Skip to main content
sharethis

 

 

(16 ส.ค.55) เนื่องในวาระครบรอบ 67 ปี วันสันติภาพไทย มีการจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “การหลอมความหลากหลายเพื่อจุดหมายเดียวกันของขบวนการเสรีไทย” ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 30 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของเสรีไทย

วิทยากรคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญ

เขากล่าวว่า เรื่องของเสรีไทยและสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ความทรงจำหลักของผู้คน โดยเฉพาะนักศึกษาของเขาคือ ไทยอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ในแง่ของข้อเท็จจริง ไทยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐและอังกฤษ ในนามของประเทศชาติ เราประกาศสงครามกับประเทศเหล่านั้น ในตำราเรียนบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ไว้เพียงสั้นๆ ไม่มีการอธิบาย ดังนั้นเมื่อปล่อยให้ความทรงจำเรื่องประเทศไทยประกาศสงครามร่วมกับสหรัฐอเมริกาอังกฤษผ่านเลยไปได้ ขบวนการเสรีไทยก็แทบไม่เหลือค่าอะไร  เพราะไม่มีคู่ตรงข้าม ไม่เหลือความตื่นเต้น และสุดท้ายมันก็ถูกผ่านเลยไปด้วยเช่นกัน

“ตอนนี้ก็ยังมีคนถามมากมายว่าเสรีไทยทำอะไรบ้าง มันสะท้อนว่าเสรีไทยไม่มีตัวตนทางสังคมเลย”

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า หลายคนบอกว่าเหตุที่เสรีไทยไม่มีตัวตนในสังคม เพราะเสรีไทยทำให้ประเทศไม่ถูกปลดอาวุธ เหมือนกับเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อแพ้สงครามถูกทำลายกองทัพจนสิ้นซาก ในรอบ 60 ปีประเทศเหล่านั้นไม่เกิดแนวคิดที่จะให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองอีกเลย ในขณะที่ไทยมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นเป็นความภาคภูมิใจในฐานะคนไม่ถูกปลดอาวุธ  หรือแท้จริงแล้วเราพลาดที่คิดว่าการถูกปลดอาวุธคือการทำร้ายเอกราช ในที่สุดกองทัพที่ไม่ถูกปลดอาวุธนั้นเองก็ได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้ง หลังจากประกาศให้การเข้าร่วมสงครามเป็นโมฆะได้ 2 ปี

“กองทัพไม่อาจให้เรื่องราวของเสรีไทยดำรงอยู่ในความทรงจำได้ เพราะเป็นคู่ตรงกันข้าม หากมีเสรีไทยย่อมไม่มีกองทัพไทย หากมีกองทัพย่อมไม่มีเสรีไทย” ธำรงศักดิ์สรุปถึงคำตอบว่าทำไมเสรีไทยจึงไม่มีตัวตนในสังคมไทย

เขากล่าวต่อว่า นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์แล้ว ก็ดูเหมือนไม่มีใครพยายามบอกเล่าเรื่องราวของเสรีไทยอีกในสังคมไทย

“แม้แต่ประติมากรรมเสรีไทยหน้าหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ มันก็มินิมาก ในขณะที่จอมพล ป.สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกลางเมืองเลย ความทรงจำมันมินิเหลือเกิน แล้วมันจะเหลืออะไรในการต่อสู้ทางความทรงจำ”

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า อาจมีความพยายามจะฟื้นความจำเกี่ยวกับเสรีไทยบ้าง เช่นกรณีนายเตียง ศิริขันธ์ ที่สกลนคร แต่ก็เพิ่งสิบปีมานี้เองที่ท้องถิ่นสามารถปลุกเร้าเรื่องราวของนายเตียงขึ้นมาจนสร้างอนุสาวรีย์ได้ แต่ถึงที่สุดเราก็จะเห็นว่า ไม่มีการรวบรวม ไม่มีการดูแล ปล่อยสมาชิกขบวนการไปตามยถากรรม ใครโชคดีมีชื่อเสียงหน่อยก็ยังเป็นที่รับรู้ต่อมา

“คงไม่ใช่ภารกิจของพวกผมที่จะเล่าเรื่องนี้ต่อ เพราะยังต้องต่อสู้อีกหลายเรื่องข้างหน้า คำถามจึงคือว่า ยังจำเป็นต้องเก็บเสรีไทยไว้ไหม เรื่องราวเสรีไทยจะมีประโยชน์อะไรสำหรับอนาคต”

“ชื่อดูดี แต่ในการกล่าวถึงวันสันติภาพ แทบไม่มีเนื้อหาเลยว่ามันคือการต่อสู้ในเรื่องอะไร จุดนี้สำคัญ ถ้าเป้าหมายของเสรีไทยคือเอกราชของชาติ ในอนาคตที่กำลังเดินไป รัฐกำลังไร้พรมแดนในนามของอาเซียน ในนามของโลกาภิวัตน์ แล้วการต่อสู้เรื่องเอกราชจะเหลืออะไรกับโลกที่กำลังไร้พรมแดน” ธำรงศักดิ์ตั้งคำถาม

เขากล่าวว่า ถึงที่สุดเขาก็พอมีคำตอบในใจว่า เรื่องเสรีไทยยังเดินต่อได้ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องชูคือ สันติภาพ  เพราะโลกไร้พรมแดนด้านการค้า แม้ความมุ่งหวังอยู่ที่ความมั่งคั่ง แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าบริบทภูมิภาคเหล่านี้ไม่มีคำว่าสันติภาพ แต่เรื่องเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศอาจมีปัญหาต่อโลกในอนาคต เพราะเอกราชและอธิปไตย มีแนวโน้มทำให้คนรักชาติจนคลั่งชาติ ดังเช่นปัญหาปัจจุบันของไทยเรื่องข้อพิพาททางด้านเขตแดน ซึ่งเรามีปัญหากับทุกประเทศไม่เฉพาะกัมพูชา นอกจากนี้ยังต้องขับเน้นเรื่องของประชาธิปไตยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งต่อเนื่องจากคณะราษฎร ดังจะเห็นได้จากรูปธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น เช่น การมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การเรียงชื่อสมาชิกสภาตามลำดับอักษร ไม่ใช่ยศถาบรรดาศักดิ์ การส่งเสริมความเท่าเทียมของหญิงชาย เป็นต้น

เขากล่าวว่า โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ ‘สันติภาพ’ ของเสรีไทย กลายมาเป็นแก่นหลัก ซึ่งจะทำให้เรื่องราวของเสรีไทยดำเนินต่อไปได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต  ขณะเดียวกันก็ควรจะให้พื้นที่ต่างจังหวัดมีบทบาทในการบอกเล่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้  ไม่ผูกขาดเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น

“เรามีรายละเอียดจำนวนมากว่าเขตไหนมีการฝึก ใครเข้าร่วมกระบวนการ ถ้าทำให้จังหวัดต่างๆ ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้..เราจะทำให้เรื่องราวของเสรีไทย ถูกพูดถึงนอกเหนือจากการเป็นเรื่องระดับชาติได้ไหม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เสรีไทยได้รับชัยชนะในบทเรียนแต่ไม่ได้รับความทรงจำทางสังคม”

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เขายังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า ในเชิงการดำเนินการ ใครควรจะเป็นหน่วยหลัก แต่คาดว่าหากจะผลักดันเรื่องนี้คงต้องเป็นวาระขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือ ไม่ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่เสรีไทยรู้สึกหงุดหงิดกับการฟื้นฟูเรื่องราวของเสรีไทยด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเข้าสู่รายละเอียดของเรื่องราวก็ย่อมมีแง่มุมน่าตั้งคำถามได้มากมาย

“มันต้องมีคำถามแน่ๆ ต้องยอมรับให้มีการตั้งคำถาม ถ้าห้ามเด็กๆ ตั้งคำถามเหมือนเรื่องราวหลายๆ เรื่อง ก็จะทำให้เรื่องราวมันตาย การตั้งคำถามอาจเสี่ยงต่อความศักดิ์สิทธิ์ที่จะลดลง แต่เสรีไทยไม่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วในความทรงจำ”

“เราน่าจะทำเสรีไทยให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นความรักที่เราวิพากษ์วิจารณ์ได้”

เขากล่าวด้วยว่า ในทางวิชาการ ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อให้นักศึกษาได้ตั้งคำถาม มิใช่เชื่ออย่างงมงาย ถ้าเราทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไม่อาจตั้งคำถามได้ มันก็เป็นเพียงความเชื่อ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ในสังคมไทยปัจจุบันเราตั้งคำถามไม่ได้กับแทบทุกเรื่องในแง่ประวัติศาสตร์ ดังนั้นสิ่งที่อยู่กับเราก็คือ ความเชื่อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net