รอบโลกแรงงานสิงหาคม 2555

ฝรั่งเศสไล่คนงาน 4 ถือศีลอด

1 ส.ค. 55 - เอเอฟพีรายงานว่า พนักงาน 4 คนที่ประจำค่ายฤดูร้อนสำหรับเยาวชนในเมือง เจเนวิลเยร์ของฝรั่งเศส ถูกบอกเลิกจ้างเนื่องจากถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนตามหลักศาสนาอิสลาม นายกเทศมนตรีของเมืองเจเนวิลเยร์ระบุว่า การถือศีลอดที่ห้ามกินอาหารตลอดวัน ขัดต่อกฎหมายแรงงานฝรั่งเศสที่บังคับให้พนักงานที่มีหน้าที่ดูแลเยาวชนมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ รายงานระบุว่าเมื่อ 3 ปีก่อนเคยมีพนักงานขับรถของค่ายฤดูร้อนดังกล่าวหน้ามืดขณะปฏิบัติงานเพราะถือศีลอด ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเด็กคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส

ด้านองค์กรชาวมุสลิมในฝรั่งเศสประท้วงต่อ มติเลิกจ้างดังกล่าว โดยชี้ว่าชาวมุสลิมหลายล้านคนทั่วโลกถือศีลอดได้โดยไม่กระทบต่อการงาน พร้อมวิจารณ์ว่ามติเลิกจ้างนี้เป็นมาตรการเหยียดหยามอิสลาม แต่พรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งเป็น กลุ่มการเมืองขวาจัด ชื่นชมการเลิกจ้างพนักงานทั้งสี่เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยและแยกศาสนาออกจากกิจการของรัฐ

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสประสบความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมุสลิมสายเคร่งและฝ่ายเสรีนิยมครั้งใหญ่หลังทางการฝรั่งเศสประกาศห้ามการสวมผ้าคลุมสตรีอย่างเต็มตัวของอิสลาม หรือ บูรกา เมื่อปีก่อน

 

“ชาร์ป” ร่อแร่! จ่อปลดพนักงาน 5,000 ตำแหน่ง มี.ค. ปีหน้า

2 ส.ค. 55 -  เอเอฟพี - ชาร์ป เตรียมปลดพนักงานออก 5,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคมปี 2013 หลังผลประกอบการในไตรมาสที่ผ่านมาขาดทุนย่อยยับ และคาดว่ายอดจำหน่ายโทรทัศน์ที่ตกต่ำจะส่งผลให้บัญชีเป็นตัวแดงไปตลอดทั้งปีนี้

ผู้ผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขาดทุนสุทธิ (net loss)ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา สูงถึง 138,400 ล้านเยน (55,600 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 49,300 ล้านเยน (19,800 ล้านบาท) ขณะที่ยอดขายก็ลดลง 28.4% เหลือเพียง 458,600 ล้านเยน (184,000 ล้านบาท)

ชาร์ป ระบุว่า ความตกต่ำของตลาดโทรทัศน์, หน้าจอลิควิดคริสตัล และแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจปลดพนักงานออกบางส่วน เพื่อลดรายจ่ายลงประมาณ 100,000 ล้านเยน (ราว 40,000 ล้านบาท) และทำให้ตัวเลขในบัญชีสมดุลขึ้น

ทั้งนี้ ชาร์ป ยังปรับลดผลกำไรคาดการณ์ในปีนี้ โดยระบุว่า ยอดขาดทุนสุทธิในปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2013 อาจสูงถึง 250,000 ล้านเยน (ราว 100,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ว่าไม่เกิน 30,000 ล้านเยน (ราว 12,000 ล้านบาท) ขณะที่ผลประกอบการขาดทุน (operating loss) จะสูงถึง 100,000 ล้านเยน (ราว 40,000 ล้านบาท) จากเดิมที่คาดไว้ราวๆ 20,000 ล้านเยน ( 8,000 ล้านบาท)

ยอดจำหน่ายสินค้าตลอดทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านเยน (ราว 1 ล้านล้านบาท) ลดลงจากที่คาดไว้ 2.7 ล้านล้านเยน (1.08 ล้านล้านบาท)

ปัจจุบัน ชาร์ป มีการจ้างพนักงานราว 57,000 คนทั่วโลก

 “อุปสงค์หน้าจอลิควิดคริสตัลทั้งในประเทศและในจีน ลดลงเร็วกว่าที่เราคาดไว้... บรรยากาศทางธุรกิจยังคงไม่สดใส ซึ่งอุปสงค์ที่ลดลงก็ส่งผลให้บริษัทต้องปรับการผลิตจอแอลซีดีขนาดใหญ่ด้วย ขณะที่ราคาสินค้าสำเร็จรูปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ตกต่ำลง” ชาร์ป ระบุในถ้อยแถลง

ก่อนหน้านี้ ชาร์ป มีแผนจะลดพนักงานในประเทศเพียง 3,000 ตำแหน่ง แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตการเลิกจ้างไปถึงโรงงานในต่างประเทศ เพื่อเร่งให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารชาร์ปก็จะต้องถูกหั่นเงินเดือนลง 20-50% เมื่อเทียบกับแผนเดิมที่วางไว้ไม่เกิน 10-30% สำนักข่าวเกียวโดและสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงาน

 

สหภาพรถไฟสเปนหยุดงานประท้วงต้านแปรรูป

3 ส.ค. 55 - สหภาพแรงงานรถไฟของสเปน จัดการชุมนุมประท้วงหยุดงาน เพื่อต่อต้านแผนการแปรรูปการรถไฟไปเป็นของเอกชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับลดรายจ่ายภาครัฐ ทางการต้องระดมกำลังตำรวจมาช่วยดูแลสถานการณ์ การประท้วงของพนักงานสหภาพแรงงานรถไฟ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปการรถไฟให้กลายเป็นของเอกชนเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสเปน ได้ประกาศแปรรูปการรถไฟ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 2,070,000 ล้านบาท  ซึ่งสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การแปรรูปกิจการรถไฟเป็นของเอกชนจะกระทบต่อระบบความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการรถไฟ ขณะเดียวกันจะทำให้พนักงานเดิม ต้องตกงานนับแสนคน

 

จำนวนคนว่างงานในสเปนลดลง 27,814 คนในเดือนกรกฎาคม คิดเป็นอัตราลดลง 0.6% จากเดือนมิถุนายน

7 ส.ค. 55 - แหล่งข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างอิงข้องมูลจากกระทรวงว่า จำนวนคนว่างงานในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 4,587,455 คน ซึ่งแม้ว่าจำนวนคนว่างงานจะลดลงในเดือนดังกล่าว แต่ตัวเลขก็ยังสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ 507,713 คน หรือเพิ่มขึ้น 12.4%

นายเอ็นดราเซีย ฮิดาลโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสเปน ระบุว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สี่แล้วเนื่องจากการท่องเที่ยว วันหยุดเทศกาลอีสเตอร์และวันหยุดฤดูร้อน

เมื่อพิจารณาแยกตามเพศพบว่า จำนวนผู้ว่างงานชายลดลง 0.67% ในขณะที่ผู้ว่างงานหญิงลดลง 0.54% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน โดยจำนวนผู้ชายที่ว่างงานอยู่ที่ 2,268,949 คน และผู้หญิงอยู่ที่ 2,318,506 คน

จำนวนผู้ว่างงานที่อายุยังน้อยก็ลดลงเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน โดยจำนวนผู้ว่างงานที่อายุต่ำกว่า 25 ปีลดลง 12,611 คน

ทั้งนี้ กระทรวงยังเปิดเผยว่า สวัสดิการผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 17.6% จากปีที่แล้ว แตะระดับ2.543.8 พันล้านยูโรเมื่อเดือนมิถุนายน โดยจำนวนผู้ว่างงานที่ได้รับสวัสดิการทั้งหมดอยู่ที่2,881,379 คนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น5.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 กระทรวงรายงานว่า เมื่อเดือนมิถุนายนการสมัครงานเพิ่มขึ้น17.6% สู่ระดับ 949,762 ครั้ง

ด้านสหภาพแรงงานรถไฟของสเปน จัดการชุมนุมประท้วงหยุดงานเพื่อต่อต้านแผนการแปรรูปการรถไฟไปเป็นของเอกชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับลดรายจ่ายภาครัฐ ทางการต้องระดมกำลังตำรวจมาช่วยดูแลสถานการณ์ การประท้วงของพนักงานสหภาพแรงงานรถไฟ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปการรถไฟให้กลายเป็นของเอกชน

เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสเปนได้ประกาศแปรรูปการรถไฟ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง69,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ2,070,000 ล้านบาท ซึ่งสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การแปรรูปกิจการรถไฟเป็นของเอกชนจะกระทบต่อระบบความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการรถไฟ ขณะเดียวกัน จะทำให้พนักงานเดิมต้องตกงานนับแสนคน

 

"โอซาก้า" เข้มสั่งแบนผู้คนห้ามสัก หากต้องการ"ได้งานทำ" ชี้"กระทบซิ่ง"ยากูซ่า"

8 ส.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ว่า นายโทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโอซามา เมืองใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น ได้ประกาศห้ามพนักงานรัฐ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการทำงานรัฐ"สักลาย" และว่า ปัจุบัน มีพนักงาน 114 คน จาก 33,500 คน สักลาย ขณะที่รายงานระบุว่า มาตรการนี้ส่งผลให้หนุ่มญี่ปุ่นหายากทำยิ่งขึ้นไปอีก หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตสึนามิถล่มโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิม่า โดยแพทย์ศัลยกรรมเป็นที่ต้องการมากขึ้นในการขจัดรอยสัก จากกลุ่มคนที่ไม่ต้องการสูญเสียงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการลบรอกสักอยู่ที่ราว 819 ปอนด์  -1,667 ปอนด์ (ราว 40,950-83,350 บาท)

โดยกฎใหม่นี้มุ่งเป้าที่จะปราบปรามแก๊งยากูซ่าซึ่งมีสมาชิกชอบสักที่ถือเป็นสัญญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ แต่ครูและพนักงานรัฐต้องโกรธแค้นหลังจากมีมาตรการสั่งให้มีการตรวจสองว่ามีร่างกายมีการสักหรือไม่ เพื่อที่จะป้องกันยากูซ่าจากการหารายได้จากประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการสั่งให้คนเหล่านี้ต้องทำแบบสอบถามเพื่อแสดงทัศนคติเกี่ยวกับแก๊งยากูซ่าด้วย และมีการลงโทษพนักงาน 6 รายที่ไม่ยอมตอบคำถามนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการนี้จะแพร่คลุมไปถึงกรุงโตเกียว ซึ่งมีนายชินตาโร่ ชิชิฮาร่า นายกเทศมนตรีผู้นิยมแนวทางขวาจัด และเป็นผู้ศรัทธานายฮาชิโมโตะด้วย 

 

กลุ่มสังเกตการณ์แรงงาน พบซัมซุงจ้างโรงงานจีนที่ใช้แรงงานเด็ก

9 ส.ค. 55 - กลุ่มสังเกตการณ์แรงงานเด็ก ซึ่งมีสำนักงานในนครนิวยอร์ค ของสหรัฐ อ้างว่า พบหลักฐานการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ในโรงงานของ HEG อีเล็คทรอนิค ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคให้กับบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิค ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางซัมซุงปฏิเสธว่า ไม่พบหลักฐานมีการใช้แรงงานเด็กในการผลิต แต่ได้ส่งทีมงานจากเกาหลีไปตรวจสอบสายงานผลิตที่โรงงานในจีนแล้ว

 

'ซัมซุง' สั่งสอบโรงงานจีนใช้แรงงานเด็ก

10 ส.ค. 55 - 10 ส.ค. 55  กลุ่มเฝ้าระวังด้านแรงงานในจีน ที่มีสำนักงานอยู่ที่นครนิวยอร์คของสหรัฐ ที่สืบสวนเรื่องนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม เปิดเผยว่า มีเด็กวัยต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 7 คน ทำงานอยู่ที่โรงงาน เอชอีจี อิเล็คทรอนิคส์ ที่ผลิตโทรศัพท์และเครื่องเล่นดีวีดี ให้กับซัมซุง และแรงงานเด็กเหล่านี้ ต้องเผชิญสภาพการทำงานที่ย่ำแย่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ได้รับค่าแรงเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงที่ผู้ใหญ่ได้รับ 

ซัมซุง ระบุว่า ทางบริษัทได้มีการจัดการตรวจสอบโรงงานดังกล่าวเองในปีนี้ และไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ แต่จะจัดการตรวจสอบตามข้ออ้างกลุ่มเฝ้าระวังด้านแรงงานในจีนโดยทันที โฆษกของซัมซุง เปิดเผยว่า ซัมซุง อิเล็คทรอนิคส์ ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานของเอชอีจี ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ไม่พบว่ามีการกระทำผิดกฎระเบียบแต่อย่างใด แต่ทีมผู้ตรวจสอบยืนยันว่า ได้ส่งบุคลากรจากบริษัทแม่ในเกาหลีใต้ ไปยังเมืองฮุ่ยโจว ของจีน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และจะดำเนินการตรวจสอบโดยทันที รวมถึงใช้มาตรการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วย

นอกจากเรื่องการใช้แรงงานเด็กแล้ว โรงงานเอชอีจี อิเล็คทรอนิคส์ ยังถูกระบุว่า บังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอีกวันละ 4-5 ชั่วโมง นอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ วันละ 8 ชั่วโมง และพบว่า พนักงานที่ทำงานกะกลางคืนเป็นเวลา 11 ชั่วโมง มีเวลาพักรับประทานอาหารเพียง 40 นาที และทางบริษัทก็มีกลไกในการตรวจสอบภายในที่หย่อนยานด้วย

กลุ่มเฝ้าระวังด้านแรงงานในจีน ยังระบุด้วยว่า ถ้าเทียบกับผลการสืบสวนสภาพการทำงานภายในโรงงาน เอชอีจี แล้ว จะพบว่า ย่ำแย่กว่าสภาพบรรยากาศการทำงานของโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับแอปเปิ้ล คู่แข่งสำคัญของซัมซุงเสียอีก 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มเฝ้าระวังด้านแรงงานในจีน เคยโจมตีสภาพการทำงานภายในโรงงานของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาผลิตสินค้าในแอ๊ปเปิลในจีน และยังออกรายงานตีแผ่เมื่อเดือนธันวาคมเกี่ยวกับการระเบิดที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนไอแพด ที่ทำให้มีคนงานบาดเจ็บ 61 คน ต่อมาความรู้สึกที่เป็นลบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้แอ๊ปเปิลเปิดการตรวจสอบโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้ ซึ่งพบว่า มีการใช้แรงงานเด็กด้วย

 

เนปาลสั่งห้ามผู้หญิงอายุต่ำกว่า 30 ปีเดินทางไปทำงานในกลุ่มประเทศย่านอ่าวเปอร์เซีย

10 ส.ค. 55 - หนังสือพิมพ์หิมาลายัน ไทมส์ ฉบับภาษาอังกฤษรายงานอ้างคำกล่าวของนายราช คิชอร์ ยาดาฟ รมว.มหาดไทยเนปาลที่บอกว่า ทางการเนปาลสั่งห้ามผู้หญิงอายุต่ำกว่า 30 ปีเดินทางไปทำงานในกลุ่มประเทศย่านอ่าวเปอร์เซีย ภายหลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิงอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ หญิงชาวเนปาลส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 25 ปี ออกไปทำงานในตะวันออกกลาง ในตำแหน่งคนทำความสะอาดหรือคนงานก่อสร้าง

 

'กูเกิล' ใจป้ำ! จ่ายเงินเดือนคู่สมรสนาน 10 ปี หากพนักงานเสียชีวิต

11 ส.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อ 10 ส.ค. เป็นที่ทราบกันดีมายาวนานว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง "กูเกิล" ดูแลสวัสดิการพนักงานอย่างดีมาโดยตลอด ตั้งแต่มื้ออาหารฟรี บริการฟิสเนตออกกำลังกาย ไปจนถึงซักผ้าล้างรถ แต่รายงานล่าสุดจากนิตยสารฟอร์บส์ เผยให้ลูกจ้างบริษัทอื่นๆ อิจฉาตาร้อนกันถ้วนหน้าอีกครั้ง เนื่องจากกูเกิล จะจ่ายจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินเดือนให้กับคู่สมรสของพนักงานเป็นเวลา 10 ปี หากลูกจ้างของกูเกิลเสียชีวิต

ทั้งนี้ ปัจจุบันกูเกิลมีพนักงานแผนกต่างๆ จำนวน  34,000 คน ขณะที่แหล่งข่าวสารวงการไอทีอย่างแมชเอเบิลยืนยันด้วยว่า นอกจากเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 10 ปีแล้ว กูเกิลยังให้ค่าเลี้ยงดูบุตรอีกจำนวน 1,000 ดอลลาร์ (30,000 บาท) ต่อเดือน จนกว่าบุตรจะอายุครบ 19 ปีบริบูรณ์.

 

กูเกิลปลดพนักงานโมโตโรล่า 4,000 คนหวังฟื้นฟูจาการขาดทุน

14 ส.ค. 55 - กูเกิล ยืนยัน โมโตโรล่า โมบิลิตี้ บริษัทในเครือของกูเกิลจะปลดพนักงานทิ้งถึง 4,000 ตำแหน่ง หรือ 20% ของแรงงานทั้งหมด หลังขาดทุนนานทุนถึง 14 ไตรมาส

กูเกิล ยื่นรายงานผลประกอบการต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ว่าโมโตโรล่า โมบิลิตี้ มีแผนจะปิดหรือปรับปรุง 1 ใน 3 ของฐานการผลิตกว่า 90 แห่งทั่วโลก หรือราว 4,000 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งงานที่จะปรับลดลงอยู่ภายนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งกูเกิลเปิดเผยในรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

รวมทั้งการปรับลดพนักงานนี้เป็นไปเพื่อฟื้นฟูการผลิตโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่าให้กลับมาทำกำไร หลังจากใน 16 ไตรมาสล่าสุด มีการขาดทุนถึง 14 ไตรมาส โดยจะปรับการขายโทรศัพท์มือถือ โมโตโรล่า จากโทรศัพท์ราคาถูก ไปเน้นที่การเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ และประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่ากว่า ซึ่งกูเกิลคาดว่าการปรับลดพนักงานครั้งนี้ บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเกือบ 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นรายจ่ายของไตรมามสามปีนี้

รายงานอีกระบุว่า กูเกิลซื้อกิจการบริษัท โมโตโรล่า โมบิลิตี้ เสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ด้วยมูลค่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมความแกร่งให้กับสายการผลิตคอมพิวเตอร์มือถือของบริษัท และหลังจากการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ กูเกิลใช้มาตรการจำนวนมากเพื่อพลิกฟื้นกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือที่ขาดทุนอยู่

 

กลุ่มญาติคนงานเหมืองแอฟริกาใต้ ชุมนุมหลังเหตุคนงานปะทะตำรวจ

18 ส.ค. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า มีครอบครัวของคนงานเหมืองแร่ในอเมริกาใต้ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุคนงานถูกตำรวจยิงขณะหยุดงานประท้วงเมื่อ 2 วันก่อน จนมีผู้เสียชีวิต 34 ราย และได้รับบาดเจ็บ 78 ราย มี 200 รายถูกจับกุม โดยเหตุเกิดที่เหมืองแร่แพลตตินั่มในเมืองมารีคานา มีเจ้าของคือบริษัทลอนมิน

ขณะเดียวกันกลุ่มคนงานเหมืองแร่กว่าพันคนก็ส่งเสียงเชียร์ผู้นำเยาวชน จูเลียส มาเลมา ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกหลังเกิดเหตุการปะทะดังกล่าว โดยมาเลมาบอกว่า ปธน. ซูมา มีส่วนรับผิดชอบกับวิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมของตำรวจ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี จาคอบ ซูมา ก็ได้ลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุซึ่งห่างออกไปราว 100 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโจฮันเนสเบิร์ก และสั่งให้มีการสิบสวนเหตุรุนแรงดังกล่าว โดยบอกว่าการที่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่อง 'โศกนาฏกรรม'

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรทำให้ตำรวจตัดสินใจยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่มีผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่ามีการยิงใส่ผู้ชุมนุมหลังจากที่ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนหนึ่งถือกระบองและมีดมาเชทพุ่งเข้าหาตำรวจ ทำให้ตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนกลและปืนพกยิงใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัด

โธ คองคี ผู้สื่อข่าวจจากสถานีวิทยุ 702 ของแอฟริกาใต้ รายงานจากพื้นที่ว่ามีกลุ่มผู้หญิงที่ไปตรวจดูตามโรงพยาบาลและห้องดับจิตในย่านนั้นเพื่อตามหาญาติของพวกเขา แต่ก็ไม่เจอ 

โฆษกตำรวจ รตอ. เดนนิส แอดดริโอ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังใช้ฐานข้อมูลของบริษัทเหมืองแร่เพื่อติดต่อกับญาติของผู้ที่ถูกสังหาร, ได้รับบาดเจ็บ และถูกจับกุม แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

จูเลียส มาเลมา ผู้นำเยาวชนที่กล่าวโทษ ปธน.ซูมา ก่อนหน้านี้เคยเป็นคนสนิทของปธน. ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน เขายังเป้นผู้เสนอให้มีการเข้าควบคุมกิจการเหมืองแร่โดยรัฐอีกด้วยการนัดหยุดงานชุมนุมของคนงานเหมืองแร่มาจากการที่พวกเขาต้องการให้ขึ้นค่าจ้างจากเดิม 4,000-5,000 แรนด์ (ราว 15,000 - 18,000 บาท) เป็น 12,500 แรนด์ (ราว 45,000 บาท) 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างเลวร้ายลงเหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานที่เป็นอริกัน และเหตุดังกล่าวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 10 ราย รวมถึงตำรวจ 2 ราย

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่ของโลกและข้อพิพาทดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อการผลิต 

บริษัทลอนมินเจ้าของเหมืองในเมืองมารีคานา เป็นผู้ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ก่อนหน้านี้เคยมีการพิพาทแรงงานมาก่อน โดยในปี 2011 บริษัทได้สั่งปลดคนงานราว 9,000 คน โดยอ้างว่าพวกเขากระทำการเชิงแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมาย (Unprotected industrial action) แต่ต่อมาลอนมินและสหภาพคนงานเหมืองแร่แห่งแอฟริกาใต้ (NUM) ก็บอกว่าพวกเขาถูกส่งกลับเข้าทำงานอีกครั้ง

ไซมอน สก็อต ประธานฝ่ายการเงินของบริษัทลอนมิน บอกว่าพวกเขานักหยุดงานประท้วงอย่างผิดกฏหมาย และไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้

"พวกเรามีสัมพันธภาพที่ดีกับสหภาพแรงงานของเรามาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นความเสียหายด้านความสัมพันธ์ แต่พวกเราก็ให้ความสำคัญกับการสานความสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิม" สก็อตกล่าว

 

สหภาพฯ พนง.ภาครัฐประท้วงนโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ออสเตรเลีย

21 ส.ค. 55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสหภาพแรงงานและพนักงานลูกจ้างของรัฐ อาทิ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง, เจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาล และอาจารย์ ออกมาประท้วงนโยบายตัดลดงบประมาณ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีขึ้นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ในบางสายงาน แต่ก็กลับเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อตัดลดสวัสดิการอื่นๆ โดยได้เคลื่อนขบวนประท้วงที่หน้ารัฐสภาแห่ง Queensland

การประท้วงนำโดยสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ Queensland (Queensland Council of Unions - QCU) ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน นี้เกิดขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน

โดยในส่วนของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เดินขบวนประท้วงไปก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าจะมีการยื่นข้อเสนอขึ้นค่าแรงให้ 2.7 % แต่สหภาพแรงงานออกมาระบุว่าพวกเขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างอันอื่นแลกเปลี่ยนกับการขึ้นเงินเดือนนี้

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ถูกยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินให้ 2.2 % แต่ต้องถูกยืดระยะเวลาการทำงานให้ยาวขึ้นเป็น 12 ชั่วโมงต่อกะ

Alan Mountford เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่าพวกเขาถูกนโยบายนี้บีบบังคับให้ต้องทำงานถึงกะละ 12 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดพัก เขาให้ความเห็นต่อว่าไม่มีใครทำงานต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพักได้  “มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย”

"ถ้าคุณทำงานตลอด 12 ชั่วโมงในกะกลางคืน แล้วก็มาคำนวณปริมาณยาให้กับเด็กๆ ต่ออีกในวันต่อไปมันอันตรายมาก" Mountford กล่าว

ด้าน John Battams ประธานสหภาพ QCU กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการออกมาเรียกร้องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน และมันเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของคนงาน

 

เอฟแอลเอพอใจ "ฟ็อกซ์คอนน์"ปรับปรุงสภาพการทำงาน"เสร็จก่อนเส้นตาย"

22 ส.ค. 55 - สมาคมเพื่อความเป็นธรรมด้านแรงงาน (เอฟแอลเอ)เปิดเผยว่า  ฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักให้แก่แอปเปิล ได้ทำการปรับปรุงสภาพการทำงานที่โรงงานหลายแห่งในจีน ทั้งในด้านชั่วโมงการทำงานและสภาพแวดล้อมแล้ว

เอฟแอลเอเปิดเผยว่า กฎหมายแรงงานของจีน ได้ระบุให้บริษัทต้องลดชั่วโมงการทำงานลงเกือบ 1 ใน 3 ของช่วงเวลาการทำงานปกติให้ได้ภายในปี 2013

ขณะที่ฟ็อกซ์คอนน์เปิดเผยว่า บริษัทจะยังคงลดการทำงานล่วงเวลาให้เหลือน้อยกว่า 9 ชม. จากปัจจุบันที่ 20 ชม. แม้ว่าการกระทำเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มภาระค่าแรงงานให้แก่บริษัท เนื่องจากต้องจ้างพนักงานเพิ่ม  และต้องซื้อเครื่องจักรมาใช้แทนคนในการทำงาน อีกทั้งเป็นการลดแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่หวังหารายได้เสริมจากการทำงานล่วงเวลาก็ตาม ทั้งนี้ การมีพนักงานเพิ่มเท่ากับว่าบริษัทต้องจัดหาหอพักพนักงานเพิ่ม และสร้างสาธารณูปโภคเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น

รายงานของเอฟแอลเอระบุว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ได้ดำเนินนโยบายต่างๆตามคำแนะนำได้เสร็จสิ้นก่อนกำหนด หลังจากแอปเปิลได้ร้องขอให้เข้าไปตรวจสอบสภาพการทำงาน เนื่องจากพบว่ามีการละเมิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป

โดยหลังจากเอฟแอลเอ ได้ตรวจพบการละเมิดข้อกำหนดด้านแรงงานในโรงงาน 3 แห่งของฟ็อกซ์คอนน์ ทั้งที่เมืองเสิ่นเจิ้น เฉิงตู และกวนหลัน เมื่อเดือนมีนาคมเอฟแอลเอได้ตีพิมพ์รายงานที่แนะนำให้ฟ็อกซ์คอนน์ปรับปรุงสภาพการทำงานดังกล่าว โดยกำหนดแผนการดำเนินการ ระยะเวลา 15 เดือนซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2013

รายงานชี้ว่า ฟ้อกซ์คอนน์สามารถจัดการและปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆได้ถึง 284 ข้อ ขณะที่อีก 76 เรื่องยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการลดชั่วโมงทำงาน ซึ่งฟ็อกซ์คอนน์ได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว โดยกำหนดให้ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์อยู่ที่ 60 ชั่วโมงรวมการทำงานล่วงเวลา

เอฟแอลเอกล่าวว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งเป้าลดชั่วโมงการทำงานให้ได้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งรวมการทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 9 ชม. ซึ่งยังคงถือเป็นความท้าทายที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ทั้งนี้ โรงงานทั้ง 3 แห่งของฟ็อกซ์คอนน์ มีการจ้างงานทั้งสิ้นกว่า 178,000 ตำแหน่ง ในการผลิตสินค้าให้แก่อแปเปิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอโฟนและไอแพด ขณะที่มีพนักงานภายในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านคน ที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บริษัทอื่นๆ อาทิ โซนี และฮิวเล็ตต์-แพ็คการ์ด 

 

รัฐบาลแอฟริกาใต้ขออภัยใช้กำลังสลายม็อบแรงงาน

22 ส.ค. 55 - รัฐบาลแอฟริกาใต้ขอโทษกรณีตำรวจใช้กำลังยิงสลายม็อบคนงานเหมืองจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 34 คนและบาดเจ็บ 78 คน ซึ่งนับเป็นเหตุรุนแรงนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคแบ่งแยกสีผิวในประเทศสิ้นสุดลงเมื่้อเกือบ 18 ปีที่แล้ว

นางโนซิวิเว โนลูทานโด มาปิซา-เอ็นกากูลา รัฐมนตรีกลาโหมแอฟริกาใต้ เดินทางไปเยี่ยมคนงานเหมืองทองคำขาวของบริษัทลอนมิน พีแอลซี ใกล้เมืองมาริกาน่าเมื่อวานเพื่อขอโทษที่มีการใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมประท้วงของคนงานเหมืองเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 34 คนและบาดเจ็บ 78 คนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยตำรวจยิงปืนใส่คนงานที่หยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องปรับเงินเดือนขึ้น 300% หลังจากถูกคนงานรุมทำร้ายด้วยกระบองและมีด 

รัฐมนตรีกลาโหมบอกว่า ฉันขอโทษ และขอร้องได้โปรดให้อภัยด้วย เรายอมรับว่าได้เกิดการนองเลือดขึ้นที่นี่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้น และในนามของรัฐบาล ฉันขอโทษ

ก่อนหน้านั้นมีประชาชนและบรรดานักการเมืองเดินทางไปยังจุดที่ผู้ประท้วงถูกยิงตาย เพื่อร่วมไว้อาลัยแก่คนงานเหมือง ขณะที่คนงานตั้งคำถามเช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านและสื่อสังคมออนไลน์ว่า ทำไมประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา จึงไม่ไปเยี่ยมคนงานในเหมือง จริงๆแล้วนายซูมาซึ่งกลับจากเข้าร่วมประชุมในประเทศโมซัมบิกเมื่อวันศุกร์ได้ไปเยี่ยมคนงานที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้ไปพูดคุยกับคนงานที่ประท้วง 

ล่าสุดบริษัทลอนมิน เจ้าของเหมือง ยอมผ่อนปรนคำขู่ก่อนหน้านี้ที่ยื่นคำขาดให้คนงานเลิกผละงานประท้วงมิฉะนั้นจะถูกไล่ออก โดยสัญญาว่าจะไม่ลงโทษใดๆกับคนงานที่จะกลับเข้าทำงานตามปกติภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่นายฮูเลียส มาเลมา ประธานสันนิบาตเยาวชนพรรคเอเอ็นซี และคนงานเหมืองได้ยื่นฟ้องข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจที่ยิงคนงานเสียชีวิต

 

รณรงค์ จี้ "การไฟฟ้าซิมบับเว" ยุติสั่งพักงาน 135 แกนนำสหภาพฯ

23 ส.ค. 55 - IndustriALL Global Union สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ พลังงานและการผลิต ซึ่งมีสมาชิกกว่า 50 ล้านคนจาก 140 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับ LabourStart หนึ่งในเว็บไซต์ให้บริการข่าวสารการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก รณรงค์ระดับสากลขอให้ผู้อ่านทั่วโลก ส่งจดหมายถึงผู้ว่าการการไฟฟ้า ZESA ซิมบับเว Mr J. Chifamba ผ่านเว็บ LabourStart campaign  ให้ยุติการสั่งพักงานแกนนำสหภาพแรงงานไฟฟ้าซิมบับเว (ZEWU) 135 คนโดยไม่มีกำหนดและไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแกนนำสหภาพแรงงานไฟฟ้าซิมบับเว (ZEWU) 135 คนถูกสั่งพักงานโดยไม่มีกำหนด และไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการ หลังจากที่สหภาพแรงงานประกาศว่าจะนัดหยุดงาน เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซิมบับเว (ZESA) ประกาศว่าจะไม่ขึ้นค่าจ้างให้กับคนงานไฟฟ้าตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตัดสินชี้ขาดให้ ZESA ขึ้นค่าจ้างคนงานไฟฟ้าซึ่งมีค่าจ้างต่ำในซิมบับเว

ฝ่ายบริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซิมบับเว บอกว่าจะยกเลิกคำสั่งพักงานนักสหภาพแรงงานต่อเมื่อสหภาพแรงงานไฟฟ้า ZEWU ยอมที่จะไม่ขึ้นค่าจ้างตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดมา ใน 135 คนที่ถูกสั่งพักงานประกอบด้วยประธานสหภาพแรงงานและกรรมการบริหาร IndustriALL แองเจลีน ชิตตัมโบ (Angeline Chitambo)

 

โซนีเตรียมปลดพนักงานแผนกโมบาย 1 พันตำแหน่ง

24 ส.ค. 55 - รายงานระบุว่า พนักงานโซนี คอร์เปอร์เรชัน ที่จะถูกปลดในครั้งนี้เป็นพนักงานแผนกโมบายของโรงงานสาขาเมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน จำนวน 1,000 ตำแหน่ง คิดเป็นจำนวนพนักงานเกือบ 2 ใน 3 ของโรงงานดังกล่าว

การปลดพนักงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับลดพนักงานของโซนีที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะปลดถึง 10,000 คน ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า

ทั้งนี้โซนีต้องประสบภาวะขาดทุนเป็นประวัติการณ์ถึง 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปีนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา จากภาวะการณ์ดังกล่าว ทำให้โซนีต้องตัดลดการคาดการณ์รายได้สุทธิในปีนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า จาก 30,000 ล้านเยน เหลือ 20,000 ล้านเยน ซึ่งโซนีบอกว่า เกิดจากความต้องการสินค้าโทรทัศน์ของโซนีลดลง รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินเยน

 

คนงานหัวใจวายตาย รายที่ 5 คาโรงนุกฟูกูชิมะ

24 ส.ค. 55 - บริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือเทปโก ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือญี่ปุ่น ซึ่งเสียหายจากกัมมันตรังสีรั่วไหล หลังเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิโถมถล่ม ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2554 แถลงระบุคนงานภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อายุราว 50 ปี เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ขณะกำลังติดตั้งถังเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 5 นับตั้งแต่เกิดพิบัติภัยแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม บริษัทเทปโกยืนยันการเสียชีวิตของคนงานรายล่าสุด ไม่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารกัมมันตรังสี เพราะระดับสารกัมมันตรังสีตลอดช่วงเวลาการทำงานอยู่ที่ราว 25.24 มิลลิซีเวิร์ต ต่ำกว่าระดับกฎหมายญี่ปุ่นกำหนด ห้ามคนงานทำงานท่ามกลางระดับสารกัมมันตรังสี เฉลี่ยสูงสุดต่อปีไม่เกิน 50 มิลลิซีเวิร์ต และไม่เกิน 100 มิลลิซีเวิร์ต ตลอดช่วงเวลาการทำงาน 5 ปี โดยพื้นที่ดังกล่าวมีคนงานหมุนเวียนทำงานราว 3,000 คน.

 

โอเปิลลดชั่วโมงการทำงาน

25 ส.ค. 55 -  โอเปิล บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก เผชิญหน้ากับแรงกดดันจากเจเนอรัล มอเตอร์ส บริษัทแม่ในสหรัฐ เพื่อให้กลับมามีผลกำไรอีกครั้ง จะลดชั่วโมงการทำงานที่โรงงานจำนวน 1 ใน 3 หนึ่งวันหลังจากโอเปิลประกาศว่า จะจ้างงานระยะสั้นที่โรงงานหลายแห่งของเยอรมนีในเมืองรูสเซลเชม และไกเซอร์สเลาเทิร์น จากเดือนกันยายนนี้ โดยโรงงานไอเซแนช จะได้รับผลกระทบด้วย การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบงานกะเช้า 10 กะ และกะบ่าย 10 กะ และจะเริ่มดำเนินการจากเดือนหน้าเป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี

 

นักหวดดังส่อถอนตัวสแลมออสซี ประท้วงขอขึ้นเงินรางวัล

27 ส.ค.55 - เหล่านักเทนนิสชายระดับโลก จะรวมตัวกัน ประท้วงไม่แข่งขันศึกแกรนด์ สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น ในเดือนม.ค.ปีหน้า เนื่องจากไม่พอใจเงินรางวัลที่ได้รับอยู่ในตอนนี้

"ซันเดอร์ไทม์" เปิดเผยว่า มีข่าวลือจากสมาคมนักเทนนิสอาชีพชาย (เอทีพี) กำลังพิจารณาบอยคอตการแข่งขัน หากพวกเขาไม่ได้รับเงินรางวัลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม หลังจากมีการประชุมรวมกันที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนศึกยูเอสโอเพ่น ซึ่งจะเปิดฉากวันในจันทร์นี้ รวมทั้งอาจสนับสนุนให้จัดเทนนิส แกรนด์ สแลม ที่ดินแดนมหาเศรษฐีอย่าง นครดูไบ ในสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์แทนด้วย

อย่างไรกี ประเด็นดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ แชมป์ของแกรนด์ สแลม แต่เป็นเหล่าบรรดานักหวดที่กระเด็นตกรอบแรกๆ ของทัวร์นาเมนต์ โดย ในปี 2012 ศึกออสเตรเลียน โอเพ่น มอบเงินรางวัลให้ผู้ที่ตกรอบแรก 20,000 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 6.6 แสนบาท) ขณะที่ เฟรนช์ โอเพ่น ให้ 21,700 เหรียญออสเตรเลีีย (ประมาณ 7.2 แสนบาท) ส่วน วิมเบิลดัน กับ ยูเอส โอเพ่น ตกลงที่จะยอมให้ 22,100 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 7.3 แสนบาท) 

ทางด้าน "เฟดเอ็กซ์" โรเจอร์ เฟเดเรอร์ นักหวดชายมือ 1 ของโลก ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะประธานของ สภานักเทนนิสเอทีพี ประกาศว่า พร้อมแล้ว ที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับนักกีฬาชื่อดัง นำมากระจายแบ่งปันให้กับ นักเทนนิสส่วนใหญ่มากขึ้น.

 

รัฐมนตรีแรงงานฝรั่งเศสคาดตลาดแรงงานยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง

28 ส.ค. 55 - นายมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของฝรั่งเศสคาดว่า สถานการณ์แรงงานในฝรั่งเศสจะยังคงย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้บั่นทอนการสร้างตำแหน่งงาน

นายซาแปงให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ RTL ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากอย่างยิ่งในฝรั่งเศสกำลังเลวร้ายลงไปอีก การจ้างงานจะยังคงซบเซาต่อไปแต่ก็ไม่ตลอดกาล ต้องมีการออกมาตรการใหม่ๆ ซึ่งหมายถึงจะมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

รัฐมนตรีแรงงานฝรั่งเศสกล่าวว่าในกรณีนี้ เขาจะหารือกับหน่วยงานทางสังคมเพื่อเจรจาเงื่อนไขในการดำเนินการตัดสินใจทำสัญญาสร้างงาน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆจ้างแรงงานวัยหนุ่มสาว โดยสัญญาเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2556

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจซึ่งเปิดเผยโดยกระทรวงแรงงานเมื่อวานนี้ระบุว่า จำนวนผู้ที่หางานทำได้ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันในเดือนกรกฎาคมและแตะสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542

รายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้ว่างงานในฝรั่งเศสมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.9 ล้านรายในเดือนกรกฎาคม หรือเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และพุ่งขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำนักข่าวซินหัวรายงาน

 

คนงานเหมืองเกือบ 270 คนในแอฟริกาใต้ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม

30 ส.ค. 55 - คนงานเหมืองเกือบ 270 คนถูกนำตัวขึ้นศาล โดยถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมที่ทำให้เพื่อนคนงานเสียชีวิต 34 คนจากเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้ปืนยิงสลายกลุ่มคนงานที่หยุดงานประท้วงภายในเหมืองทองคำขาวใกล้เมืองมาริกาน่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผานมา โฆษกอัยการอ้างว่า ตำรวจต้องตัดสินใจใช้ปืนยิงใส่ฝูงชน หลังถูกโจมตีด้วยคนงานที่มีกระบองและมีดเป็นอาวุธ ดังนั้นคนงานจะต้องถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม ตามหลักการที่ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

การตัดสินใจดำเนินคดีกับคนงานเหล่านี้ เสี่ยงปลุกกระแสเกลียดชังต่อตำรววจยิ่งขึ้นหลังการยิงคนงานเสียชีวิต ที่เป็นเหตุรุนแรงนองเลือดที่สุดในประเทศนับจากสิ้นสุดยุคแบ่งแยกสีผิวได้สร้างความโกรธแค้นให้กับครอบครัวคนงานและประชาชนชาวแอฟริกาใต้อย่างมาก 

นายฮูเลียส มาเลมา อดีตประธานสันนิบาตยุวชนพรรคแอฟริกา แนชันแนล คองเกรสบอกว่า การตั้งข้อหากับคนงาน ในขณะที่ตำรวจคนที่ยิงคนงานกลับไม่ถูกนำตัวขึ้นศาล เป็นเรื่องบ้าสิ้นดี นอกจากนี้ครอบครัวของคนงานที่ถูกคุมขังต่างเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวคนงานทั้งหมด 

ขณะที่คนงานมากกว่า 150 คนที่ถูกจับกุมได้ยื่นร้องเรียนว่าถูกตำรวจทำร้ายร่างกายขณะคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่ทั้งชก ใช้กระบองทุบตี เตะ และตบ เพื่อบังคับให้พวกเขาบอกชื่อคนงานที่ทำร้ายตำรวจเสียชีวิต 2 นายในช่วงที่เริ่มมีเหตุรุนแรงภายในเหมืองของบริษัท ลอนมิน แอลพีซี

คนงานเริ่มผละงานประท้วงในวันที่ 10 ส.ค.เพื่อเรียกร้องขึ้นเงินเดือนจากเดิมเดือนละ 9,300-15,500 บาท เป็นเดือนละ 46,500 บาท แต่เมื่อมีคนงานบางคนพยายามกลับเข้าไปทำงาน จึงถูกคนงานด้วยกันฆ่าทิ้ง และผู้ประท้วงที่โกรธแค้นยังฆ่าตำรวจสองนาย รวมทั้งเผายามสองคนทั้งเป็นด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ตำรวจพยายามเจรจาให้คนงานที่มีท้งกระบอง มีด และปืน วางอาวุธและยุติการประท้วง แต่คนงานไม่ยอม ตำรวจจึงใช้กำลังสลายผู้ประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิต 34 คนและบาดเจ็บ 78 คน

หน่วยงานตรวจสอบภายในของตำรวจก็กำลังสอบสวนข้อกล่าวหาว่าตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือไม่ในการใช้กระสุนจริงยิงคนงาน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตำรวคนใดถูกตั้งข้อกล่าวหา

 

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชน, ไทยรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทย, โลกวันนี้, ไทยโพสต์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท