Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



Wathann Filmfest เทศกาลหนังอิสระแห่งแรกในพม่า จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5-9 ก.ย.ที่ผ่านมา

งานครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2554 ถือเป็นการเผชิญหน้าที่กล้าหาญในการทดสอบความอดทนอดกลั้นของทางการพม่าต่อเสรีภาพในการแสดงออก ก่อนที่จะมีสัญญาณของกระบวนการปฏิรูปของพม่าที่มีถูกพูดถึงกันอย่างมาก 

แนวคิดในการริเริ่มเทศกาลหนังครั้งนี้ นำโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวคนทำหนังชาวพม่า Thu Thu Sein ผู้จัดงาน ปัจจุบันได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะหนัง อยู่ที่สถาบันหนังแห่งชาติเช็ก  ซึ่งตอนหลัง สถาบันหนังแห่งชาติเช็กนี้ได้สนับสนุนการจัดเทศกาลครั้งนี้ด้วย จากการได้สัมผัสกับหนังนานาชาติที่มีคุณภาพในยุโรป เธอและ Thaidhi นักศึกษาชาวพม่าร่วมสถาบันคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเวทีในการนำเสนอและถกเถียงถึงวัฒนธรรมหนัง ซึ่งประเทศของพวกเขายังขาด จึงเกิดเทศกาลหนังขึ้น ควบคู่กับกลุ่มอภิปรายออนไลน์ โดยเทศกาลหนัง Wathann มีความหมายว่าเทศกาลหนังในฤดูฝนและมีการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องหนังพม่า ซึ่งมีสมาชิกร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 300 รายในแต่ละวัน

จากที่ไม่มีการศึกษาด้านหนังมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็เริ่มเห็นพัฒนาการของการศึกษาด้านนี้ในพม่าในช่วงสิบปีหลังมานี้ ความคิดริเริ่มจากต่างประเทศและมหาวิทยาลัยด้านวัฒนธรรมของรัฐได้ให้โอกาสคนหนุ่มสาวชาวพม่าในการศึกษาด้านหนังที่เป็นระบบมากขึ้น ขอบคุณความคิดริเริ่มเหล่านี้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นๆ เริ่มสร้างหนังอิสระในประเทศที่หนังที่จะฉายในโรงนั้นถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอันฉาวโฉ่




ผู้ชมหลากศาสนา
 

เทศกาลหนัง Wathann สะท้อนบรรยากาศเหล่านี้ รวมถึงเกิดจากความต้องการของยุคสมัยและความปรารถนาของคนทำหนังที่มีความทะเยอทะยาน หลังเทศกาล Wathann ครั้งแรก อองซานซูจีและ Zarganar นักแสดงตลก ได้เริ่มจัดเทศกาลหนังอีกงาน ชื่อว่า “เทศกาลหนังเสรีภาพ” ในเดือนธันวาคม 2554-มกราคม 2555 โดยขอให้ประชาชนส่งหนังเกี่ยวกับเสรีภาพเข้าร่วม เทศกาลหนังเสรีภาพนำพาผู้คนจำนวนมากจากหลากหลายอาชีพมาสู่โรงหนังใจกลางเมืองซึ่งเป็นที่จัดเทศกาล โดยอาศัยความเป็นคนดังของผู้จัดงาน ขณะที่เทศกาลหนัง Wathann มีความโดดเด่นในแง่ที่เป็นเทศกาลหนังซึ่งยกย่องคุณค่าทางศิลปะของหนังและผู้ชมส่วนใหญ่คือคนทำหนังวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังและวัฒนธรรมหนัง

ปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกับเทศกาลมากขึ้นกว่าในปีแรก เช่นเดียวกับจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้น ผลงาน 20 จาก 45 เรื่องถูกคัดเลือกส่งเข้าประกวด โดยมีหนัง 3 เรื่องที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยชาวพม่าและชาวต่างชาติรวม 6 ราย รางวัลหนังสารคดีถูกมอบให้กับ “Behind the Screen” ของ Aung Nwai Htway มหากาพย์ขนาดสั้น ความยาว 28 นาที เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักนักแสดงชายหญิงที่มีชื่อเสียงในยุค 1960 ที่บอกเล่าผ่านลูกชายของทั้งคู่ รางวัลหนังสั้นถูกมอบให้กับ “Long Time No See” ของ  Htoo Paing Zaw Oo คณะกรรมการชื่นชมความพยายามของผู้กำกับในการทำลายกฎแบบแผนเดิมๆ และรื้อสร้างสูตรการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ผู้ชมจำนวนมากงุนงงกับสไตล์การเล่าเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนนี้ แต่การตัดสินของคณะกรรมการได้เป็นกำลังใจให้คนทำหนังรุ่นใหม่ในการคิดนอกกรอบ รางวัลวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งจะมอบให้กับหนังแนวทดลอง ได้ถูกมอบให้กับหนังสารคดีเกี่ยวกับรัฐของชาวมอญที่ชื่อ “Flowerless Garden” โดย Zaw Naing Oo


พิธีมอบรางวัล
 

นอกจากการฉายหนังที่เข้าประกวดแล้ว ยังมีโปรแกรมอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ หนังสารคดีขนาดยาว “Nargis – when time stopped breathing” กำกับโดย The Maw Naing และ Pe Maung Same ซึ่งดึงดูดผู้คนกลุ่มใหญ่เข้าสู่เทศกาลได้ หนังดังกล่าวเป็นผลงานของกลุ่มคนทำหนังพื้นถิ่น ซึ่งตัดสินใจเดินทางและบันทึกภาพผลกระทบจากไซโคลนนาร์กีส ซึ่งทำลายดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีทางตอนใต้ของพม่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่คร่าชีวิตของผู้คนถึง 140,000 ราย ภัยพิบัตินี้ถูกเก็บอยู่ในความทรงจำของประชาชน ไม่เพียงแต่เพราะขนาดความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจน แต่ยังเพราะการดื้อดึงปฏิเสธของรัฐบาลเผด็จการต่อการเข้ามาให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติแม้จะมีเสียงท้วงติงจากทั่วโลกก็ตาม สื่อถูกห้ามไม่ให้รายงานเกี่ยวกับภัยพิบัตินี้ และใครก็ตามที่พยายามฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก แม้แต่ความพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยคนในประเทศเองยังถูกห้าม เนื่องจากทางการพม่าเกรงว่าจะกลายเป็นการเน้นให้เห็นถึงความไร้ความสามารถ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือความไม่เต็มใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนของตัวเอง ดังนั้น นี่จึงเป็นความกล้าหาญอย่างเหลือเชื่อของคนทำหนังที่ตัดสินใจถ่ายทำผลพวงของภัยพิบัตินี้ ในหนังเรื่องนี้ คนท้องถิ่นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและแสดงความไม่พอใจกับการที่ไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาล หากการถ่ายทำหนังหรือฟุตเทจถูกทางการล่วงรู้ คนทำหนังจะต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน (ในขณะนั้น ผู้ที่พยายามช่วยเหลือเหยื่อนาร์กีส จะต้องโทษนานชนิดไม่มีเหตุมีผลถึง 80-100 ปี) อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เหล่าผู้สร้างหนังรอดจากเคราะห์นั้นมาได้ และขณะนี้ หนังเรื่องนี้ก็ได้ถูกนำเสนอในงานเทศกาลหนังนานาชาติที่ต่างๆ ทั่วโลก และได้รับรางวัลหลายรางวัล หลังจบการฉายหนังที่เข้าประกวดแต่ละเรื่อง มีการอภิปรายที่มีชีวิตชีวาและเปี่ยมความหมายกับบรรดาผู้สร้างหนัง ข้อเท็จจริงที่ว่าหนังถูกฉายในพม่า และยิ่งไปกว่านั้น คือไม่มีการใช้กำลังจากทางการเมื่อมีการฉายหนัง บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่แปลกหูแปลกตาไปของพม่า หลังจากเปิดประตูก้าวออกจากภาวะที่ปกครองแบบเผด็จการอย่างยาวนานในที่สุด 

อีกช่วงของงานที่มีความโดดเด่นคือ โปรแกรมผู้หญิงในหนัง ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของนักทำหนังหญิงชาวพม่า ผู้ชมจะได้รู้จักและระลึกถึงพลังที่แข็งแกร่งของพวกเธอ ซึ่งได้สร้างสรรค์หนังที่มีความหลากหลายตั้งแต่หนังสารคดีที่ทรงพลังไปจนถึงหนังศิลปะที่ละเอียดอ่อน ช่วงการพูดคุยกับ 5 นักทำหนังนั้นดูเหมือนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักทำหนังเพศหญิงรุ่นต่อๆ ไป ไม่ต่างจากผู้ชมเพศชายบางรายที่ยืนขึ้นและบอกว่า "เมื่อผมยังเรียนอยู่ นักเรียนหญิงมักทำได้ดีกว่านักเรียนชายเสมอ และผมต้องยอมรับว่าพวกเธอมักจะฉลาดและมีไหวพริบกว่านักเรียนชาย" พร้อมด้วยเสียงปรบมือจากผู้ชม การปรากฏตัวของคนทำหนังซึ่งเป็นผู้หญิงจำนวนมากนี้เป็นสิ่งที่ยากจะเห็น แม้ว่าจะเปรียบเทียบกับในอุตสาหกรรมหนังตะวันตก และเราอาจหวังว่าพม่าจะกลายเป็นผู้นำเทรนด์นี้ในระดับโลกในอนาคตอันใกล้


ห้าผู้กำกับหญิง
 

นอกจากหนังใหม่แล้ว เทศกาลหนังครั้งนี้ยังนำเสนอหนังเก่าด้วย “Tender are the Feet” ของผู้กำกับที่เป็นที่นับหน้าถือตาอย่าง Mg Wunna สร้างในปี 2515 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการใส่ซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ  ผู้จัดงานใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อทำให้หนังเก่าซึ่งฟิล์มได้เสื่อมสภาพลงได้ฉาย ถือเป็นเรื่องน่ายกย่องที่คนทำหนังหนุ่มสาวไม่เพียงแต่สนใจของใหม่ แต่ยังให้ความสำคัญกับต้นฉบับดั้งเดิมและพยายามรักษาฟิล์มเก่าเหล่านี้ซึ่งถูกละเลยที่จะจัดเก็บอย่างเหมาะสมโดยทางการมาอย่างยาวนาน จากการกระทำเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะกำหนดอนาคต รวมถึงอดีต ด้วยมือของพวกเขาเอง โดยไม่ปล่อยให้ไปอยู่ในมือของรัฐบาล

เทศกาลนี้ยังสะท้อนกระบวนการของการปฏิรูปประชาธิปไตยอันซับซ้อนในพม่าด้วย น่าสังเกตว่าไม่มีหนังที่เข้าประกวดเรื่องใดเลย แม้แต่สารคดีเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่น หรือเรื่องราวของพระรูปหนึ่งที่สึกจากการเป็นพระ ที่ถูกแบนโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ไม่นานก่อนที่เทศกาลหนังจะเริ่มขึ้น ทางการพม่าได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ ส่วนหนังนั้นยังต้องส่งไปให้ตรวจเซ็นเซอร์ แต่เกณฑ์ในการแบนก็ผ่อนปรนมากขึ้น

ขณะที่การเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการเริ่มอ่อนแอลง การเซ็นเซอร์ตัวเองยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึกของประชาชน ในพิธีเปิดเทศกาล Soe Myat Thu ศิลปินด้านหนังและละครชาวพม่า นำเสนอการแสดงละครของเขาซึ่งมีธีมเกี่ยวกับความหลากหลาย เขาขอให้พลเมืองแต่ละคนที่มีประเด็นเรื่องคนกลุ่มน้อยในสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ นั่งท่ามกลางสาธารณะ และเล่าถึงภาวะการเป็นคนส่วนน้อย โดยมีแสงสปอร์ตไลท์ส่องไปที่พวกเขาทีละคนๆ Min Ko Naing อดีตนักโทษการเมืองคนสำคัญและผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 ซึ่งถูกเชิญให้เข้าร่วมด้วย ได้ลุกออกไปกลางคัน โดยระบุว่า เขาเข้าใจว่าการแสดงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐยะไข่ (อาระกัน) จึงไม่ต้องการจะเกี่ยวข้องด้วย ล่าสุด รัฐยะไข่นั้นเกิดความรุนแรงระหว่างชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และโรฮิงยามุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งมีชนวนจากภาพของเหยื่อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร แม้ว่าในการแสดงดังกล่าวจะมีผู้หญิงมุสลิมร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่โดยตรง ผู้จัดงานบอกว่า พวกเขาดีใจที่มีโอกาสนำเสนอการแสดงที่มีความโดดเด่นและรู้สึกเสียใจที่ Min Ko Naing ไม่ได้อยู่จนจบเพื่อจะเห็นและคิดว่ามันเกี่ยวกับอะไร

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับเทศกาล ชื่อของชาวพม่าและชาวต่างชาติราว 2,000 หรือมากกว่านั้นถูกลบออกจากบัญชีดำของรัฐบาล และหลังจากนั้น อดีตผู้นำนักศึกษาซึ่งเคยถูกขึ้นบัญชีดำจำนวนหนึ่งก็ได้กลับบ้านทันที หนึ่งในนั้นคือ Moe Thee Zon ผู้นำกลุ่มแนวหน้านักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF) ซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศอย่างผู้ถูกเนรเทศมาหลายทศวรรษ โดยเมื่อพวกเขากลับมา การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเข่นฆ่า ABSDF ในรัฐคะฉิ่นในปี 2535 ก็เกิดขึ้น ศิลปินอย่าง Htein Lin หนึ่งในกรรมการเทศกาลต้องวุ่นตลอดสัปดาห์ในการอธิบายประเด็นนี้ต่อสาธารณะ 

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ขับเน้นให้ข้อเท็จจริงว่าผู้เล่นทั้งหมดในกระบวนการประชาธิปไตย อดีตนักโทษการเมือง นักกิจกรรม กองทัพที่ต้องการปฏิรูป ผู้ลี้ภัย พลเรือน ศิลปิน ฯลฯ กำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ไม่ได้คาดคิดและเกิดขึ้นกระทันหัน เช่นเดียวกับการดำรงชีวิตของพวกเขาที่อยู่บนการลองผิดลองถูก ช่วงเวลาที่ยังมีความหวังแต่สับสนเช่นนี้ หนังซึ่งสร้างโดยคนทำหนังอิสระ สามารถทำให้เราเห็นความเป็นจริง ไม่ใช่หนังที่ทำตลกหรือแฟนตาซีแบบที่ถูกอนุมัติโดยทางการ พื้นที่ในการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ต่อสาธารณะเป็นการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ


คนทำหนังให้สัมภาษณ์สื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net