Skip to main content
sharethis

 

สำรวจบรรยากาศถนนรวมมิตร ย่านธุรกิจไข่แดงเซฟตี้โซนกลางเมืองยะลา เส้นทางที่ยาวแค่ 950 เมตร ทว่าที่มีกำลังหมุนเวียนดูแลความปลอดภัยมากกว่า 200 นาย เศรษฐกิจกับชีวิตที่ฝากไว้กับ ‘ท่อซิเมนต์’ และโชคชะตา

 

“ตอนนี้มีทหารหมุนเวียนสลับกันดูแลรักษาความปลอดภัยในย่านถนนรวมมิตร รวม 200 นายครับ”

คือน้ำเสียงหนักแน่นของ พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ที่พูดถึงมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่ปลอดภัย หรือ ‘เซฟตี้โซน’ ย่านเศรษฐกิจสำคัญกลางเมืองยะลา

ถนนรวมมิตร ยาวเพียง 950 เมตร ทว่ามีประวัติโชกโชน เพราะตกเป็นพื้นที่เป้าหมายโจมตีทำลายล้างด้วยระเบิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง

ครั้งที่หนักที่สุดก็คงไม่พ้นเหตุคาร์บอมบ์ 3 ลูก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 วันเดียวกับเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กระทั่งเลขาธิการสหประชาชาติถึงกับออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง

เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินไปมาก ตัวอาคารร้านค้าถูกเพลิงไหม้ย่อยยับไปหลายคูหา

ที่แย่ไปกว่านั้น คือ อารมณ์ความรู้สึกของผู้ประกอบการ พ่อค้าแม้ค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งหลายคนเพิ่งเริ่มฟื้นจากเหตุคาร์บอมบ์ครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นเหตุระเบิด 12 จุดทั่วเมืองยะลามาได้ไม่นาน กลับต้องมาเจอกับเหตุการณ์นี้ซ้ำอีกครั้ง อย่างที่นายนฤพล สุคนธชาติ ผู้ประกอบการร้านอาหารและผับย่านถนนรวมมิตร เคยเล่าให้ฟังมาก่อนหน้านี้

หลังเหตุคาร์บอมบ์ 3 ลูก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 มาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากรัฐจึงค่อยๆ ทยอยออกมาดังเช่นทุกครั้งหลังเกิดเหตุ ทั้งการปกป้องดูแลรักษาชีวิตและทรัพย์สิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านนี้ให้กลับมาคึกคักโดยเร็ว

มาตรการหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดเป็นเขตเซฟตี้โซน เริ่มจากกำหนดให้เดินรถทางเดียว หรือ one way กำหนดทางเข้าออกชัดเจน และมีจุดตรวจบริเวณทางเข้าและทางออก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง

“ย่านถนนรวมมิตรมีจุดตรวจ 14 จุด อยู่ตรงทางเข้า 6 จุด ทางออก 8 จุด แต่ละจุดมีทหารประจำอยู่ 6-8 นาย มีทั้งยานพาหนะและตรวจบุคคล” พ.อ.นพพร ระบุว่า

คำว่า ‘เข้า 6 ออก 8’ ในที่นี้หมายถึงถนนหรือซอยที่เชื่อมต่อถนนสายอื่นกับถนนรวมมิตรลักษณะเหมือนก้างปลา ซึ่งถนนก้างปลาพวกนี้ก็ถูกกำหนดให้เดินรถทางเดียวเช่นกัน

พ.อ.นพพร บอกว่า เดิมมีกำลังทหารรักษาความปลอดภัยในเขตเทศบาลนครยะลาวันละ 50 - 100 คน ทั้งการเดินลาดตระเวน ตั้งด่านตรวจ ดูแลตลาด แต่เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้เพิ่มกำลังเป็น 200 นาย ที่จะหมุนเวียนดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งรวมถึงย่านถนนรวมมิตรด้วย

“นั่นยังไม่นับกำลังตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) รวมทั้งกองกำลังประชาชนที่แทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ในย่านถนนรวมมิตรอีกหลายสิบคน” พ.อ.นพพร ระบุ

“ไม่เพียงเท่านั้นครับ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมการอยู่ตลอด คือ พยายามวิเคราะห์รูปแบบการก่อเหตุของฝ่ายขบวนการ เพื่อหาทางป้องกันการก่อเหตุที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ให้ได้”

แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นมาแล้ว “เราได้เชิญผู้นำศาสนาและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบออกมาละหมาดฮายัต เพื่อแสดงว่า เราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง”

หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยประจำจุดตรวจนายหนึ่ง บอกว่า ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยผลัดเปลี่ยนเวรกันทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง

วิธีการตรวจตราและรักษาความปลอดภัย มีตั้งแต่การสอบถามผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ การตรวจสอบผ่านกล้องวงจรปิดว่า ผู้ที่เข้ามาในย่านนี้ ได้เดินทางไปตรงจุดที่แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจหรือไม่ ผู้ที่ผ่านเข้าออกพูดจาคล่องแคล่วฉะฉานไม่ตะกุกตะกัก หรือมีพิรุธหรือไม่ จนมั่นใจจึงจะให้ผ่านไปได้

“ทุกคนที่เข้ามาในย่านนี้ เรียกได้ว่า จะอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่และกล้องวงจรปิดตลอด”

เจ้าหน้าที่รายนี้ บอกว่า การตรวจเข้มแบบนี้ บางทีก็ถูกประชาชนบ่น ส่วนเจ้าหน้าที่เองก็เบื่อเหมือนกันที่ต้องคอยดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด แต่พวกผู้ก่อความไม่สงบไม่ยอมที่จะหยุดหาช่องโหว่ช่องว่างเพื่อเข้ามาก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ก็ต้องปิดทุกช่องให้ได้ต่อไป ไม่มีสิทธิเบื่อ

 

‘ท่อ’ ป้องกันชีวิต
แม้รัฐพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลย่านนี้อย่างที่สุด แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการเองก็ไม่อยากรอให้รัฐมาช่วยอย่างเดียวแล้ว เพราะหลังเหตุการณ์ ปรากฏว่าตลอดแนวถนนผู้ประกอบการได้นำท่อซิเมนต์มาตั้งเรียงหน้าร้าน เพื่อให้เป็นตัวช่วยบรรเทาความรุนแรงจากระเบิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

เป็นท่อซิเมนต์ที่มาจากการช่วยเหลือของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วยส่วนหนึ่ง

ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา บอกว่า “ท่อซิเมนต์ไม่ได้ช่วยให้คาร์บอมบ์ลดลงหรอกครับ แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ร้านไม่เสียหายมากและอาจช่วยชีวิตได้ด้วย”

ท่อซิเมนต์พวกนี้ เริ่มผุดขึ้นมาเป็นแถวหลังจากร้านขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้าตรงปากทางเข้าโรงแรมปาร์ควิว นำท่ออัดด้วยปูนซิเมนต์มาตั้งไว้เป็นร้านแรกมาเป็นปี ก่อนที่ย่านนี้จะถูกกำหนดเป็นเขตเซฟตี้โซนเสียอีก

เจ้าของร้านขายอุปกรณ์ประกอบพิธีทางศาสนาของคนไทยเชื้อสายจีน ระบุว่า ปกติการวางท่อซีเมนต์หน้าร้านต้องขออนุญาตจากเทศบาลก่อนด้วย แต่พอหลังเกิดเหตุระเบิด ไม่มีใครรอขออนุญาตแล้ว ตัดสินในทำเลย เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ย้ายไปไหนแล้ว

“เราไม่อยากไปเริ่มต้นทำกิจการที่อื่น เพราะไม่รู้ว่าจะคุ้มค่ากับการไปเริ่มใหม่หรือไม่ คนย้ายออกไปส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมากกว่าเจ้าของธุรกิจ” เจ้าของร้านรายนี้ ยืนยัน

ส่วน ‘แจ๊ค’ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายตุ๊กตาย่านถนนรวมมิตร 20 ปีแล้ว บอกว่า ตอนนี้ท่อซิเมนต์ กลายเป็นสิ่งก่อสร้างดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวหรือคนแปลกหน้าไปแล้ว

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากมีคนลงจากรถมาถ่ายรูป ‘คู่กับท่อ’ สีสันแปลกตากันบ้างแล้ว

ทว่า “ท่อหน้าร้านไม่ได้ทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นเลย มันไม่สวยงามหรอก จะวางของโชว์หน้าร้านก็ไม่ได้ เพราะคนมองไม่เห็น แถมยังทำให้เสียพื้นที่ไปด้วย”

ที่สำคัญ แจ๊ค บอกว่า “มันดูน่ากลัว รู้สึกว่าเหมือนอยู่ในพื้นที่สงคราม แต่เอาล่ะ ไหนๆ ก็ตั้งมาแล้ว ก็ต้องให้มันดูดีซักหน่อย ซื้อสีมาทาหรือวาดรูปเสียเลย จิตใจจะได้ไม่หดหู่ สุขภาพจิตจะได้ไม่แย่มาก”

การวางท่อหน้าร้านครั้งนี้ แจ๊คบอกว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังหมดเงินไปประมาณ 3,000 บาท จากราคาท่อละ 300 บาท รวม 10 ท่อ พร้อมกับตั้งความหวังไว้ว่า “เมื่อไหร่หนอ ลูกค้าคนต่อไปจะแวะเข้ามาในร้าน?”

 

แย่ไม่ใช่แค่ถูกคาร์บอมบ์
แน่นอนว่า ทุกครั้งหลังเกิดคาร์บอมบ์ในเมือง ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา แจ๊ค บอกว่า ช่วงแรกของการทำเซฟตี้โซน ย่านนี้เหมือนเมืองร้าง ยอดขายโดยรวมลดลง 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาก็ดีขึ้น ‘นิดหน่อย’ และไม่มั่นใจว่าจะไม่มีระเบิดในเขตนี้อีก

แจ๊ค บอกว่า สาเหตุที่ยอดขายลดลง มาจากการทำเป็นถนนวันเวย์และการตรวจเข้มของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกรำคาญ แต่เชื่อว่าผ่านไปสักพักทุกคนก็คงจะชิน และอย่างน้อยเซฟตี้โซนก็ช่วยให้อุ่นใจได้บ้าง

แจ๊คเปรียบเทียบถนนรวมมิตรกับถนนยะลาสายกลาง ซึ่งเป็นเขตเซฟตี้โซนแห่งแรกในเขตเทศบาลนครยะลาว่า สินค้าหลักที่ขายในย่านถนนยะลาสายกลาง เป็นพวกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขายได้ตลอดและเข้าออกง่าย ทำให้ผู้ประกอบการยังขายสินค้าได้

“ต่างกับถนนรวมมิตร ที่ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร และการเข้าออกยากกว่า เพราะต้องเดินรถทางเดียว มีการปิดทางเข้าออกในซอยย่อยๆ ทำให้ต้องขับรถวนกว่าจะถึงร้านที่ลูกค้าต้องการ ทำให้เสียเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ลูกตัดสินใจหันไปจับจ่ายที่อื่น”

แจ๊ค ระบุว่า เหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ยังส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาเคยคิดจะย้ายออกไปอยู่ที่อื่นด้วย แต่ตอนนี้ยอมรับสภาพกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้แล้ว และยืนยันจะสู้ต่อไป

ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งย้ายออกไป แต่ก็มีผู้ประกอบการรายใหม่ย้ายเข้ามาแทนที่ ซึ่ง ดร.ณพพงศ์ บอกว่า “ถึงอย่างไรก็ตาม ถนนรวมมิตรก็ยังคงเป็นทำเลทองของศูนย์กลางเศรษฐกิจเมืองยะลาอยู่ดี”

แนวคิดเรื่องเซฟตี้โซนมีขึ้นในช่วงที่นายกฤษฎา บุญราช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา โดยก่อนเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 มีการจัดทำเขตเซฟตี้โซนนำร่องในย่านถนนยะลาสายกลาง ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล

“เซฟตี้โซนในช่วงแรกทำได้เพียงเดือนเศษ ผู้ประกอบการก็ขอให้ยกเลิก เพราะส่งผลทำให้ยอดขายลดลง พร้อมทั้งมีเสียงบ่นถึงความรำคาญและความลำบากในการเดินทางเข้าออกย่านเซฟตี้โซน” ดร.ณพพงศ์ ระบุ

จากนั้นจึงมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความสมดุลในทางปฏิบัติมากขึ้น ทว่ายังคงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่เหมือนเดิม

ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา บอกว่า มีเซฟตี้โซนก็ช่วยรักษาความปลอดภัยได้อยู่ แต่ถ้ามีแล้วยังช่วยอะไรไม่ได้ ก็ไม่รู้จะมีไว้ทำไม แต่ถึงอย่างไรก็ตามผ่านมา 8 ปีมาแล้วที่เจอเหตุการณ์ คนในพื้นที่ปรับตัวพอสมควรแล้ว

แต่ก็ใช่ว่า เซฟตี้โซนอย่างเดียวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ หากแต่เหตุการณ์อื่นๆ หรือในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะเหตุระเบิดในเขตเมืองหรือย่านเศรษฐกิจ ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองยะลาด้วยเช่นกัน

ดร.ณพพงศ์ อธิบายด้วยว่า หลังเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองยะลาอย่างเห็นได้ชัด เช่น เหตุคาร์บอมบ์ในเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เหตุระเบิดโรงแรมซีเอส.ปัตตานี รวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงแรกของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม

แม้กระทั่งเทศกาลการถือศีลอดของชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมเช่นกัน เนื่องจากประชาชนไม่ค่อยออกมาท่องเที่ยวหรือจับจ่ายสินค้ามากนัก ยกเว้นในช่วงก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะออกมาซื้อเครื่องแต่งกายชุดใหม่ๆ และซื้อทองไว้ใช้ในช่วงวันรายอ ซึ่งเป็นวันฉลองสิ้นการถือศีลอด

ทว่า นายวรพจน์ อุฬาร์ศิลป์ เจ้าของห้างทองโอฬาร(อุ่ยยงพง) ในเขตเทศบาลนครยะลา ก็ยังเห็นว่า ปีนี้ยอดซื้อขายทองน้อยลงถึงครึ่งหนึ่งถ้าเทียบกับปีก่อน

“ปีนี้ยอดขายลดลง แถมชาวบ้านยังเอาทองมาจำนำเพิ่มอีกต่างหาก” ประกอบกับมีร้านทองที่มุสลิมเป็นเจ้าผุดขึ้นมาในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น ชาวบ้านจึงมักใช้บริการร้านทองในตัวเมืองน้อยลง เพราะสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ทั้งดร.ณพพงศ์และนายวรพจน์ ระบุเหมือนกันสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา คือ ราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อราคาตกคนก็ต้องประหยัดเงินมากขึ้น การจับจ่ายก็น้อยลงตามไปด้วย

ดร.ณพพงศ์ ระบุว่า “50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จังหวัดยะลา ก็มาจากยางพารานี่แหละ”

 ‘หมอหน่อย’ หรือ ทันตแพทย์หญิงศุภมาส ลิ่วคุณูปการ เจ้าของคลินิกหมอหน่อยย่านรวมมิตร บอกว่า ช่วงแรกของการตั้งเซฟตี้โซน คนไข้ประจำไม่ยอมมาใช้บริการเลยเพราะกลัว แต่พอจะเข้าใช้บริการ ก็บอกว่าเข้าไม่ถูก เพราะเส้นทางเข้าออกเปลี่ยนไป

“ส่วนแม่ค้าบอกว่าไม่ต้องการเซฟตี้โซน เพราะในความเป็นจริง มีเจ้าหน้าที่มาดูแลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ดิฉันอยากให้มี เนื่องจากมีคนเข้าออกพลุกพล่านเพราะเป็นร้านอาหารเสียส่วนใหญ่ และเป็นร้านของคนมุสลิม 2 -3 ร้านเท่านั้น”

 

กระตุ้นเศรษฐกิจ
ข้อตกลงจากการพูดคุยหารือกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่กับตัวแทนภาคเอกชนก่อนหน้านี้ คือให้ฝ่ายรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ดูงานด้านการรักษาความปลอดภัยในเขตเซฟตี้โซน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพ

ดร.ณพพงศ์ บอกว่า ส่วนหอการค้าจังหวัดยะลา มาทำหน้าที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างเต็มที่เช่นกัน

ที่ผ่านมา มีหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดยะลา โดยเฉพาะย่านถนนรวมมิตร เช่น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน – 27 กรกฎาคม 2555 หอการค้ายะลาได้จัดงานยะล้า ยะลาแฟร์ ซึ่งหอการค้ามอบคูปองให้ร้านค้าเพื่อแจกมอบให้ลูกค้า ซึ่งพอเรียกขวัญกำลังใจของผู้ประกอบการให้กลับคืนมาได้บ้าง

หลังเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ไม่นาน นายกิตตรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อร่วมงาน Dinner Talk เชื่อมั่นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับพ่อค้าประชาชนในพื้นที่ ซึ่งครั้งนั้นทางหอการค้าทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอต่างๆ ที่จะให้รัฐบาลช่วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากนี้ หอการค้าจังหวัดยะลายังได้ประสานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มาปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการย่านถนนรวมมิตร ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุคาร์บอมบ์ นำใช้ฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น

ขณะที่นายวรพจน์ อุฬาร์ศิลป์ เจ้าของห้างทองโอฬาร เสนอให้เพิ่มเขตเซฟตี้โซนอีก 3 แห่ง คือ ย่านถนนรถไฟ ย่านถนนสายคุรุ และบริเวณหลังกองร้อย ถนนสุขยางค์ เพราะบริเวณนี้มักมีข่าวการก่อเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง

นายวรพจน์ เสนอให้รัฐบาลนำเทคโนโลยีมาใช้ในเขตเซฟตี้โซน เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดคุณภาพสูง เครื่องเอ็กซเรย์ใบหน้าบุคคล เครื่องมือที่สามารถจดจำใบหน้าของคนร้ายได้ และเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารระเบิด เป็นต้น

ถึงตอนนี้เทรนด์(ทำลาย)เศรษฐกิจกำลังมาแรง ก็คงต้องเอาทุกทางกันแล้วกับนวัตกรรมรักษาชีวิตและปากท้อง ถ้าไม่ซวยจริงๆ ทุกคนก็จะอยู่รอดปลอดภัย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คาร์บอมบ์กลางเมือง... กับมาตรการป้องกันไข่แดง'เซฟตี้โซน'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net