Skip to main content
sharethis

โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องไม่ให้มีการผลักดันชุมชนผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย-พม่าด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กลับไปยังเมืองทา ในรัฐฉาน ชี้ในพื้นที่ยังมีการสู้รบ และเต็มไปด้วยกับระเบิด และผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากเมืองทา แต่อพยพมาจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลางของรัฐฉาน

แผนที่ซึ่งแนบมากับแถลงการณ์ของชุมชนไทใหญ่ แสดงให้เห็นพื้นที่บ้านเมืองทา ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่รองรับการผลักดันผู้อพยพชาวไทใหญ่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยพบว่าในพื้นที่ยังคงเป็นที่ตั้งทางทหารของทั้งกองทัพพม่า กองทัพสหรัฐว้า และกองทัพรัฐฉาน

 

เมื่อวานนี้ (27 ส.ค.) องค์กรชุมชนไทใหญ่ ประกอบด้วย มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ องค์กรสภาวะสิ่งแวดล้อมแห่งฉาน องค์กรเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีฉาน องค์กรพลังเยาวชน และ กลุ่มประสานงานเยาวชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องไม่ให้ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับในพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ

สำหรับเนื้อหาระบุว่า "ชุมชนไทยใหญ่มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับกรณี มีการเตรียมการผลักดันให้ผู้อพยพ มากกว่า 500 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพ ชายแดนไทยภาคเหนือ ให้กลับไปในพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้ง"

โดยในวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา สภาผู้อพยพนอร์เวย์ (Norwegian Refugee Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับสัญญาภายใต้โครงการการสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในพม่า นำโดยประเทศนอร์เวย์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้อพยพในค่ายกุงจ่อ บริเวณชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยขึ้นสำรวจทุกบ้าน เกี่ยวกับการยินดีกลับไปยังหมู่บ้านเมืองทา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 20 กม. โดยสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม องค์กรชุมชนไทใหญ่เปิดเผยว่า สภาพหมู่บ้านที่จะผลักดันกลับนั้น แทบจะเป็นหมู่บ้านร้าง โดยจัดเตรียมพื้นที่ให้เป็นแปลงพื้นที่อยู่อาศัยผู้อพยพ ระหว่างการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน ตอนใต้ กับรัฐบาลพม่า

ในแถลงการณ์ขององค์กรชุมชนไทใหญ่ระบุด้วยว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 กองทัพรัฐฉาน ได้ลงนามหยุดยิง และรัฐมนตรีว่าการกิจการรถไฟพม่าได้ให้สัญญาว่าจะยกพื้นที่หัวเมือง และเมืองทา ซึ่งอยู่ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ให้กองทัพรัฐฉาน อย่างไรก็ตามยังมีการสู้รบระหว่างทหารไทใหญ่กับพม่าในหลายพื้นที่ และยังมีการสู้รบในพื้นที่เมืองทาด้วย

ทั้งนี้ ผู้อพยพในค่ายกุงจ่อได้บอกกับผู้แทนชาวนอร์เวย์ในเดือนกรกฎาคมปี 2554 ว่า พวกเขายังไม่อยากกลับไปในพื้นที่เมืองทา เนื่องจากยังไม่ปลอดภัยจากทหารพม่า และกลุ่มอาสาสมัครที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล และเป็นพื้นที่ที่ยังเต็มไปด้วยกับระเบิด และผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เมืองทา แต่ได้หนีอพยพมาจากอำเภอต่างๆ ในภาค กลางของรัฐฉาน

โดยแถลงการณ์ขององค์กรชุมชนไทใหญ่ระบุว่า "การสำรวจวันนี้ ได้สร้างความแตกตื่นให้กับผู้อพยพในค่ายเป็นอย่างมากและกลัวจะถูกผลักดันกลับในเวลาอันสั้น ถึงแม้สภาผู้อพยพนอร์เวย์ มีโครงการพัฒนาและช่วยเหลือในพม่า แต่พวกเขายังไม่มีประสบการณ์การทำงาน กับผู้อพยพไทยใหญ่"

จายเครือแสง จากองค์กรสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมไทใหญ่กล่าวว่า “ชาวอพยพไม่ได้เป็นหนูทดลองของกระบวนการสร้างสันติภาพ” เขากล่าวด้วยว่า “แทนที่จะผลักดันผู้อพยพกลับ กองทุนนานาชาติที่สนับสนุนสันติภาพ ควรผลักดันให้รัฐบาลพม่า เจรจาให้เกิด สันติภาพที่ยั่งยืน”

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์กรชุมชนรัฐฉาน ได้เรียกร้อง ให้รัฐบาลและกลุ่มสนับสนุนต่างๆ ที่สนับสนุนสันติภาพในพม่า ควรวางตัวเป็นกลางและไม่ควรผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 ของทหารพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net