Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
ภาพ ปรโลกนิวส์ ตอน สตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน จาก youtube “dmcupdate”
 
อันเนื่องมาจากการที่พระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายออกมาทำนายภพภูมิของ  Steve Jobs   ต่อมาพระไพศาล วิสาโล ออกมาวิจารณ์พระธัมชโยว่า “อวดอุตริมนุษยธรรม ถึงขั้นอาบัติปาราชิก” และ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการผู้โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 3 คดี ได้ออกมาเขียนบทความสนับสนุนพระไพศาล โดยเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว แม้จะแสดงความเชื่อมั่นว่า มหาเถรสมาคมไม่มีน้ำยาจะจัดการกับวัดพระธรรมกาย – วิวาทะดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นธรรมกายผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ แต่ยังสะท้อนปัญหาในเชิงหลักการจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ว่า “สถาบันทางพุทธศาสนาจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร” – ผมมีความเห็นและข้อเสนอต่อกรณีปัญหาและวิวาทะดังกล่าว ดังนี้

 

1.ประเด็น Secularism – ในทางหลักการแล้ว คุณสมบัติประการสำคัญประการหนึ่งของสังคม/รัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยนั้น รัฐกับศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิสระจากกัน/ไม่ขึ้นต่อกัน รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา ไม่เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ศาสนา ในทางกลับกัน ศาสนาต่างๆมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนเองได้เต็มที่ ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือไปละเมิดกับชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของบุคคลอื่น – สรุปง่ายๆคือ วัดและองค์กรศาสนาต้องการเลี้ยงตัวเอง จ่ายภาษี และทำตัวเองเสมือนๆกับองค์กรอื่นๆในสังคม

2.รัฐไทยเป็น secularism หรือไม่ – รัฐให้งบประมาณสำนักงานพุทธศาสนาปีละ 4 พันล้านบาท และยังใช้ช่องทางของรัฐในการโฆษณาให้แก่พุทธศาสนาตลอดทั้งปี – พุทธศาสนาไม่เคยเป็นอิสระจากรัฐ แต่เป็นเครื่องมือทางอุดมการที่สำคัญที่สุดของรัฐ (อาจเรียกได้ว่าเป็น “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในแบบที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูลเสนอ)

3.มหาเถรสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของ “กลไกอำนาจรัฐ” ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ที่มา ลักษณะโครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ และทรัพยากร (เงิน) – ลำพังพระธรรมวินัยไม่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่มหาเถรสมาคมแม้แต่น้อย แต่มหาเถรสมาคมเป็นผลผลิตของการต่อสู้กันระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งในท้ายที่สุด พลังอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์อย่างถึงที่สุดต่อหลักการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ

4.สิทธิเสรีภาพในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในสังคมประชาธิปไตย – สังคมไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สถาบันทางสังคมจำนวนมากที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย/คนเท่ากัน/คนเหมือนกันกำลังถูกท้าทาย นับตั้งแต่สถาบันจารีตจนถึงสถาบันครอบครัว ดังเช่น กรณีอากง/อ.สุรพศ กับประเด็น 112 ที่คนในสังคมลุกขึ้นมาอ้างสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อทางสังคมการเมืองที่แตกต่างออกไป แต่ฝ่ายสถาบันจารีต (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและผูกติดกับพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ) กลับปราบปรามจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระรมเดชานุภาพ – สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ขัดแย้งอย่างถึงที่สุดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (ไม่ต้องเรียกว่า “เสรีนิยม” ก็ได้ แค่ความเป็นมนุษย์ก็พอ) – ซึ่งอ.สุรพศเองก็เป็น “เหยื่อ” ของความอยุติธรรมนี้ เช่นเดียวกับอากงและคนอื่นๆ – การต่อสู้ของเราคือต้องยืนยันสิทธิเสรีภาพของอากง อ.สุรพศ และคนอื่นๆที่จะมีความเชื่อที่แตกต่างออกไปได้อย่างถึงที่สุด

5.“ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ” ก็เป็น “ความเชื่อ” แบบหนึ่งไม่ได้/ไม่ควร/ไม่จำเป็นต้องยกให้สูงส่ง/เหนือกว่า/จริงกว่า/วิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อแบบอื่นๆ เช่น ความเชื่อแบบคริสต์ มุสลิม ผี และความเชื่อทางการเมืองอื่นๆ – การทำให้พุทธเถรวาทฉบับไทยๆเป็นความเชื่อแบบหนึ่งหรือปรัชญาทางสังคมแบบหนึ่งทำให้เราสามารถศึกษาได้ ถกเถียงได้ ตั้งคำถามได้ ตีความแตกต่างได้ เลือกจะเชื่อส่วนหนึ่ง ทั้งหมดส่วน หรือเลือกจะไม่เชื่อเลยก็ได้ – การทำให้สถานะของศาสนากลายเป็น “ความเชื่อ” (เท่าๆกับความเชื่ออื่นๆ) จึงสัมพันธ์กับ “สิทธิเสรีภาพ” ที่เลือกได้ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ – ความเชื่อจึงไม่ใช่การบังคับ กรอกหูว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้กลไกและอำนาจรัฐในการบังคับแบบที่เป็นอยู่ – ถ้าไม่ยอมรับว่าศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทยๆมีฐานะเท่าๆกับความเชื่อแบบอื่นๆ (ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการแยกสถาบันพุทธออกจากรัฐเท่านั้น) การพูดถึงเสรีภาพในการนับถือ/ไม่นับถือศาสนาหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธและความเชื่อทางการเมืองแบบอื่นๆ (เช่น กษัตริย์นิยม) ก็จะไม่มีความหมาย

6.การเรียกร้องของ อ.สุรพศและพระไพศาลให้ “มหาเถรสมาคม” (ย้ำว่ามหาเถรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเผด็จการที่แจ้งข้อหา 112 กับ อ.สุรพศ นั่นแหละ) เข้ามาจัดการกับธรรมกาย (รวมถึงกรณีแม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่) (ซึ่งความเชื่อของธรรมกาย-แม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่จะถูกหรือผิดมันก็ขึ้นกับการถกเถียงในแง่ความรู้ทางพุทธศาสนา ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ละเมิดชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของใคร หรือถ้าเขาละเมิดก็มีกฎหมายของรัฐที่จะลงโทษอยู่แล้ว) เท่ากับการเรียกร้องให้รัฐไทย (โดยมหาเถร) ยังคงผูกขาดการตีความพุทธศาสนาให้เป็นแบบเดียวอยู่ และใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ/บังคับ/ทำลายความหลากหลายซึ่งเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในพุทธด้วยกันเอง – การเอาคำสอนไปผูกกับสถาบันนั้นทำราวกับว่า พุทธศาสนามีหนึ่งเดียว/เป็นสัจธรรม/ตายตัว/ไร้ประวัติศาสตร์ – คนที่เรียนประวัติศาสตร์มาบ้างก็พอจะรู้ว่า ศาสนาทุกศาสนามันหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ ต่อให้ยึดกับคัมภีร์แต่ก็มีหลายคัมภีร์ ไม่มีใครอ้าง originality ได้ ยิ่งแพร่ขยายไปมากเท่าไร ก็ยิ่งผสมผสาน/รวมกับความเชื่อในท้องถิ่นจนหาต้นหาปลายไม่ถูก ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน ผสมปนเปจนมั่วไปหมด แม้แต่การสังคยนาพระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นหลายครั้งจนไม่สามารถหาต้นฉบับเดิมที่มาจากพุทธวจนะได้ การอ้างพุทธแบบหนึ่งเดียว/สัจจะ/วิทยาศาสตร์/ท้าทายไม่ได้/ตายตัวจึงขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

7.ลองพิจารณาข้ออ้างของ อ.สุรพศ ที่ว่า ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ แต่ต้องการใช้พระธรรมวินัยมาจัดการกับธรรมกาย ซึ่งในคัมภีร์มีระบุไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกัน อ.สุรพศ ก็อ้างว่า มหาเถรสมาคมในฐานะ “หัว” ของเถรวาทแบบไทยๆต้องมีหน้าที่เข้ามาจัดการบังคับใช้พระธรรมวินัยให้เกิดขึ้นจริงให้ได้  ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองในการจัดการกับความผิดเหล่านี้ พูดง่ายๆคือ มหาเถรสมาคมไม่มีประสิทธิภาพ – แค่อ่านพื้นๆก็พอจะทราบแล้วว่า ข้อเสนอของ อ.สุรพศมีความขัดแย้งกันเองอย่างที่สุด ในขณะที่เรียกร้องให้รัฐกับศาสนาแยกเป็นอิสระจากกัน แต่ในกรณีนี้กลับบอกว่าให้มหาเถรสมาคมเข้ามาใช้อำนาจจัดการกับธรรมกาย – ลักษณะเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับลักษณะ สองมาตรฐาน (double standard)  (นี่ยังไม่นับกรณีที่พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในประเทศไทย นับตั้งแต่พระสังฆราชซึ่งเป็น “หัว” ของมหาเถรสมาคมทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องบนสมมติฐาน (อวดอุตริ) ที่ว่าคุณสมบัติส่วนบุคคล (มนุษยธรรมที่ (ไม่) มีในตน) สามารถทำให้ก้อนดินกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เราควรจะชี้ชัดว่านี่เป็นการอวดอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีในตนหรือมอมเมางมงายไม่น้อยไปกว่าวัดพระธรรมกาย แม่ชีทศพร และพ่อของเด็กชายปลาบู่หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่พระไพศาลและอ.สุรพศไม่ได้แตะและอาจจะไม่กล้าแตะ เพราะยังเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมซึ่งมีพระสังฆราชเป็นประธานฯจัดการกับวัดพระธรรมกายอยู่)

8.ปัญหาใหญ่ก็คือ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศให้ “พระธรรมวินัย” เข้ามาจัดการกับสงฆ์จะเป็นไปได้ (หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียน เพราะสุดท้ายแล้ว ชาวพุทธก็ต้องเป็นคนออกแบบกันเองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ให้รัฐมายุ่ง) ก็ต่อเมื่อเราปลดล็อคปัญหา secularism ให้ได้เสียก่อนต่างหาก – เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะเจอสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือ พยายามจัดระเบียบให้พระและศาสนิกชนเข้าที่เข้าทางโดยไม่ได้ใช้ศรัทธาหรือความยินยอม แต่ใช้อำนาจรัฐและการบังคับแบบที่อ.สุรพศเสนอ -- ตราบใดที่ยังแยกรัฐออกจากศาสนาไม่ได้ ตราบใดที่องค์กรสงฆ์พึ่งพิงเงินปีละหลายพันล้านจากเงินงบประมาณ ตราบใดที่มหาเถรสมาคมผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง ฯลฯ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศจะไม่มีความหมายตั้งแต่แรก – ยิ่งดึงดันให้มหาเถรสมาคมไปจับผิด/ผูกขาด/จัดการกับ “พวกนอกรีต” มากเท่าไร ยิ่งสถาบันศาสนาเกาะติด/อ้างอิงอำนาจตัวเองกับรัฐ สถาบันทางศาสนา (รวมถึงคำสอน) ยิ่งจะโดดเดี่ยวและห่างไหลจากความสามารถในการปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที – สุดท้ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง/ซากเดนของสังคมเก่าแบบเดียวกับสถาบันจารีตนิยมทั้งหลายที่รอวันผุพังไป

9.ข้อเสนอเกี่ยวกับสถานะที่เหมาะสมของสถาบันศาสนาในสังคมประชาธิปไตยในที่นี้ก็คือ การที่พุทธศาสนาจะอยู่ร่วมกับสังคมประชาธิปไตยได้ ก็ต่อเมื่อพุทธศาสนายอมรับว่าตัวเองเป็นเพียง “ความเชื่อ” แบบหนึ่งในสังคมที่วิจารณ์ได้ โต้แย้งได้ ไม่เชื่อก็ได้ มีได้หลายนิกายที่หลากหลาย การยอมรับว่าตัวเองเป็นความเชื่อคือการปฏิเสธการอ้างว่ามีพุทธแบบเดียว/สัจธรรม/วิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด (ซึ่งต้องทำก่อนอื่น) คือ รัฐจะต้องแปรรูปกิจการพุทธศาสนาทั้งหมดให้เป็นของเอกชน (privatization) คือ รัฐต้องไม่ให้เงินกับวัดและสถาบันทางศาสนา สถาบันศาสนาและคำสอนของศาสนาควรยอมรับว่า ศาสนาของตนจะอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อคำสอนของตนเองเป็นสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์ได้อย่างไม่มีการบังคับ แต่ต้องขึ้นกับศรัทธาของศาสนิกชนเองที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ จะสนับสนุนทั้งด้านการเงินและทรัพยากรแก่สถาบันเหล่านั้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาสนิกชนเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้การสนับสนุน แต่หากไม่มีประโยชน์ก็เลิกสนับสนุน ไม่ต่างจากคนไปซื้อขายของในตลาดที่มีสินค้ามากมายให้เลือก – หากไม่ปล่อยให้สถาบันศาสนาเป็นเอกชน จำนวนวัดและจำนวนนักบวชในประเทศไทยในฐานะที่เป็น supply ในระบบตลาดจะไม่สะท้อนศรัทธาในฐานะที่เป็น demand จริงของคนในสังคมไทย เพราะรัฐเอาเงินภาษีมหาศาลมาเป็นตัวกระตุ้นการสร้างศรัทธาซึ่งไม่มีอยู่จริง – พูดง่ายๆก็คือ หากวัด (บรรษัท) ไหนไม่สามารถผลิตศรัทธา (สินค้า) ที่ดึงดูดศาสนิกชน (ลูกค้า) ได้ วัดนั้นก็อาจต้องลดขนาดลงหรือปิดตัวเองไป หากวัดไหนสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า ก็จะอยู่ได้

10.ข้อเสนอเรื่อง privatization ข้างต้นนี้ไม่ได้แย้งกับ “สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว” แต่แค่อยากให้ “ยอมรับความจริง” (realistic) กว่านี้ว่า วัดทุกวัด องค์กรศาสนาทุกองค์กรทำงาน/หากินไม่ต่างกับองค์กรธุรกิจทั่วไป มีขายเครื่องราง หนังสือ คำสอน สร้างแบรนด์โดยการโฆษณา จัดคอนเสิร์ต สะเดาะเคราะห์แก้กรรม ดูดวง ฯลฯ เพื่อหาเงินหาความศรัทธาเข้าวัด – นี่คือสิ่งที่ใครๆก็เห็น แต่ปัญหาคือสิ่งที่เป็นอยู่ดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับ “สถานะที่เป็นทางการ” ขององค์กรศาสนาที่อ้างพระธรรมวินัย (และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้) – เราวิจารณ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าอาศัยสถานะแบบก้ำกึ่งคือทำมาหากินแบบเอกชน/ธุรกิจ (ไม่เสียภาษี) แต่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรรัฐ (แถมอ้างระบบบุญคุณด้วย) สถาบันศาสนาในบ้านเราก็สภาพไม่ต่างกัน – ถ้าอยากให้สถาบันศาสนา (เช่นเดียวกับสถาบันกษัตริย์) อยู่ในสถานะที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ต้องรีบรื้อกลไกที่ปกป้องคุ้มครองสถานะพิเศษของสถาบันศาสนาให้หมด นั่นคือสถานะที่ได้รับการปกป้องพิเศษจากรัฐผ่านมหาเถรสมาคมและเงินงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีให้ได้เสียก่อน และต้องเก็บภาษีจากวัดและพระ พร้อมๆกับที่ชาวพุทธต้องไปคิดกัน (เอง) ว่าจะดูแลศาสนาของท่านทั้งหลายอย่างไร ซึ่งนั่นเลยพ้นความสนใจของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียนไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net