Skip to main content
sharethis

ผู้แปลหนังสือ "ติมอร์ตะวันออก: เส้นทางสู่เอกราช" เล่าถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออก ชาติเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่า "ศาสนา" และ "สิทธิมนุษยชน" เป็นพลังหลักทำให้ชาวติมอร์รวมตัวกันต่อสู้ได้ จนทำให้ความชอบธรรมของกองทัพอินโดนีเซียในฐานะผู้ปกครองต้องหมดความชอบธรรมลงไปในที่สุด

หนังสือ "ติมอร์ตะวันออก: เส้นทางสู่เอกราช" ที่แปลมาเป็นภาษาไทยจาก "East Timor : The Price of Freedom" ของ John G. Taylor โดย สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และอรพรรณ ลีนะนิธิกุล ภายใต้มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา

หลังจากที่ 'ติมอร์ เลสเต้' หรือติมอร์ตะวันออก ผ่านการสู้รบภายในประเทศอย่างนองเลือดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นับตั้งแต่การยึดครองเป็นอาณานิคมโดยโปรตุเกสในทศวรรษที่ 16 มาจนถึงหยดสุดท้ายก่อนจะได้เอกราชในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ปัจจุบัน ติมอร์ตะวันออก ก็ได้เข้าสู่ช่วงที่ประเทศปลูกหน่ออ่อนและพัฒนาประชาธิปไตยอย่างช้าๆ และมั่นคง ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ติมอร์ตะวันออกยังเผชิญกับปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม แต่สำหรับประเทศที่เกิดมาใหม่ที่สุดในโลก คือได้รับเอกราชราว 10 ปีเท่านั้น นับว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษา ในฐานะประเทศที่สามารถจัดการกับความขัดแย้งและลุกขึ้นมายืนใหม่ได้อย่างมั่นคง

หนังสือ "ติมอร์ตะวันออก: เส้นทางสู่เอกราช" ที่แปลมาเป็นภาษาไทยจาก "East Timor : The Price of Freedom" ของ John G. Taylor โดย สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และอรพรรณ ลีนะนิธิกุล ภายใต้มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของติมอร์ตะวันออก โดยเนื้อหาของหนังสือจำนวนความยาวกว่า 600 หน้านี้ เริ่มตั้งแต่สมัยที่ติมอร์ตะวันออกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 แต่จุดเด่นของการเล่าประวัติศาสตร์ประเทศติมอร์ตะวันออกในเล่มนี้ อยู่ที่การต่อสู้อันนองเลือดเพื่อเอกราชของประชาชนชาวติมอร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1975 เป็นต้นมา โดยผู้เขียน จอห์น จี เทย์เลอร์ ยังได้หยิบเอาคำบันทึกและบอกเล่าการต่อสู้และความเจ็บปวดของชาวติมอร์ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของกองทัพอินโดนีเซีย และสงครามภายในที่ยืดเยื้อ มาร้อยเรียงเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชน ที่อยู่เบื้องหลังการได้มาซึ่งเอกราชของประเทศ

ช่วงอภิปรายโดยสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ ผู้เขียน หนังสือ "ติมอร์ตะวันออก: เส้นทางสู่เอกราช" ที่แปลมาเป็นภาษาไทยจาก "East Timor : The Price of Freedom" ของ John G. Taylor สำหรับช่วงอภิปรายโดยวิทยากรท่านอื่นๆ สามารถติดตามได้จากลิ้งนี้ [1] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ [2] วิทยา สุจริตธนารักษ์

ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ บรรณาธิการแปล มองปัจจัยความสำเร็จในการต่อสู้ของขบวนการเพื่อเอกราชในติมอร์ตะวันออกว่า มีพลังหลักๆ อยู่สองอย่าง คือ ศาสนา และสิทธิมนุษยชน ที่ช่วยทำให้ประชาชนชาวติมอร์รวมตัวกันได้ทั้งทางภายนอกและจิตใจ และต่อสู้เพื่อทำให้ความชอบธรรมของกองทัพอินโดนีเซียในฐานะผู้ปกครองต้องหมดความชอบธรรมลงไปในที่สุด

ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออก ได้ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ต่อมาใน ค.ศ. 1974 (พ.ศ.​2517) ได้เกิดการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นที่โปรตุเกส โค้นล้มระบอบทหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทำให้จักรวรรดินิยมในโปรตุเกสล่มสลาย ติมอร์จึงประกาศเอกราชในปีถัดมา อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียในขณะนั้น เกรงว่าการได้เอกราชของติมอร์ตะวันออก จะมาพร้อมกับภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ จึงนำกองทัพบุกเข้ามาในติมอร์ตะวันออก โดยได้รับความสนับสนุนจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ

ภายใต้ผู้ปกครองคนใหม่ ติมอร์ตะวันออกถูกปกครองด้วยความโหดร้ายไม่ต่างจากเดิม มีรายงานว่าในระหว่างปี 1975-1999 ซึ่งเป็นปีก่อนที่อินโดนีเซียถอนกองทัพออกไปนั้น ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกตกเป็นเหยื่อของการสังหารนอกกฎหมาย และการซ้อมทรมานจากกองทัพอินโดฯ ราว 18,600 คน และเสียชีวิตจากความอดอยากอีกราว 102,800 คน ในระหว่างนั้น ขบวนการชาตินิยมหลักที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ "เฟรติลิน" พรรคการเมืองของติมอร์ตะวันออก นำโดยโฮเซ่ รามอส ฮอร์ตา ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นประธาธิบดีคนที่สองของติมอร์ตะวันออก และ ""ฟาลินติล" ปีกกองกำลังของพรรคเฟรติลิน มีซานาน่า กุสเมา ประธานาธิบดีคนแรกในเวลาต่อมา เป็นผู้บัญชาการของกองกำลังด้วย

ศาสนาในฐานะ "ศูนย์รวมจิตใจ"

แต่นอกจากบทบาทของผู้นำในการได้เอกราชมาแล้ว บรรณาธิการแปลหนังสือเล่มนี้ มองว่าเรื่องของ "ศาสนา" โดยเฉพาะศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคธอลิกนั้น ยังมีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนชาวติมอร์มี "ศูนย์รวมจิตใจ" ยึดเหนี่ยวการต่อสู้เพื่อเอกราชในภาวะสงคราม โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่ติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสราว 400 ปี มีเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้นที่นับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่ปัจจุบันมีประชาชนนับถือคริสต์ราวร้อยละ 93 อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ปวารณาตนเป็นคริสต์และทำพิธีกรรมต่างๆ อย่างเคร่งครัด กลับเป็นช่วงที่อินโดนีเซียเข้ายึดครอง 

สิทธากล่าวว่า เป็นเพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทางการเมืองและสังคม ทำให้ประชาชนชาวติมอร์ต้องหันเข้าหาโบสถ์ เนื่องจากในสมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โตขึ้นสู่อำนาจปี 1965 ได้ออกกฎให้ทุกคนต้องนับถือศาสนา มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยในช่วงเวลานั้น เกิดกระแสการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือด มีการประมาณการณ์ว่า สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ถูกสังหารโดยกองทัพอินโดนีเซียราว 5 แสนถึง 1 ล้านคน นอกจากนี้ บุคคลต่างๆ ในฝ่ายค้านที่มีบทบาทนำทางการเมือง ก็มักจะถูกข้อหา "คอมมิวนิสต์" เล่นงานและถูกจับกุมคุมขังเช่นกัน

ชาวติมอร์จำนวนมาก จึงได้วิ่งเข้าหาโบสถ์และปวารณาตนเป็นคริสตศาสนา ประกอบกับในช่วงปีเดียวกัน มีการสังคายนาศาสนาคริสต์จากกรุงวาติกัน ทำให้คนสามารถทำพิธีมิสซาเป็นภาษาท้องถิ่นได้ จากแต่ก่อนจำกัดอยู่ในภาษาโรมันเท่านั้น ทำให้คนกลับเข้าหาและเข้าถึงศาสนาคริสต์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในทางการเมือง ถึงแม้ว่าด้านการเมืองการปกครอง ติมอร์ตะวันออก จะถูกยึดครองโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ในทางศาสนจักร์ อินโดนีเซียมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว จึงถือว่าติมอร์ตะวันออกยังขึ้นตรงอยู่กับกรุงวาติกันในทางศาสนา

"ฉะนั้น 'เอกราช' ในทางศาสนาของติมอร์ตะวันออกยังคงอยู่ ทำให้พลังของศาสนาเป็นพลังสำคัญของขบวนการที่เรียกร้องเอกราช นักรบของเฟรติลิน แรกเริ่มเป็นนักบวช เป็นเณรในศาสนาคริสต์ด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย ก็ได้เข้ามามีบาทในทางการเมืองในตอนหลัง" สิทธากล่าว

เขาเสริมว่า ในช่วงที่อินโดนีเซียยึดครองติมอร์ "คุณพ่อ" ในศาสนาคริสต์หรือบาทหลวง ยังได้กลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจและกำลังคน และหากว่ามีการหลบหนีลี้ภัย ก็จะมาอาศัยโบสถ์หรือที่พักอาศัยของพระเป็นหลัก ทำให้เรื่องของชาติและศาสนาไปด้วยกันได้อย่างมีพลังมากในขณะนั้น ในขณะเดียวกัน การเดินทางมาเยือนของพระสันตะปาปาจอนปอลที่สองมายังติมอร์ในปี 1989 ก็ได้เป็นจุดสำคัญในการล็อบบี้รัฐบาลตะวันตกให้หยุดสนับสนุนการยึดครองติมอร์ของอินโดนีเซีย และมองติมอร์ในมุมมองที่ต่างออกไป

"สิทธิมนุษยชน" จุดทำลายความชอบธรรมผู้ปกครองที่โหดร้าย

จุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นานาชาติเริ่มเข้ามาสนใจปัญหาในติมอร์ตะวันออก ทั้งๆ ที่ติมอร์เผชิญการกระทำจากรัฐบาลอินโดนีเซียก่อนหน้านี้มาเป็นระยะเวลานาน คือกรณีการสังหารหมู่ที่โบสถ์ซานตาครู๊ซ ในกรุงดีลิ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1991 (2534) ที่กองทัพอินโดนีเซียเปิดฉากยิงปืนใส่ประชาชนที่ชุมนุมกันในระหว่างงานศพผู้เสียชีวิตจากการเผชิญหน้าก่อนหน้านี้ โดยผู้ชุมนุมในงานศพได้ถือธงชาติติมอร์ตะวันออกและตะโกนเพื่อเรียกร้องเอกราชอย่างสันติ แต่ด้วยความตึงเครียด ทหารชาวอินโดนีเซียราว 200 คน ได้เปิดฉากยิงปืนใส่ผู้ประท้วงในโบสถ์อย่างไม่เลือกหน้า ทำให้มีชาวติมอร์เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นอย่างน้อย 250 คน 

นักข่าวชาวอังกฤษ "แม็กซ์ สตาห์ล" ผู้ถ่ายคลิปของการสังหารหมู่ครั้งนั้นไว้ได้ ได้ลักลอบเทปวีดีโอดังกล่าวออกสู่ภายนอก และได้ทำเป็นสารคดีฉายภาพการปกครองที่โหดร้ายในติมอร์ตะวันออก ทำให้ประชาคมนานาชาติ ได้หันมาสนใจเรื่องราวของดินแดนแห่งนี้เป็นครั้งแรก ต่อมาได้เกิดแรงสนับสนุนและสมานฉันท์จากหลายประเทศ กดดันอินโดนีเซียเพื่อปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องเอกราชในติมอร์ตะวันออก

จากนั้นมา เรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ได้กลายเป็นประเด็นหลักในการล็อบบี้ในเวทีนานาชาตืเพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออก โดยเฉพาะฮอร์ต้าจากพรรคเฟรติลิน ได้มีบทบาทสำคัญในการล็อบบี้เรื่องนี้ จนในที่สุด ได้นำมาซึ่งการจัดประชามติที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติในปี 1999 โดยมีประชาชนกว่าร้อยละ 80 ที่โหวตเพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออก

"ในโลกหลังยุคสงครามเย็นจบสิ้น ที่ทางของทหารมันอยู่ยากมาก คือความชอบธรรมในการอ้างเพื่อที่จะใช้อำนาจในแง่การใช้อาวุธเพื่อที่จะปกครอง มันอยู่ยากมาก และเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวที่ทำลายความชอบธรรมรบ.ที่ปกครองด้วยอาวุธต่างๆ เหล่านี้" สิทธากล่าว

เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกลุ่มแนวหน้าปลอดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ทางเกาะมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปัจจุบันต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อการแบ่งแยกดินแดน แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์เองก็พยายามจะผลักดันเรื่องนี้ไปสู่การเจรจาสันติภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงไปถึงขั้นความเป็นเอกราช ในขณะที่อินโดนีเซีย ปล่อยให้ความรุนแรงเป็นไปอย่างสุดโต่ง ทำให้ติมอร์หลุดไปสู่ความเป็นเอกราชได้ในที่สุด

"โลกสมัยใหม่ แม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว กาารเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก็ดี หรือไปสู่เอกราชก็ดี ถ้ามันเปลี่ยนผ่านด้วยกำลังทหาร มันมีสถิติที่บันทุกไว้ว่า มากกว่าครึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ ที่จะคงให้ประเทศอยู่ต่อ จะเจอกับปัญหาการเอาคืนจากฝ่ายที่เสียประโยชน์ หากมีการใช้อาวุธ อย่างในกรณีของลิเบียในปัจจุบัน" สิทธาระบุ

"น่าสนใจที่อย่างติมอร์ได้ปรับด้วยการเลือกตั้ง ในทางสัญลักษณ์แล้ว ในทางระยะยาว มันปลูกฝังวิธีคิดการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่สันติ"

บทบาทของทหารที่ถูก "จำกัด" แม้สิทธิการเลือกตั้ง

เขากล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คือการรัฐประหาร ที่ผ่านมามีความพยายามหลายครั้งแต่ก็ทำไม่สำเร็จ มีความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี แต่ก็ล้มเหลว เขามองว่าเป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองที่มีความประนีประนอม การเจรจาต่อรองและการเลือกตั้งที่มีพลัง ทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการเมือง เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการเจริญเติบโตทางประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การที่อินโดนีเซียเองพัฒนาไปทางประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงในติมอร์ตะวันออกไม่เลวร้ายลง เนื่องจากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนจากภายนอก สิทธากล่าวว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียฉบับ 1999 เป็นต้นมา ได้มีการจำกัดสิทธิของทหารในทางการเมือง ไม่ว่าจะสิทธิการเลือกตั้ง หรือการมีที่นั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ถูกตัดเสียหมดสิ้น

ถึงแม้ว่าอินโดนีเซีย จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงในบทประวัติศาสตร์ของติมอร์ตะวันออก แต่ในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศ ก็ให้ความสำคัญเรื่องการเยียวยาและสมานฉันท์บาดแผลจากในอดีต มีกระบวนการมากมายที่จะสลายความขัดแย้งในอดีตและมุ่งสู่การเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันในอนาคต และอินโดนีเซียเองก็เป็นตัวหลักที่ผลักดันให้ติมอร์เป็นสมาชิกของอาเซียนด้วย

"การเยียวยากับความขัดแย้งในอดีต เป็นพื้นฐานสำคัญมากในการเดินไปข้างหน้าของประเทศ ว่าเราจะอยู่กับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร" สิทธากล่าวส่งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net