Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกายืนอนุญาตเลิกจ้างแกนนำคงงานไทรอัมพ์ฯ ระบุไม่มี กม.กำหนดเกี่ยวกับการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงถึงสัดส่วนของคนงานในโรงงาน ตามที่อุทธรณ์ที่คนงานอ้าง

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 ที่ศาลแรงงานกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาคดีแรงงาน กรณีกรรมการลูกจ้าง 11 คน ของบริษัทบอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทไทรอัมพ์ฯ อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแรงงานเมื่อปี 52 ที่อนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการทั้ง 11 คนได้ โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงาน

คำพิพากษาของศาลฎีกายืนตามศาลแรงงานว่าอนุญาตให้ผู้ร้องคือบริษัทบอดี้แฟชั่น เลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 11 คน ได้ โดยระบุว่าจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นเหตุให้ยอดสั่งซื้อและยอดจำหน่ายสินค้าของผู้ร้องลดลงจำนวนมาก ผู้ร้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ร้องปรับปรุงโครงสร้างหรือลดจำนวนลูกจ้างได้ โดยมีการเลิกจ้างในแผนกชุดว่ายน้ำที่ไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ ซึ่งกรรมการลูกจ้างจำนวนมากอยู่ในแผนกดังกล่าว รวมทั้งกรรมการลูกจ้างอีก 2 คน ได้ผลประเมินการทำงานที่ต่ำ นอกจากนี้ บริษัทได้จ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน ค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 1 เดือน และสวัสดิการอื่นๆ แล้ว ศาลจึงเห็นว่ามีเหตุสมควรในการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้ง 11 คน

ส่วนข้ออุทธรณ์ที่ระบุว่าต้องคำนึงถึงสัดส่วนของกรรมการลูกจ้างต่อจำนวนลูกจ้างที่เหลืออยู่ โดยควรเลิกจ้างลูกจ้างธรรมดาไปก่อน แล้วจึงพิจารณาเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเป็นทางสุดท้าย ศาลเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า การเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนของลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบกิจการและจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ศาลจึงเห็นว่าข้ออุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
 

คนงานแย้ง รบ.ขณะนั้นมีนโยบายชะลอการเลิกจ้างกลับไม่ถูกใช้ บ.ไม่มีการเปิดอาสาสมัครก่อน
หลังคำพิพากษา น.ส.บุญรอด สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และ นางวิภา มัจฉาชาติ อดีตกรรมการสหภาพแรงงานฯ 2 กรรมการลูกจ้าง ที่ถูกศาลตัดสินให้ถูกเลิกจ้างได้นั้น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเลิกจ้างครั้งนี้กรรมการลูกจ้างถูกเลิกจ้างในคราวเดียวถึง 16 คน จากจำนวน 21 คน โดยที่ 5 คนยอมรับการเลิกจ้างไปแล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นเหลือ 11 คนที่ยังสู้คดีนั้นควรรับกลับ เมื่อเทียบสัดส่วนของคนงานที่ยังอยู่ในโรงงาน เพราะขณะนี้ที่โรงงานก็มีการรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างในปี 52 กลับร้อยกว่าคน จึงควรที่จะรับพวกตนกลับเข้าทำงานเช่นกัน

นางวิภา กล่าวว่าการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างมากขนาดนี้ ย่อมส่งผลในความสามารถในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของของคนงานในโรงงานลดลงอย่างมาก

น.ส.บุญรอด กล่าวว่า การเลิกจ้างต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่สหภาพแรงงานได้ทำไว้กับทางบริษัทด้วย ที่ต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงานก่อน เพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรม รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลว่าการเลิกจ้างจะนำไปสู่อะไร ซึ่งทางบริษัทฯ ไม่ได้ทำตามข้อตกลงนี้ รวมถึงเมื่อเลิกจ้างแม้มีการจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ก็ไม่ได้จ่ายตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มากกว่ากฎหมายกำหนด รวมทั้งในการเลิกจ้างนี้ก็ไม่ได้มีการเปิดให้มีการอาสาสมัครหรือการเลิกจ้างแบบสมัครใจก่อน

ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ในช่วงที่มีการเลิกจ้างจำนวนเกือบ 2,000 คน เมื่อปี 2552 นี้ เป็นช่วงที่อยู่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลในยุคนั้นอ้างว่ามีมาตรการป้องกันการเลิกจ้าง แต่กลับไม่สามารถทำได้จริง และเมื่อตนเองและคนงานไปยื่นจดหมายขอความช่วยเหลือกลับถูกดำเนินคดีอีก

 

 


รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาโดยย่อ
ทั้งนี้ในคำพิพากษายืนของศาลฎีการะบุว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง (บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ) และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นเหตุให้ยอดสั่งซื้อและยอดจำหน่ายสินค้าของผู้ร้องลดลงจำนวนมาก บริษัทแม่ของผู้ร้องจึงให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของผู้ร้องและบริษัทในเครือทั่วโลก โดยลดจำนวนพนักงานและลดกำลังการผลิต เพื่อให้กิจการของผู้ร้องรอดท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง ผู้ร้องจึงต้องเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสิ้น 1,930 คนรวมทั้งผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.52 ผู้ร้องได้บอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้างอื่นทั้งหมดโดยมีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 26 ส.ค.52 
คำพิพากษาฯ ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการเลิกจ้างว่า ผู้ร้องได้คำนึงถึงความจำเป็นทางธุรกิจ ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งและโปร่งใสด้วย การเลิกจ้างดังกล่าวผู้ร้องยินดีจ่ายค่าชดเชยและผลประโยชน์ตามกฎหมายและตามข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน

สำรับฝ่ายผู้คัดค้านตามคำพิพากษาฯ ระบุว่า เป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้ร้องได้รับผลกระบททางเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่มากนัก ลูกค้าทั่วโลกของผู้ร้องมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผู้ร้องได้รับผลกระทบกระเทือนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เหตุที่ผู้ร้องเลิกจ้าง 1,930 คน เนื่องจากต้องการลดบทบาทของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และต้องการย้ายการผลิตไปที่โรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้อง ส่วนแผนกเย็บบางส่วนผู้ร้องนำไปจ้างโรงงานใกล้เคียงผลิตแทน ผู้ร้องไม่มีแผนการที่แน่นอนที่จะลดจำนวนลูกจ้างหรือปรับปรุงโครงสร้างกิจการทั่วโลก การเลิกจ้างดังกล่าวไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมหรือความเดือดร้อนของลูกจ้างและผู้ร้องไม่จัดโครงการสมัครใจลาออกก่อน จึงคัดเลือกลูกจ้างที่จะเลิกจ้างโดยผิดระเบียบ กรณีที่ลูกจ้างไม่มีประสิทธิภาพหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ร้องสามารถหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ค.41 ม.75 ได้

การเลิกจ้างดังกล่าวผู้ร้องไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของพนักงาน ทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใสและมุ่งทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ขณะที่ผู้คัดค้านยื่นคัดค้านนั้น ผู้ร้องมีพนักงานกว่า 3,000 คน สามารถตั้งกรรมการลูกจ้างได้ 21 คน ตามเดิม ผู้คัดค้านดังกล่าวจึงจึงยังมีสถานะเป็นกรรมการลูกจ้างต่อไป การเลิกจ้างผู้คัดค้านย่อมทำให้พนักงานขาดตัวแทน ผู้ร้องต้องเลิกจ้างพนักงานธรรมดาก่อนแล้วจึงเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง จึงขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ลูกจ้างของผู้ร้องร้อยละ 90 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้ร้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา คำนวณถึงปี 2551 รวมขาดทุนประมาณ 1,000,000,000 บาท ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ร้องปรับปรุงโครงสร้างหรือลดจำนวนลูกจ้างได้ ผู้ร้องพิจารณาเลิกจ้างลูกจ้างโดยพิจารณาผลประกอบการในแต่ละแผนก หากแผนกใดไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ก็จะยุบแผนกนั้น เช่น แผนกชุดว่ายน้ำและการประเมินลูกจ้างใช้วิธีการให้คะแนน ผู้คัดค้านส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในแผนกชุดว่ายน้ำ ส่วนผู้คัดค้านอีก 2 คนผลประเมินต่ำ

ผู้ร้องตกลงให้สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 2 เดือน ค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 1 เดือน และเงินพิเศษอีก 7,500 บาท นอกจากนี้ ลูกจ้างยังสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ถึงสิ้นปี 2552 และลูกจ้างที่คลอดบุตรภายในเดือน ก.พ.53 สามารถใช้สิทธิประกันหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลการคลอดบุตรได้เช่นเดิม อันเป็นการใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการหลังเลิกจ้างต่ออีก ผู้ร้องจึงมีเหตุสมควรเลิกจ้าง

คำพิพากษาระบุด้วยว่าพิเคราะห์แล้วที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อำนาจศาลแรงงานในการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 45 วรรคสอง ประกอบ ม.46 (7) ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่มาและจำนวนกรรมการลูกจ้างไว้ชัดแจ้ง ซึ่งในสถานประกอบการของผู้ร้องคณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้  17 ถึง 21 คน กรรมการลูกจ้าง 5 คน จาก 16 คน ที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างยินยอมให้ผู้ร้องเลิกจ้างไปแล้ว จึงเหลือกรรมการลูกจ้างเพียง 11 คนที่ต่อสู้คดีอยู่การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างจะต้องยึดถือจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อผู้ร้องมีลูกจ้างเหลืออยู่ประมาณ 4,000 คน กรรมการลูกจ้างก็จะถูกแต่งตั้งโดยกรรมการสหภาพแรงงานเหมือนเดิม ผู้คัดค้านทั้ง 11 คน จึงเป็นกรรมการลูกจ้างต่อไปได้และกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่ต้องประชุมร่วมกับผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องจะต้องส่งผู้คัดค้านทั้ง 11 คนไปเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ผู้ร้องควรเลิกจ้างลูกจ้างธรรมดาไปก่อน แล้วจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 11 คนเป็นทางสุดท้าย

คำพิพากษาระบุว่า ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม.45 วรรคสอง และมาตรา 46 (7) นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับลักษณะคุณสมบัติและจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น หาใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นเหตุพิพาทในคดีแต่อย่างใด โดยการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นการคุ้มครองกรรมการลูกจ้างนั้น ต้องเป็นไปตาม ม.52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กล่าวคือ นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจำต้องพิจารณาวินิจฉัยถึงมูลเหตุและความจำเป็นในการเลิกจ้างว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ตามพฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละเรื่อง โดยพิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการกระทำของนายจ้างและกรรมการลูกจ้างประกอบเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า การเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนของลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบกิจการและจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 11 ที่เป็นกรรมการลูกจ้าง ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net