Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




 

เมื่อได้อ่านบทความ “เทรนด์ใหม่ 2012 หญิง+หญิง ฉิ่งครองเมือง” (ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้นๆว่า “ฉิ่งครองเมือง”) ของไทยรัฐออนไลน์ ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นคือเหนื่อยใจค่ะ แต่เมื่อตั้งสติและได้อ่านความคิดเห็นของหลายๆคนที่มีต่อบทความดังกล่าวในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดของชาว “ฉิ่ง” ที่เขาว่าตอนนี้ “ครองเมือง” และ “ชุกชุม” อย่างยิ่ง ในแฟนเพจของโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี และของนักกิจกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมมาโดยตลอด ดูท่าว่าเรื่องนี้จะซับซ้อนและควรตีแผ่มากกว่าแค่เหนื่อยใจแล้วจบกันไป ดิฉันจึงขอท้วงติงเนื้อหาและการทำงานในฐานะสื่อมวลชนของไทยรัฐออนไลน์ที่ได้ประกาศอย่างห้าวหาญว่าบทความ “ฉิ่งครองเมือง” เป็น “คำตอบ” ของ “ปรากฏการณ์ทอมดี้ครองเมือง”

“ฉิ่งครองเมือง” นำเสนอคำตอบอะไร?
บทความที่มาจากบทสัมภาษณ์นักร้องนักแสดงหญิงรักหญิงสามคน (ซี-มัฑณาวี คีแนน, ติ๊นา ศุภนาฏ จิตตลีลา และ จิ๊บ-ปกฉัตร เทียมชัย) กับดี้ปอนด์ (ผมยาว ตาโต แก้มป่องสาวสุดเซ็กซี่) ดิฉันเห็นความพยายามที่จะนำเสนอข้อมูลหรือพูดออกมาจากปากของ “คนใน” ที่เป็นหญิงรักหญิงเอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าชื่นชมที่สื่อกระแสหลักหยิบยกประเด็นเหล่านี้มานำเสนอ ทว่าคำตอบที่ได้รับหรือถูกนำเสนอนั้นคืออะไร? เมื่ออ่านจนจบดิฉันพบว่า “ฉิ่งครองเมือง” เป็นการผลิตซ้ำความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดพลาด-เบี่ยงเบน-และบิดเบี้ยว ต่อเรื่องราวของหญิงรักหญิงในหลากหลายประเด็น อาทิ
(1) ผู้หญิงกลายเป็นทอม ดี้ เลสฯ เพราะเบื่อผู้ชาย
(2) ทอมเอาใจเก่ง แต่หึงโหด
(3) หญิงรักหญิงเป็นแฟชั่นหรือเทรนด์ใหม่ของปี 2012 รวมทั้งเริ่มจะ “ชุกชุม” จน “ครองเมือง”
(4) เสนอนิยามความหมายของคำว่าเลสเบี้ยน (Lesbians) ประหลาดแท้ โดยเสนอว่าคำๆนี้มาจากคำว่าอัญจารี (อัญญ-จารี)
(5) เป็นหญิงรักหญิง แค่รักกันก็พอแล้ว ไม่ต้องแต่งงาน ไม่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมเพราะความรักสำคัญที่สุด
หรือแม้แต่ (6) เซ็กซ์ของ หญิง-หญิง “เด็ด” กว่าหญิง-ชาย

การใช้บทสัมภาษณ์ดารานักแสดงเพียงไม่กี่คน ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าหญิงรักหญิงทุกคนเป็นอย่างนั้น และน่าตั้งคำถามต่อการใช้ภาษาที่ตั้งใจให้มีสีสันน่าสนใจ เป็นการตีตราคนกลุ่มนี้หรือไม่?

ประเด็นที่ 1 ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ (เลสเบี้ยน ทอม-ดี้ ทรานส์แมนหรือผู้ชายข้ามเพศ และไบเซ็กชวล) ไม่ได้เป็นแบบนั้นโดยมีสาเหตุมาจากผู้ชาย การที่ผู้ชายดีหรือเลวก็ไม่ได้มีส่วนทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีความหลากหลายทางเพศ สำหรับบางคน เธอรู้สึกชัดเจนถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ใช่ผู้หญิงทั่วไปซึ่งมีรักต่างเพศ (heterosexual) มาตั้งแต่เริ่มจำความได้ จึงกล่าวได้ว่าสำหรับคนกลุ่มนี้เธอเป็นเช่นนั้นมาแต่กำเนิด สำหรับบางคนเรียนรู้หล่อหลอมและเลือกวิถีทางเพศ (sexual orientation) ของตัวเองเมื่อเติบโต สำหรับบางคนอาจเคยคบหากับผู้ชายหรือแม้กระทั่งแต่งงานอยู่กินกัน แต่สุดท้ายเธอก็เลือกและสบายใจที่จะอยู่กับเพศอื่นมากกว่า หากเข้าใจประเด็นเพศของมนุษย์ให้ลึกซึ้งจะพบว่าเพศมีมิติที่ซับซ้อนและเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่ เพศทางร่างกายโดยกำเนิด (sex) การมีสรีระร่างกาย มีอวัยวะเพศเป็นหญิงเป็นชาย, เพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) การหล่อหลอมสร้างตัวตนทางเพศของตัวเอง และเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศ (sexuality orientation) การมีเพศสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์กับเพศอื่นๆ

การที่น้องซีและน้องติ๊นาจะเห็นว่า “ทอมชอบเอาใจ เข้าใจความเป็นผู้หญิง” หรือ “เข้าใจหัวอกผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย” หรือน้องปอนด์จะชื่นชมทอมโดยเปรียบเทียบกับผู้ชาย มันก็ไม่ผิดแปลกอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่อันที่จริงแล้วมันไม่สามารถเทียบเคียงกันตื้นๆแบบนั้นได้ ผู้ชายที่อ่อนโยนเอาอกเอาใจก็มี ทอมที่แย่ๆก็มีเช่นกัน ผู้สัมภาษณ์น่าจะตระหนักถึงเรื่องนี้และไม่เหมารวมว่าดี้หรือหญิงรักหญิงทุกคนจะคิดอย่างน้องปอนด์ และน่าสังเกตว่าวิธีคิด “หญิงเป็นทอมดี้เพราะชายเลว” น่าจะมีที่มาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังความคิดนั้นอย่างซับซ้อนแนบเนียนจนกระทั่งคนที่ถูกมันกระทำอาจจะไม่รู้ตัว น่าเห็นใจค่ะ เพราะเหตุที่มีความสุขกับผู้ชายไม่ได้จึงต้องเบี่ยงเบนหันมารักกันเอง ไม่ก็ถูกทำให้มีภาพของผู้หญิงที่เกลียดผู้ชายไปเลย ไม่สามารถเป็น “หญิงแท้” ไม่สามารถแต่งงานมีลูกมีครอบครัวที่อบอุ่นได้

ในทางตรงข้ามเรื่องทอมหึงโหด ทอมขี้หวง ทอมใช้ความรุนแรง นี่ก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นการผลิตซ้ำๆในเรื่องนี้ตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสื่อที่ไม่พยายามทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริง ไม่ค่อยระมัดระวังและไม่รับผิดชอบกับผลในเชิงทัศนอคติที่จะเกิดขึ้นต่อคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ตามความเป็นจริงแล้วใครๆก็ใช้ความรุนแรง ใครๆก็หึงได้ค่ะ

ยิ่งเรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิงด้วยแล้ว ยิ่งถูกใส่สีให้ดูวาบหวิว ถึงขนาดยกว่า “เด็ด” กว่าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เรื่องนี้น่าจะเป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัว ถูกกล่าวไว้ในบทความเพื่อให้ดูหวือหวาน่าสนใจเท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องของความพึงพอใจค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องรสนิยมเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวว่าเพศไหนเก่งหรือเด็ดกว่ากัน กรุณา (อีกครั้ง) อย่าเหมารวม (เดี๋ยวหนุ่มๆเสียใจแย่)

ประเด็นที่ 2 ที่หนักแท้คือการนำเสนอว่าอัตลักษณ์และเพศวิถีของหญิงรักหญิงเป็นเพียงแฟชั่น หรือเทรนด์หนึ่งของปี 2012 เท่านั้น เลิกเถอะค่ะ นักกิจกรรมทั้งหลายอย่าไปทำกิจกรรมรณรงค์อะไรกันอีกเลย ปัญหาความรุนแรงต่างๆนาๆเหล่านั้นประเดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง เลิกนิยมกันไปเอง ประเดี๋ยวเขาก็เลิกเป็นทอมเป็นดี้เป็นหญิงรักหญิงกันแล้ว ใครที่รณรงค์เรื่องกฎหมายแต่งงาน ความรุนแรงและอคติทางเพศ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) หรือ ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ (ฉบับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ) ถึงเวลาที่จะยุติงานของท่านเสียที คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังพยายามรักษาอาการทอมดี้ของลูก ก็จงทำต่อไปเพราะเดี๋ยวเขาก็จะหายสมใจท่าน ถ้าเขาจะรักจะชอบกันก็รีบๆกีดกันเข้าไว้ หรือจับแต่งงานไปเดี๋ยวอาการทอมดี้ก็หายได้เองค่ะ หลักสูตรการเรียนการสอนที่สอนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความเบี่ยงเบนก็ถูกแล้วค่ะ ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร? เอาอย่างนั้นดีไหม?

จริงอยู่ ดิฉันไม่เถียงว่ามีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะมีวิถีทางเพศแบบรักเพศเดียวกันในลักษณะของเทรนด์หรือแฟชั่นชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่ผู้เสนอข่าวควรตระหนักว่านั่นไม่ใช่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่สำหรับคนที่ถูกกระทำความรุนแรง คนที่ถูกละเมิด หรือคนที่พยายามอย่างยิ่งที่จะดำรงตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองไว้ในสังคมที่ยังไม่ตระหนักถึงการมีอยู่ของพวกเธออย่างแท้จริง การนำเสนอของไทยรัฐออนไลน์ส่งผลกระทบกับผู้หญิงหลากหลายทางเพศอีกมากมายในสังคมนี้ เพราะสุดท้ายคุณจะทำให้พวกเธอต้องยอมรับโครงสร้างกดทับอันซับซ้อนและไม่ยุติธรรมเหล่านั้นอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

ประเด็นที่ 3 ข้อผิดพลาดในการเสนอความหมายของคำว่าเลสเบี้ยน (lesbian) คำว่าเลสเบี้ยนจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีคำภาษาไทยที่เป็นคำแปลของคำนี้ ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “หญิงรักหญิง” แต่หญิงรักหญิงก็ไม่ได้ครอบคลุมความหมายของเลสเบี้ยนทั้งหมด เนื่องจากมีเลสเบี้ยนที่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้หญิง” นั่นเอง เลสเบี้ยนมาจากคำว่า “เลสบอส” ชื่อเกาะแห่งหนึ่งในกรีกอันเป็นที่ซึ่ง “แซพโฟ” กวีหญิงและนักปราชญ์ชาวกรีกเขียนบทกวีสรรเสริญความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะเลสบอสถูกเรียกว่า เลสเบียน และภายหลังถูกใช้เป็นคำเรียกผู้หญิงที่รักผู้หญิง ส่วนคำว่า “อัญจารี” นั้นเป็นชื่อของนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันคือโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี ซึ่งทำงานในประเด็นหญิงรักหญิงและสิทธิทางเพศในสังคมไทย เป็นคำผสมที่เกิดจากการนำคำว่า “อัญญ” ที่หมายถึงความแตกต่าง กับ “จารี” ที่หมายถึงความประพฤติ เมื่อรวมกันจึงหมายถึงผู้มีวิถีชีวิตแตกต่างจากจารีตของสังคม ดังนั้นคำนี้จึงไม่ใช่คำที่แปลความหมายของคำว่าเลสเบี้ยนโดยตรงแต่อย่างใด ส่วนคำว่า ทอม มาจาก tomboy ซึ่งหมายถึงคนที่ชอบแต่งตัวแบบผู้ชาย แต่ในต่างประเทศก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรักดี้อย่างที่เข้าใจกันในสังคมไทย และคำว่า ดี้ มาจาก lady ก็เป็นคำที่สร้างขึ้นและเข้าใจกันเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้นเองค่ะ

ประเด็นที่ 4 อาการโฮโมโฟเบียคืออาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ รวมถึงอคติทางเพศ อาจพบได้จากการนำเสนอภาพของคนหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ที่มีอารมณ์รุนแรง รักแรง เกลียดแรง มักตกเป็นเหยื่อหรือบางครั้งก็เป็นผู้สร้างความรุนแรงเอง มักมีจุดจบในชีวิตที่น่าเศร้า หรือมีวิถีชีวิตที่แปลกประหลาดหลุดโลก บ่อยครั้งปรากฏชัดที่การพาดหัวข่าว การใช้คำเรียก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนอคติของผู้เขียนนั่นเอง

แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้เกิดจากการมีอคติหรืออาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศและขาดองค์ความรู้เรื่องเพศวิถีของสื่อมวลชนไทย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะจำเป็นต้องให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในเบื้องต้น ปี 2554 สมาคมฟ้าสีรุ้งได้จัดทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “สื่ออย่างมือโปร แนวทางการเสนอเรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ” พิมพ์แจกจ่ายเป็นจำนวนถึง 14,000 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำเสนอข่าวเรื่องเพศหรือความหลากหลายทางเพศแบบปราศจากอคติและมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามไปทางสมาคมฯได้ค่ะ

ประเด็นที่ 5 ต่อไปเป็นคำถาม เราควรรู้สึกอย่างไรกับ “ฉิ่งครองเมือง” ของไทยรัฐออนไลน์และข่าวสารทำนองนี้?

มุมมองจากชุมชนหญิงรักหญิง
เท่าที่สำรวจเบื้องต้น พบการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวที่มีท่าทีหลากหลายดังนี้
ดีใจ? ที่เขาเปิดพื้นที่ให้ชาวสีรุ้งได้มีตัวตนในสื่อกระแสหลัก (แบบที่ไม่รันทดหรือตลกโปกฮา)
เสียใจ? ที่เขายังเข้าใจเราผิดๆในหลายๆเรื่อง
สับสน? เพราะยังไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไรดีกับบทความนี้
โกรธ? ที่มาหาว่าเรา “ชุกชุม” สร้างภาพตอกย้ำเกี่ยวกับตัวตนของเรา 
เฉยๆ? เขาจะนำเสนออย่างไรก็ไม่เห็นเกี่ยวกับเรา ขอแค่เป็นคนดีของสังคมก็พอ? สื่อเขาก็มีสิทธิคิด มีการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง
ผิดหวัง? หรือเราไม่ควรตั้งความหวังกับสื่อบางรูปแบบ ที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อสร้างกระแส? การตั้งความหวังของผู้อ่านอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือสื่อแบบไทยรัฐออนไลน์มีจุดยืนอย่างไร? ต้องการให้เนื้อหาสาระที่นำเสนอมีคุณภาพเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไหน?

มุมมองจากนักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ จากกลุ่มสะพาน แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “สกู๊ปข่าวไทยรัฐ หญิงรักหญิงฉิ่งครองเมืองนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากมาเป็น 10 ปี วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์...ไม่แปลกใหม่...เป็นปัญหาที่ทัศนคติของคนทำสื่อ ซึ่งตอนนี้ก็มีคละเคล้ากันพอสมควร สื่อใหม่ก็จะทันสมัยเข้าใจประเด็นนี้มากกว่า”

สุมน อุ่นสาธิต จากกัลยาสโมสร กล่าวว่า “การมองว่าดีจังเลยเขาพูดถึงเราแล้ว แสดงว่าเขามองเห็นเราแล้วก็ไม่ได้แปลว่าเขายอมรับและเข้าใจเราในสิ่งที่เราเป็น ถ้ายังถูกบอกว่าเป็นเทรนด์ ยังถูกหยามด้วยภาษาเอามันส์อยู่ (แม้จะไม่ใช่เจตนาของคนเขียน เพราะรากอคติมันลึกมากๆ) แต่คนแบบเดียวกับเราก็ยังไม่รู้สึกอะไรแถมรู้สึกดีด้วยนี่ คิดว่า คนในสังคมเรามีปัญหานะ ในเรื่องการพิจารณาว่า เราสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างนี้หรือ เรามีศักดิ์ศรีไม่เท่ากันอย่างนั้นหรือในความเป็นมนุษย์ เราถึงไม่มีสิทธิ ในการแต่งงาน แล้วพยายามบอกตัวเองว่าไม่เป็นไรหรือไม่จำเป็น เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราไม่เคยลุกขึ้นมามองว่าสิ่งที่คนอื่นได้ แต่เราไม่เคยได้มันคือความไม่ยุติธรรม ทั้งๆที่เป็นคนเหมือนกัน”

แอดมินเฟสบุ๊กอัญจารี “เราไม่ได้ต้องการแค่การยืนยันการมีอยู่ เพราะสังคม พ่อแม่ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีอยู่ แต่ทำอย่างไรให้เขาเห็นเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากใครๆ ไม่เลวกว่า ไม่ต่ำต้อยกว่า การมองหญิงรักหญิงเป็นแค่เทรนด์ ซึ่งย่อมหมดไปเมื่อมันไม่อินเทรนด์อีกต่อไป แล้วยังคำว่าตีฉิ่งอีก ไม่ชอบคำนี้ค่ะ”

จิน กฤติธีรพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ตัวแทนทรานส์แมน (ชายข้ามเพศ-ไม่ใช่ทอม) จากอัญจารีให้ความเห็นว่า “คำว่า "เลียนแบบผู้ชาย" ดูเหมือนคนเขียนจะไม่ค่อยเข้าใจว่า บางครั้งมันก็เป็นตัวตนมากกว่าจะเป็นการเลียนแบบหรือแม้แต่เรื่องที่ว่าแสดงความรักใคร่จนคนรอบข้างอิจฉา ผมว่าพยายามใช้สำบัดสำนวนมากไปนิดแฝงการประชดประชันเล็กๆแล้วไอ้คำว่า "ชุกชุม" คือ... ผมไม่ใช่ฝูงยุงนะครับจะได้มาชุกชุม "ปรากฎการณ์ทอมดี้ครองเมือง?" พระเจ้าช่วย!!! ถ้าทอมดี้ครองเมืองขนาดนั้นจริงๆป่านนี้คงมีกฎหมายรองรับไปเรียบร้อยแล้วครับ คงไม่มีการกดขี่หรือกีดกันทางเพศอย่างในปัจจุบันหรอกครับ”

สำหรับดิฉัน บอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า “เหนื่อยใจ” ค่ะ
อยากฝากคำถามถึงหลายคนหลายส่วน อยากถามชุมชนหญิงรักหญิงทั้งหลายว่าคุณสบายใจ พอใจ ที่จะถูกเอ่ยถึงในลักษณะนี้แล้วหรือ? อยากถามนักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศว่าเอาอย่างไรกันดีคะ ควรหาทิศทางในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนอย่างไร ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เขาอย่างไร ต้องทำงานกับสื่อมวลชนอย่างหนักและเป็นระบบมากขึ้นอีกหรือไม่ เท่าที่พยายามทำกันอยู่อาจจะหนักหน่วงไม่พอ หรือควรจะสร้างสื่อของตัวเอง ผลิตเนื้อหาเอง? อยากถามสื่ออย่างไทยรัฐออนไลน์ วัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่สื่อมวลชนคืออะไรคะ? น่าจะมีความระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากในสังคมหรือไม่อย่างไร? หากต้องการสนับสนุนหรือนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศลองศึกษาดูก่อนดีไหม?

โดยสรุปคำตอบที่นำเสนอใน “ฉิ่งครองเมือง” แม้จะดูทันสมัย แท้จริงก็คือเหล้าเก่าในขวดใหม่ เป็นคำตอบเดิม อคติเดิม การตีตราเดิม การตอกย้ำเดิมที่ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำอย่างนั้นมาหลายสิบปี คราวนี้ถูกทำให้น่าเชื่อผ่านถ้อยคำสัมภาษณ์ของดารานักแสดงกลุ่มหนึ่งที่มีทีท่าว่าจะเป็น “คนใน” ด้วยกันเอง จริงอยู่ ความคิดเห็น รูปแบบการใช้ชีวิต หรือทัศนคติต่อเรื่องต่างๆของคนเราแตกต่างกันได้ แต่การนำเสนอแบบเทกระจาด เหมายกแพง และยืนยันว่าเป็น “คำตอบ” ในลักษณะเช่นนี้ออกจะฉาบฉวยเกินไปและสร้างความเข้าใจผิดกับสังคมวงกว้างหรือไม่? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราปล่อยให้เนื้อหาที่บิดเบือนถูกนำเสนอออกไปสู่สังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า? ตอบได้ไม่ยากค่ะ มันก็จะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาโดยตลอดหลายสิบปี ดังนั้นการนำเสนอข่าวอย่างเบี่ยงเบนจึงควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังและเร่งด่วนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.

 

หมายเหตุ อ่านบทความ เทรนด์ใหม่ 2012 หญิง+หญิง ฉิ่งครองเมือง ได้ที่
http://www.thairath.co.th/content/life/291758
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net