NGOs หลากประเด็นรวมตัว ค้าน 3 บิ๊กเศรษฐกิจดันแก้กฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ค้าน 3 สมาคมเอกชนเร่งรัดรัฐบาลแก้กฎหมาย 37 ฉบับ ชี้เนื้อหาที่เอกชนขอแก้ ทำร้ายประชาชน เสนอส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดูแล และมีภาคประชาสังคมร่วมด้วย 

9 ก.ย.55 สืบเนื่องจากข่าวที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สมาคม (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เตรียมจะเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 12 กันยายนนี้ ให้แก้กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวม 37 ฉบับ โดยอ้างว่า ล้าหลัง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากกฎหมายที่ภาคเอกชนต้องการแก้ 37 ฉบับนั้น มีบางฉบับที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ควรต้องนำกฎหมายภาคประชาชนมาร่วมพิจารณา แต่ไม่เห็นด้วยในการเสนอขอแก้ไขในหลายฉบับ เช่น  พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  2551,  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม  2535 ฯลฯ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรอ.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนนักวิชาการนักกฎหมาย แต่ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง หรือมิเช่นนั้นก็ควรส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี ศ.คณิต ณ นคร เป็นประธานไปดำเนินการที่มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ตามที่ กรอ.เสนอ ดังนี้

ข้อ 1.1 เรื่องการกำหนดภาระการพิสูจน์ให้ต่างจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ในขณะนี้ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของกฎหมาย PL คือ การแก้ไขปัญหาในการพิสูจน์ของฝ่ายผู้เสียหายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัยอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ออกมา โดยที่สินค้าในปัจจุบันไม่ว่าจะผลิตภายในประเทศหรือนำเข้า มีกระบวนการผลิตที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้นเป็นลำดับ การที่ผู้บริโภคจะตรวจพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยกระทำได้ยาก

ข้อ 1.2 ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อยกเว้นความรับผิด เพราะ หากเพิ่มเป็นข้อยกเว้น เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าประเภทนี้ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากข้อยกเว้น หากผู้เสียหายกล่าวอ้างว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานผู้เสียหายต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ตนได้ใช้นั้นผลิตไม่ได้มาตรฐาน (ตามที่บังคับ)

ข้อ 1.3 สิทธิเรียกร้องความเสียหายจากกฎหมายหลายฉบับ หากผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วยกฎหมายหลายฉบับ ให้ผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิตามกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเพียงฉบับเดียว อ่านโดยข้อความแล้วไม่เข้าใจว่า จะให้ผู้เสียหายเลือกหรืออย่างไร เพราะในปัจจุบัน มาตรา 3 ก็ให้ใช้กฎหมายที่คุ้มครองมากกว่าเป็นฐานในการเรียกร้อง

ข้อ 1.5 ความรับผิดระหว่างผู้ประกอบการ ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน  เว้นแต่ตามพฤติการณ์ศาลจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น ประเด็นนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอเปลี่ยนหลักการในกฎหมายปัจจุบันซึ่งให้รับผิดร่วมกันต่อผู้เสียหาย ตามมาตรา 5 ที่เหมาะสมแล้ว

ข้อ 1.6 ไม่เห็นด้วยกับ คำจำกัดความสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แก้ไขคำคำจำกัดความ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ให้มีความหมายถึงเฉพาะสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะเหตุบกพร่องจากการผลิต การออกแบบ หรือคำเตือนเท่านั้น เพราะความหมายเดิมครอบคลุมดีแล้วจะคุ้มครองผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก  พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เสนอให้ไปใช้  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าแทนนั้น เพราะสินค้าและบริการที่เป้นการผูกขาด กลไกการแข่งขันไม่เกิด ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องมี  พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และต้องแก้ไข  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าเพื่อให้แข่งขันได้จริง

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพที่ไม่ให้ภาครัฐสนับสนุนภาษีหรือสิทธิพิเศษการลงทุนกับธุรกิจการแพทย์ “นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นทั้งประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ซึ่งสาระของธรรมนูญสุขภาพ ไม่ได้ไปกล่าวโทษภาคธุรกิจที่ทำมาหากิน แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปสนับสนุนธุรกิจทางการแพทย์โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนซึ่งควรต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และในประเทศที่เน้นหลักประกันสุขภาพของประชาชน เช่นที่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์กำลังดำเนินการอยู่ ต่างต้องควบคุมการทำธุรกิจการแพทย์ทั้งสิ้น เพราะจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชน”

ขณะที่นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยมูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุว่า ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ ว่า มีความเห็นต่างกับข้อเสนอ  กกร. เรื่องการแก้ไข  พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2535 ในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้เอกชนสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ

เหตุผลคือ 1) การพิจารณาอีไอเอเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงรายงได้เป็นขั้นตอนอยู่แล้ว หากว่ารายงานไม่ผ่านความเห็นชอบนั่นหมายถึงว่า โครงการนั้นๆ ย่อมมีปัญหารุนแรงหรือมีความไม่เหมาะสมที่จะให้ดำเนินการจริงๆ หรืออาจจะก่อความเสียหายอย่างมากได้

2) การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการเฉพาะใน  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มของภาคธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมในมิติต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะความยั่งยืนและคุณภาพที่ดีของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลด้อม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การแข่งขันทางการค้าทียั่งยืนในระยะยาวของประเทศไทยในตลาดโลกแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ในสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศก็มีมาตรการส่งเสริมเรื่องความผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิภาพของเอกชนมากขึ้น

3)  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ควรมีการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจาก  พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันไม่ครอบคลุมปัญหาและความเสียหายอีกหลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น

· กรณีการจัดทำอีไอเอควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมไปถึงการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ ไม่ใช่รายโครงการ,  และอีไอเอควรมีผลต่อการอนุมัติการก่อสร้างโครงการและการยกเลิกการก่อสร้างโครงการ

· การแก้ไขในประเด็นกองทุนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

· การเพิ่มโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษทางแพ่งและทางอาญา เป็นต้น

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้าน ร่าง  พ.ร.บ. มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ. และร่างพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง... แต่เห็นว่า ร่าง  พ.ร.บ. นี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะ หากจะมีการปรับปรุงก็ควรเปิดโอกาสให้สาธารณะและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ให้ความเห็นกับร่าง พรบ. ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน  แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรมีการตรากฎหมายย่อยที่ควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่โรงงาน รวมถึงการกำหนดมาตรการฟื้นฟู เยียวยาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และการเพิ่มโทษรุนแรงขึ้นกับผู้ก่อมลพิษ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท