Skip to main content
sharethis

สหภาพรวมตัวค้าน พรบ.ยาสูบฉบับใหม่ ส่งผลต่อแรงงาน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. มีการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น "ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. …" พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภานิติบัญญัติ โดยได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวไร่และผู้ประกอบการยาสูบ ประมาณ 200-300 คน เข้ามาโห่ไล่คัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยนายวินนท์ แสงมาน ประธานสหภาพแรงงานยาสูบ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมบริโภคยาสูบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานยาสูบโดยตรง แต่จะส่งผลกระทบในส่วนของสหภาพแรงงาน เพราะทำให้สินค้าไม่สามารถผลิตและจำหน่าย ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้อีกไม่เกิน 5 ปี ธุรกิจยาสูบของไทยจะเริ่มหมดลงเนื่องจากการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

นายวินนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่นักวิชาการออกมาระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบจะช่วยป้องกันและลดการเข้าถึงบุหรี่ของกลุ่ม เยาวชนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้คววบคุมบุหรี่นอกหรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาขายในประเทศไทย ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการลดการเข้าถึงคือต้องไปให้ความรู้แก่เยาวชน โดยเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่ได้รับเงินจากยาสูบปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่ใช่ออกกฎหมายมาสกัดคนไทยด้วยกัน

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยในปัจจุบันมีการบังคับใช้มาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้ยังไม่มีมาตรการสำหรับการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เช่น การขายทางอินเทอร์เน็ต การขายบุหรี่มวนเอง ซึ่งปัจจุบันพบว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้ามาทำการตลาดส่งเสริมการขายในรูป แบบต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ทำให้เด็กและเยาวชนถูกครอบงำ โดยการปรับปรุง พ.ร.บ.ไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกใบยาสูบของเกษตรกรแต่อย่างใด เป็นการทำเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน ทั้งยังทำให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคต่างๆ

(ไทยรัฐ, 16-9-2555)

 

ชี้แรงงานนวดแผนไทยขาดแคลนหนัก

17 ก.ย. 55 - นายเสรัชย์ ตั้งตรงจิตร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์สุขภาพเชตวัน (วัดโพธิ์) เปิดเผยว่า ธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพของไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานให้บริการนวดเพื่อ สุขภาพมาก ทั้งที่ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะหลังจากที่ไทยร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 58 เชื่อว่าจะเป็นโอกาสทองของธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพของไทย แต่ระหว่างนี้ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตแรงงานให้ทันความต้องการ โดยไม่ได้เน้นเพียงแรงงานระดับพนักงานให้บริการนวดเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ต้องผลักดันคนไทยให้ยกระดับตัวเองเป็นหัวหน้าฝ่าย หรือผู้จัดการที่ดูแลธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพไทยด้วย ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการอบรมด้านภาษาอังกฤษ และภาษาที่สามให้แรงงาน รองรับการให้บริการต่างชาติด้วย

ในส่วนของศูนย์สุขภาพเชตวัน ได้จัดโปรแกรมเรียนนวดเพื่อสุขภาพไทยฟรีเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรมฟรี จะต้องทำงานกับศูนย์สุขภาพเชตวันตามกำหนดเวลาที่วางไว้ นอกจากนี้ยังจัดหลักสูตรแบบมีค่าใช้จ่าย ระยะสั้น 1 เดือน ถึงระยะยาว 2 ปี สำหรับผู้อบรมที่มีทุนทรัพย์ต้องการจะเรียนไปเพื่อประกอบอาชีพด้านนี้ทั้งใน ไทยและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมานอกจากมีคนไทยสนใจมาเรียน พบว่ามีชาวต่างชาติสนใจมาขอเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเยอรมันสนใจมากที่สุด ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว ก็มีหลายรายที่กลับไปเปิดกิจการบริการนวดเพื่อสุขภาพไทยในประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตามศูนย์สุขภาพเชตวัน ไม่กังวลที่ต่างชาติไปเปิดให้บริการนวดเพื่อสุขภาพไทย เพราะเสน่ห์ของนวดสุขภาพไทยอยู่ที่คนไทยที่ให้บริการ ถึงอย่างไรผู้ที่ต้องการรับบริการนวดเพี่อสุขภาพไทย ก็ยังต้องการใช้บริการกับคนไทยอยู่ดี

นายเสรัชย์ กล่าวว่า ธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพไทย ยังประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจด้วย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนเข้าใจผิดเกี่ยวกับบริการนวดเพื่อสุขภาพ ไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเปิดอาบอบนวด หรือสปานวดเฉพาะจุดให้ผู้ชาย(พริตตี้ สปา) กันมาก จนทำให้ภาพลักษณ์นวดเพื่อสุขภาพไทยโดยรวมเสียหาย จึงอยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การนวดเพื่อสุขภาพไทยแบบที่ถูกต้อง ให้ต่างชาติเข้าใจถูกต้องขึ้น

(เดลินิวส์, 17-9-2555)

 

คลังชี้ค่าแรง 300 ได้ทั้งไทยและต่างด้าว หวังพัฒนา SME

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง โอกาสและทางรอด SME สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศในปีหน้านั้น ควรเป็นการปรับเพิ่มทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ให้มีความเท่าเทียบกัน เพราะจะได้เข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย ผ่านการก่อสร้าง และโรงงานผลิตสินค้า

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจากนายจ้างนั้น กระบวนการทำงานจะทำให้การพัฒนาเครื่องมือนายจ้าง ทำให้คุณภาพมีมากขึ้น ในส่วนของแรงงานที่ทำงานให้กับลูกจ้างไทย เพื่อพัฒนาสินค้าของ SME ต่อไปในอนาคต

(ไอเอ็นเอ็น, 17-6-2555)

 

แรงงานไม่หวั่นตกงานเชื่อน้ำไม่ท่วมนาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า ไม่กลัวว่าปีนี้จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมจนทำให้แรงงานต้องตกงานครั้งใหญ่ เหมือนปีที่ผ่านมาอีก โดยได้ติดตามสถานการณ์โดยตลอดและเห็นว่าน้ำท่วมที่เห็นในช่วงนี้เป็นน้ำจาก ธรรมชาติที่ท่วมเพียงชั่วคราว ต่างจากปีก่อนที่มีสาเหตุจากน้ำธรรมชาติบวกกับการบริหารจัดการที่ไม่ดีจนน้ำ เต็มเขื่อนและต้องเร่งระบายในที่สุด

“คิดว่าปัจจัยน้ำท่วมไม่น่าจะรุนแรงจนทำให้แรงงานต้องตกงาน หากจะมีผลกระทบบ้างก็มีกับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆสร้างเขื่อนป้องกันน้ำไว้หมดแล้ว ถึงน้ำจะท่วมรอบนอกแต่ในโรงงานก็ยังเดินเครื่องผลิตได้อยู่”นายชาลี กล่าว

ขณะที่ความเสี่ยงในเรื่องการส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกา นายชาลี กล่าวว่า ยังไม่ส่งผลกระทบจนเกิดการเลิกจ้างแม้กลุ่มบริษัทส่งออกจะมียอดคำสั่งซื้อลด ลงก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังพอไปได้ เพราะเชื่อมโยงกับธุรกิจการขายโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และรถยนต์ นอกจากนี้ตลาดแรงงานยังมีความต้องการแรงงานสูง มีงานรองรับมากมาย

อย่างไรก็ตาม นายชาลี กล่าวว่า ยังคงต้องจับตามองผลกระทบความขัดแย้งระหว่างอเมริกาและโลกมุสลิม ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่นว่าจะส่งผลกระทบกับการจ้างงานในระยะยาว หรือไม่ เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อไทย

“ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2556 ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบจนทำให้เกิดการเลิกจ้างเช่นกัน เพราะโรงงานหรือธุรกิจที่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่อยู่ใน 7 จังหวัดที่ปรับขึ้นปีนี้ไปแล้ว และก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเลิกจ้างอย่างที่นายจ้างพยายามพูดให้เกิดความกังวล ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างในจังหวัดอื่นๆอาจทำให้แรงงานในธุรกิจเอสเอ็มอี เกษตรและก่อสร้างได้รับผลกระทบบ้าง แต่ตัวเลขตกงานจะไม่เยอะ”นายชาลี กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 19-9-2555)

 

กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้าง อย่านับวันลาหยุด หากลูกจ้างถูกน้ำท่วมบ้าน

นอกจากนี้ ยังขอให้สถานประกอบการจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดอุทกภัยเพื่อความพร้อมในการ แก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้าและเครื่องจักรไม่ให้เกิดอันตราย

ขณะเดียวกัน ขอให้จัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายตามความเหมาะสม และให้เครือข่ายด้านแรงงาน อาสาสมัครแรงงานติดตามข้อมูลข่าวสารลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแจ้งข้อมูลให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบและประสานความช่วย เหลือต่อไป

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกหน่วยติดตามสถานการณ์และผล กระทบที่จะเกิดขึ้นกับสถานประกอบการและลูกจ้างอย่างใกล้ชิดและรายงาน สถานการณ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง  เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปให้การช่วยเหลือ หากลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ทันที

(โพสต์ทูเดย์, 19-9-2555)

 

สหภาพแรงงานค้านแปรรูป “การยางแห่งประเทศไทย” เป็นองค์กรมหาชน

ที่ห้องประขุม 50 ปี สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สร.กสย.) พร้อมกรรมการสหภาพฯแถลงข่าวว่าได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ของการยางทั้งระบบเป็นองค์กรมหาชนต่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์  ในฐานะประธานกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยขอให้พิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ....ที่มิให้ การยางแห่งประเทศไทย(กทย.) เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงาน

และให้นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผอ.สกย.ออกจากตำแหน่งเพราะไม่มีความจริงใจต่อชาวสวนยางและเป็นผู้เสนอต่อ กรรมาธิการร่างกฎหมายของสภาที่จะเปลี่ยนแปลงการยางแห่งประเทศไทยจากรูปแบบ รัฐวิหากิจ เป็นองค์กรมหาชน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน พนักงานลูกจ้าง 2,000 คน กลับไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน โดยตามหลักการต้องผ่านการมีส่วนร่วมในการพิจารณาผลดีผลเสียก่อนซึ่งในที่สุด ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการได้ลงมติให้ กยท. เป็นองค์การมหาชน

“ที่ผ่านมา ผอ.กสย. พยายามเดินหน้า ผลักดัน กยท.เป็นรูปแบบมหาชน โดยยกตัวอย่างหน่วยงาน สวทช.ซึ่งภารกิจแตกต่างจาก กยท.โดยสิ้นเชิง เรื่องนี้กระทบต่อสิทธิประโยชน์ ทั้งพนักงานลูกจ้าง จะสิ้นสิทธิประโยชน์สภาพการจ้างเดิม ส่วนชาวสวนยาง จะเสียประโยชน์ด้านเงินสงเคราะห์หรือCESS ซึ่ง พรบ.กองทุนฯสวนยาง กำหนดชัดเจนว่าไม่เกินร้อยละ 85 จ่ายเป็นเงินทุนสงเคราะห์ปลูกยางแทนให้เกษตรกรส่วนที่เหลือ แยกเป็นไม่เกินร้อยละ 10 เป็นค่าบริหารจัดการองค์กรและไม่เกินร้อยละ 5 ใช้ในการวิจัยพัฒนายาง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันวิจัยยาง เห็นได้ชัดเจนว่าเงินCESS ตาม พรบ.เดิมเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง แต่รูปแบบที่นายวิทย์ ผลักดัน ไม่มีความชัดเจนเรื่องเงิน CESS แต่อย่างใด ซึ่งพนักงานและลูกจ้างรับไม่ได้ และพร้อมจะออกมาคัดค้านจากทุกพื้นที่ เพราะการยางแห่งประเทศไทย ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้นจึงบริหารงานให้กับเกษตรกรได้อย่างครบวงจร”นาย จิตติน กล่าว

ทั้งนี้นายวิทย์ สร้างปัญหาให้กับองค์กร ในเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหาร เช่นการจัดจ้างทำป้ายพร้อมกรอบไวนิลและตู้กล่องไฟในทุกสำนักงานจังหวัด การจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาด 12 ที่นั่ง  จำนวน 4 คัน การจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาด 11 ที่นั่ง เพื่อทำรถรับรอง ซึ่งขัดกับมติ ค.ร.ม.ทั้งการจัดการจัดซื้อปุ๋ยเคมี จำนวน 30,000 ตัน  ซึ่งสำนักงาน ปปช. ได้มีหนังสือให้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริง  และในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการปลูกยาง 8 แสนไร่ แต่ไม่สามารถทำให้โครงการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์เป็นผลให้เกษตรกรที่เข้า ร่วมโครงการต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆโดยไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งต้องเสียเวลาในการปลูกยางพาราออกไปอีกหลายปี
 
(เดลินิวส์, 19-9-2555)

 

แห่ลดวุฒิการศึกษาแลกทำงาน จบ "ดร." กินเงินเดือนปริญญาโท

21 ก.ย. 55 - นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จำนวนมากยอมปรับลดใบวุฒิการศึกษามาสมัครทำงานให้ตรงกับความต้องการของบริษัท ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน หากไม่ปรับลดวุฒิการศึกษาผู้ประกอบการก็ไม่อยากรับมาทำงาน เพราะต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงเกินกว่าเนื้องานแม้วุฒิการศึกษาจะใกล้ เคียงกับความต้องการของโรงงานก็ตาม โดยตำแหน่งที่ต้องการสูงจะเป็นระดับช่างชำนาญ และวิศวกรรม ในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี เบื้องต้นมีแรงงานมากถึง 10-20% ที่ยอมรับเงินเดือนในระดับวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่า

“มีหลายรายจบด็อกเตอร์มาสมัครงานแต่ก็ยอมกินเดือนในวุฒิปริญญาโท หรือนำวุฒิปริญญาโทมาสมัครงานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของโรงงาน บางคนจบระดับปริญญาโทก็จะใช้วุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาตรีลดเหลือระดับ ปวส. เป็นต้น เพราะหากแรงงานไม่ดำเนินการลักษณะนี้ก็จะหางานยาก เนื่องจากแรงงานที่กลุ่มยานยนต์ต้องการมากที่สุดคือช่างระดับ ปวช. และ ปวส. ในอัตราหลายหมื่นหลายแสนตำแหน่ง”

นอกจากนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ยังมีนโยบายที่จะช่วยเหลือแรงงานโดยได้ร่วมกับภาครัฐในการ ส่งเสริมให้แรงงานที่จบระดับ ปวช. และ ปวส. ได้มีหลักสูตรการศึกษาในโรงงาน เพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถรับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อนำใบวุฒิมาปรับขึ้นตำแหน่งในอนาคต

นายศุภรัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 300 บาทนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่ายรถยนต์ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ให้ค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่า แต่ในส่วนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอื่นๆจะได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ.

(ไทยรัฐ, 21-9-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net