สัมภาษณ์ ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ บทเรียน-ไม่รู้-ลืม? “สลายการชุมนุมปี 53”

หลังจากใช้เวลาเก็บข้อมูลและค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เป็นเวลา 2 ปี ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย-พ.ค. 53 (ศปช.) ก็ได้พิมพ์รายงานออกมาเป็นรูปหนังสือหนากว่าหนึ่งพันหน้าชื่อ ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53’

ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น สัมภาษณ์ ผศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ประสานงาน ศปช. และบรรณาธิการร่วมของรายงาน เกี่ยวกับข้อมูลที่ค้นพบและมุมมองของเธอ

ประวิตร: ศปช. ค้นพบข้อมูลอะไรที่อาจเปลี่ยนความเข้าใจต่อเหตุการณ์ปี 53 บ้าง?
พวงทอง: ค่อนข้างตกใจว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะมาก คือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ถูกลูกหลงเยอะมาก

ภาพใหญ่ที่มักเข้าใจคือความรุนแรงเกิดขึ้นหลังเผา [Central World และตึกอื่นๆ] แต่เราพบว่าปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้นตั้งแต่ 14 พฤษภาโดยเฉพาะสวนลุม บ่อนไก่ ราชปรารภ มีคน 11 คน [ตาย] ในวันเดียว ซึ่งพอมาอ่านบทความหัวหน้าควง นายทหารระดับเสนาธิการ เขียนลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ซึ่งเขาวิเคราะห์ความสำเร็จของปฏิบัติการกระชับวงล้อมก็ทำให้เข้าใจว่าทำไมความตายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 คือมีการใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม และนี่น่าจะเป็นสาเหตุให้คนถูกลูกหลง

ส่วนของชายชุดดำ มันไม่มีความชัดเจนว่าเขาเป็นใคร แม้รัฐบาล [อภิสิทธิ์] ก็ยังไม่มีปัญญาไปตามหาได้ และในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่ามีการใช้กำลังก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะชายชุดดำยิงใส่ผู้ชุมนุมเอง แต่ ศปช.พบว่ามีการใช้อาวุธจริง [จากฝั่งทหาร] ตั้งแต่บ่ายวันที่ 10 แล้ว และมีคนบาดเจ็บก่อนที่ชายชุดดำจะโผล่มา

เรื่อง M79 เราไม่ได้เก็บข้อมูลตรงนี้ เพราะในที่สุดต้องไปพิสูจน์ตรงวิถีกระสุนด้วย…

รัฐบาลมักจะบอกว่าคนที่ตายเป็นผู้ก่อการร้ายแต่จากหลักฐานที่เรามี ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเราไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิตเลย คนจำนวนมากมีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงในมือ เพราะฉะนั้น การบอกว่าทหารต้องใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตนเองนั้นฟังไม่ขึ้น

แล้วกรณีสไนเปอร์?
สไนเปอร์เนี่ย ภาพคลิปต่างๆมากมายที่อยู่ในโลกออนไลน์เห็นว่าทหารจำนวนมากถือปืนที่มีกล้องส่อง ทำให้เกิดความแม่นยำในการยิง มันอธิบายว่าทำไมผู้เสียชีวิตเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ถูกยิงที่หัว และถ้ารวมหน้าอกด้วยอีก 22 เปอร์เซนต์ มัน 50 เปอร์เซนต์… มันไม่ได้ยิงเพื่อป้องกันตนเอง

คิดว่าใครควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย?
คนที่สั่งการ คือหัวหน้าของรัฐบาล และผู้สั่งการ ศอฉ. รวมถึงผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของกองทัพด้วย มันเป็นความผิดพลาดที่คุณเอาวิธีทางการทหารมาสลายการชุมนุมและควบคุมมันไม่ได้

กลุ่มคุณถูกมองว่าเอียงแดงและมีธงอยู่แล้ว
เราก็ไม่แปลกใจกับข้อกล่าวหานั้น แต่สิ่งที่เราอยากให้สังคมพิจารณาคือข้อมูลที่เราเสนอ ในหลายกรณีมันชี้ชัดว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ศอฉ.กับรัฐบาลกล่าวไว้เลย

ต่อให้คุณมีอำนาจทางการทหารและกฎหมาย คุณก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิการมีชีวิตของประชาชนที่เขาไม่มีอาวุธร้ายแรงในการต่อสู้กับรัฐบาล และจะใช้ข้อกล่าวหาก่อการร้ายโดยรวมและให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดรับผิดชอบความรุนแรงทุกกรณีไม่ได้

คุณดูจะมองการเก็บข้อมูลเสนอข้อเท็จจริงของ คอป. กับคณะกรรมการสิทธิฯ ในแง่ลบ ทำไม?
คือ คอป. เราคิดว่าเราไม่เห็นความชัดเจนในการทำงานของเขา สองปีผ่านมาคิดว่าเขาไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าเขาค้นหาความจริง คิดว่าเขายังสับสนว่าความจริงจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ส่วนกรรมการสิทธิฯ เราหวังว่าจะ apply (ใช้) หลักสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เอาหลักสิทธิมาปกป้องรัฐและให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้อย่างไม่เลือกหน้า

[ผู้ชุมนุม] บางคนถูกขังฟรี ศาลยกฟ้อง กระบวนการยุติธรรมได้มีการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีเลยแม้แต่คนเดียว

ดูเหมือนว่าทุกกลุ่มในสังคมจะมีข้อสรุปอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 53 คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนใจจากข้อสรุปที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าเราทำหน้าที่ในการที่จะรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ให้มากที่สุด ก่อนที่ข้อมูลเหล่านี้จะหายไปตามกาลเวลา ข้อมูลเหล่านี้มันช่วยยืนยันอย่างเป็นระบบว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิในชีวิตประชาชนอย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าในวันข้างหน้ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์

การหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบหรือ impunity จะหมดไปจากสังคมไทยไหม? ขึ้นอยู่กับกรณี เมษา-พฤษภา 53 เพียงไร?
หลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 ใหม่ๆ ซึ่งเราไม่สามารถยอมรับกับ culture of impunity ได้ แต่เราพยายามรวบรวมข้อมูลความจริงให้มากที่สุด ถ้าคุณจะเอาผิดกับผู้กระทำผิด ความจริงเป็น the first step เป็นขั้นแรกของกระบวนการในการที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

คือเราเห็นตัวอย่างในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา [2519] พฤษภา 35 ที่คนทำผิดลอยนวล ไม่เคยถูกเอามาลงโทษ

แปลว่าคุณไม่มั่นใจ?
ก็ไม่มีความมั่นใจ แต่เราก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไร และเราก็มีความหวังว่าถ้าเราไม่ยอมรับมัน มันก็จะถูกสั่นคลอน สิ่งที่เรากำลังทำคือ challenge (ท้าทาย) ไอ้ culture of impunity นี้

 

 

////////////

หมายเหตุ:บทสัมภาษณ์นี้ เผยแพร่ครั้งแรกในภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2555
http://nationmultimedia.com/politics/Deaths-from-stray-bullets-shock-group-30189575.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท