากพอหรือไม่
 
ส.ส. พรรคแรงงาน จอห์น แมนน์ ผู้อยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการการคลัง กล่าววิจารณ์บริษัทที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีของอังกฤษ บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดความจริงใจและไร้จริยธรรมสำหรับบริษัทที่ทำกำไรมหาศาลแต่ไม่จ่ายภาษีให้ประเทศที่พวกเขามาแสวงหากำไร
 
"พวกเขาได้รับผลกำไรอย่างมหาศาลจากโครงสร้างอินเตอร์เน็ตของประเทศ แต่ก็ไม่ได้ช่วยส่งเสริมงบประมาณให้ เหมือนคนที่ขับรถโดยไม่เสียภาษีพวกเราก็จะเรียกร้องให้ถนนของพวกเรา แล้วทำไมพวกเราจะไม่เรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตของพวกเรา" จอห์น แมนน์กล่าว
 
แมนน์เสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม Traffic (จำนวนคนเข้าเว็บไซต์) ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลักสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายของอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่
 
ด้าน แมธธิว ซินแคลร์ ผู้บริหารสูงสุดของสหพันธ์ผู้จ่ายภาษีของอังกฤษ (TaxPayers' Alliance) กล่าวว่าบริษัทต่างๆ เลือกจดทะเบียนสำนักงานในต่างประเทศเนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันสูงกว่าและมีระบบภาษีที่ซับซ้อนน้อยกว่า แมธธิวบอกอีกว่ามีบริษัทจำนวนมากอาศัยช่องทางกฏหมายในการเลี่ยงภาษี มีบางส่วนที่จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมแต่ตัวระบบของอังกฤษเองก็มีความซับซ้อนจนทำให้สาธารณชนมองไม่เห็นตรงจุดนี้ หากอังกฤษต้องการให้มีการแข่งขันและให้ทุกคนจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมก็ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีในอังกฤษอย่างเร่งด่วน
 
จากบทวิเคราะห์ล่าสุดระบุว่าเฟซบุ๊กสาขาอังกฤษมีรายจ่าย 13,900,000 ปอนด์ (ราว 684,000,000 บาท) ขณะที่รายได้ในปี 2010 ได้รับมา 1,100,000 ปอนด์ (ราว 54,000,000 บาท) เนื่องจากใช้จ่ายในการจ้างงานจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการรับพนักงานเพิ่มราว 90 คน
 
รายจ่ายค่าจ้างของเฟซบุ๊กในอังกฤษเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 7,900,000 ปอนด์ (ราว 389,000,000 บาท) เป็น 24,800,000 ปอนด์ (ราว 1,222,000,000 บาท) ซึ่งนับเฉลี่ยต่อหัวได้หัวละ (ราว 13,555,000 บาท) โดยผู้บริหารตำแหน่งสูง อาจจะได้มากกว่าค่าเฉลี่ยนี้
 
The Independent กล่าวว่าการเลี่ยงภาษีของเฟซบุ๊กแม้จะเป็นเรื่องถูกกฏหมายแต่ก็เป็นที่น่าถกเถียงเนื่องจากผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวเสมอว่าเว็บไซต์ของเขาไม่ได้มีแรงจูงใจเพื่อให้หาเงิน
 
"เดิมทีเฟซบุ๊กไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบริษัท" มาร์คกล่าวในช่วงที่ตลาดหุ้นพุ่งสูง "มันถูกสร้างขึ้นมาโดยมีพันธกิจทางสังคม คือการทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น"
 
โดยเฟซบุ๊กปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อกรณีรายได้ปีที่แล้วและยืนยันว่าจะตั้งสำนักงานในดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ต่อไป
 
โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า "เช่นเดียวกับองค์กรที่บริหารงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก พวกเรารายงานการปฏิบัติงานในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลอาจไม่จำเป็นต้องนำเสนอประสิทธิภาพทางการเงินทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดหากจะมีการสรุปความใดๆ จากข้อมูลในรายงาน" โฆษกเฟสบุ๊คปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อสิ่งที่แมนน์กล่าวไว้

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net