Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

องค์กรที่มีบทบาทสำคัญ
แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขเป็นผู้เล่นสำคัญในด้านชีวจริยศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงด้านการแพทย์และการวิจัยพัฒนาการแพทย์ อย่างไรก็ตามการมุ่งพัฒนาการวิจัยทางแพทย์โดยไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์มากำกับอาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งภายในสังคมเฉกเช่นในอดีต และจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาศึกษาและกำกับด้านชีวจริยศาสตร์เพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างการพัฒนาการแพทย์ในประเทศเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และพัฒนาการแพทย์เพื่อรับใช้ความต้องการของสังคมควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสังคมและยกคุณค่าความเป็นมนุษย์

ในประเทศฝรั่งเศสในปี 2005 ได้สร้างหน่วยงานชีวการแพทย์ (Agence de la biomédecine) โดยอำนาจของกฎหมาย la loi de la bioéthique 2004 ซึ่งเปลี่ยนจากองค์กรเดิมคือ สถาบันการปลูกถ่ายอวัยวะในฝรั่งเศส สถาบันใหม่ที่สร้างขึ้นนี้อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงสาธารณสุข และได้ขยายขอบเขตจากเดิมที่เน้นเฉพาะเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะไปสู่สี่เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ของมนุษย์ คือ การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เพื่อเจริญพันธุ์ การวินิจฉัยปริกำเนิดและการวินิจฉัยทางยีน การวิจัยด้านตัวอ่อนและสเตมเซลล์ และ การจัดหาและปลูกถ่ายอวัยวะ

องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่เน้นด้านการออกแบบ กำกับ ควบคุม และฝึกฝนการปฏิบัติการทางการแพทย์และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเกิดการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในสี่เรื่องหลักดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน สร้างความเท่าเทียมกันกับประชาชนในการเข้าถึงการรักษาในสี่เรื่องข้างต้น ไม่ละเมิดจริยธรรมและกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือโปร่งใสกับประชาชน รวมถึงให้ข้อมูลข่าวสารและทำรายงานประจำปีให้สาธารณชนรับทราบ เช่นการจัดการลิสต์รายชื่อของผู้บริจาคอวัยวะ และผู้รับอวัยวะ ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้อำนาจในการจัดหาผู้บริจาคอวัยวะตับ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของการบริจาคอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ มีอำนาจในการอนุญาตการนำเข้าหรือส่งออกเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน รับรองผู้ปฏิบัติงานทางคลินิคและชีววิทยาในการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ ควบคุมและออกใบอนุญาตและยึดใบอนุญาตให้กับนักวิจัยเป็นรายบุคคลในด้านการวิจัยตัวอ่อนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยหน่วยงานชีวการแพทย์

ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ตั้งคณะกรรมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ โดยในปี 1983 รัฐบาลฝรั่งเศสสมัยฟรองซัวส์ มิตเตรฮงด์ได้ตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรมเพื่อวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพ (le Comité consultatif d’éthique pour les sciences de la vie et de la santé) ขึ้นมา

คณะกรรมการดังกล่าวจะแตกต่างจากหน่วยงานชีวการแพทย์ที่เน้นถึงด้านการวางกรอบปฏิบัติงาน และควบคุมออกใบอนุญาตให้แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขในการทำวิจัยและบริการสาธารณะโดยไม่ละเมิดข้อกฎหมายและจริยธรรม แต่คณะกรรมการนี้จะเป็นองค์กรที่ตอบปัญหาทางด้านปรัชญาชีวจริยศาสตร์ และเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชีวจริยศาสตร์เท่านั้น และรัปฟังคำถามสังคมที่เกิดจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีววิทยา การแพทย์และสุขภาพ โดยองค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระและไม่ขึ้นอำนาจกำกับจากองค์กรรัฐ และเคลื่อนไหวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

คณะกรรมการประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพซึ่งมีประธานหนึ่งคนได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีดำรงวาระสองปีและสมาชิกอีก 39 คนดำรงวาระสี่ปีโดย 5 คนมาจากพื้นเพทางด้านปรัชญาและศาสนาคาธอลิค อิสลาม โปรเตสแตนท์ และยูดาห์, 19 คนได้รับเลือกจากความสามารถและความสนใจในด้านการทำงานชีวจริยศาสตร์เป็นเวลานาน, และอีก 15 คนมาจากสถาบันการวิจัย ด้านการแพทย์และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการปัจจุบันประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ ทั้งอาชีพ นักวิทยาศาสตร์เช่น Pascale Cossart, แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น Alain Grimfieldกุมารแพทย์และดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรม, นักปรัชญาอย่าง Luc Ferry, นักบวชนักเทววิทยา เช่น Louis Schweitzer, นักวารสารที่เกิดในตูนิเซียอย่างAlain-Gérard Slama,นักมานุษยวิทยา เช่น Françoise Héritier, นักการเมือง Lucien Neuwirthที่เป็นคนผลักดันการออกกฎหมายการใช้ยาคุมกำเนิดเมื่อปี 1967

คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่รับฟังปัญหาทางชีวจริยศาสตร์ซึ่งอาจมาจากทั้งทางด้านรัฐสภา มาจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่มีส่วนสำคัญต่อชีวจริยศาสตร์ หรือมาจากภาคประชาสังคมยกประเด็นมา โดยคณะกรรมการมีการประชุมดีเบตกันทุกๆเดือนเพื่อหาข้อถกเถียงและทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา และตีพิมพ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ นอกจากนี้ร่วมมือทำงานกับคณะทำงานด้านชีวจริยศาสตร์ในประเทอื่นๆและจัดการประชุมด้านชีวจริยศาสตร์ในระดับนานาชาติ ผลงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการระดับชาติทางจริยธรรมได้แก่ การให้คำแนะนำในเรื่องการนำเนื้อเยื่อของตัวอ่อนที่ตายแล้ว เพื่อการรักษาวินิจฉัย และการศึกษา การวินิจฉัยปริกำเนิด การบริจาคอวัยวะ การได้มาและใช้สเตมเซลล์ การุณฆาต สุขภาพของประชากรในคุก และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตั้งครรภ์

เนื่องจากองค์กรสององค์กรข้างต้นทำหน้าที่เรื่องภาคปฏิบัติควบคุมกำกับและด้านปรัชญาแต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ทางกฎหมาย และไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตามการจะออกข้อบังคับเพื่อควบคุมคนทั้งรัฐโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นนิติรัฐแล้ว จำเป็นต้องออกมารูปในกฎบัญญัติจากรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาต้องอาศัยกฤษฎีกา (Conseil d’Etat) ที่มีหน้าที่สำคัญด้านให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐสภาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ กฤษฎีกาทำหน้าที่ศึกษาข้อด้อยของกฎหมายในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ เพื่อหาข้อแก้ไขสำหรับอนาคตให้สอดคล้องกับสังคมและดำรงค์ไว้ซึ่งคุณธรรมของมนุษย์ในขณะเดียวกันก็ต้องเกิดการพัฒนาการแพทย์ควบคู่ไปด้วย

ในการศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแก่รัฐสภาในการแก้กฎหมายชีวจริยศาสตร์ la loi de la bioéthique 2004 กฤษฎีกาได้เชิญที่ปรึกษาจำนวน 60 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ตัวแทนจากสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากปัญญาชน เพื่อทำการศึกษาฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ ศึกษาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ต่างประเทศ ผลจาการศึกษาของคณะกรรมการได้แนะนำว่า เพื่อดำรงค์ไว้ถึงจริยธรรมและการพัฒนาการแพทย์ การศึกษาวิจัยตัวอ่อนและสเตมเซลล์ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นเฉพาะกรณีเพื่อทำการรักษา ในด้านการวินิจฉัยปริกำเนิดสามารถทำได้เฉพาะกรณีอันตรายร้ายแรงเท่านั้น และการวินิจฉัยก่อนตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกสามารถทำได้ในกรณีที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ในด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อเจริญพันธุ์สามารถทำได้เฉพาะคู่แต่งงานที่มีบุตรยาก และเป็นคู่แต่งงานที่อยู่กินด้วยกันอย่างน้อยมาสองปี และห้ามกรณีการนำตัวอ่อนที่ตายแล้วจากการเกิดข้อผิดพลาดในขณะตั้งครรภ์มาทำการวิจัย ส่วนประวัติผู้บริจาคสเปิร์มหรือไข่ก็ยังคงปิดเป็นความลับ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสิทธิมนุษยชนพิจารณาจากศาลยุโรป ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการอนุญาตให้ข้อมูลลักษณะของผู้บริจาคได้หรือถ้าในกรณีที่ได้รับการอนุญาตจากผู้บริจาคก็สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของผ้บริจาคแก่เด็กที่กำเนิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ในเรื่องการตั้งครรภ์แทนผู้อื่นเป็นข้อต้องห้ามในทุกกรณีเพราะเป็นลักษณะการนำร่างกายมนุษย์เพื่อการค้า ในด้านการุณยฆาตเชิงรุก (active euthanasia) ยังคงเป็นข้อห้ามในฝรั่งเศสเนื่องจากสาเหตุด้านมนุษยธรรม     

การขยายตัวสู่เวทีสาธารณะ
ตั้งแต่ทศวรรษ80 ชีวจริยศาสตร์ถูกตีกรอบให้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น และกฎหมายฉบับปี 1994และ 2004 ถึงเริ่มมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของกฎหมาย la loi de la bioéthique 2004และครบกำหนดเวลาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง เนื่องจากขอบเขตของชีวจริยศาสตร์ขยายตัวและกระทบวิถีชีวิตประชาชนมากขึ้น ประกอบกับการทบทวนเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความคิดเห็นของคนในสังคม ด้วยการสนับสนุนจากรัฐมนตรีสาธารณสุขสมัชชาประชาชนแห่งชีวจริยศาสตร์ (Les Etats Généraux de la bioéthique)จึงได้จัดตั้งขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน 2009 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในเรื่องชีวจริยศาสตร์เพื่อตอบสนองวิกฤติที่เกิดในสังคมอันมาจากเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อผู้ปฏิบัติงาน สมัชชาได้จัดการดีเบตสาธารณะซึ่งเชิญ นักวิจัย นักปรัชญา นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และประชาชนเข้าร่วม

การดีเบตมีจัดขึ้นในหลายเขตคือ มาร์กเซย์ แรนส์ สตราสบูร์ก และปารีส ผลดีของการดีเบตคือได้รับฟังแนวความคิดและข้อเสนอแนะของประชาชนอันมีผลไปสู่การปรับกฎหมายชีวจริยศาสตร์ในปี 2010 นอกจากนี้ความสำเร็จจากการจัดตั้งทำให้รัฐบาลมีดำริให้มีการจัดดีเบตสาธารณะเรื่องชีวจริยศาสตร์ต่อไปโดยให้คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรมเพื่อวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพเป็นแม่งานสำคัญ 
บทบาทของศาสนาและสื่อต่อชีวจริยศาสตร์

นอกจากองค์กรดังกล่าวข้างต้นที่มีส่วนสำคัญแล้ว ศาสนจักรและสื่อก็มีบทบาทเช่นกันในด้านชีวจริยศาสตร์ ทั้งนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดคำสอนของศาสนา ในประเทศฝรั่งเศสถึงแม้คนส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายคาธอลิคแต่ก็มิได้กำหนดไว้เป็นศาสนาประจำชาติ ไม่ว่าศาสนาคริสต์ พุทธ อิสลาม หรือ ยูดาห์ ต่างตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในชีวจริยศาสตร์ สังฆราชออกมาให้ความเห็นทุกครั้งเมื่อมีประเด็นด้านจริยธรรมในสังคม เช่นการแต่งงานของรักร่วมเพศ การคุมกำเนิด การทำแท้ง หรือ คำถามเรื่องสภาพความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อน มีการประชุมจัดโต๊ะกลมเรื่องชีวจริยศาสตร์โดยเชิญตัวแทนจากสี่ศาสนาหลัก มีการทำเวปไซต์เคลื่อนไหวเรื่องชีจริยศาสตร์เป็นต้น

สื่อไม่ว่าเป็นสื่อโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์เองก็ตื่นตัวและทำหน้าที่สำคัญในการกระจายเรื่องชีวจริยศาสตร์สู่สาธารณชน และมีการจัดรายการด้านชีวจริยศาสตร์ทุกครั้งเมื่อมีข้อขัดแย้งในสังคม เช่นรายการโทรทัศน์ภายใต้หัวข้อเรื่อง “แพทย์ทำหน้าที่เป็นพระเจ้าหรือ” ซึ่งถ่ายทอดผ่านทีวีสาธารณะ France24

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในประเทศไทย พุทธศาสนาที่เป็นศานาประจำชาติไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการถกปัญหาเชิงปรัชญาด้านชีวจริยศาสตร์ที่เป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต และยังคงยึดติดกับเรื่องบุญกรรมในอดีต การล้างกรรมจากการทำแท้งแต่ไม่เคยอธิบายว่าทำแท้งไม่ได้เพราะเหตุใดนอกจากสาเหตุเดียวคือเป็นบาป หรือพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในสังคมก็หมกหมุ่นอยู่กับสตีฟ จอบส์ ไอนสไตน์โดยไม่เคยเข้ามาถกปัญหาด้านชีวจริยศาสตร์ ในขณะที่สื่อเองก็ไม่ได้เป็นตัวกลางนำเรื่องชีวจริยศาสตร์ขยายวงไปสู่ภาคประชาชน น่าเสียดายที่มีนักวิชาการประเทศไทยทำงานและสนใจด้านชีวจริยศาสตร์มาเป็นสิบปีแล้วแต่ขาดตัวกลางที่นำงานต่างๆขยายเข้าสู่ภาคประชาชน แม้แต่กระบวนการออกกฎหมายการุณยฆาตแบบPassive (ผู้ป่วยสามารถปฏิเสธการรักษาเพื่อจากโลกนี้อย่างสงบ) ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ ก็มีการรับรู้ของประชาชนในวงจำกัด ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมากกับประชาชนทุกคน

 

เชิงอรรถ
http://fr.wikipedia.org/wiki/Bio%C3%A9thique
http://www.lefigaro.fr/actualite-france/2011/01/27/01016-20110127ARTFIG00737-bioethique-la-loi-ne-doit-pas-suivre-les-sondages-d-opinion.php
http://www.science.gouv.fr/fr/dossiers/bdd/res/3251/la-bioethique-en-debat/
http://www.ladocumentationfrancaise.fr/dossiers/bioethique/historique-lois-bioethique.shtml
http://www.vie-publique.fr/decouverte-institutions/citoyen/enjeux/citoyennete-societe/bioethique-recherche-scientifique-quels-enjeux.html
http://fulltext.bdsp.ehesp.fr/Hcsp/ADSP/69/ad691315.pdf
http://www.etatsgenerauxdelabioethique.fr/base-legislative-et-documentaire/les-travaux-et-syntheses-des-religions-et-courants-de-pensee.html
http://www.bioethique.net/modules.php?name=News&file=article&sid=5
http://fr.wikipedia.org/wiki/Comit%C3%A9_consultatif_national_d%27%C3%A9thique
http://www.ccne-ethique.fr/membres.html
http://www.agence-biomedecine.fr/IMG/pdf/doc_agenceva.pdf
http://www.france24.com/fr/20110210-debat-bioethique-bebe-medicament        
      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net