Skip to main content
sharethis

การดวลวิสัยทัศน์ชิงตำแหน่งงปธน. สหรัฐรอบแรกจบลงแล้ว โดยโอบามาสัญญาว่าจะใช้แผนศก. ที่เพิ่มการจ้างงานและเรียกร้อง "ความรักชาติในทางศก." ในขณะที่รอมนีย์โจมตี "การถูกบดขยี้ของชนชั้นกลาง"​ ที่เป็นผลจากนโยบายของโอบามา 

 
4 ต.ค. 55 - ในการโต้อภิปรายประชันวิสัยทัศน์เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ มลรัฐโคโลราโด ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กับผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์ ได้ปะทะคารมกันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันรู้สึกกังวลมากที่สุด คาดว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์ราว 60 ล้านคน
 
ก่อนหน้าการดีเบตครั้งนี้ โอบามามีคะแนนนิยมนำรอมนีย์เล็กน้อย ตลอดการดวลฝีปากเป็นเวลา 90 นาที ซึ่งมีจิม เลห์เรอร์ จากรายการ นิวส์อาวร์ ของโทรทัศน์พีบีเอส เป็นพิธีกร รอมนีย์ได้พยายามชี้ถึงข้อบกพร่องของรัฐบาลโอบามา เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนตนในการโหวตเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ขณะโอบามาพยายามอวดผลงานของตน
 

ภาพจาก www.dailywireless.org
 
โอบามาบอกว่า แผนเศรษฐกิจของตนจะสามารถสร้างงานได้มากมายในท้ายที่สุด ขณะที่รอมนีย์โจมตีว่า โอบามาไม่สามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ และทำให้อัตราว่างงานสูงถึง 8.1% พร้อมกับพูดถึงแผนเศรษฐกิจ 5 ประการของตน โดยกล่าวหาโอบามาว่า เน้นบทบาทของรัฐในการอัดฉีดเศรษฐกิจมากเกินไป
 
รอมนีย์บอกว่า ประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจจะช่วยให้ตนฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ และจะทำให้เกิดการจ้างงาน 12 ล้านตำแหน่งใน 4 ปี
 
ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะคารมกันอย่างเข้มข้น "ท่านผู้ว่าฯรอมนีย์มองว่า ถ้าเราลดภาษีที่เอื้อคนรวย และลดกฎระเบียบต่างๆ ฐานะความเป็นอยู่ของเราจะดีขึ้น ผมมีความเห็นต่างออกไป" โอบามากล่าว พร้อมกับเรียกร้อง "ความรักชาติในทางเศรษฐกิจ"
 
ขณะที่รอมนีย์พูดในตอนหนึ่งว่า "ท่านประธานาธิบดีมีทัศนะแบบเดียวกับที่เขาคิดตอนที่ลงชิงประธานาธิบดีเมื่อสี่ปีก่อน ว่าถ้าใช้จ่ายให้มากขึ้น เก็บภาษีให้มากขึ้น ออกกฎระเบียบเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะทำงานได้ผล นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับอเมริกา" และปฏิเสธว่า ตนไม่ได้มีแผนจะลดภาษี 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งโอบามาได้ตอบโต้ว่า รอมนีย์ได้กลับลำจากคำประกาศที่เคยพูดหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้
 
รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐแมสซาชูเซตส์ และมหาเศรษฐี กับโอบามา ต่างถูกกดดันให้แสดงแผนการกอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐ หลังจากได้ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะถดถอยมานานหลายปี, อัตราการว่างงานสูงเกิน 8% ติดต่อกัน 43 เดือน, งบประมาณขาดดุลอย่างมหาศาล และโครงการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
ฝ่ายโอบามาแก้ต่างว่า ประธานาธิบดีต้องเข้ามารับภาระจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ทิ้งไว้ แต่สถานการณ์ได้กระเตื้องขึ้นแล้วแม้เป็นการฟื้นตัวช้าๆก็ตาม และว่า ในสมัยแรกของโอบามา เขาต้องเผชิญกับทางตันทางการเมืองเนื่องจากการแบ่งฝักฝ่ายระหว่างสองพรรค
 
"เมื่อผมก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว งบประมาณขาดดุล 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้รอผมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเราต่างรู้ว่ามันมาจากไหน" โอบามากล่าว "สงครามใน 2 ประเทศที่ได้ใช้จ่ายด้วยการรูดบัตรเครดิต, การลดภาษี 2 ครั้งซึ่งไม่มีรายได้อื่นมาทดแทน จากนั้นตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ"
 
ฝ่ายรีพับลิกันได้ฉวยประโยชน์จากคำพูดพลั้งปากของรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อวันอังคาร ที่บอกว่า ชนชั้นกลางได้ "ตายสนิท" ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา รอมนีย์พูดย้ำประโยคนี้ในตอนหนึ่งว่า "ภายใต้นโยบายของท่านประธานาธิบดี ชาวอเมริกันที่มีรายได้ปานกลางได้ตายสนิท ได้ถูกบดขยี้"
 
 
การปะทะเรื่อง "โอบามาแคร์" 
 
ต่อเรื่องสวัสดิการสุขภาพ นายรอมนีย์กล่าวว่านโยบาย "โอบามาแคร์" ที่ได้นำเข้ามาใช้ในปี 2553 ได้เพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพและป้องกันไม่ให้เกิดการจ้างงานโดยธุรกิจขนาดเล็ก 
 
ถึงแม้ว่านายรอมนีย์สัญญาว่าจะยุติโครงการดังกล่าว แต่เขาเองก็กล่าวชมและปกป้องโครงการดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขาเองได้ลงนามสนับสนุนโครงการนี้ในฐานะผู้ว่าการรัฐเมสซาชูเซตส์ ซึ่งต่อมาถูกกล่าวขานว่าเป็นแบบอย่างของการใช้กฎหมาย "โอบามาแคร์"
 
ในขณะเดียวกัน นายโอบามากล่าวว่า นโยบายสุขภาพนี้ ป้องกันไม่ให้บริษัทประกันเลือกปฏิบัติการให้บริการผู้ป่วย โดยกฎหมายดังกล่าว มีชื่อเต็มๆ ว่า Patient Protection and Affordable Care Act ซึ่งเป็นแผนปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มุ่งลดค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชน และลดจำนวนชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ 
 
ผลสำรวจโพลหลายสำนักที่เผยแพร่ก่อนการดีเบต ระบุว่า คนทั้งสองมีคะแนนนิยมสูสีกันมาก โดยโอบามาเป็นฝ่ายนำอยู่เล็กน้อย
 
โพลของวอลสตรีทเจอร์นัล/เอ็นบีซี นิวส์ ให้โอบามานำ 49-46 สอดคล้องกับโพลของเรียลเคลียร์โพลิติกส์ ที่ให้โอบามานำอยู่ 3.5%
 
ผลสำรวจของเนชั่นแนล พับลิก เรดิโอ ระบุว่า โอบามานำ 51-44 ในหมู่ผู้ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์ทั่วประเทศ และนำ 50-44 ในมลรัฐที่เป็นสมรภูมิช่วงชิงคะแนนเสียง หรือสวิงสเตท ขณะที่โพลของวอชิงตันโพสต์-เอบีซี นิวส์ ให้โอบามานำลิ่วถึง 52-41 ในสวิงสเตท
 
 
หลายสำนักชี้ 'รอมนีย์ ' ชนะดีเบตปธน.สหรัฐฯครั้งแรก
 
นักวิชาการหลายสำนักชี้ มิตต์ รอมนีย์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะขาดในการดีเบตครั้งแรกกับบารัก โอบามา ปธน.สหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
 
การดีเบตใหญ่ครั้งแรก สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จบลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลายฝ่ายชี้ว่า การดีเบตครั้งนี้ ชัยชนะตกเป็นของนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ที่รุกหนัก โดยการเน้นโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอย และมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าร้อยละ 8
 
นายรอมนีย์กล่าวว่า หากเลือกเขาเป็นผู้นำของสหรัฐฯ เขาจะสร้างงานให้กับประชาชน ผ่านกลยุทธ์ 5 ข้อ คือ การลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก สนับสนุนพลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ  ขยายตลาดการค้ากับประเทศอื่นๆ พร้อมทั้ง แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน  เพิ่มนโยบายส่งเสริมทักษะการทำงานของแรงงานในประเทศ แก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณด้วยการลดรายจ่าย ไม่ใช่การขึ้นอัตราภาษี  และสุดท้ายคือ การสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อย ที่จะสร้างงานได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่นายโอบามา จะเพิ่มการสร้างงานในสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนในระบบการศึกษา อาทิ การเพิ่มตำแหน่งครูวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพิ่มถึง 100,000 ตำแหน่ง เพื่อสร้างบุคลากรนำพาประเทศสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า นโยบายของนายรอมนีย์ ดูเหมือนจะมีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากกว่า
 
ส่วนเรื่องนโยบายภาษีนั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ โดยนายรอมนีย์ โจมตีนายโอบามา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีธุรกิจรายย่อย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานของประเทศ นอกจากนี้นายโอบามา ยังล้มเหลวในการแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ซึ่งนายรอมนีย์ ถึงกับเตือนว่า หากนายโอบามายังเป็นผู้นำต่อไป สหรัฐฯ อาจดำเนินรอยตามกรีซและสเปน ที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ทั้งนี้ นายอีเวน คัตเตอร์ ผู้ช่วยผู้จัดการการหาเสียงของนายโอบามา ออกมายอมรับกับสำนักข่าว CNN ว่า นายรอมนีย์ ถือว่าชนะในการดีเบตครั้งนี้ เพราะมีการนำข้อมูลเข้าโจมตีนายโอบามาได้อย่างชัดเจน  เป็นรูปธรรม และดุดันมากกว่า ซึ่งอาจเป็นการโน้มนาวใจชาวอเมริกันได้ดีกว่านายโอบามา
 
โดยการดีเบตครั้งนี้ เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในวันที่ 16 ต.ค. นี้จะเป็นการดีเบตรอบสองระหว่างนายโอบามาและนายรอมนีย์ว่าด้วยเรื่องนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ และการดีเบตรอบสุดท้าย ซึ่งว่าด้วยเรื่องนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะ จะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค. 
 
รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และผู้ท้าชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน นายพอล ไรอัน จะขึ้นเวทีดีเบตเช่นเดียวกันในวันที่ 11 ต.ค. นี้ 
 

ที่มา: เรียบเรียงจาก วอยซทีวี, สำนักช่าวบีบีซี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net