Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรม ได้ออกมาแสดงออกถึงความเป็นห่วงต่อนโยบายขึ้นค่าแรง 40% ทั่วประเทศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ค่าแรง 300” บาทนั้น ว่าอาจจะส่งผลต่อวงกว้าง กระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอัญมณี ผู้เขียนพบข่าวชิ้นหนึ่งมีรายละเลียดว่านโยบายนี้ จะทำให้ธุรกิจรายย่อยในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องปิดตัวไปจำนวนมาก โดยคณะกรรมการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ หอการค้าไทยระบุว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะได้ประโยชน์มากขึ้น และเป็นโอกาสดีต่อภาพอุตสาหกรรมไทย แต่ยังติดปัญหาในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐจะปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ทั่วประเทศในปีหน้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนและธุรกิจเอสเอ็มอี อาจต้องปิดตัวลงจำนวนมากกว่าครึ่ง เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลเลื่อนการปรับขึ้นแรงงาน 300 บาท ออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าวิกฤตหนี้ยุโรปได้รับการแก้ไขแล้ว (ดู: “อัญมณีวอนรัฐเลื่อนขึ้นค่าแรง”, มติชน, 10-8-2555)

ทั้งนี้ผู้เขียนอยากขอนำเสนอข้อมูลชุดหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ “แรงงาน” ในอุตสาหกรรมอัญมณี โดยมุ่งนำเสนอไปที่แรงงานในอุตสาหกรรมเจียระไนพลอย ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงและมีรายได้เข้าประเทศจากอุตสาหกรรมนี้พอสมควร

จากการลงสำรวจของผู้เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมนี้ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก หลังจากการผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2550 (ที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนพบก็คือโครงสร้างของอุตสาหกรรมพลอยนี้ที่ผู้ประกอบการมีอำนาจในการกำหนดและควบคุมการผลิตโดยตัวเองได้สูง และสภาพการจ้างงานที่ส่วนใหญ่ไม่ใช้พนักงานประจำ

โดยผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจในการสำรวจดังนี้

โครงสร้างอุตสาหกรรมการเจียระไนพลอย color:#0000CC">

ผู้เล่นหลัก (major players) ในระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของอุตสาหกรรมนี้ ประกอบด้วย

  • ผู้นำเข้าและส่งออก (importers and exporters)
  • นายหน้า (Broker)
  • โรงงาน
  • แรงงานจ้างเหมา mso-fareast-font-family:Calibri">

ผู้นำเข้าและส่งออกอาจจะมีโรงงานผลิตเอง หรือจ้างโรงงานแห่งอื่นผลิต หรือจ้างนายหน้า (Broker) เป็นตัวกลางในการจัดหาผู้ผลิต

สำหรับกระบวนการการผลิตพลอยที่เจียระไนแล้ว โดยนำมาตกแต่ง ขึ้นรูป และประกอบเป็นเครื่องประดับนั้น ส่วนใหญ่จะทำในโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทผู้นำเข้าและส่งออกเอง หรือโรงงานของบริษัทที่รับเหมาช่วงอื่นๆ แต่สำหรับการเจียระไนพลอยที่ยังไม่ได้เจียระไนนั้น ผู้นำเข้าและส่งออกส่วนใหญ่จะส่งต่อให้นายหน้าหาแรงงานจ้างเหมาค่าแรงถูกในการเจียระไน

ทั้งนี้พบว่านายหน้ามีบทบาทสำคัญมากในอุตสาหกรรมนี้ในปัจจุบันโดยเฉพาะการจัดหาแรงงานจ้างเหมาค่าแรงถูกสำหรับการเจียระไนพลอย ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและภูมิภาคนั้น ยังเป็นเป็นศูนย์รวมของนายหน้าในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

ภาพแสดงโครงสร้างอุตสาหกรรม

 

 สภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมการเจียระไนพลอย color:#0000CC">

 

ภาพแสดงโครงสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรม (จากการสำรวจของผู้เขียนในปี พ.ศ. 2552) mso-fareast-font-family:Calibri;color:#0000CC">

 

การลงพื้นที่สำรวจของผู้เขียนในปี พ.ศ. 2552 พบข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

  • จากการสำรวจ พบว่าการจ้างงานในการเจียระไนพลอยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานแบบเหมาช่วงเป็นรายชิ้น ทำงานตามบ้าน ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง ไม่มีโบนัส ไม่มีการสนับสนุนด้านอุปกรณ์
  • จากการสำรวจ พบว่าการส่งพลอยไปให้แรงงานตามบ้านเจียระไนนั้นจะผ่านคนกลางมากกว่าสองต่อ โดยนายหน้าในจังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพฯ จะรับวัตถุดิบมาจากบริษัท Trader จากนั้นส่งต่อไปให้นายหน้าในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเคยทำงานกับนายหน้าในจังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพฯ กระจายให้คนในชุมชนซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีค่าจ้างต่ำกว่าในจังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่แล้วในขณะนี้มีการส่งพลอยไปเจียระไนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
  • จากการสำรวจพบว่าแรงงานมีค่าแรงในการเจียระไนต่อเม็ดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจดี
  • พบว่าแรงงานในจังหวัดจันทบุรีจะมีรายได้ดีกว่าในเขตอื่นๆ เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางตลาดพลอยของไทย แรงงานในจังหวัดจันทบุรีจึงมีโอกาสได้เจียระไนพลอยที่มีคุณภาพและราคาดีกว่าเขตอื่น ราคาเจียระไนต่อเม็ดสูงกว่าเขตอื่น และพลอยที่มีคุณภาพต่ำกว่าจะถูกส่งไปเจียระไนในเขตอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตภาคอีสาน
  • พื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เคยมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการเจียระไนพลอยในช่วงห้าถึงหกปีก่อนแต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ได้เลิกเจียระไนพลอยไปแล้ว เนื่องจากการขาดการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมอาชีพอื่นๆ ในจังหวัดมีรายได้ดีกว่าการเจียระไนพลอย ปัจจุบันจึงเหลือแต่เพียงร้านที่รับพลอยที่เจียระไนแล้วมาขายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมประกอบตัวเรือนเท่านั้น
  • พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อ.สังขละบุรี พบโรงงานแห่งหนึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีนแต่เป็นการเจียระไนอัญมณีสังเคราะห์ โดยในอดีตนั้นเคยมีโรงงานตั้งอยู่หลายแห่ง แต่เนื่องจากมีการปิดชายแดนทำให้ปัจจุบันเหลือโรงงานเพียงแห่งเดียว
  • สำหรับในเขตภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่นายหน้าจากจันทบุรีและกรุงเทพฯ ส่งพลอยมาให้แรงงานค่าแรงถูกนั้น พบว่าแรงงานที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้ากระจายพลอยให้กับคนอื่นๆ จะมีรายได้ดีกว่าแรงงานคนอื่นๆ เนื่องจากมีการหักส่วนแบ่งจากแรงงานคนอื่นๆ
  • พบว่าแรงงานเจียระไนพลอยส่วนใหญ่ในภาคอีสาน จะทำอาชีพเกษตรกรรม ควบคู่กับการเจียระไนพลอยไปด้วย การเจียระไนพลอยอย่างเดียวไม่สามารถดำรงชีพได้
  • พบว่าแรงงานเจียระไนพลอยไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายหน้าหรือบริษัทฯ หรือรัฐบาล แต่บางแห่งมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประกอบอาชีพในหมู่บ้านเพื่อขอการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ในการเจียระไน
  • พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันในการทำงาน เช่น แว่นตา ผ้าปิดจมูก และถุงมือ
  • พบว่าอุบัติเหตุในการทำงานส่วนใหญ่พบว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยเช่นสายพานของเครื่องจักรขาด แต่เนื่องจากเครื่องจักรมีกำลังรอบที่ต่ำ จึงไม่พบอุบัติเหตุร้ายแรง
  • พบว่าปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานพบว่าจะมีปัญหาด้านสายตาและอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนปัญหาด้านสารพิษ ในการสำรวจแรงงานให้ปากคำว่าไม่พบผลกระทบจากสารเคมีหรือผงฝุ่นต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงงานไม่ได้เข้าตรวจสุขภาพอย่างจริงจังสม่ำเสมอ mso-fareast-font-family:Calibri">

 

ข้อสรุปจากการสำรวจ

จากการสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมเจียระไนพลอยมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อาศัยแรงงานในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ในอดีตโรงงานเจียระไนมักระจุกตัวอยู่ภายในจังหวัดจันทบุรีและกระจายไปให้แรงงานเจียระไนในเขตอื่นๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีการกระจายไปให้แรงงานเจียระไนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเขตที่แรงงานมีค่าแรงต่ำ

ผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมนี้คือนายหน้าในจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้นำเข้าและส่งออก โรงงานและนายหน้ารายย่อยในพื้นที่ เพื่อกระจายให้กับแรงงานค่าแรงถูกในการเจียระไน โดยแรงงานและนายหน้ารายย่อยในพื้นที่จะไม่รู้ว่าพลอยแต่ละเม็ดนั้นจะส่งไปให้ยังบริษัทใดหรือแบรนด์ใดในการจัดจำหน่ายหรือส่งออก ทั้งนี้ธุรกิจเกี่ยวกับพลอยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ในอุตสาหกรรมเจียระไนพลอยนี้ใช้แรงงานจ้างเหมาช่วงทั้งในจังหวัดจันทบุรีและในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมานี้แรงงานประสบกับปัญหาคือค่าแรงในการเจียระไนลดลง ทำให้มีการเลิกทำอาชีพนี้ไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ที่มีการเลิกทำอาชีพเจียระไนพลอยนี้ไปกว่า 70%

ลักษณะการจ้างงาน เป็นการจ้างงานแบบเหมาช่วงเป็นรายชิ้น ทำงานตามบ้าน ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง ไม่มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานพบว่าจะมีปัญหาด้านสายตาและอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากต้องเพ่งมองในการเจียระไนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และปัญหาสำคัญของแรงงานก็คือขาดความมั่นคง เนื่องจากงานและค่าแรงต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับนายหน้า ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ Calibri">

 

สนใจเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่

(ดาวน์โหลดฟรี)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net