Skip to main content
sharethis


 

19 กันยายนนี้ ศาลนัดพร้อมคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Red Power / Voice of Taksin และผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน สมยศ มีสถานะเป็นผู้ต้องขังในคดีความผิดมาตรา 112 เพียงคนเดียวที่สู้คดีและยังไม่มีผลคำพิพากษาออกมา คดีของเขาสืบพยานเสร็จแล้ว โดยเขาถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ 4 จังหวัดเพื่อสืบพยานโจทก์ ทั้งสระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และสงขลา โดยแห่งสุดท้ายนั้นไปเก้อ เพราะพยานโจทก์อยู่ กทม.

การนัดพร้อมในวันที่ 19 กันยายนนี้ เพื่อฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะมีคำพิพากษา หลายคนเก็งกันว่าจะยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาในวันดังกล่าวและคงยืดเวลาออกไปทำให้ยังไม่มีการพิพากษาขณะที่การประกันตัวก็ไม่เป็นผล ที่ผ่านมาประกันตัวแล้วถึง 10 ครั้ง และทนายจำเลยกำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง หากผลออกมาเช่นเดิม “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ก็จะมีการส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเช่นกันว่า การไม่ให้ประกันตัวนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกที่ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความกฎหมายที่ “อาจจะ” ขัดกับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเฉพาะคดีนายสมยศ แต่มีคดีต่างๆ อีกหลายคดี

ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 112 เช่นกัน

กรณีนายคธา (สงวนนามสกุล) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ บางมาตราในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เช่นเดียวกับจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.ประชาไท ซึ่งกำลังจะดำเนินการเช่นกัน

รวมไปถึงการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับพ.ร.บ.ภาพยนตร์ กรณีห้ามฉายหนัง Insect in the backyard

การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ได้มีผลเฉพาะต่อคดีเพียงคดีเดียว หรือผู้เสียหายเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่เสรีภาพ คำวินิจฉัยครั้งหนึ่งย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย ส่งผลต่อคดีทุกคดี และคนทุกคนที่อาจถูกจำกัดสิทธิจากกฎหมายนั้นๆ ในอนาคต หรือที่ต้องรับโทษอยู่ในปัจจุบันด้วย นี่จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาวที่ผู้เสียหายบางคนยอมเอาคดีของตนเข้าเป็นเดิมพัน

รายละเอียดของกรณีต่างๆ มีดังนี้


คดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีนี้จำเลยคือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2962/2555 ว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งมีบทความตีพิมพ์ลงในนิตยสารสองฉบับเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 29 เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไปทั้งที่มีลักษณะความผิดคล้ายการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกเพียงหนึ่งปี และอัตราโทษยังสูงกว่าโทษของความผิดฐานดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย


คดี นายเอกชัย  ยื่นให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีนี้จำเลยคือ นายเอกชัย ห. ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2072/2554 ว่าเป็นผู้จำหน่ายแผ่นซีดี และเอกสารบันทึกบทสนทนา ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 เพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินไปไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพราะรัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ผู้เดียวไม่รวมถึงราชินีและรัชทายาทด้วย และขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่มาตรา 112 กลับลงโทษแม้กระทั่งผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต


คดี Insects in the Backyard ยื่นให้ตีความ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 26(7), 29

ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติถูกสั่งห้ามฉาย โดยอ้างเหตุผลว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลข 671/2554 ขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ดังกล่าว ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

ในวันเดียวกับที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(7) และมาตรา 29 ที่ให้อำนาจสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และมาตรา 29 เพราะเป็นการให้อำนาจฝ่ายปกครองจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งที่มีมาตรการอื่นที่กระทบสิทธิน้อยกว่าที่สามารถทำได้ เช่น การกำหนดอายุผู้ชม และเงื่อนไขที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเช่น คำว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของประเทศ เป็นเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าสิทธิของตนจะถูกจำกัดเมื่อใด


คดี นายคธา  ยื่นให้ตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2)

คดีนี้จำเลยคือนาย คธา ป. ถูกฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เป็นคดีดำหมายเลข อ.2337/2554 ว่าเป็นผู้โพสข่าวลือลงในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้ประชาชนตื่นตระหนก อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40(2) เพราะเป็นบทบัญญัติที่กำกวม เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลพินิจได้อย่างไร้ขอบเขต ประชาชนอ่านแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าการกระทำเช่นใดจึงผิดต่อกฎหมายโดยเฉพาะถ้อยคำว่า “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

ล่าสุด คดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ว่าศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมุ่งคุ้มครองความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรมและการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา40(3) คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net