Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ชี้ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่สิ่งจำเป็น หนุนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าทางเลือก เผยช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคถึง 12% ภายในปี 2573



วานนี้ (14 ก.ย.55) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน หรือ คสข.ออกแถลงการณ์ “หยุดเขื่อนไซยะบุรี หยุดเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง” ชี้ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย แผนทางเลือกชี้ว่าไทยยังมีทางเลือกพลังงานที่สะอาด ราคาถูกกว่า และตอบสนองความต้องการได้ เขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวอย่างโครงการที่รัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนในด้านพลังงานและไม่มีความโปร่งใส

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าทางเลือก (Alternative Power Development Plan) สำหรับ ประเทศไทยที่ได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานใน อนาคต โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติม หรือสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ใหม่

แผนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีในแม่น้ำโขง ไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในอนาคตของไทย หากรัฐเลือกลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน พลังงานหมุนเวียน และระบบพลังความร้อนร่วม (โคเจนเนอเรชั่น) แทน จะช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคได้ถึง 12% ภายในปี 2573 และทำให้ประหยัดเงินลงทุนได้ถึงสองล้านล้านบาท

นายสน รูปสูง แกนนำสำคัญเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังหลอกลวงคนไทยจากการไปทำความตกลงกับรัฐบาลลาว เพื่อสร้างเขื่อน เพราะไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ที่ดีสุดด้านไฟฟ้าของผู้บริโภคเลย นอกจากไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีจะไม่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้อง การพลังงานในอนาคตแล้ว ยังมีราคาแพงกว่าแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ

“เราจำเป็นต้องผลักดันทางเลือกพลังงานที่ฉลาดอย่างเร่งด่วน รัฐบาลไทยควรยกเลิกความพยายามที่จะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขงสายหลักโดยทันที และให้ส่งเสริมกระบวนการที่มีส่วนร่วมและโปร่งใสเพื่อวิเคราะห์ ความต้องการพลังงานในอนาคต” นายสนกล่าว

นายอิทธิพล  คำสุข คณะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก เป็นผลงานของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากไทย ได้แก่ นางสาวชื่นชม สง่าราศรี กรีเซนและดร.คริส กรีเซน (Dr.Chris Greacen) โดยมีการนำแผน พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบันของรัฐบาลไทย (“แผนพีดีพี 2010”) มาวิเคราะห์ และพบว่าการประมาณการความต้องการไฟฟ้าในปี 2573 อาจสูงเกินจริงถึง 13,200 เมกะวัตต์ เท่ากับปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี 10 เขื่อน

ผู้ศึกษายังพบว่าประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้า และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมากเพียงพอที่จะรักษาความมั่นคงของระบบ ด้วยการคงระดับกำลังผลิตสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยไม่จำเป็นต้องมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบจนกว่าจะถึงปี 2560 ซึ่งพี่น้องเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขต 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เกิดการยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของกฟผ.กับสปป.ลาว ที่ดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานอย่างจริงจัง  พวกเราถูกหลอกมามากเพียงพอแล้ว ทั้งน้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า เลิกหมกเม็ดเสียที และในวันที่ 17 กันยายน 2555 นี้พวกเราจะไปทวงถามขอคำตอบที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง” นายอิทธิพลกล่าว
 
“กระบวนการวางแผนภาคพลังงานของไทยในปัจจุบันมีข้อบกพร่องหลายประการ ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชุดค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่รัฐบาลเห็นชอบทุกชุดที่ผ่าน มามักจะประเมินความต้องการไฟฟ้าระยะยาวสูงเกินจริงมาโดยตลอด ส่งผลให้มีการลงทุนเกินความจำเป็นและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค หากมีการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น และเลือกลงทุนในพลังงานทางเลือกที่สะอาด ราคาถูก และเสี่ยงน้อยกว่า จะไม่เพียงช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค แต่ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่เป็นอันตรายอื่นๆ ของไทยด้วย โครงการที่มีผลกระทบสูง อย่างเช่น โครงการ เขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก โรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใดสำหรับ ประเทศไทย เพราะเรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า” นางสาวชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน หนึ่ง ในผู้เขียนรายงานได้ระบุไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนั้น นางสาวชื่นชมยังสะท้อนถึงวิกฤตของกระบวนการวางแผนที่ตั้งอยู่บนค่าพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ผ่านมา และยังกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าประเภทที่ไม่เหมาะสมในจำนวนที่มากเกินไป คนไทยอาจจะต้องเสียเงินนับแสนล้านบาทต่อปีไปกับการลงทุนใน โครงการซึ่งทั้งไม่จำเป็นและไม่เป็นที่พึงประสงค์    


ดาวน์โหลดบทสรุปของแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกได้ที่: www.internationalrivers.org/en/node/7010         
          

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net