ศาสวัต บุญศรี: ภาษาถิ่นในหนังสั้นและหนังไทยอิสระ –กระบวนการเสนอสำเนียงที่แท้จริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมยอมรับว่าเป็นคนที่ไม่พึงใจอย่างรุนแรงกับสำเนียงภาษาที่ปรากฎอยู่ตามละครทีวีไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครพูดเหนือ พูดอีสาน หรือพูดใต้ ที่เพี้ยนแปร่งไม่ตรงกับความจริงเสียสักน้อยนิด คนผลิตก็คงคิดอยากจะเปิดตลาดเพิ่มเติมในภูมิภาคต่าง ๆ โดยให้ตัวละครพูดสำเนียงที่เขาคิดว่าเป็นพื้นเพแถวนั้น ทว่าก็ไม่ได้เคยไปรู้เลยสักนิดว่าแท้ที่จริงชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดออกเสียงยังไงกันแน่ คนเหนืออีสานใต้ที่ได้ฟังนักแสดงหน้าตาดีสวยหล่อเหล่านั้นพยายามพูดภาษาถิ่นของตนก็มีทั้งเอ็นดูในความพยายาม ไปจนนั่งหัวเราะด้วยความสมเพช

ไม่ว่าจะได้รับคำวิจารณ์ในประเด็นไม่สมจริงของสำเนียงภาษาเท่าใด ก็ดูผู้ผลิตไม่ได้สนใจที่จะให้นักแสดงของตนฝึกฝนพูดให้ได้ใกล้เคียงเท่าใดนัก ก็จะมีแต่คนภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่หลงใหลใคร่ฝันไปว่านี่คือเป็นการช่วงอนุรักษ์ภาษาถิ่น (จอมปลอม) ไว้

วงการบันเทิงด้านอื่น ๆ นอกจากละครไทยก็มีการใช้ภาษาถิ่นเช่นกัน โดยเฉพาะในฟากของผู้ผลิตหนังไทยอิสระและหนังสั้น ผมเองได้ลองสำรวจดูจากในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 ที่จัดโดยมูลนิธิหนังไทย พบว่ามีหนังหลายเรื่องที่ผู้กำกับตั้งใจให้ตัวละครพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงท้องถิ่น ที่น่าสนใจคือพวกเขาใส่กันไม่ยั้งชนิดไม่กลัวเลยแม้แต่น้อยว่าคนดูจะฟังเข้าใจหรือเปล่า

สำเนียงภาษาในแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน ลำพังแค่ภาษาไทยในภาคกลางก็มีสำเนียงเฉพาะถิ่นแตกออกไปเป็นหลายร้อยสำเนียง และแม้เราจะบอกว่าพูดภาษาไทยเหมือนกันแต่ก็ใช่ว่าเราจะฟังสำเนียงของถิ่นอื่นออก เอาแค่สำเนียงภาคกลางเอง คนเมืองหลวงถ้าหลงไปตามชนบทก็พบภาวะ ‘lost in translation’ ได้ง่าย ๆ ซึ่งผมเองรู้สึกว่านี่คือความงามของภาษาอันหลากหลาย และเป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของชุมชนแต่ละที่แห่ง

สำเนียงท้องถิ่นถูกเหยียดหยามและกดทับให้คนพูดรู้สึกอับอายเมื่อเอ่ยปากมานาน พ่อของผมซึ่งเป็นคนอีสานเคยเล่าว่าเมื่อครั้งย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ ๆ แทบไม่อยากพูดอีสานเลยเพราะเมื่อพูดติดสำเนียงอีสานเมื่อใดก็จะโดนดูถูกโดยคนอื่น ภาษาท้องถิ่นจึงกลายเป็นของขบขันสำหรับคนกรุงเทพฯ ใครพูดเหน่อ พูดสำเนียงแปลก ๆ ก็จะถูกแซว เด็กวัยรุ่นในหลาย ๆ พื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคอีสานเองก็รู้สึกอายและไม่กล้าพูดภาษาถิ่นเมื่ออยู่โรงเรียน

คนทำหนังไทยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในกรุงเทพฯ ยิ่งสายหนังสั้นมีคนทำมากหน้าหลายตาจากทั่วประเทศ หลายคนเลือกนำเสนอภาษาสำเนียงท้องถิ่นที่ตนพูดออกมาอย่างซื่อตรงตามจริง อาจจะด้วยเหตุความรู้สึกไม่พอใจจากการนำเสนอภาษาอันผิดเพี้ยน ไม่ก็นำเสนออัตลักษณ์อันชัดเจนของกลุ่มชุมชนพวกเขา ฯลฯ ต่อไปคือตัวอย่างที่ขอยกมาเล่าให้พอได้รู้จักบ้าง

ลองสำรวจจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 หนังสั้นเรื่อง ในสวน ของ อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ ว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งคุยกับแม่ของเธอในสวนยางพาราว่าไม่อยากให้ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะยาฆ่าแมลงสุดท้ายจะถูกชะล้างไปอยู่กับน้ำใต้ดิน แล้วคนที่ใช้น้ำก็เท่ากับกินยาฆ่าแมลงไปด้วย หนังได้สะท้อนภาพของพื้นที่สวนยางพาราที่อุดมด้วยวัชพืช ทั้งสองแม่ลูกพูดภาษากลางด้วยสำเนียงที่ผมไม่คุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย ฟังแล้วพอจับใจความบางคำได้

ในขณะที่เมืองกรุง ของอิศรา แจ่มสายบัว เล่าเรื่องยามหนุ่มผู้อัดเสียงใส่เทปคลาสเซทท์ส่งไปให้แม่ผู้ตาบอดได้ฟังที่บ้านนอก เขาพูดภาษาอีสานเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น พร่ำพรรณาความคิดถึงพ่อแม่ ไปจนถึงแจ้งข่าวว่าสงกรานต์นี้ไม่ได้กลับบ้านอีกแล้ว สำเนียงยโสธรของเขาติดตรึงในใจยิ่งนัก

ฟากหนังยาวของคนทำหนังไทยอิสระ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสิ้นเดือนเมษาฝนตกมาปรอยปรอย ที่นอกจากตัวละครของเขาจะพูดภาษาอีสานแบบขอนแก่นแล้ว หนังยังพาเราไปให้เห็นบริบทวัฒนธรรมของพื้นที่ในขอนแก่น เช่น ตัวเอกของเรื่องยามอยู่กับเพื่อนนั้นพูดภาษาอีสานเป็นธรรมดา ทว่ายามอยู่กับพ่อที่บ้านกลับเกิดภาวะ พ่อพูดอีสาน ลูกพูดกลาง (ซึ่งจากการสอบถามผู้กำกับ เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเขา)

ดู ๆ แล้วฟากคนทำหนังสั้นนั้นตั้งใจสื่อสารสำเนียงภาษาออกมาได้สมกับความเป็นจริงมาก น้อยครั้งที่เราจะเจอภาษาเหนือปลอม อีสานปลอมและใต้ปลอมในหนังสั้นไทย มองทางหนึ่งนี่คือการตอบโต้การใช้ภาษาถิ่นปลอม ๆ ในละครทีวีว่าของจริงเขาต้องพูดกันแบบนี้ อีกทางหนึ่งผมมองว่านี่คือการพยายามสร้างการยอมรับแก่คนกรุงเทพฯ ให้ยอมรับในตัวตน ยอมรับในภาษาสำเนียงที่แม้แปร่งหูแต่เป็นเอกลักษณ์และมิควรถูกเหยียดหยามลดค่าจากคนที่พูดสำเนียงกลางมาตรฐาน พวกเขาไม่อายอีกต่อไปแล้วที่จะพูดภาษาถิ่น นำเสนอภาษาถิ่นของตนด้วยบทสนทนาในชีวิตประจำวัน

ผมเองก็หวังไว้ว่าเราจะได้เห็นหนังไทยที่พูดภาษาถิ่นกันอย่างถูกต้องและหลากหลายตามเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้น รวมถึงแพร่ไปยังละครทีวีที่ให้ความสำคัญกับสำเนียงของท้องถิ่นอย่างแท้จริงบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท