ควันหลงรอมฎอนใต้ กำเนิด ‘Photo Peace’ นักสร้างสันติจากภาพถ่าย

ประชาชนให้ความสนใจภาพถ่ายในนิทรรศการภาพถ่าย "
บันทึกวิถีรอมฎอน 1433" 30 Days : Lives in Ramadhan 1433 
ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2555 ที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี 
(ภาพถ่ายโดย ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)

 

เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มุสลิมหลายคนคงนึกเสียดายอยู่ที่ไม่ได้ทำอะไรบางอย่างหรือทำบางสิ่งที่เกินเลยไป โดยที่ยังไม่ทันได้สำนึกหรอสารภาพบาป ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะขอให้พระเจ้า(อัลเลาะห์)ให้อภัยตามคำสอนของศาสนาอิสลาม

แล้วอะไรคือสิ่งที่สมควร หรือไม่เหมาะสมที่จะทำสำหรับมุสลิมในช่วงเดือนนี้ สิ่งนั้นส่วนหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ในภาพถ่ายจำนวนหนึ่งที่กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ ที่จะนำไปจัดแสดงต่างสถานที่ต่างๆ รวมได้จัดแสดงไปแล้วที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ชื่อดังของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เป็นนิทรรศการภาพถ่าย "บันทึกวิถีรอมฎอน 1433" 30 Days : Lives in Ramadhan 1433 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism - DSP) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch - DSW) และกลุ่ม Bintang Photo

นายมูหมัดซอเร่ เดง ผู้ดูแลกลุ่ม Bintang Photo ในเว็บไซด์facebook.com บอกว่า ภาพเหล่านี้ อาจแสดงให้คนมุสลิมเองได้เห็นว่า ตลอดเดือนรอมฎอนตัวเองควรจะใช้ชีวิตอย่างไร โดยสะท้อนออกมาในรูปของภาพถ่าย ซึ่งจะทำให้มุสลิมที่อาจไม่ได้ปฏิบัติตามวิถีที่ควรจะเป็นได้ทบทวนตัวเองไปด้วย ส่วนคนนอกพื้นที่และคนที่ไม่ใช่มุสลิมก็สามารถเรียนรู้วิถีชีวิตรอมฎอนของคนชายแดนภาคใต้ได้

 “เดือมรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมทั่วโลก เพราะฉะนั้นในช่วงเดือนนี้ คนมุสลิมจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากปกติ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตช่วงหนึ่งของมุสลิมในรอบปี ผ่านภาพถ่ายซึ่งแต่ละภาพจะมีคำบรรยายไว้ด้วย” นายมูหมัดซอเร่ อธิบาย

ถามว่าทำไมต้องจัดที่มัสยิดกรือเซะนั้น มูหมัดซอเร่ บอกว่า เพราะเป็นสถานที่ที่มีคนมาเยี่ยมเยือนจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันรายอ เพราะคนในออกไปทำงานยังที่ต่างๆ จะเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ ไม่ว่าคนที่ทำงานอยู่ที่มาเลเซีย หรือที่อื่นๆ

ภาพทั้งหมดที่จัดแสดงมาจากสมาชิกกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ รวมกว่า 30 ชีวิต เป็นภาพที่ถ่ายตามสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางภาพถ่ายในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีสมาชิกที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย ด้วย

ในการถ่ายภาพ มีการตั้งหัวข้อให้ช่างภาพแต่ละคนส่งภาพที่ดีที่สุดของตัวเองมาแสดง โดยมีทั้งหมด 6 หัวข้อ และ 2 หัวข้อพิเศษ โดยแบ่งช่วงในการถ่ายภาพแต่ละหัวข้อออกเป็น 5 วัน ดังนี้

5 วันแรก หัวข้อ อาหารการกิน เป็นภาพถ่ายเกี่ยวกับอาหาร รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องการกับเตรียมอาหารละศีลอด

5 วันที่สอง หัวข้อ ละหมาดตะรอเวียะห์ ซึ่งเป็นพิธีละหมาดที่มีเฉพาะในเดือนรอมฎอน ทั้งหญิงและชายจะไปละหมาดตะรอเวียะห์กันที่มัสยิดในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ

5 วันที่สาม หัวข้อ อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในเดือนนี้มุสลิมจะให้เวลากับการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานมาก เนื่องจากรอมฎอนเป็นเดือนที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานโองการแรกให้กับนบีมูฮัมหมัด ศาสนทูตแห่งอิสลาม

5 วันที่สี่ หัวข้อ การละศีลอด เป็นภาพถ่ายในช่วงเวลาตะวันตกดิน อันเป็นเวลาที่ต้องละศีลอด เป็นภาพการรับประทานอาหารละศีลอดร่วมกันตามบ้านเรือน มัสยิดหรือตามสถานที่ต่างๆ เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้เกิดการพบปะญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านผ่านการละศีลอดร่วมกัน สลับกันในแต่ละบ้าน เป็นการสร้างความสนิทสนมอย่างดี

5 วันที่ห้า หัวข้อ เอี้ยะติกาฟ หมายถึง การเก็บตัวอยู่ในมัสยิดในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยมีการลุกขึ้นละหมาดในตอนกลางดึก การอ่านคำภีร์อัลกุรอาน การรำลึกถึงพระเจ้า การขออภัยโทษ เป็นต้น ที่สำคัญเป็นการแสวงหาคืนลัยละตุล-ก็อดร์ ซึ่งมีความประเสริฐที่สุดตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีในคืนนั้น จะได้รับผลบุญเท่ากับ 1 พันเดือน

5 วันสุดท้าย คือหัวข้อ ต้อนรับฮารีรายอ หรือ วันอีดิ้ลฟิตรี อันเป็นวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีการเตรียมทำอาหารเลี้ยง การเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่ที่สวยงาม รวมทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนที่ออกไปทำงานต่างถิ่น เป็นต้น

ส่วนหัวข้อพิเศษอีก 2 หัวข้อ ได้แก่ พหุวัฒนธรรม เป็นการแสดงภาพถ่ายที่นำเสนอกิจกรรมของคนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธหรือคนจีน ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการถือศีลอดของชาวมุสลิม เช่น พ่อค้าชาวจีนขายวัตถุดิบให้ชาวมุสลิมไปทำอาหารละศีลอด เป็นต้น

อีกหัวข้อพิเศษ คือ การให้ เนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของการให้ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอาหารให้กับคนที่ถือศีลอด การเชิญญาติมิตรหรือเพื่อนบ้านมาร่วมละศีลอดร่วมกัน ก็เป็นการให้ลักษณะหนึ่ง รวมทั้งการบริจาคทานบังคับ หรือที่เรียกว่าการจ่ายซะกาต ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับคนจน อนาถา รวมทั้งคนอื่นรวม 8 จำพวก ตามที่ศาสนาอิสลามกำหนด แม้กระทั่งวันฮารีรายอเองที่ผู้ใหญ่มักจะแจกเงินให้กับเด็กๆ เป็นต้น

นอกจากการจัดแสดงในงานแล้ว ในแต่ละช่วงก็มีการเลือกภาพมาแสดงทางเว็บไซด์เฟสบุ๊ก ในชื่อกลุ่ม Bintang Photo ไปด้วย

ส่วนการจัดแสดงภาพถ่ายชุดนี้ครั้งต่อไป คือ ในงาน"การประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน" (The International Conference on Political Science, Public Administration and Peace Studies in ASEAN Countries) วันที่ 6 – 7 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เปิดตัว Photo Peace นักสร้างสันติจากภาพถ่าย

นอกจากการแสดงภาพถ่ายแล้ว ในงานยังมีการเปิดตัวกลุ่ม Photo Peace of South หรือ PPS ทว่า เจ้าของงานข้องการให้เรียกกลุ่มว่า Photo Peace มากกว่า เพราะต้องการสื่อให้คนเห็นถึงบทบาทของกลุ่มในเรื่องการร่วมสร้างสันภาพโดยผ่านภาพถ่ายภายใต้ชื่อกลุ่ม ซึ่งหมายถึง สันติภาพภาพถ่าย

นายฟูอัด แวสะแม ประธานกลุ่ม Photo Peace ระบุว่า กลุ่ม Photo Peace ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันภายในกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ที่จะให้มีการรวมกลุ่มกันของช่างภาพแนวสันติ ทำงานเชิงบวกสู่สังคม โดยมีการเปิดรับสมัครช่างภาพมาเป็นสมาชิกรอบแรกนี้ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังคนเดียวกับกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้

หลังก่อตั้งกลุ่ม Photo Peace มีการจัดกิจกรรมแรกคือ กิจกรรมคืนภาพถ่ายสู่บุคคลในภาพ โดยถ่ายภาพกิจกรรมการละหมาดในช่วงรอมฎอนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี จากนั้นเลือกภาพที่ดีที่สุดมาทำโปสการ์ด จำนวน 300 ใบ เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในภาพได้หยิบไป โดยขอรับบริจาคเป็นเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า ซึ่งเพียงคืนแรกได้รับเงินบริจาคถึง 4,600 บาท ซึ่งแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจพอสมควร

ถามว่า แล้วภาพถ่ายเกี่ยวข้องกับสันติภาพได้อย่างไร ฟูอัด บอกว่า เพราะที่ผ่านมาชายแดนใต้ถูกบอกเล่าด้วยภาพของความรุนแรง ภาพของการต่อสู้และการใช้อาวุธ แต่ภาพถ่ายของสันติภาพอาจจะไม่ใช่ภาพแห่งความสวยงามเสียทีเดียว แต่สามารถมาแทนภาพแห่งความรุนแรงได้ และจะค่อยช่วยสรรค์สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด

ฟูอัดทิ้งท้ายว่า นี่เป็นการใช้ภาพแห่งความสวยงามมาสู้กับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั่นเอง โดยหวังว่า ภาพถ่ายของพวกเขาจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ สันติสุขและสมานฉันท์ให้กับพื้นที่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท