คนงานรณรงค์ "วันงานที่มีคุณค่า" ร้องยุติจ้างเหมาค่าแรง ทำชีวิตไม่มั่นคง

 

(7 ต.ค.55) เวลา 10.00 น. ขบวนผู้ใช้แรงงานหลายร้อยคน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังหน้าอาคารสหประชาชาติ สะพานมัฆวาน เพื่อรณรงค์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า หรือ World Day for Decent Work ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อ่านแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาล 6 ข้อ ดังนี้
1.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี 2556 โดยทันที
2.ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น เช่น การจ้างงานแบบสัญญาจ้าง จ้างงานชั่วคราว ลูกจ้างนอกงบประมาณ พนักงานราชการ รวมถึงแก้ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม โดยให้ลูกจ้างไม่ว่าที่จ้างงานโดยตรงหรือโดยอ้อม ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ สภาพการจ้างเท่าเทียมกัน
3.พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดย 1)รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเลี้ยงชีพคนงานเองและครอบครัวอีก 2 คน ต้องมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างทุกปี และขอให้รัฐทบทวนมติ ครม. 22 พ.ย.54 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดในปี 2557 และ 2558
  2)ให้รัฐและรัฐสภาสนับสนุนการปฏิรูประบบประกันสังคม ทั้งด้านการบริหาร ความทั่วถึงของการประกันสังคม และการมีส่วนร่วมทางตรงของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งคณะกรรมการ รวมถึงให้นำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชน 14,264 คนเสนอ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
4.รัฐต้องสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจโดยจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ตรวจสอบคอร์รัปชั่นอย่างเข้มงวด และให้สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและกำหนดทิสทางรัฐวิสาหกิจ
5.ให้ความสำคัญกับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ตอบสนองการเข้าถึงและความต้องการของประชาชน ยกเลิกการนำสถาบันการศึกษาออกนอกระบบ และให้บุคลากรที่ให้บริการสาธารณะมีความมั่นคงในการทำงาน
6.รัฐต้องสร้างความปลอดภัยในการทำงานและขจัดสภาพการทำงานที่เลวร้าย ยกเลิกการใช้วัสดุที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน

ด้านนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ฝ่ายวิชาการของ คสรท. กล่าวว่า นอกจากข้อเรียกร้องทั้งหกข้อแล้ว จะมีการเรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย เนื่องจากข้อเรียกร้องเหล่านี้ครอบคลุมหลายกระทรวง ไม่ใช่เพียงกระทรวงแรงงานเท่านั้น และยังเป็นผลบวกต่อคนทุกกลุ่มในสังคมด้วย 

ยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการจ้างเหมาค่าแรงเกิน 50% แล้ว ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและส่งผลให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากันทั้งที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้น สถานประกอบการบางแห่งยังมีการนำนักศึกษาอาชีวะเข้ามาในลักษณะของการฝึกงาน แต่กลับทำงานเหมือนพนักงานจริงๆ โดยบางครั้งให้ทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียนมาและเมื่อเกิดอุบัติเหตุในการทำงานขึ้นก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ขณะนี้ยอดจองรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้หากไม่เกิดน้ำท่วมจะมียอดผลิตไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านคัน ทั้งยังมีข่าวว่าหลายแห่งจะเพิ่มรอบการทำงานเป็น 3 กะจากปกติ 2 กะด้วย โดยเขาเสนอว่า รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายบังคับให้มีการจ้างงานโดยตรง เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนมีงานที่มั่นคง

ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขัดขวางการรวมตัวของคนงานแบบใหม่โดยนายจ้างได้เปลี่ยนรูปแบบกิจการเฉพาะส่วนของคนงานจ้างเหมาค่าแรงเป็นกิจการบริการ เช่น พนักงานขับรถ จากที่อยู่ในกิจการขนส่งทางบก ก็ถูกจัดเป็นงานบริการ ส่งผลให้คนงานไม่ได้ค่าจ้างและสวัสดิการที่เท่าเทียมกับคนงานประจำ และไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ เนื่องจากเป็นกิจการคนละประเภท ซึ่งเขาคาดหวังว่า การรวมตัวของคนงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะแก้ปัญหานี้ได้ โดยในประเทศไทยเพิ่งมีการก่อตั้ง IndustriALL Thailand ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการรวมตัวกันของสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) สหพันธ์แรงงานปิโตเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย (ICEM) สหพันธ์แรงงานสิ่งทอแห่งประเทศไทย (ITGWFT) และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (ALCT)
 

เสียงร้องจากแรงงานเหมาช่วง

หลายปีที่ผ่านมา การจ้างงานในรูปแบบการ "จ้างเหมาค่าแรง" หรือ "เหมาช่วง" (sub-contract) แพร่หลายเป็นอย่างมากในธุรกิจต่างๆ ลักษณะของการจ้างงานดังกล่าวคือ การที่เจ้าของกิจการหรือโรงงานไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อแรงงานที่มาทำงาน เนื่องจากได้นำส่วนงานนั้นๆ ไปจ้างเหมาบริษัทที่ทำธุรกิจจัดหาแรงงานอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้นำคนเข้ามาทำงานในโรงงานหรือในธุรกิจของตน โดยแรงงานเหล่านั้นไม่ได้ทำงานในฐานะของพนักงานประจำของบริษัท แต่เป็นเพียงลูกจ้างในระบบเหมาช่วงหรือจ้างเหมาที่มาจากบริษัทที่ได้รับการ ว่าจ้างมาอีกทอดหนึ่ง

แรงงานเหมาช่วงจึงไม่ได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และไม่มีความก้าวหน้าในการทำงาน เนื่องจากไม่ได้เป็นพนักงานโดยตรงของโรงงานหรือบริษัท มาฟังเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องจากแรงงานเหมาช่วงที่มาร่วมเดินรณรงค์ "วันงานที่มีคุณค่า" หรือ World Day for Decent Work ในปี 2555 ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท