Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราคุ้นเคยกับความเชื่อดั้งเดิมในสังคมไทยว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหรือ “สถานศึกษา” เป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในการประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ พร้อมทั้งบ่มเพาะจริยธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ ผู้บริหารและบุคลากรจึงควรวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งให้กับสังคมที่สำคัญ ทิศทางของสถาบันการศึกษาจึงควรถูกกำหนดจากปรัชญาและอุดมการณ์ มากกว่ากำไรหรือผลประโยชน์ขององค์กร
 
ความเชื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกท้าทายมากยิ่งขึ้นในสังคม เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นจริงที่การแข่งขันได้รุกคืบเข้ามาถึงภายในห้องเรียน เมื่อค่านิยมการสำเร็จจากสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดงานทำให้ผลการสอบและเกรดกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
 
ด้วยเหตุผลเรื่องการแข่งขันในตลาดงานดังที่ได้ยกขึ้นมา หรือเพราะหลักการเรื่องการแข่งขันถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนนโยบายการศึกษาก็ไม่แน่ชัดนัก สถาบันการศึกษาทุกระดับในปัจจุบันจึงตกอยู่ภายในการควบคุมและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนไม่ต่างจากสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม
 
โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไปต้องตอบสนองต่อระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกอย่างเข้มงวด ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ถูกตรวจสอบและประกันคุณภาพอย่างถี่ถ้วนด้วยชุดของตัวชี้วัดจำนวนมากที่ถูกกำหนดจากหน่วยงานภายนอกเช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำหรับมหาวิทยาลัยที่ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่าผู้บริหารคณะหรือภาควิชาบางคนในวันนี้เผลอใช้คำว่า “Input” แทนกลุ่มนักศึกษาเข้าใหม่ และ “Output” แทนบัณฑิตที่จะจบการศึกษาในระหว่างการประชุม
 
ผลลัพธ์ของการทำให้การศึกษากลายเป็นเหมือนสินค้าและระบบการศึกษาไม่ต่างจากระบบการผลิตนั้น ก็คือ บุคลากรการศึกษาต้องทำงานภายใต้แรงกดดันของการแข่งขันและการตรวจสอบ (ในหลายครั้ง การแข่งขันถูกสร้างขึ้นจากการตรวจสอบและการตรวจสอบกลายเป็นปัญหาที่แท้จริง!)  ที่สำคัญอย่างยิ่ง บุคลากรที่ทำงานสัมผัสกับผู้เรียนโดยตรงกลับรู้สึกตรงกันว่า ระบบประกันคุณภาพทั้งหลายที่มีอยู่ไม่ได้สร้างหลักประกันให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง แต่กลับเกิดผลตรงกันข้ามในหลายกรณี
 
ปรากฏิการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย  ในสหรัฐอเมริกา นโยบายปฏิรูปการศึกษาของปธน. โอบามาภายใต้ชื่อ “Race to the Top (แข่งขันกันไปสู่ยอด)”  กำลังส่งผลให้บุคลากรการศึกษาของรัฐต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก เมื่อเกณฑ์การประเมินคุณภาพของสถาบันการศึกษาและครูถูกนำไปผูกกับความสำเร็จของนักเรียนเป็นหลัก โรงเรียนที่นักเรียนจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินจึงถูกปิดตัวลงหรือในหลายกรณี ผู้บริหารและบุคลากรครูถูกแทนที่ด้วย “นักบริหารและผู้จัดการโครงการ”
 
การประท้วงของสหภาพครูในชิคาโก ที่เพิ่งจบลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว  ทั้งนี้ เมืองชิคาโกมีความสำคัญในฐานะห้องทดลองของการปฏิรูปเพราะนาย Arne Duncan รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เสนอแผนการปฏิรูปขณะที่ยังมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของเขตการศึกษาชิคาโกนอกจากนี้ชิคาโกเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเขตการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม (รองจากนิวยอร์กซิตี้ และแคลิฟอร์เนีย) แต่มีสถิตินักเรียนในสังกัดโรงเรียนรัฐบาลผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ในระดับรัฐเพียง 45% และในรอบการประเมินปี 2554/2555 กว่า 3 ใน 4 ของโรงเรียนทั้งหมดในเขตนี้ไม่บรรลุเกณฑ์การประเมินเป็นปีที่สองติดต่อกัน
 
การแก้ไขปัญหานักเรียนมีผลการเรียนย่ำแย่แบบ “ชิคาโกโมเดล” ก็คือ แปรรูประบบโรงเรียนของรัฐให้เป็นเอกชน ในด้านหนึ่ง นำผู้บริหารโครงการที่สามารถตอบสนองต่อตัวชี้วัดได้ดีกว่านักการศึกษาหรือครูมาทำงานแทน ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ก็นำระบบคูปองแทนเงิน (monetary vouchers) มาแจกจ่ายให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับโรงเรียนเอกชนจำนวนมากที่เป็นทางเลือกของการศึกษา
 
การปฏิรูปการศึกษาแบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าระบบตลาดและการแข่งขันจะแก้ไขปัญหาผลการเรียนต่ำของนักเรียนได้ ทั้งที่บุคลากรการศึกษาในชิคาโกคัดค้านมาตลอดว่าแนวทางการปฏิรูปที่ใช้อยู่นั้นไม่ตรงจุด เพราะรากเหง้าของปัญหานั้นมาจากความยากจนในเขตเมืองและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบครัวของนักเรียนเหล่านี้เผชิญการปฏิรูปที่มุ่งเน้นตัวชี้วัดคือ ผลการสอบเป็นหลักนั้น ทำให้เกิดหลักสูตรที่คับแคบและให้ความสำคัญแต่เพียงการเพิ่มคะแนน (ไม่ใช่ความรู้) ของผู้เรียน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่ครูชิคาโกเสนอ ก็คือ ลดขนาดของห้องเรียนลงเพื่อให้ครูมีเวลาให้กับนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มตำแหน่งของพยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับหลักสูตรมากขึ้น
 
หลังจากโรงเรียนในชิคาโก 7 แห่งถูกสั่งให้ปิดตัวลงและครูทั้งหมดถูกไล่ออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพแรงงานครูจึงใช้การเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้างงานเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องกับนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรง แต่เมื่อการเจรจาบนโต๊ะล้มเหลวครูในสังกัดโรงเรียนภาครัฐกว่าสามหมื่นคนจึงนัดหยุดงานพร้อมกันในวันที่ 10 กันยายน และเรียกร้องให้ผู้ปกครองพร้อมเด็กนักเรียนร่วมกับครูเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเจรจาข้อตกลงสภาพการจ้างงานจนประสบผลสำเร็จ
 
ประธานสหภาพครูชิคาโกได้กล่าวในภายหลังว่าถึงแม้ผู้มีอำนาจบางคนที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาคิดว่ามันเป็นวิธีจัดการศึกษาที่ดี การได้ลุกขึ้นและบอกให้รู้ว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ถือเป็นชัยชนะที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net