Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง นอกจากจะเป็นบทบาทของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ประชาชนทุกคนในแต่ละท้องถิ่นต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กลไกการสร้างพื้นที่สีเขียวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุมชนเมืองด้วย

สาเหตุจากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองในพื้นที่มหานครลอนดอนและเมืองสำคัญอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ พร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมและการเพิ่มจำนวนประชากรในชุมชนเมือง ย่อมก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมหลายประการ โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศที่เป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและการขยายตัวของจำนวนประชากรในชุมชนเมือง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางในการกำหนดมาตรการวางผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อันถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมือง จากปัญหามลภาวะทางอากาศได้ อันอาจทำสุขภาพกายและจิตใจของผู้คนในชุมชนเมืองดีขึ้น

แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมารัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นระดับต่างๆ ของประเทศอังกฤษได้พยายามแสวงหาแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นในพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่ดินของรัฐหรือการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นในพื้นที่ของเอกชน แต่รัฐ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นได้ประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหลายประการ ตัวอย่างเช่น ในอดีตรัฐหรือท้องถิ่นของประเทศอังกฤษไม่อาจดำเนินการอนุรักษ์และรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เอกชนมีกรรมสิทธิ กล่าวคือ เอกชนมีสิทธิที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองว่า เอกชนดังกล่าวสามารถครองครองหรือใช้ประโยชน์ดังกล่าวในฐานะที่เป็นเจ้าของและทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งรัฐเองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปอนุรักษ์และบำรุงรักษาต้นไม่ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของเอกชนที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ได้

ในเวลาต่อมา รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางเกี่ยวกับการวางมาตรการทางกฎหมายผังเมืองเพื่อคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐและของเอกชน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองและประโยชน์อื่นๆ อันเกิดมาจากการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง เช่น เสริมสร้างคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง  เสริมสร้างเส้นทางการเดินทางหรือสัญจรสีเขียวและอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่ภายในชุมชนเมือง ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 และกฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของท้องถิ่นให้สามารถดูแลและป้องกันการทำลายเพื่อการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง

กฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 และกฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 ได้กำหนดมาตรการหลายประการเพื่อการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง โดยมีสาระสำคัญ กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุญาตหรือห้ามเอกชนจงใจทำลาย จงใจทำให้เสียหาย ตัด โค่นและถอนต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ทั่วไปในชุมชนเมืองและพื้นที่ในบริเวณชุมชนเมืองที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ (Tree Preservation Orders – TPOs) ห้ามมิให้เอกชนจงใจทำลาย จงใจทำให้เสียหาย ตัด โค่นและถอนต้นไม้ในพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิของรัฐและท้องถิ่น

เหตุที่กฎหมายผังเมืองของอังกฤษได้ถูกบัญญัติไว้เป็นเช่นนี้ ก็เพราะรัฐบาลอังกฤษประสงค์ที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ทำหน้าที่ในการดูแลต้นไม้เพียงภายในพื้นที่ของตนและอาศัยอำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการห้ามเอกชนไม่ให้ทำลายต้นไม้ขนาดใหญ่ระบุเฉพาะเพียงต้นเดียวที่เหมาะสมที่จะได้รับการอนุรักษ์หรือต้นไม้ที่ขึ้นเป็นกลุ่มในชุมชนเมืองหรือในบริเวณป่าไม้ในชุมชนเมืองอันมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ ซึ่งต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองได้และต้นไม้ใหญ่บางต้นยังมีอายุที่มาก อันทำให้ยากต่อการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายด้วยประการอื่นๆ ด้วย

กฎหมายผังเมืองของอังกฤษยังได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสาระสำคัญของคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ของอังกฤษประกอบด้วย ผู้ที่ถูกกระทบสิทธิหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง การระบุข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งต้นไม้หรือพื้นที่ที่ท้องถิ่นมีคำสั่งให้อนุรักษ์ต้นไม้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการโต้แย้งคำสั่งและอุทธรณ์หากผู้ที่ถูกกระทบสิทธิหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในกรณีที่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจมิชอบด้วยกฎหมายและระยะเวลาเริ่มต้นจนถึงสิ้นผลของคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำต้องจัดทำแผนที่ประกอบการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ (Tree Preservation Order Map) เพื่อให้เอกชนผู้รับคำสั่งหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของต้นไม้ ขนาดของพื้นที่และตำแหน่งของต้นไม้ที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์แห่งการอนุรักษ์ต้นไม้เฉพาะต้นหรือกลุ่มต้นไม้ที่ถูกระบุในคำสั่งของท้องถิ่น

แม้ว่าท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ แต่ภายหลังจากที่ท้องถิ่นได้ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว กฎหมายของอังกฤษยังเปิดช่องให้เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถขออนุญาตต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องให้ดุลพินิจพิจารณาคำขอของเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ  (Application for tree works) เป็นกรณีไป โดยเอกชนต้องระบุถึงความจำเป็นอันอาจกระทบต่อคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้และพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Description of Works) และระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งหรือข้อมูลของต้นไม้ที่อ้างถึงความจำเป็นในการขออนุญาตเป็นรายกรณีดังกล่าว (Identification of Tree) รวมไปถึงการระบุความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินอื่นๆ อันอาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากท้องถิ่นแล้ว (Alleged Damage to Property)

กฎหมายผังเมืองของอังกฤษยังได้กำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ดังกล่าวไว้ โดยบุคคลใดที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งดังกล่าว ศาลแขวงท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน £20,000 หรือประมาณหนึ่งล้านบาท ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนต่อคำสั่งนี้อย่างร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นอย่างมากศาลสูงอาจพิจารณาให้ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายโดยที่กฎหมายมิได้จำกัดอัตราค่าปรับขั้นสูงเอาไว้

มาตรการทางกฎหมายผังเมืองในการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ จึงถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในอนุรักษ์ต้นไม้ในชุมชนเมือง (Urban Tree Preservation Procedure) เพราะมาตรการการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ของอังกฤษมิได้มุ่งหมายเพียงเพื่อคุ้มครองต้นไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ในชนบทหรือพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มาตรการการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ตามกฎหมายผังเมืองของอังกฤษดังกล่าวยังประสงค์ที่จะคุ้มครองต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหรือต้นไม้อื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ (Urban Designated Conservation Areas)

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายผังเมืองโดยการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหรือท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่ปราศจากเหตุผลอย่างเพียงพอเพื่ออ้างการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการดังกล่าวย่อมถือเป็นการส่งเสริมรุกขกรรม (Arboriculture) หรือการปลูกและจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เพื่อประโยชน์แห่งภูมิทัศน์ในชุมชนเมือง เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองให้ดำรงอยู่และรอดพ้นจากการทำลายในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ แม้ว่าประเทศอังกฤษประกอบด้วยพื้นที่ชุมชนเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น แต่มาตรการทางกฎหมายผังเมืองว่าด้วยการคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ถือเป็นส่วนช่วยที่สำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองประการหนึ่ง ไม่ให้การขยายตัวของชุมชนเมืองมาทำลายพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้

 



[1] นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราช อาณาจักร                                                          

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net