Skip to main content
sharethis

28 ก.ย. 55 - หลังจากที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศได้ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... แบบมาราธอนมากว่า ๑๔ ปี จนขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม ๒ สภา ส่อแววว่าจะเดินหน้าลำบาก เพราะกรรมาธิการร่วมบางส่วนต้องการรื้อกฎหมายทั้งฉบับและอ้างว่า หากไม่แก้ไขตามความเห็นกฎหมายอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา

การประชุมกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ครั้งที่ ๒ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ

ที่ประชุมได้อภิปรายเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เรื่องกรอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม ที่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างในการแก้ไขกฎหมายที่ผ่านวุฒิสภา เช่น มาตรา ๘ ประเด็นเรื่องงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ๓ บาท ขณะที่วุฒิสภาได้แก้ไขและเห็นชอบ ๕ บาทต่อหัวประชากร ซึ่งทั้งสองสภาต่างเห็นด้วยในการกำหนดงบประมาณต่อหัวประชากร แต่กลับมีกรรมาธิการบางท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการลงมติผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมาเสนอให้คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาไม่ให้กำหนดงบประมาณต่อหัวไว้ในกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการสนับสนุนงบประมาณ เช่นเดียวกับที่เคยอภิปรายและแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

นอกจากนี้ การอภิปรายของคณะกรรมาธิการร่วมบางท่านที่ต้องการลดบทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระ ทั้งที่มาตรา 19 เรื่องอำนาจหน้าที่คณะกรรมการไม่มีการแก้ไขใดๆ และทั้งสองสภาต่างเห็นชอบแบบเดียวกัน แต่การประชุมวันนี้กลับอ้างอาจเกินรัฐธรรมนูญทั้งที่ประเด็นเหล่านี้ต่างถกเถียงอย่างมากมายกว้างขวางในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เกือบสองปี หากนับจากการได้รับพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 หรือการอภิปรายของคณะกรรมาธิการที่ต้องการตัดบทบาทกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในมาตรา 19(3) ในการดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียแก่สิทธิผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือชื่อบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  จนทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้มีการลงมติใด ๆ เพราะมีความพยายามที่จะเสนอให้กรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เกินเลยจากที่มติวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ และจะมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ทุกวันพุธเวลา ๙ โมงเช้า ห้อง ๓๗๐๑

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง หนึ่งในกรรมาธิการที่เป็นผู้แทนผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก ไม่ว่าจะช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันปัญหาผู้บริโภคในด้านต่างๆ เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภค เสนอความเห็นให้มีมาตรการ กติกาต่าง ๆ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และตรวจสอบการทำงานของรัฐให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและมีความแตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือเอ็นจีโอ

นอกจากนี้ สารี ยังให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า คณะกรรมาธิการร่วม ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีความแตกต่างของสองสภา เนื่องจากกฎหมายได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและผ่านกระบวนการพิจารณาของทั้งสองสภาแล้ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการออกกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน เพื่อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่รอคอยมาอย่างยาวนาน พร้อมกันนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จะเฝ้าติดตามผลการประชุมกรรมาธิการอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณากฎหมายดังกล่าว ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว

 

รายชื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

 

ชื่อ-นามสกุล

ตำแหน่ง

1.      นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล                

ประธานคณะกรรมาธิการ

2.      นายสมชาย แสวงการ                         

รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง

3.      นายชลน่าน ศรีแก้ว                            

รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง

4.      นายอรรถพร พลบุตร                        

รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม

5.      นายวันชัย สอนศิริ                              

เลขานุการคณะกรรมาธิการ

6.      นายบุญยอด สุขถิ่นไทย                    

ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ

7.      นางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์         

โฆษกคณะกรรมาธิการ

8.      นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน                 

โฆษกคณะกรรมาธิการ

9.      นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช         

โฆษกคณะกรรมาธิการ

10.  นางสาวรสนา โตสิตระกูล                   

โฆษกคณะกรรมาธิการ

11.  นายนิยม เวชกามา                             

กรรมาธิการ

12.  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์                    

กรรมาธิการ

13.  นายขจิตร ชัยนิคม                             

กรรมาธิการ

14.  นายวัชระ เพชรทอง                           

กรรมาธิการ

15.  ศาสตราจารย์วิรัตน์ พาณิชย์พงษ์

กรรมาธิการ

16.  พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์                

กรรมาธิการ

17.  นายวิเชียร คันฉ่อง                            

กรรมาธิการ

18.  นายเจริญ ภักดีวานิช                        

กรรมาธิการ

19.  นายมหรรณพ เดชวิทักษ์                    

กรรมาธิการ

20.  นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง                          

กรรมาธิการ

21.  นายไพโรจน์ พลเพชร                          

กรรมาธิการ

22.  นางสาวสารี อ๋องสมหวัง                      

กรรมาธิการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net