Skip to main content
sharethis
 
รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) กรกฎาคม 2553 – กรกฎาคม 2555 (“รายงานของคอป.”) ต้องบอกว่าเป็นรายงาน “ตามล่าหาคนชุดดำ” อย่างแท้จริง เพราะคอป.ตั้งธงว่า ผู้ชุมนุม นปช.มี “กองกำลัง” ของตนเอง แกนนำสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ตั้งแต่เหตุการณ์ในเดือนเมษายน ไล่มาจนถึงพฤษภาคม เป็นเหตุให้รัฐมีความชอบธรรมในการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม 
 
เพราะ คอป. ตั้งธงไว้ก่อนแล้ว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง บรรดาบทวิเคราะห์และพยานหลักฐานจึงลำเอียง มุ่งแต่หาจุดผิด มุ่งพิสูจน์ว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงอย่างไรบ้าง ละเลยที่จะกล่าวถึงสภาพส่วนใหญ่ของการชุมนุมกว่าสองเดือนที่เป็นไปโดยสงบ ละเลยที่จะกล่าวถึงการยั่วยุกดดันของฝ่ายทหาร ละเลยการปฏิบัติการทางทหารที่ต้องการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ชุมนุมให้เป็นสนามรบ และละเลยที่จะกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่มีมือที่สาม (provocateur) อย่างสิ้นเชิง
 
ไม่แปลกที่ในรายงานแทบไม่มีการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมหรือแกนนำในลักษณะที่ให้คุณกับฝ่ายผู้ชุมนุมเลย ไม่มีการแก้ต่าง ให้ความชอบธรรมกับการชุมนุม (แต่กลับมีการแก้ต่างให้ปฏิบัติการที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่) ส่วนใหญ่เป็นการอ้างอิงแหล่งข้อมูลของทางการซึ่งเป็นคู่กรณีหรือเป็นปรปักษ์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม
 
เอาแค่ การใช้คำว่า “กองกำลัง” ไม่ทราบฝ่ายที่เรียกว่า “คนชุดดำ” (หน้า 77) ซึ่งในทางการทหารน่าจะหมายถึงกำลังพลที่มีการจัดตั้ง มีโครงสร้างการบังคับบัญชา และมีการวางแผนระดับหนึ่ง แต่ คอป.ไม่ได้ให้ข้อมูลสนับสนุนทั้งในแง่จำนวน (ที่ระบุอย่างชัดเจนมีในหน้า 97 ที่บอกว่า “พบการปรากฏตัวของคนชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม 5 คน”) ในการแง่การจัดตั้ง หรือโครงสร้างการบังคับบัญชา มีแต่อ้างอิงความเชื่อมโยง พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ. แดง) ตามความเห็นของ “ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศ” คนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีการอธิบายหลักเกณฑ์หรือรายละเอียดด้านกำลังพลใด ๆ มากกว่านี้ 
 
ข้อมูลในส่วนเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2553 กับบทบาทของคนชุดดำ คอป. อ้างอิงแหล่งข้อมูลได้หลากหลายกว่าเหตุการณ์ในช่วงพฤษภาคม อย่างน้อยก็เป็นเหล่งข้อมูลประเภท “ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศ” บ้าง “ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม” บ้าง “ผู้เชี่ยวชาญอิสระนิติวิทยาศาสตร์ด้านอาวุธและกระสุนปืนจากต่างประเทศ” บ้าง นอกเหนือไปจากข้อมูลของรัฐ ซึ่งเป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุมและย่อมมีแนวโน้มไม่ให้การที่เป็นคุณแก่ผู้ชุมนุม นอกนั้นก็เป็นการระบุลอย ๆ ว่ามีผู้เห็นคนชุดดำปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม น่าสนใจว่าการมีภาพคนชุดดำปะปนกับผู้ชุมนุมแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นปช.มีกองกำลังอย่างมั่นคงจริงหรือ
 
ดังกรณี นายมานพ ชาญชั่งทอง การ์ด นปช. ที่มีภาพใส่ผ้าคลุมหน้าสีดำ (ภาพเจ้าปัญหา) มีบางภาพที่เขาถืออาวุธสงครามซึ่งยึดมาจากทหาร และในตอนแรกสื่อต่าง ๆ รายงานว่าเขานี่แหละเป็นคนชุดดำที่ถืออาวุธ แต่ในรายงานไม่ได้ระบุว่าคอป.ได้สัมภาษณ์ขอข้อมูลจากคุณมานพ หรือสอบสวนข้อมูลในเชิงลึกว่า ตกลงเขาเป็น “คนชุดดำ” หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังจริงหรือไม่ และในรายงานคอป. ก็ระบุเองว่า “จากภาพที่ปรากฏ นายมานพสวมผ้าคลุมหน้าและภาพอื่น ๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีผู้ที่สวมผ้าคลุมหน้าอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม” (หน้า 169)
 

ภาพเจ้าปัญหาของนายมานพ ชาญชั่งทอง  
 
แสดงว่าภาพคนชุดดำที่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมที่ คอป.นำมาใช้อ้างเพื่อสนับสนุนสมมติฐานว่านปช.ชุมนุมด้วยความรุนแรง อาจเป็นกรณีผู้ชุมนุมที่แต่งกายในชุดดำ และบางคนถืออาวุธที่ยึดเอามาจากเจ้าหน้าที่ อย่างกรณี นายมานพ ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเขาใช้อาวุธเหล่านั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่ ( คอป. ก็ไม่ได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้) กระทั่งทุกวันนี้นายมานพยังขี่ซาเล้งขายของเก่าอยู่เลย ข่าวสด(คลิ๊ก)
 
ในรายงานคอป.นอกจากการระบุอย่างเลื่อนลอยว่าพบคนชุดดำที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง และบางที่ก็ระบุว่ามีการยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน ถ้ามีจริง ก็ควรยกเป็นกรณีตัวอย่างโดยละเอียดสักกรณีหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าคนชุดดำมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นใคร มีการจัดระดมพล และฝึกฝนกันอย่างไร งบสนับสนุนมาจากไหน ฯลฯ
 
กรณีที่คอป.เอาภาพถ่ายและการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญอิสระนิติวิทยาศาสตร์ด้านอาวุธและกระสุนปืนจากต่างประเทศ มายืนยัน อย่างเช่นภาพในหน้า 99 ภาพที่เขียนว่า “Figure 8 คำบรรยายภาพในภาษาอังกฤษระบุว่า ”บุคคลในภาพถือวัตถุที่ไม่อาจจำแนกได้ มีเพียงข้อกล่าวหาว่าเป็นเครื่องยิงระเบิด” ส่วนภาพ “Figure 9” ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นภาพเงาของวัตถุที่จำแนกไม่ได้เปรียบเทียบกับภาพของเครื่องยิงระเบิด M79 ซึ่งในคำบรรยายระบุว่า “สืบเนื่องจากความขุ่นมัว (grain) ของภาพและมุมของเงาสะท้อนที่ปรากฏบนรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นวัตถุอะไร” (The grain of the picture and the that the shadow is cast at a certain angle on the car preclude any positive identification.)
 

ภาพจากรายงานคอป. หน้า 99
 
ไม่เข้าใจว่าคอป.เอาหลักฐานที่มัว ๆ ซัว ๆ แบบนี้มายืนยันกองกำลังของนปช.ได้อย่างไร ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญยังระบุไม่ได้ว่ามันเป็นวัตถุอะไรด้วยซ้ำ (แต่ในคำบรรยายภาษาไทย คอป.ระบุว่า “ภาพที่ 1 ภาพคนชุดดำถืออาวุธที่มีรูปร้างคล้ายเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79” (ทั้ง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญที่คอป.จ้างมาวิเคราะห์ระบุว่าเป็น “unidentified object”)  
 
ที่สำคัญภาพเกือบทุกภาพที่ประกอบในรายงานเป็นภาพที่ คอป.ระบุเองว่า “ไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของภาพได้ ภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่และนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยฝ่ายต่างๆ” ซึ่งทำให้ต้องตั้งถามต่อความชอบธรรมในการเอาภาพเหล่านี้มาเป็นพยานหลักฐาน (admissibility) 
 
ถาม คอป.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือทำงานด้านกระบวนการยุติธรรมมาก่อนได้ไหมว่า ถ้าคุณเป็นศาลหรืออัยการ คุณจะยอมให้นำภาพที่ไม่ปรากฏที่มาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือไม่???
 
ส่วนพยานหลักฐานกรณีความเกี่ยวข้องของคนชุดดำช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะช่วงวันที่ 14 พ.ค.เป็นต้นมา (“กระชับวงล้อม”) เป็นถ้อยคำของพนักงานเจ้าหน้าที่แทบทั้งหมด มีข้อมูลจากแหล่งอื่นน้อยมาก จนยากจะเชื่อถือว่าเป็นความจริง รวมทั้งการที่ทหารอ้างว่ามีการยิงตอบโต้ออกมาจากวัดปทุมฯ   
 
อีกประการหนึ่งในเมื่อข้อสรุปอย่างหนึ่งของ คอป.คือ “การปฏิบัติการของคนชุดดำมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างและยกระดับความรุนแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้ทหารใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมและต้องการให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น” (หน้า 111) 
 
คำถามคือ ทำไมคอป.ไม่ตั้งสมมติฐานเพื่อพิสูจน์เพิ่มเติมในกรณีที่ “คนชุดดำ” อาจเป็นมือที่สาม (provocateur) ที่แฝงตัวมาในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยคนเหล่านี้อาจเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปลอมตัวมาก็ได้ หรือเป็นฝ่ายอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปได้เช่นกัน
 
เพราะทฤษฎีของ คอป.คือ ผู้ชุมนุมผสมกับปฏิบัติการของคนชุดดำยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้มาตรการปราบปรามที่รุนแรง ในทางกลับกัน คอป.กลับไม่กล่าวถึงมาตรการของทหารที่เป็นการยั่วยุ หรือเป็นการละเมิดสิทธิบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลซุ่มยิง (sniper) ซึ่งในรายงานระบุแค่มีการพบปลอกกระสุนปืนของพลซุ่มยิง (หน้า 182) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. แต่ไม่กล่าวถึงปฏิบัติการในกรณีอื่น ๆ ของพลซุ่มยิง ซึ่งเป็นมาตรการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก และมีการใช้อย่างเข้มข้นในช่วงประกาศยุทธการกระชับวงล้อมในเดือน พ.ค. จนเป็นเหตุให้มีการเพิ่มจำนวนของผู้เสียชีวิตขึ้นมากมาย หรือถ้า คอป.มีแก่ใจไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมสักคน หรืออาสาสมัครพยาบาลที่อยู่ในเหตุการณ์ เชื่อว่ามีหลายคนสามารถยืนยันว่ามีการใช้พลซุ่มยิงถี่มาก ในช่วงท้ายเหตุการณ์ คอป.ละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญตรงนี้ไปได้อย่างไร
 
หรือในรายงานคอป. ไม่มีการพูดถึงการประกาศ “พื้นที่ใช้กระสุนจริง” (หรือที่ศอฉ.ไปเขียนมั่วในภาษาอังกฤษว่า Life Firing Zone ซึ่งควรเป็น Live Firing Zone มากกว่า) ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการกดดันหรือปราบปราม และเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ แม้ในรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงอยู่บ้าง (หน้า 189) แต่คอป.ก็แก้ต่างให้เสร็จโดยระบุว่า “เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเป็นการตอบโต้คนชุดดำ ซึ่งใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่” ในขณะที่ความเชื่อเรื่องกองกำลังของนปช. คอป. ก็อ้างอิงข้อมูลส่วนใหญ่ที่เป็นของเจ้าหน้าที่เอง
 
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.53  หรือ (ศปช.) ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุม ส่วนใหญ่ตายเพราะถูกยิง (87%) และส่วนใหญ่อีกเหมือนกันตายเพราะกระสุนเจาะเข้าที่ส่วนบนของร่างกาย (ศีรษะ/คอ 30% หน้าอก 22% ลำตัวถึงเข่า 30%) แสดงให้เห็นว่าทิศทางการยิงกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นแนวระนาบ (หรือไม่ก็ยิงจากด้านบน) ไม่ใช่การยิงขึ้นขึ้นฟ้าอย่างที่ศอฉ.กล่าวอ้างและคอป.ช่วยสนับสนุน (“การตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงไปทางผู้ชุนนุม หลายคนใช้ ปลย. กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้า บางคนมีอาวุธปืนพก แต่ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนในแนวระนาบไปในทิศทางที่ผู้ชุมนุมอยู่” หน้า 95)
 
หรือกรณีที่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนในแนวระนาบใส่ผู้ชุมนุม คอป. ก็จะหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้ เช่น ระบุว่า “เป็นการปฏิบัติในสถานการณ์คับขันโดยปราศจากผู้บังคับบัญชาเนื่องจากหลายคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต” (หน้า 188) “เป็นการตอบโต้คนชุดดำ ซึ่งใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่” (หน้า 189 และ 191)  
 
กรณีทหารยิงเข้าไปในวัดปทุมวนาราม คอป.ก็สามารถอ้างเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่ได้อีก ตั้งแต่การระบุว่า “โดยในวันที่ 15 พฤษภาคม มีผู้พบเห็นชายฉกรรจ์ แต่งกายในชุดสีดำและลายพรางจำนวนหนึ่งอยู่ภายในวัดปทุมวนารามด้วย” (หน้า 148) ซึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์ “อาสาสมัครผู้ประสานงานอิสระเพื่อมนุษยธรรมและนักกิจกรรมด้านสันติวิธี” หรือ ในวันที่ 19 พ.ค. “เวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานนายหนึ่งได้เห็น การ์ดผู้ชุมนุมสองคนถือวัตถุชนิดหนึ่งโดยมีผ้าพันไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอาวุธปืนยาว เดินบนทางเท้าถนนอังรีดูนังต์ด้านกองพิสูจน์หลักฐาน เมื่อถึงแยกเฉลิมเผ่าได้เลี้ยวขวาไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม” (หน้า 149 หมายเหตุ เจ้าหน้าที่รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอาวุธปืนยาว และถ้าเชื่ออย่างนั้นจริง ทำไมไม่จับกุมผู้ชุมนุมทั้งสองคนไว้ล่ะ เพราะตอนนั้นประกาศเลิกชุมนุมนานแล้ว และทหารก็คุมสถานการณ์แถวนั้นไว้ได้) รวมทั้งการตรวจค้นพบอาวุธในวัดจำนวนมาก ภายหลังการชุมนุม ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่จะสร้างพยานหลักฐานเท็จ คอป.ได้ตรวจสอบข้อมูลเจ้าหน้าที่บ้างหรือไม่
 
ที่สำคัญกรณีที่แม้จะค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงและการกระทำเกินกว่าเหตุของทหาร อย่างการเสียชีวิตของพลเรือนในวัดปทุมวนารามช่วงบ่ายและค่ำของวันที่ 19 พ.ค. คอป. ระบุเพียงว่า “มีการยิงเข้าไปในบริเวณวัดปทุมวนาราม มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 6 คน คือ นายสุวัน ศรีรักษา นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นายมงคล เข็มทอง นายรพ สุขสถิตย์ นางสาวกมลเกด อัคฮาด นายอัครเดช ขันแก้ว และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง” (หน้า 88) 
 
กรณีสังหารโหดในวัดปทุมฯ คอป.กลับไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนว่า ตกลงทหารยิงหรือเปล่า  
 
แต่กรณีที่เป็นคนชุดดำใช้อาวุธ คอป.กลับสามารถระบุอย่างชัดเจนว่าใช่  เช่น ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. “เวลาประมาณ 10.50 น เชื่อว่ามีคนชุดดำยิงปืนสงครามเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการอยู่ในสวนลุมพินี...” หน้า 185, “เวลาประมาณ 13.30 น. คนชุดดำยิง ปลย. และระเบิดเอ็ม 79 หลายลูกเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเคลื่อนมาจากศาลาแดง” หน้า 186, “เวลาประมาณ 13.30 น. หลังจากที่แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม คนชุดดำยิง ปลย.และลูกระเบิดเอ็ม 79 หลายลูกเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหาร” หน้า 146) 
 
สรุปว่าการปฏิบัติงานของ คอป.คุ้มเงินของรัฐมาก เพราะช่วยสร้างทฤษฎีที่สนับสนุนการใช้กองกำลังเพื่อปราบปรามการชุมนุมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยการออก พรบ.เพื่อมาควบคุมหรือจำกัดสิทธิในการชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยพยานหลักฐานที่แย่มาก ๆ (flimsy) และข้อมูลส่วนใหญ่เป็นของรัฐ เรียกว่าถ้าเอาพยานหลักฐานที่คอป.กล่าวอ้างไปใช้ในศาลที่เป็นอิสระ ผมสงสัยว่าศาลจะรับพิจารณาหรือไม่ 
 


ปล. รายงานฉบับนี้ป็นรายงานที่มีการพิสูจน์อักษรแย่มาก ๆ ที่เห็นสะกดผิด เป็นการสะกดตามเนื้อหาในรายงานนะครับ
 
 
 
 
 
จากชื่อบทความเดิม: รายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป.: “ใบอนุญาตให้ฆ่า” The Final Report of Truth for Reconciliation Commission of Thailand (TRCT): “A License to Kill”
 
หมายเหตุ: เพิ่มเติมรายละเอียดภาพเมื่อ 18/9/2555 เวลา23.00น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net