Skip to main content
sharethis

ทูตสหรัฐแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐอาระกันของพม่า ขณะที่รัฐสภาอังกฤษมีการอภิปรายเรื่องการช่วยเหลือชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศ

วันนี้ (11 ก.ย.) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ Jonathan Ashworth ได้อภิปรายหัวข้อการเยี่ยวยาชุมชนชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศ ขณะที่มีรายงานว่าคณะทูตจากองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งมีประเทศสมาชิก 57 ประเทศ ได้เดินทางเยือนรัฐอาระกัน เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าและเยี่ยมชุมชนต่างๆ ในรัฐอาระกันและมอบความช่วยเหลือ (ที่มา: บันทึกเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ)

 

สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานโดยอ้างจากสำนักข่าว AFP ว่า เจ้าหน้าที่พม่าที่เมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงของรัฐอาระกัน เปิดเผยว่าคณะผู้แทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC นำโดยทูตผู้แทนจากสหประชาชาติ Ufuk Gokcen ได้เดินทางไปที่รัฐอาระกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ก.ย. 55)

โดยคณะผู้แทนจาก OIC ได้พบกับรัฐมนตรีด้านกิจการชายแดนของพม่า และพบกับผู้ว่าการรัฐอาระกัน มีการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยและบริจาคเงินช่วยเหลือด้วย โดยคณะผู้แทนจาก OIC ยังได้สรุปการเยือนครั้งนี้ไปเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.)

ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่ในรัฐอาระกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คนจากตัวเลขของทางการ อย่างไรก็ตามกลุ่มสิทธิมนุษยชนเกรงว่าจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น

ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ซึ่งมีสมาชิกกว่า 57 ประเทศ ได้ประชุมกันที่เมืองเมกกะ ซาอุดิอาระเบีย และมีมติให้นำกรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกันเข้าสู่ที่ประชุมของสหประชาชาติ พร้อมกันนั้น OIC ยังประณามการแก้แค้นโดยใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่พม่า ต่อสมาชิกของชนกลุ่มน้อย และประณามการปฏิเสธการรับรองสิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮิงยาด้วย

ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางการพม่าอนุญาตให้ OIC นำความช่วยเหลือเข้าไปในรัฐอาระกัน โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องช่วยเหลือทุกชุมชนในพื้นที่

ขณะที่เมื่อวันจันทร์นี้ (10 ก.ย.) สหรัฐอเมริกาได้แสดง "ความวิตกกังวลอย่างยิ่ง" ต่อสถานการณ์ทางมนุษยธรรมในรัฐอาระกัน หลังจากที่ผู้แทนของสหรัฐอเมริกา Derek Mitchell และทูตอาวุโส Joseph Yun เข้าไปเยือนรัฐอาระกัน

ทั้งนี้มีชาวโรฮิงยาอยู่ในรัฐอาระกันราว 800,000 คน โดยรัฐบาลพม่าและชาวพม่าจำนวนมากเห็นว่าชาวโรฮิงยาเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

และล่าสุดในวันนี้ (11 ก.ย.) เว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ ได้เผยแพร่การอภิปรายในสภา โดยเมื่อเวลา 9.29 น. ตามเวลาท้องถิ่น (15.29 น. ตามเวลาประเทศไทย) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ Jonathan Ashworth ได้อภิปรายหัวข้อการเยี่ยวยาชุมชนชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Parliament UK (Sep 11, 2012) http://www.parliamentlive.tv/main/Player.aspx?meetingId=11365

Int’l Islamic group visit Arakan state, Democratic Voice of Burma, 11 September 2012 http://www.dvb.no/news/islamic-body-to-take-rohingya-issue-to-united-nations/23339

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net