รายงานความเคลื่อนไหวภายใน กสม. เส้นทางวิบากก่อนได้ตัวรองเลขาธิการสำนักงาน

ไม่เพียงถูกจับตาจากสังคมภายนอกถึงการปฏิบัติหน้าที่และความคืบหน้าในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงรายงานสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 ที่ยังไม่นำเสนอต่อสาธารณะ แต่ภายในองค์กรเอง กสม. ชุดนี้ก็ถูกตรวจสอบหนักไม่แพ้กัน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดนี้ ถูกจับตาจากสังคมถึงการปฏิบัติหน้าที่และความคืบหน้าในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กำลังเป็นกระแสขณะนี้หนีไม่พ้นรายงานการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีการเสนอต่อสาธารณะ ขณะที่ร่างฯ ฉบับแรกนั้นหลุดออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนกระทั่งเก็บเข้าลิ้นชักไปขัดเกลากันใหม่

ปมแต่งดำ ค้านตั้งรักษาการรองเลขาฯ
ขณะที่สังคมภายนอกจับตาการทำงานของกสม. ภายในสำนักงานเองก็มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ข่าวสดรายงานอย่างละเอียดว่าข้าราชการและพนักงานในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ(กสม.) ได้พากันแต่งชุดดำเพื่อประท้วงกรณีนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการ กสม. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสม. ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. แต่งตั้งนายโสภณธีณ์ ตะติโชติพันธุ์ ผอ.สำนักวินิจฉัยและคดี เป็น รรท.รองเลขาฯ (รักษาราชการแทน) แทนนายประนูญ สุวรรณภักดี รองเลขาฯ ที่ป่วยจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ (เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยจะมีการพระราชทานเพลิงศพในวันพรุ่งนี้ 23 ส.ค.)

จากการรายงานของข่าวสด ระบุว่าข้าราชการและพนักงาน เห็นว่านายโสภณธีณ์ ขณะเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ระดับ 9 เมื่อ พ.ศ. 2552 ทางสำนักงานเคยมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยร้ายแรง และขณะนี้มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยเรื่องอยู่ระหว่างพิจารณา จึงไม่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งรรท.รองเลขาฯ ผู้มีอำนาจลงนามควรเป็นประธานกสม. ไม่ใช่รรท.เลขาฯ อีกทั้งเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรรท.รองเลขาฯแล้ว ระหว่างที่นายวีรวิทย์ ไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัดวันที่ 28-30 มิ.ย. นายโสภณธีณ์ ยังมีหนังสือที่ สม. 001/ว1251 ลงวันที่ 28 มิ.ย. เวียนถึงหน่วยงานต่างๆ แจ้งว่าตนเองเป็นรรท.เลขาฯ ถือเป็นการลงนามแต่งตั้งตนเองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวได้ลงความเห็นว่าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยแต่งชุดดำเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ความคืบหน้าจากการประท้วงในครั้งนั้น ทำให้มีการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในสำนักงานฯ ได้เข้าฟังการแสดงวิสัยทัศน์ ของผู้เข้าสมัครชิงตำแหน่งรองเลขาธิการ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 8 คนจากเจ้าหน้าที่ระดับ 9 (ซี 9) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันลงคะแนนเพื่อสะท้อนความคิดเห็นว่า ผู้สมัครคนใดที่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งมากที่สุด มีเจ้าหน้าที่ร่วมลงคะแนนราว 90 คน แน่นอนว่าผลออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสการแต่งดำประท้วง คือมีผู้ลงคะแนนว่านายโสภณธีร์ ไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว 78 คน

ประชาธิปไตยในสำนักงาน ที่แลกกับความล่าช้า
โครงสร้างการบริหารของสำนักงาน กสม. นั้น ผู้บริหารสูงสุดคือ เลขาธิการสำนักงาน และกำหนดให้มีรองเลขาธิการ 3 ตำแหน่ง แต่ที่เป็นอยู่ขณะนี้ คือ มีนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิ ขณะที่ รองเลขาฯ นั้น เดิมมีนายวีรวิทย์ และนายประนูญ ดำรงตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งที่ 3 นั้นว่างเว้นไว้

กสม. ซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกและเสนอชื่อบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ได้ประชุมมีมติเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสม วันนี้ (22 ส.ค.)ได้รายชื่อคือนาย ขรรค์ชัย คงเสน่ห์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานทั่วไป สำนักบริหารกลาง

แต่เส้นทางของผู้บริหารสำนักงานนี้ไม่ได้มาโดยง่าย และเส้นทางต่อไปก็คงจะน่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน นอกเหนือจากประเด็นแต่งดำประท้วงโดยเจ้าหน้าที่แล้ว ในส่วนของกรรมการฯ เอง กสม. ไม่ได้เพิ่งประชุมสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็มีการพยายามจะสรรหากันไปครั้งหนึ่งแล้วในที่ประชุมของกสม. แต่เนื่องจากกสม. รายหนึ่ง มีอาการป่วยปุบปับ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปชั่วขณะ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ผีเข้า”) เป็นเวลาหลายนาที ทำให้ที่สุดแล้วต้องเลื่อนการประชุมออกไป และมามีมติได้ในวันนี้ (22 ส.ค.)

มองในแง่ดี พิจารณากันเฉพาะประเด็นแต่งตั้งรองเลขาธิการสำนักงานนั้น ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และแรงกระเพื่อมในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งชื่อบอกหน้าที่ชัดเจนถึงหน้าที่ของสำนักงานแห่งนี้ ต้องเรียกได้ว่า อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสำนักงานที่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน และมีการตรวจสอบกันภายในองค์กร เมื่อได้รายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งมาแล้ว ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ว่าที่รองเลขาฯ นี้จะทำงานเข้าตาเจ้าหน้าที่หรือไม่ ถ้าไม่จะมีกระบวนการตรวจสอบอะไรกันต่อไปอีกหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท