Skip to main content
sharethis

กรณีนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน นครปฐม รายหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนมายังเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เนื่องจากถูกบังคับตรวจเลือด โดยเมื่อพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อ มีการยื่นข้อเสนอให้ต้องย้ายคณะ สุดท้ายนักศึกษาคนดังกล่าวจึงลาออกไป

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า วานนี้ (27 ส.ค.55) เครือข่ายผู้ที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาทิ จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าเอดส์ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และตนเอง ได้เข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วน หลังจากส่งหนังสือสอบถามไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา

สุภัทรา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ให้เหตุผลว่า มีการตรวจเลือดกับนักศึกษา 3 สาขาคือ พยาบาล กายภาพบำบัดและชีวการแพทย์ ตั้งแต่สมัครเข้าเรียนและตรวจอยู่เสมอ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำ MOU กับโรงพยาบาล 30 แห่งทั้งในนครปฐมและที่อื่นๆ โดยหากนักศึกษามีเชื้อเอชไอวี จะไม่รับเข้าทำงาน

ขณะที่เครือข่ายฯ ได้เสนอให้มีการทบทวนและยกเลิกการตรวจเลือดดังกล่าว โดยส่งเสริมให้ตรวจเลือดโดยสมัครใจ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษาอื่นๆ และขอให้รับนักศึกษากลับเข้าเรียน ไม่เช่นนั้น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับนักศึกษาคนดังกล่าว เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาคนดังกล่าวกู้เงินจาก กยศ.มากว่า 3 แสนบาทเพื่อเรียนหนังสือ โดยก่อนหน้านี้ สถานศึกษาคืนเพียงค่าลงทะเบียนเรียน เทอมล่าสุดเท่านั้น ขณะที่ทางวิทยาลัยฯ รับว่าจะนำไปปรึกษากับผู้บริหารอื่นๆ ต่อไป

สุภัทรา กล่าวว่า โดยทั่วไป ไม่มีทางติดเชื้อเอชไอวีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วัดความดัน ฉีดยา ได้อยู่แล้ว โดยมีหลักการการป้องกันการติดเชื้อจากบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (Universal Precautions: Ups) ซึ่งถือว่าถ้าคนที่มาใช้บริการอาจติดเชื้อฯ พยาบาลก็ต้องป้องกันตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการบริการทางการแพทย์ จะมีก็เพียงกรณีเดียวที่คนไข้ติดจากทันตแพทย์เมื่อนานมาแล้ว

สุภัทรา กล่าวย้ำว่า หากการมีเชื้อเอชไอวีเป็นอันตรายในการทำงานจริง ทั่วโลกก็ต้องออกกฎห้ามแล้ว แต่นี่ไม่มี องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เอดส์ (UNAIDS) ก็ไม่มีแนวปฏิบัติเรื่องนี้ โดยเธอมองว่านี่เป็นเรื่องอคติ ความกังวลที่ไม่จริง ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ นำมาซึ่งการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ถือเป็นการจำกัดโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพ

"หมดยุค ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยง่าย ตายไวแล้ว" สุภัทรากล่าวและว่า การติดเชื้อไม่ใช่การป่วย หากได้รับการรักษา ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวได้ นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลลงทุนจัดซื้อยาต้านไวรัสมารักษาผู้ป่วย ทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและประกันสังคม ทำให้คนสองแสนกว่าคนได้กินยาและมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อลงทุนไปแล้ว ก็ควรให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระ เพื่อให้การลงทุนไม่สูญเปล่า โดยคนเหล่านี้จะมีส่วนสร้างสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

"สิ่งที่ต้องกังวลคือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันต่างหาก" สุภัทราทิ้งท้าย

 

 

ข่าวร้ายๆ โดยเฉพาะประเภท “การติดเชื้อเอดส์” และกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ความหลงเชื่อในข่าวนั้นก็แปรเป็นอุปาทานฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวโลกอย่างยากแก่การชำระถอดถอน ดังเช่น ข่าวการติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน (ที่จริงคือ การอุดฟันอย่างง่ายๆ เพียงครั้งเดียว) ของมิสเบอกาลิสเป็นคนไข้ของทันตแพทย์อเมริกันผู้หนึ่งซึ่งติดเชื้อเอดส์และได้เสียชีวิตลง 3 เดือนก่อนการพบเชื้อเอดส์ในเลือดของมิสเบอกาลิส

ข่าวๆ นี้ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั้ง 5 ทวีป ซึ่งข้อเท็จจริงที่แสดงออกมาในภายหลังเป็นแต่เพียงว่าจากการสอบสวนทางวาจาและเอกสารที่เกี่ยวข้องบ่งชี้ว่า คนไข้น่าจะติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นตราบมาจนทุกวันนี้ก็หาได้มีหลักฐานหรือข่าวคราวใดๆ ในทำนองนี้บังเกิดขึ้นอีกแม้สักกรณีเดียว ทั้งๆ ที่มีการทำฟันอยู่ทุกวันทั่วโลกโดยทันตแพทย์ประมาณ 2 ล้านคน


นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 168
เดือน/ปี: เมษายน 1993
คอลัมน์: สุขภาพของช่องปาก

http://www.doctor.or.th/article/detail/3308
อ่านเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Kimberly_Bergalis

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net