Skip to main content
sharethis

ครอบครัวของคนงานเหมืองแร่บริษัทลอนมินในแอฟริกาใต้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อเหยื่อในเหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจกับคนงานเหมืองแร่ที่หยุดงานประท้วงจนมีผู้เสียชีวิต 34 ราย

18 ส.ค. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า มีครอบครัวของคนงานเหมืองแร่ในอเมริกาใต้ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุคนงานถูกตำรวจยิงขณะหยุดงานประท้วงเมื่อ 2 วันก่อน จนมีผู้เสียชีวิต 34 ราย และได้รับบาดเจ็บ 78 ราย มี 200 รายถูกจับกุม โดยเหตุเกิดที่เหมืองแร่แพลตตินั่มในเมืองมารีคานา มีเจ้าของคือบริษัทลอนมิน

ขณะเดียวกันกลุ่มคนงานเหมืองแร่กว่าพันคนก็ส่งเสียงเชียร์ผู้นำเยาวชน จูเลียส มาเลมา ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกหลังเกิดเหตุการปะทะดังกล่าว โดยมาเลมาบอกว่า ปธน. ซูมา มีส่วนรับผิดชอบกับวิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมของตำรวจ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี จาคอบ ซูมา ก็ได้ลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุซึ่งห่างออกไปราว 100 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโจฮันเนสเบิร์ก และสั่งให้มีการสิบสวนเหตุรุนแรงดังกล่าว โดยบอกว่าการที่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่อง 'โศกนาฏกรรม'

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรทำให้ตำรวจตัดสินใจยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่มีผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่ามีการยิงใส่ผู้ชุมนุมหลังจากที่ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนหนึ่งถือกระบองและมีดมาเชทพุ่งเข้าหาตำรวจ ทำให้ตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนกลและปืนพกยิงใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัด

โธ คองคี ผู้สื่อข่าวจจากสถานีวิทยุ 702 ของแอฟริกาใต้ รายงานจากพื้นที่ว่ามีกลุ่มผู้หญิงที่ไปตรวจดูตามโรงพยาบาลและห้องดับจิตในย่านนั้นเพื่อตามหาญาติของพวกเขา แต่ก็ไม่เจอ 

โฆษกตำรวจ รตอ. เดนนิส แอดดริโอ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังใช้ฐานข้อมูลของบริษัทเหมืองแร่เพื่อติดต่อกับญาติของผู้ที่ถูกสังหาร, ได้รับบาดเจ็บ และถูกจับกุม แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

จูเลียส มาเลมา ผู้นำเยาวชนที่กล่าวโทษ ปธน.ซูมา ก่อนหน้านี้เคยเป็นคนสนิทของปธน. ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน เขายังเป้นผู้เสนอให้มีการเข้าควบคุมกิจการเหมืองแร่โดยรัฐอีกด้วย

 

การชุมนุมขอขึ้นค่าจ้าง

การนัดหยุดงานชุมนุมของคนงานเหมืองแร่มาจากการที่พวกเขาต้องการให้ขึ้นค่าจ้างจากเดิม 4,000-5,000 แรนด์ (ราว 15,000 - 18,000 บาท) เป็น 12,500 แรนด์ (ราว 45,000 บาท) 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างเลวร้ายลงเหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานที่เป็นอริกัน และเหตุดังกล่าวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 10 ราย รวมถึงตำรวจ 2 ราย

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่ของโลกและข้อพิพาทดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อการผลิต 

บริษัทลอนมินเจ้าของเหมืองในเมืองมารีคานา เป็นผู้ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ก่อนหน้านี้เคยมีการพิพาทแรงงานมาก่อน โดยในปี 2011 บริษัทได้สั่งปลดคนงานราว 9,000 คน โดยอ้างว่าพวกเขากระทำการเชิงแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมาย (Unprotected industrial action) แต่ต่อมาลอนมินและสหภาพคนงานเหมืองแร่แห่งแอฟริกาใต้ (NUM) ก็บอกว่าพวกเขาถูกส่งกลับเข้าทำงานอีกครั้ง

ไซมอน สก็อต ประธานฝ่ายการเงินของบริษัทลอนมิน บอกว่าพวกเขานักหยุดงานประท้วงอย่างผิดกฏหมาย และไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้

"พวกเรามีสัมพันธภาพที่ดีกับสหภาพแรงงานของเรามาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นความเสียหายด้านความสัมพันธ์ แต่พวกเราก็ให้ความสำคัญกับการสานความสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิม" สก็อตกล่าว

 

ที่มา: South Africa Lonmin killings: Anger over missing miners, BBC, 18-08-2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-19305698

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net