Skip to main content
sharethis

ก่อนการนำเสนอร่างปฏิญญาสิทธิอาเซียนเข้าพิจารณาในรัฐสภาอาเซียนที่กรุงนิวยอร์ก องค์กรสิทธิไทย 46 แห่งนำโดยกป.อพช. ยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการรับรองร่าง ชี้ขัดหลักการสิทธิสากลทั้งเรื่องเพศสภาวะ สิทธิเสรีภาพ และการพัฒนา 

26 ก.ย. 55 -  องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 46 องค์กร นำโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ คัดค้านการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียน ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะถูกรับรองโดยรัฐสภาอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ร่างปฏิญญาดังกล่าว แสดงเจตนารมณ์ของการจำกัดมากกว่าจะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ละเลยการส่งเสริมและคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ และไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาชนหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเสนอที่สำคัญก็มิได้ถูกเอาไปปรับปรุงแก้ไขให้ร่างมีความสมบูรณ์ตามข้อเสนอแนะ ภาคประชาสังคมไทย จึงต้องการจะคัดค้านการรับรองให้ร่างปฏิญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ในฐานะเอกสารที่จะเป็นหลักประกันของอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 
 
0000
 
 

ASEAN WATCH

 

ที่ AWT 06/2012                                                                                                 25  กันยายน  2555

 

จดหมายเปิดผนึก

 

เรื่อง   คัดค้านการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ร่างโดย AICHR

         4 เหตุผล ที่ภาคประชาสังคมไทยไม่เห็นด้วยกับร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ

         3 ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

กราบเรียน   ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี 

สำเนาถึง     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

     ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

     เลขาธิการ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

 

ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right - AICHR)   ได้ทำการยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Right Declaration – AHRD)  ภาคประชาสังคมของไทยได้ติดตาม และมีส่วนร่วมในกระบวนการ การประชุมปรึกษาหารือต่าง ๆ ที่ได้จัดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค อย่างกระตือรือร้นและสม่ำเสมอ บนความประสงค์ที่ต้องการเห็นปฏิญญาฉบับดังกล่าวอยู่ในระดับมาตรฐานสากล และเป็นหลักประกันว่ารัฐภาคีของอาเซียนจะพัฒนาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน และหลักการประชาธิปไตย  ดังเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่คณะกรรมาธิการ AICHR ได้ประกาศเมื่อเริ่มต้นกระบวนการยกร่างปฏิญญา AHRD

จากการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมที่คณะกรรมาธิการ AICHR จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา  ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีผู้แทนภาคประชาสังคมไทยเข้าร่วม 8 คน    โดยร่วมกับผู้แทนภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆ เสนอความเห็นเพื่อให้ร่างปฎิญญา AHRD สามารถเป็นบรรทัดฐานในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียนต่อไปในอนาคต โดยหวังว่า ทาง AICHR จะนำข้อคิดเห็นไปปรับแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ก่อนที่จะนำเสนอร่างปฏิญญา AHRD เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีของรัฐภาคีอาเซียนในวันที่ 27 กันยายน นี้ ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะนำสู่การรับรองในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ประเทศกัมพูชา

และเพราะเราทราบว่าร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประทศของรัฐภาคีอาเซียนไม่ได้มีการปรับปรุงที่สำคัญใด ๆ ซึ่งตอบสนองต่อความคิดเห็นและเอกสารที่ภาคประชาสังคมได้นำเสนอ องค์กรภาคประชาสังคมไทยจึงขอคัดค้านร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR    ด้วยเหตุผลที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ

1)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR    แสดงเจตนารมณ์ และแนวคิดของการจำกัด

มากกว่าที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและและเสรีภาพของประชาชน ที่สำคัญคือ ข้อความในมาตราที่ 8 ภายใต้หมวดหลักการทั่วไป (General Principle) ที่กล่าวว่า ......สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย........ (The exercise of human rights and fundamental freedoms shall be subject only to limitations as are determined by law)  และ .........จะต้องสอดคล้องกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของส่วนรวม และสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ( and to meet the just requirements of national security, public order, public health, public safety, public morality, as well as the general welfare of the peoples in a democratic society.)  ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาทำให้ภาคประชาสังคมห่วงกังวลว่า ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ระบุเหล่านี้จะถูกนำมาอ้างโดยรัฐ ในการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR สะท้อนแนวคิดของการเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมรับ

ความหลากหลายทางและอัตตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มคน อยู่ในหลายมาตรา ยกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 19 ที่กล่าวว่าสิทธิในการสมรสและสร้างครอบครัว โดยเลือกที่จะใช้คำว่า  “หญิงและชาย” (Men and Women) แทนการใช้คำว่า “ทุกคน” (every person) ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตราอื่น ๆ ทุกมาตรา แสดงอย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับและปฏิเสธสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ  ในขณะที่ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติก็ได้ตระหนักและเคารพในสิทธิในการเลือกวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลแล้ว

3)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิ

มนุษยชน ตามที่คณะกรรมาธิการ AICHR ได้เคยประกาศเป็นเจตจำนงไว้ ณ เมื่อเริ่มต้นยกร่างปฏิญญา AHRD เมื่อเปรียบเทียบร่างปฏิญญาฉบับนี้กับอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง การคุ้มครองสิทธิเด็ก การคุ้มครองสิทธิคนพิการ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การป้องกันการค้ามนุษย์ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และอื่น ๆ  จะพบสาระสำคัญที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และข้อจำกัดที่สำคัญยิ่ง คือ การระบุไว้ในแทบทุกมาตราว่า ให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชน “เป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ” (in accordance with law, as prescribed by law, in accordance with the law and penal procedure of each ASEAN member state) ย่อมเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน หรือ แม้กระทั่งหลักการที่ปรากฏในปฏิญญา AHRD

4)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ไม่สะท้อนลักษณะเฉพาะ และภัยคุกคามที่กำลัง

เกิดขึ้นในภูมิภาค อันได้แก่ ไม่ได้รับรองสิทธิของชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งไม่ระบุถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (non state actors) เช่น บรรษัท  อุตสาหกรรม  ที่อาจจะมีการดำเนินการค้า การลงทุน ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิของประชาชนและชุมชนรวมทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของภูมิภาคให้เสื่อมโทรมและสูญสิ้นไปลงอย่างรวดเร็ว

           

องค์กรภาคประชาสังคมไทยที่ลงชื่อท้ายจดหมายนี้   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกระทำก่อนที่จะมีการรับรองร่างปฏิญญา AHRD เพื่อความมั่นใจว่าจะได้ร่างปฏิญญา AHRDที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ดังนี้ คือ

1)        ดำเนินการเพื่อยุติกระบวนการที่จะนำไปสู่การรับรองร่างปฏิญญา AHRD ลงชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การประชุมชองรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ประเทศอาเซียนเพื่อพิจารณาร่างปฏิญญา AHRD ในวันที่ 27 กันยายน นี้

2)        ให้ที่ประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐภาคีอาเซียน 10 ประเทศพิจารณาอย่างใส่ใจจริงจัง ต่อความคิดเห็นและเอกสารข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือของคณะกรรมาธิการ AICHR เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

3)        กลับมาสู่กระบวนการเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง กว้างขวาง อีกครั้ง

 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

                                                                      ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง  

                                                                       

                                                                              ( สุนทรี  หัตถี  เซ่งกิ่ง)

                                                                                   เลขาธิการ

                                                คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

 

ASEAN WATCH , THILAND                                  เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

มูลนิธิผู้หญิง                                                            เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย                                     

กลุ่มหญิงสู้ชีวิต                                                        สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ                                           มูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง

คณะทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยนชน                      เครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อ

สมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี                         บางกอกเรนโบว์

เครือข่ายมังกี้ลพบุรีเพื่อความหลากหลายทางเพศ                  เครือข่ายคนทำงานบ้าน

มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตธรรมชาติ                                         คณะทำงานวาระทางสังคม

กลุ่มอัญจารี                                                             สมาคมเพื่อความก้าวหน้าอาชีพคนตาบอด

โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ  สมาคมฟ้าสีรุ้ง

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม                                         องค์การคนพิการสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์                                                   มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก

CEIA                                                                     มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เครือข่ายชุมชน กทม.                                                เครือข่ายผู้หญิงอีสาน

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ                                     มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)                     มูลนิธิรักษ์ไทย

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์                                คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย                 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา                              มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

มูลนิธิชีวิตไท                                              กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)

เครือข่ายผู้หญิงพิการ                                          มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.)                   โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

สมาคมม้ง                                                    ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net