Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ธงชาติมอญ 
 
ภาพปก "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" (A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS)
 
 
 
"...พอทูก็ตั้งสติกำราบเชื้อร้าย เช็ดหลังมือกับผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก..." (หน้า 181)
 
ผมอ่านเข้าไปเพื่อที่จะพบว่า (ไวยากรณ์สายพันธุ์นี้มีล้นเหลือจริงๆ ใน) "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า - A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS" ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ พับกระดาษถนอมสายตาไสกาวหนา 516 หน้า ราคา 345 บาท ฉบับปรับปรุงพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555
 
"ครูเรื่องสั้นนิพนธ์" แนะให้ผมลองอ่าน ครูบอกว่า ผมอาจสามารถ (คนละอันกับ "อาจสามารถโมเดล") เขียนเรื่องแนวนี้ได้สะเทือนใจ เพราะผมจะเขียนมันออกมาจากข้างใน... นั่นเป็นเหตุให้ผมไปหาซื้อมาอ่าน อ่านแล้วก็นึกไม่ถึง นึกไม่ถึงว่าผมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมใน "ความเศร้า" ...คนเขียน spec ให้เด็กหญิง "กะเหรี่ยง" นุ่งผ้าถุงลาย "หงส์" สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของ "มอญ" (ไม่ใช่หงส์เฉยๆ เพราะหงส์อยู่เฉยๆ ก็เป็นธรรมดาทั่วไป หลายชาติก็มีรูปหงส์อยู่ในงานศิลปกรรมของตน) แต่นี่... "หงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก"
 
... นั่นมัน--- ธงชาติมอญนี่ !!!???
 
ทำไม? ทำไม? ธงชาติมอญจึงถูกใช้เป็นลายผ้าถุงของเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยง?-- พี่เบิร์ดธงชัย ฝากมาถามว่า "คืออะไรหรือจ๊ะ ศิริวรจ๋า" ---
 
อ่านจาก "บันทึกนักเขียน" (หน้า 5) เลยทำให้ทราบว่า ที่มาของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการที่หน่วยงาน (มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, สสส.) ให้ทุน นั่นแสดงว่า มี "ค่าจ้าง" ให้เขียน มีเวลาให้ 6 เดือน นั่นแสดงว่ามี "ค่าจ้าง" ให้ค้นคว้า --- จะทำไงกันดีล่ะที้นี้ ค่าค้นคว้า ค่าเขียน ค่าส่วนแบ่งจากยอดพิมพ์ ได้ครบ แถมเข้ารอบสุดท้าย "ซีไรต์" อีกด้วย เอาละซี... ธงชาติมอญจะกลายเป็นผ้าถุงเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยงยอดฮิตก็งานนี้!!!
 
จะว่าไป นิยายเล่มนี้มีข้อดี ดีที่รวบรวมเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับพม่าแต่โบราณจนวันนี้เอาไว้ในเล่มเดียว แม้บางเรื่องไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาโดยรวมก็อุตส่าห์แวะไปกอบเอามาไว้ก็ตาม ...อย่างไรก็ต้องเล่าสู่กันฟังเสียหน่อยว่า
 
เมืองมะละแหม่ง (Maw-La-Myine) เป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ (Mon State) ส่วนเมืองพะอัน (Hpa-an) เป็นเมืองหลวงของรัฐกะฉิ่นหรือกะเหรี่ยง (Kayin State) --- มีข้อชวนสงสัย นั่นคือ
 
"สาวน้อยวัย 25 จากครอบครัวชนชั้นกลางแห่งเมืองมะละแหม่ง อดีตนักศึกษาแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเช่นเธอ แทนที่จะได้ใช้ความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในคลินิกเล็กๆ กลางเมืองพะอันบ้านเกิด..."  (หน้า 66-67)
 
ผมรู้สึกสับสนอยู่นะครับ พลอยนึกถึงข้อความในเล่มนี้ที่ว่า
 
"เพียงแค่ถามกูเกิ้ลผู้รอบรู้ หรือวิกิพีเดียผู้ปราดเปรื่อง รับรองได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ท่านศาสตราจารย์แห่งไซเบอร์ สเปช เวิร์ลด์ก็จะหยิบยื่นข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้นมาให้เราเสพกันไม่หวาดไม่ไหว..."  (หน้า 60-61)
 
ดูท่าผู้เขียนตั้งใจสลายกับดักอคติทางเชื้อหรือชาติชาติพันธุ์นิยมอย่างตั้งใจไปหน่อย ด้วยการเสนอชีวิต "พอทู" ตัวเอกที่รวมไว้ซึ่งความหลายหลากในสายเลือด อย่างไรกัน...?
 
"...ต่อมาซอว์ คยี (พม่าแท้) แต่งงานอยู่กินกับพยอ เวง สาวชาวมอญจากตะนาวศรี... ลูกสาวที่สวยที่สุดคนหนึ่งของซอว์ คยีก็หนีไปอยู่กินกับนายทหารอังกฤษ... หลานชายคนหนึ่งของซอว์ คยี ...แต่งงานกับสาวน้อยชาวกะเหรี่ยงจากพะอัน... ลูกชายคนหนึ่งของครอบครัวนี้ไปแต่งงานกับสาวน้อยชาวโซการี... ยายของพอทูก็ถือกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้ ครั้นอายุได้ 16 ปี ยายก็แต่งงานกับนายทหารญี่ปุ่น..." (หน้า 123-124)
 
...ลูกสาวของยายชื่อ โม ซาน ดา ส่วนหนูก็คือ "พอทู" หลังแม่ถูกทหารพม่าข่มขืนจึงตั้งท้อง "พอวา" ด้วยความชอกช้ำใจพ่อจึงขึ้นหลังม้าควบออกป่าประกาศตนเป็นนักรบชุดดำบนหลังม้าสีทอง - นาม "นายพลซาวา"
 
แต่ที่สุด ผู้เขียนก็เลือกให้ข้อสรุปว่า ตัวละครเลือกที่จะเป็น
 
"...แม่ลูกอ่อนชาวกะเหรี่ยงสะกอถูกนักรบชุดดำผู้นั่งมาบนหลังม้าสีทองนำตัวไป..." (หน้า 105)
 
ชีวิตจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกมั้ง พวกที่แต่งกันข้ามชาติพันธุ์กันไปข้ามชาติพันธุ์กันมาเนี่ย เว้นเสียแต่พวกพ่อค้ากะพวกเจ้าฯ เท่านั้น เพราะการแต่งงานบ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์
 
จะว่าสนุกก็สนุกดีนะครับ อ่านแล้วรับรู้ได้ถึงความอ่อนไหวของผู้เขียน ได้สัมผัสอารมณ์ที่เปลี่ยนผ่านจากความไม่เข้าใจสู่ความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ว่ายวนอยู่ในวังวนแห่งความเศร้า แน่นอน... ผมเข้าใจมันดี เพราะ ...ผมก็เศร้า... ผมเศร้า เพราะผมกลาย "เป็นส่วนหนึ่ง" ของประวัติศาสตร์ความเศร้าเวอร์ชัน "ผลิตซ้ำ" (หน้า 61) นี้ ...ผมเศร้าอย่างเหลือเกินแต่ก็มิลืมที่จะขอบคุณ "ท่านศาสตราจารย์แห่งไซเบอร์ สเปช เวิร์ลด์" ที่ทำให้ผมได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้!!!
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net