Skip to main content
sharethis

วิดีโอและสรุปปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ ในงานเสวนานิติราษฎร์ 2 ปีนิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร มุมมองจากนักรัฐศาสตร์ที่มองพัฒนาการบทบาทของนักกฎหมายในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร หน้าที่ในเชื่อมรอยต่อเผด็จการกับประชาธิปไตยให้เรียบเนียน โดยยึดถือการดำรงอยู่และอำนาจของสถาบันกษัตริย์

คลิปการอภิปรายของเกษียร เตชะพีระ หัวข้อ นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร

30 ก.ย. 55 เกษียร เตชะพีระ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในงาน “นิติราษฎร์เสวนา: 2 ปี นิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร” ในหัวข้อ นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร

เกษียร กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของนักกฎหมายไทยกับรัฐประหารเหมือน “ผีเน่ากับโลงผุ” คือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับภาชนะเครื่องมือที่ไม่เลือกนาย คือ ต่อให้เป็นผีเน่าก็ช่าง ถ้าเรียกใช้บริการของโลงผุแล้ว โลงผุก็พร้อมจะสนองรับใช้ ซึ่งผลของมันก็คือ หลักนิติธรรมของรัฐก็ผุผังสึกกร่อนกันไปหมด

โดยเกษียร ได้หยิบยกบทกลอนของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เขียนถึงผีเน่ากับโลงผุว่า

ฉันนั้นความเปื่อยเน่าเป็นของแน่ ย้อมเกิดแก้ความนิ่งทุกสิ่งสม
แต่แล้วความเน่าในเปือกตม ก็ผุดพรายให้ชมซึ่งดอกบัว

“ผมคิดว่านิติราษฎร์ คือ ดอกบัวที่ผุดพรายขึ้นมาจากความเปื่อยเน่า” เกษียรกล่าว

เกษียรกล่าวถึงประเด็นนักกฎหมายกับการรัฐประหาร โดยอ้างคำพูดของ ไพศาล พืชมงคล กับการรัฐประหาร คปก. ไพศาลเป็นนักกฎหมายคดีการเมือง อดีตนักเคลื่อนไหวสมัย 14 ต.ค. 6 ต.ค. ไพศาลจับภาพความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างนักกฎหมายกับรัฐประหารอย่างชัดเจน มีชีวิตชีวา ซึ่งความตอนหนึ่งระบุว่าต้องเดินทางเขาไปยังกองบัญชาการทหาร โดยมีโน้ตบุ๊กและตำรารวมทั้งกฎหมายต่างๆ อย่างฉุกเฉินกลางดึก

ทำไมทหารต้องการนักกฎหมายเวลาก่อรัฐประหาร  เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า ศาสตราจารย์ เฟรด วอเรน ริกส์ เสนอว่าการเมืองไทยเป็นอำมาตยาธิปไตย โดยมีความสัมพันธ์แบบสนธิพลังร่วมระหว่างทหารกับข้าราชการพลเรือน คือทหารเท่านั้นที่ยึดอำนาจได้เพราะมีกำลังอาวุธ ขณะที่ข้าราชการพลเรือนไม่มี แต่แม้ทหารจะขึ้นเป็นผู้นำก็ต้องอาศัยข้าราชการพลเรือนที่จะสามารถทำในสิ่งที่ทหารขาด คือ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ด้านเทคนิคอันสลับซับซ้อน เช่น ต้องออกประกาศคำสั่ง ต้องร่างรัฐธรรมนูญ วางแผนเศรษฐกิจ การทูต ฯลฯ ทหารจึงต้องแบ่งอำนาจให้ข้าราชการพลเรือน เนติบริการ รัฐศาสตร์บริการ เทคโนแครตการคลังการเงิน ผีเน่าจึงต้องการโลงผุด้วยประการฉะนี้

เกษียรยังกล่าวถึงสองสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จากการปฏิวัติ2475 คือ นิติรัฐ และการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ  ในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป.จะพบว่ามีความพยายามประสานสองหลักนี้ คื มีหลักนิติรัฐอยู่และเหนี่ยวรั้งไม่ให้เป็นเผด็จการ ตลอดสมัยรัฐบาลจอมพลป. จะดีจะชั่วหลักนิติรัฐยังมี แต่ยังมีการใช้กำลังบังคับ ไม่ว่าจะเป็นศาลพิเศษหรือออกกฎหมายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่มันยังมีสมดุลบางอย่างระหว่างของใหม่สองอย่างที่เป็นไปได้ว่าจะขัดกัน

ดุลมาเสียไปหลัง 2490 เข้าสู่ยุคจอมพล ป. สมัยสอง เหลือแต่จอมพล ป. คณะทหารและเผ่า ศรียานนท์ มาคุมตำรวจ เริ่มมีการใช้อำนาจเถื่อนของผู้รักษากฎหมายโดยเฉพาะตำรวจ มีการใช้กำลังบังคับ จี้ลักพาตัว ฆ่าปิดปาก โดยพลตำรวจอัศวินแหวนเพชร และการฆาตกรรมทางการเมืองก็เริ่มอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คนที่เคยเห็นหน้าค่าตาลุกขึ้นมาฆ่ากันเป็ฯว่าเล่นเป็นสิบๆ ศพ มีการฆ่าทางการเมือง ปูทางไปสู่จุดสุดยอดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ไปสู่ยุค ‘กฎหมายนั้นหรือก็คือกู’ มีการใช้กำลังบังคับด้วยอำนาจเผด็จการ ยิงเป้า จับคนขังคุก ยึดทรัพย์ ปฏิวัติ และสุดท้ายการฆ่ากันทางการเมืองได้ขยายมาสู่การฆ่าประชาชนซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทางการเมือง เช่น กรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง

นี่คือหลัก The Rules of Law กลายมาเป็น The Rules of กู, มีการบัญญัติมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ที่ระบุว่าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย นี่คือการทำให้หลักกูกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอย่างเป็นระบบ และเมื่อกระทำการใดๆ แล้วก็แจ้งให้สภาทราบ เช่นยิ่งเป้าคนแล้วค่อยมาบอกสภา

อะไรคือผลของมาตรา 17 มันคือการรวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการไว้ในมือนายกรัฐมนตรีคนเดียว มันคือการทำให้อำนาจอาญาสิทธิ์แก่คนๆ เดียวได้ปกครองอย่างไม่มีใครขัดขวางได้ กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยเอาไปบัญญัติไว้ในมาตรา 17 จะบัญญัติเช่นนั้นได้ต้องใช้นักกฎหมาย นักกฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสถาปนาหลักกูแทนที่หลัก The Rules of Law เกิดนิติธรรมอย่างไทยขึ้น

เกษียร กล่าวว่า อาจารย์เสน่ห์ จามริก ชี้ไว้ในหนังสือการเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญว่า บรรดาประกาศ คำสั่งคณะปฏิวัติที่ก่อโดยคนถือปืน ได้รับการปฏิบัติต่อจากนักกฎหมายว่า ศักดิ์สิทธิ์เทียบกฎหมายที่ผ่านสภาฯ โดยชอบ นี่เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของนักนิติศาสตร์ไปอย่างมหาศาล ซึ่งปรีดี พนมยงค์เคยกล่าวว่า หน้าที่ของนักกฎหมายคือการอธิบายหลักที่ว่าด้วยสิทธิของมนุษยชนอันจำเป็นสูงสุดในการศึกษากฎหมายปกครอง และยืนยันว่ากำเนิดแห่งระบอบรัฐธรรมนูญไทยเป็นข้อตกลงหรือสัญญาอันเป็นพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทสำคัญ ไม่อาจถวายคืนได้

แต่หลักการนี้ได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญโดยนักนิติศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ เช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, มีชัย ฤชุพันธ์, วิษณุ เครืองาม นำเสนอตีความว่ากำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญไทยนั้นเป็นพระบรมราชานุญาต และดังนั้นการถวายพระราชอำนาจคืน ในความหมายถวายอำนาจอธิปไตยคืนจึงเป็นไปได้ในหลักกฎหมายและทำได้ในความเป็นจริง และยังได้อธิบายความชอบธรรมแห่งธรรมราชา จนหลักเหล่านี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญไทย

“ฝรั่งนั้นเสมอภาคกันแบบลูกกำพร้าไม่มีพ่อ ไม่สามารถซาบซึ้งกับหลักพ่อปกครองลูกแบบไทยๆ ได้” เกษียรกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า บทบาทสำคัญของนักกฎหมายกลุ่มนี้คือ หนึ่ง เป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ โดยนักกฎหมายเหล่านี้มีความสามารถเป็นพิเศษในการจำกฎหมายจำนวนมาก ใครๆ ต้องวิ่งไปหามีชัย บวรศักดิ์ วิษณุ บุคคลเหล่านี้ก็จะไปนั่งตำแหน่งสำคัญด้านกฎหมายเป็นประจำ เป็นการส่งต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น เลขานายก รองนายกฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกว่า เป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตย

สอง นักกฎหมายเหล่านี้จะเกลี่ยเชื่อมรอยต่อการเมืองการปกครองระหว่าง ประชาธิปไตยกับเผด็จการ คือไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ล้วนมีสิ่งเดียวกัน คือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น ดังนั้นการเปลี่ยนระบอบที่เป็นเรื่องใหญ่ในที่อื่นๆ จึงเป็นเรื่องเกลี่ยเชื่อมได้โดยรักษาสถาบันและความมั่นคงของสถาบันไว้เป็นหลัก โดยอ้างงว่าสถาบันกษัตริย์เป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตย การเปลี่ยนผ่านจึงลื่น เนียน  เพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นหลักยึดอยู่ ท่านเหล่านี้ยังประสานหลักนิติธรรมกับอำนาจธรรมราชา แสดงออกเป็นรูปธรรมในปรากฏการณ์ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เรื่องที่ผิดปกติหรือเป็นความเจ็บป่วยทางสังคมนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของ 'ความเป็นไทย' ไป

ปัญหา เกิดคือเมื่อมีนักกฎหมายที่ไมเห็นด้วย คือนิติราษฎร์ ซึ่งเป็น ‘ปีศาจของธรรมศาสตร์’ ดูง่ายๆ ก็คือ หาที่จัดงานยาก ต่างกับการจัดเวทีแบบอื่นๆ เช่น จะต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างไร แต่หัวข้อที่นิติราษฎร์จัดคือ การต่อต้านรัฐประหาร และมีอะไรบางอย่างที่แปลกใหม่ไม่เป็นที่คุ้นเคยในงานวิชาการ เช่น ก่อนเวทีเริ่มจะมีการเอาขนมไหว้พระจันทร์ หรือเอาหนังสือมาให้อ.วรเจตน์เซ็นต์ชื่อ

นอกจากนี้สิ่งที่นิติราษฎร์ทำนั้นผิดหลักธรรมชาติ ธรรมดาของนักกฎหมาย และแปลก คือไม่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร ขณะที่รูปแบบกิจกรรมของนิติราษฎร์โดยเฉพาะในระยะหลัง เริ่มนำเสนอหัวข้อที่แหลมคมขึ้น เช่นการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 

เกษียรกล่าวถึงข้อเสนอต่อนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุว่า คำขวัญของนิติราษฎร์ คือ ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ นั้น น่าคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้เป็น ‘ธรรมศาสตร์เพื่อราษฎร’  เพราะนิติราษฎร์ไม่ได้โดดเดี่ยว หรือไม่มีเพื่อนมิตรที่เห็นด้วย แต่ควรมีการขยายแวดวงการเสวนาทางวิชาการ และรูปแบบอื่น ไม่เฉพาะการจัดตลาดวิชาการเพื่อมวลชน โดยกระบวนการนั้น นิติราษฎร์และเพื่อนนักวิชาการจะได้แลกเปลี่ยนและปรับแนวคิดให้หลากหลายขึ้น ไปสู่รัฐศาสตร์เพื่อราษฎร เศรษฐศาสตร์เพื่อราษฎร ประวัติศาสตร์เพื่อราษฎร วารสารศาสตร์เพื่อราษฎร เพื่อกลับไปสู่จิตวิญญาณเดิมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ ธรรมศาสตร์ทั้งธรรมศาสตร์เพื่อราษฎร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net