Skip to main content
sharethis

เผยผลงานของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จากกิจวัตรประจำวัน สู่การพิมพ์คู่มือประกอบศาสนกิจของมุสลิมเขียนด้วยลายมือ ชี้การศึกษาเปิดโอกาสให้อยากเป็นนักเขียน วอนให้ผู้ถูกอธรรมได้หลุดพ้นจากความลำบาก

วันหนึ่งที่ห้องโถงในเรือนจำกลางปัตตานี ในกลุ่มชายฉกรรจ์ หลายคนทำปากขมุบขมิบ พร้อมนั่งขยับนิ้วนับลูกประคำ ประหนึ่งกิจวัตรประจำวันในยามว่าง หรือแม้กระทั่งระหว่างนั่งฟังบรรยายจากวิทยากร

พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับมุสลิมที่เคร่งครัดในหลักการศาสนา ที่มักทำการรำลึกถึงอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล โดยการเอ่ยนามพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำตลอดเวลา หรือเรียกว่า การซิกรุลลอฮฺ เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่อยู่นอกเรือจำ เพียงแต่สถานะของพวกเขาในทางคดี คือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง

การำลึกดังกล่าว ถูกปฏิบัติอย่างปกติเช่นเดียวกับการขอดูอา หรือการขอวิงวอนหรือขอพรจากอัลลอฮฺ รวมถึงการกล่าวสรรเสริญและแซ่ซ้องสดุดีพระเจ้าอย่างเงียบๆ ซึ่งเรียกรวมๆว่า เป็นการทำอิบาดะห์ หรือการประกอบคุณงามความดีหรือศาสกิจตามแบบอย่างของนบีมุฮัมมัด ศาสดาแห่งอิสลาม

อันเป็นพฤติกรรมทำให้เกิดคำถามชวนสงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมคนที่เคร่งศาสนาและมีพฤติกรรมที่ตอนนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะภายในเรือนจำไปแล้วนั้น จึงถูกดำเนินคดีและต้องถูกจองจำด้วย

ในจำนวนนั้น บางคนยังถือหนังสือเล่มเล็กสีเขียวอยู่ในมือ ที่มีภาพปกเป็นรูปมัสยิดกรือเซะ พร้อมข้อความภาษามลายูอักษรยาวี ที่ระบุว่า นี่คือจดหมายที่มีชื่อว่า سنجات مجاهد (ซึนญาตอ มุญาฮิด)

ชื่อนี้แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “อาวุธของผู้ที่มีความพยายาม”

คำว่า “อาวุธ” นี้มีความหมาย เพราะศาสดามูฮัมหมัด มีวัจนะไว้ว่า “ดุอาเป็นอาวุธของผู้ศรัทธา เป็นเสาหลักของศาสนา เป็นรัศมีแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน” (รายงานโดยอัล-หากิม)

หนังสือเล่มเล็ก ที่เปรียบเสมือนคู่มือการปฏิบัติศาสนกิจประจำวันของมุสลิมเล่มนี้ หากใครมีเป้าประสงค์ที่ไม่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม การขอดูอาอย่างสม่ำเสมอจึงมักถูกปฏิบัติควบคู่ไปกับกิจการงานต่างๆด้วย

หากแต่ในสายตาพวกเขามันยิ่งมีความหมายมากกว่าหนังสือที่ตั้งวางขายอยู่ทั่วไป เพราะเป็นหนังสือที่พวกเขาผลิตขึ้นมาเอง เขียนด้วยลายมือล้วนๆ ก่อนจะตีพิมพ์ขาย

ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ บอกว่า หนังสือเล่มนี้ มีดุอามากกว่า 117 ดุอา หนาประมาณ 230 หน้า โดยรวบรวมจากหนังสือและตำราทางศาสนาประมาณ 14 เล่ม เนื้อหาส่วนใหญ่อธิบายด้วยภาษามลายู ประกอบด้วยวิธีการใช้ดูอาแต่ละประเภท ยกเว้นตัวบทของดูอา และโองการจากคัมภีร์อัลกุรอานที่เป็นภาษาอาหรับตามต้นฉบับเดิม

“ผมเขียนหนังสือคู่มือเล่มนี้ เพราะได้แรงบันดาลใจจาก ซัยยิด กูฏุบ นักเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามของประเทศอียิปต์ในช่วงศตวรรษ 20 ที่เขียนหนังสือหลายเล่มระหว่างถูกจำคุก เช่น หนังสือเกี่ยวกับการอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน”

ผู้ต้องขังที่เคร่งครัด
เขาบอกว่า ต้องการให้โลกภายนอกเห็นว่า คนที่อยู่ในเรือนจำไม่ใช่ขยะของสังคมหรือเป็นคนที่ไม่ดี เพราะคนในเรือนจำมีความเคร่งครัดและมีความอดทนสูง การมีเวลาในการอ่านหนังสือ มีการศึกษา ทำให้คนในเรือนจำสามารถเขียนหนังสือได้

การรณรงค์ให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามหลักศาสนา ทำให้เกิดกิจกรรมหนึ่งที่มีสำคัญ คือ การบททวนการทำอิบาดะห์ประจำเดือน ซึ่งรวมถึงการอ่านดุอาด้วย ทำให้ต้องมีการเขียนบทดุอาต่างๆ ในกระดาษแล้วถ่ายเอกสารแจกให้เพื่อนๆผู้ต้องขังที่เข้ามาที่เรียนศาสนาศาลาละหมาดเป็นประจำทุกวัน แถมยังแจกให้เจ้าหน้าที่เรือนจำและคนนอกที่มาเยี่ยมด้วย

ผู้ต้องขังรายนี้ ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาประจำศาลาละหมาดแห่งนี้ บอกว่า ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ 1 ปี จึงเกิดแนวคิดว่า น่าจะรวมเล่มบทดุอาเหล่านี้มาเป็นหนังสือคู่มือเพื่อง่ายต่อการอ่าน

“จากนั้นจึงเริ่มเขียนบทดูอาต่างๆ ด้วยลายมืออย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมูฮัรรอม ปีฮิจเราะห์ศักราช 1432 ตรงกับช่วงเดือนธันวาคม 2553 ใช้เวลา 16 วันในการจัดทำต้นฉบับ”

จากนั้นส่งพิมพ์จำนวน 100 เล่มก่อน ใช้งบประมาณ 3,000 บาท บางส่วนส่งให้โต๊ะครูที่ตนเคยเรียนด้วยช่วยตรวจความถูกต้องอีกครั้ง บางส่วนให้คนในเรือนจำช่วยตรวจความถูกต้องด้วยโดยการอ่านเป็นประจำ ใช้เวลาตรวจความถูกต้องประมาณ 4 เดือน

จากนั้นมีการปรับปรุงอีกครั้งที่ 1 มีการเพิ่มดุอาต่างๆ นอกจากดุอาประจำเดือน มีการเพิ่มบทกลอนภาษามลายูเกี่ยวกับหลักศรัทธาเรื่องวันสิ้นโลกและแก้คำผิด ก่อนส่งพิมพ์อีก 1,000 เล่ม ใช้งบประมาณ 20,000 บาท ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยง

“เงิน 20,000 บาท ส่วนหนึ่งยืมจากเพื่อนในเรือนจำ 5,000 บาท เป็นเงินเมีย 5,000 บาท และยืม จากเพื่อนข้างนอกอีก 10,000 บาท”

ต่อมามีการปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ก่อนส่งพิมพ์อีก 2,000 เล่ม ขายหมดเช่นกัน สรุปแล้วพิมพ์ไป 3,100 เล่ม ขายได้ประมาณ 60,000 บาท รายได้ส่วนหนึ่งบริจาคญาติผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจน

ขณะนี้สั่งพิมพ์เพิ่มอีก 1,000 เล่ม เพื่อนำไปวางขายตามร้านหนังสือต่างๆ ด้วย ซึ่งในการผลิตทั้งหมดได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ถึงขนาดช่วยนำไปวางขายในร้านค้าในเรือนจำ จำนวน 300 เล่ม และขายหมดไปแล้ว

เขาเล่าด้วยว่า ตอนนี้กำลังเขียนหนังสืออีกเล่มชื่อว่า “หลังกำแพงเรือนจำมีอะไร” เพื่อสะท้อนชีวิตของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำที่ด้วย

ใช้อะไรเขียน
ถามว่า เมื่ออยู่ในเรือนจำแล้วใช้อะไรเขียน เขาเล่าว่า ใช้ปากกาหมึกซึม เขียนบนกระดาษที่เหลือจากการประชุมสัมมนาภายในเรือนจำ แล้วให้ภรรยานำออกไปตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์บินฮาลาบี อ.เมือง จ.ปัตตานี

แม้ในเรือนจำมีร้านค้าอยู่ภายใน แต่ไม่ปากกาหมึกซึมขายและห้ามนำเข้ามาในเรือนจำ เพราะนักโทษมักใช้ปากกาหมึกซึมเขียนรอยสักบนร่างกาย จึงต้องอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้ภรรยานำมาให้ครั้งละ 2-3 ด้าม แต่ถ้าหมึกหมดก็จะต้องรออีก 2-3 วันกว่าจะได้มาอีก

ส่วนเหตุใดที่ใช้มัสยิดกรือเซะมาเป็นภาพปกนั้น คำตอบที่ออกมาจากปากของเขากลับกลายเป็นคำถามย้อนมาว่า “มัสยิดกรือเซะผิดอะไร ทำไมจึงถูกเผาอย่างที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์” “มันก็เหมือนกับที่ผิดอะไร ทำไมจึงถูกเจ้าหน้าทีมาจับ?”

เขาเล่าถึงสาเหตุที่ตัวเองต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำว่า เพราะถูกดำเนินคดีความมั่นคง ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ปลุกระดม ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 ปี จากนั้นได้ยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างฎีกา

เขาหวังว่า ศาลฎีกาจะกลับคำพิพากษา เพราะเขาเชื่อว่า ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่เหตุที่ถูกจับเนื่องจากไปเป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ที่รัฐเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ

เขามองถึงการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ต้องให้เป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่ปัญหาถึงจะจบลง และจำเป็นต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ไปด้วย

บทขอพรเพื่อคนถูกอธรรม
หนังสือคู่มือเล่มนี้ ไม่ได้แตกต่างจากคู่มือมุสลิมทั่วๆ ไป หากไม่ได้เป็นผลงานของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเขาบอกว่า เพื่อใช้ประกอบการทำอิบาดะห์อย่างเดียว เพื่อให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายใช้ขอดูอาจากอัลลอฮให้หลุดพ้นจากความอธรรมและความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ไม่มีนัยยะทางการเมือง

เมื่อพลิกดูเนื้อหาในส่วนแรกของคู่มือเล่มนี้ จะพบการเริ่มต้นด้วยดูอาที่ชื่อว่า “ดูอา อาวุธของนักต่อสู้” เขียนอยู่กรอบรูปลวดหนามล้อมวาดด้วยลายมือ ซึ่งเขาบอกว่า หมายถึง เรือนจำ โดยมีภาพวาด 2 มือที่แบออกพร้อมกับถูกคล้องด้วยกุญแจมือ หมายถึง “คนที่ถูกอธรรมกำลังขอดุอาต่อพระเจ้า เพื่อขอให้หลุดพ้นจากการถูกอธรรม” ส่วนภาพวาดดอกชบา หมายถึง สัญลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม

ความหมาย คือ “โอ้ อัลลอฮ จงประทานความสันติสุขแก่ศาสดามูฮัมหมัด และขอให้เกิดความกลัวในหัวใจของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้ที่กราบไหว้อย่างอื่นไปด้วยนอกจากอัลลอฮ ผู้ที่สร้างความอธรรม ผู้ที่กลับกลอก และผู้ที่สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน....มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ”

อามีน อามีน อามีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net