Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่จะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่เป็นการวิจารณ์วรรณกรรม เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องวรรณกรรม เพียงแต่อยากจะบอกว่าผมรู้สึกอย่างไรกับความคิดที่เสนอผ่านเรื่องสั้น “บุญโฮมผีบ้า” ซึ่งเป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น “กลับบ้านเก่า” ของสมภาร พรมทา


ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html

บักโฮมผีบ้าเป็นเรื่องราวชีวิตอันน่าเศร้าของคนที่เราบอกไม่ถูกว่า เขาเกิดมาเพื่อตกเป็น “เหยื่อ” หรือว่าเขาถูกระบบสังคมทำให้ต้องกลายเป็นเหยื่อกันแน่ เรารู้เรื่องราวของเหยื่อที่ชื่อบุญโฮม หรือที่คนในหมู่บ้านเรียกเขาว่า “บักโฮมผีบ้า” จากคำบอกเล่าของตัวละครที่เป็นครูบ้านนอก ซึ่งเป็นเพื่อนของบุญโฮมมาตั้งแต่วัยเด็ก
พิจารณาจากบุคลิกภาพ จะเห็นว่าบุญโฮมเป็นคนหัวไม่ดี ตอนเรียนประถมสอบตกซ้ำชั้นบ่อยๆ จบประถมหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ออกโรงเรียน” มาได้ก็ถูกล้อว่า “เอาไก่แลกออก” เพื่อนที่เป็นครูในหมู่บ้านเดียวกันบรรยายบุคลิกภาพในวัยเด็กของบุญโฮมว่า

บางวันในห้องเรียน เวลาทำข้อสอบ เช่นเลข ผมเห็นบุญโฮมนั่งคิด สายตาเหม่อลอย ปากอมดินสอ หน้าตาเหมือนคนหมดทางไป แต่ก็ไม่เป็นทุกข์ ดวงตาของบุญโฮมถ้าใครได้เห็นใกล้ๆ อย่างผม จะรู้ว่าเป็นดวงตาที่ซื่อใสเหมือนดวงตาของหมาน้อยอายุสักสามเดือน (ขออภัยผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ) หมานั้นเวลาถูกเจ้าของตีไม่ว่าจะหนักหนาอย่างไร มันก็ไม่เคยแสดงอาการโกรธแค้นเจ้าของ เวลาที่บุญโฮมถูกพ่อตี ผมก็รู้สึกอย่างเดียวกันนั้น

การเป็นคนป้ำๆ เป๋อๆ ของบุญโฮม อาจไม่ได้มาจากธรรมชาติทางชีววิทยา หรือว่าความเป็นคนสมองทึบเป็นด้านหลัก แต่สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการทารุณกรรมของพ่อขี้เมา อารมณ์โมโหร้าย เมื่อเมามาก็มักจะมาลงที่บุญโฮมเป็นประจำ ความจริงอันน่าเศร้าอย่างแรกคือบุญโฮมกลายเป็นเหยื่ออารมณ์ร้ายของพ่อตนเอง อย่างที่สองคือเขาตกเป็นเหยื่อของชาวบ้าน ถูกชาวบ้านเรียกว่า “บักโฮมผีบ้า” ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย เดินไปไหนในหมู่บ้านก็มักจะถูกเด็กๆ ปาก้อนหินใส่ ในที่สุดเขาก็ไปปลูกกระท่อมอยู่ที่ทุ่งนาใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิงที่ชาวบ้านเรียกว่า “อีกืก” (หญิงใบ้) ที่ว่ากันว่าเคยเป็นโสเภณีอยู่ในเมือง ต่อมาติดโรคที่รักษาไม่หาย เขาเลยเอามาปล่อยในหมู่บ้าน และกลายมาเป็นเมียของบุญโฮม

แล้วชะตากรรมก็เล่นตลกกับบุญโฮมไม่เลิก เมื่อเขาต้องกลายมาเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องราวมีว่า ผู้ใหญ่บ้านได้รับคำสั่งจาก “ท่าน ส.ส.” ให้หาคนในหมู่บ้านไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ 20 คน แต่หาคนได้ไม่ครบในที่สุดก็พาบุญโฮมไปด้วย เขาไม่รู้ว่าไปทำอะไร จะได้หรือไม่ได้อะไร เขารู้สึกดีใจหน่อยตอนที่ผู้ใหญ่บ้านขอตัวกลับก่อนแล้วทิ้งเงินไว้ให้คนละ 300 บาทต่อวัน รู้สึกเขาจะได้ราวๆ 900 บาท เป็นเงินก้อนแรกที่เขามีโอกาสได้จับในชีวิต เขาอยู่ในที่ชุมนุมโดยไม่รู้เรื่องอะไร แต่ที่เขาช่วยอะไรได้บ้างคือช่วยดูแลลุงใสขี้เมาที่บังเอิญเป็นไข้ในระหว่างชุมนุม ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลุงใสนั้นเคยรังเกียจความเป็น “บักโฮมผีบ้า” ของเขามากเพียงใด เพื่อนของเขาเล่าฉากสุดท้ายของชีวิตบุญโฮมว่า

คืนสุดท้าย ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลาย เปลวไฟรอบๆ เริ่มสงบลงมาก เหลือเพียงควันสีดำๆ และฝุ่นผงที่ลอยกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ลุงใสไข้ขึ้น กินยาแล้วยังไม่ดี ตอนนั้นบุญโฮมต้องนอนอยู่ข้างแก ตกดึกผมกำลังจะเคลิ้มหลับ คลับคล้ายคลับคลาว่าลุงใสแกปวดท้องจะเข้าส้วมแต่ลุกไม่ได้ แกตะโกน “บักผีบ้า พากูไปส้วมเร็ว ขี้จะแตก” บุญโฮมลุกขึ้น เอามือช้อนไปที่ใต้รักแร้ของลุงใส แล้วหิ้วแกขึ้นเหมือนหิ้วของเบาๆ เนื่องจากร่างกายของเขาใหญ่โตแข็งแรง และลุงใสผอมกะหร่องอย่างนั้น ผมมองตามไปสักพักก็เห็นสองคนนั้นล้มลงเต็มแรง ลุงใสด่า “บักห่าเอ๊ย พากูล้ม มึงไม่มีตาหรือไงวะ” แต่ร่างของบุญโฮมที่ล้มไปนั้นไม่ไหวติง ลุงใสที่นอนอยู่พยายามเอาตีนไปกระทุ้ง “ลุกๆ บักผีบ้า” ไม่มีเสียงตอบ ผมเอะใจ จึงถลันไปที่ร่างนั้น บุญโฮมนอนคว่ำหน้า เมื่อผมกับเพื่อนครูอีกคนช่วยกันพลิกร่างของเขากลับมาในท่านอนหงาย ผมก็ตกใจสุดขีด ที่หน้าผากของเพื่อนผู้อับโชคของผมมีรอยกระสุนและคราบเลือดตรงปากทางกระสุนนิดหน่อย แต่บริเวณท้ายทอยที่มือของผมกำลังอุ้มประคองอยู่นั้น ผมสัมผัสได้ถึงเลือดที่เหนียวเหนอะนองเต็มไปหมด สองตาของเพื่อนยังเปิดอยู่ ดวงตานั้นยังใสซื่อเหมือนเมื่อก่อน ต่างเพียงตอนนี้ดวงตาคู่นี้กำลังอยู่ในร่างที่ไร้วิญญาณ

ผมอ่านเรื่องสั้น “บักโฮมผีบ้า” จบลงด้วยความรู้สึกหดหู่ บอกไม่ถูกว่าโลกของความเป็นจริงกับโลกในนิยายอันไหนน่าเศร้ามากกว่ากัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตที่ตกเป็น “เหยื่อ” ในแทบทุกสังคมนั้นมีอยู่จริง คนอย่างบุญโฮม ก็ไม่ใช่คนที่เราไม่อาจพบได้ในโลกของความเป็นจริง

จะว่าไปแล้ว โลกในความเป็นจริงอาจโหดร้ายกว่าโลกในนิยายด้วยซ้ำ อย่าง 6 ศพที่วัดปทุมพวกเขาคงไม่ได้เขียนนิยายให้ตนเองต้องมาปิดฉากลงเช่นนั้น แต่มีคนอื่นเขียนฉากสุดท้ายของชีวิตพวกเขา หรือแม้แต่ เสธ.แดงที่เราเห็นได้ชัดว่าเขาเลือกที่จะกำหนดบทบาทของเขาเอง ไม่ได้ถูกใครจูงจมูก แต่แน่นอน เขาไม่เขียนนิยายชีวิตของตนเองให้ต้องปิดฉากลงเช่นนั้น คนอื่นเป็นคนเขียน 6 ศพที่วัดปทุม เสธ.แดง หรือรวมแล้ว 98 ศพ พวกเขาคือ “เหยื่อ” ของใครหรือระบบอำนาจใดก็ตามที่เป็นผู้เขียนฉากสุดท้ายของชีวิตพวกเขา

ผมสนใจมุมมองบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครผู้เล่าเรื่องราวชีวิตของบุญโฮม ตอนหนึ่งตัวละครนี้พูดถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเองว่า

ผมไม่ใส่เสื้อสีไหนทั้งนั้น แต่ลึกๆ นั้น ผมเองว่าไปแล้วค่อนข้างเอนเอียงมาทางแดง เพราะรู้สึกว่าเหลืองนั้นในช่วงหลังๆ มีหลายเรื่องที่ผมเห็นว่าอธิบายด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ แต่หากกล่าวถึงแกนนำทั้งเหลืองทั้งแดง ผมไม่ไว้ใจฝ่ายไหนทั้งนั้น คนที่เป็นแกนนำในทางการเมืองบ้านเรา นับร้อยทั้งร้อยเป็นคนที่สืบประวัติได้ทั้งหมดว่า เคยเคลื่อนไหวมาก่อนทั้งสิ้น แกนนำแบบนี้ผมมองว่าเหมือนคนติดยาเสพติด การเมืองเป็นยาเสพติดอย่างหนึ่ง เมื่ออยู่ใกล้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยั่วยวน คนพวกนี้ก็จะอดไม่ได้ และที่น่าเศร้าก็คือคนพวกนี้แหละที่พาผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายไปล้มตายมานักต่อนักแล้ว

หลายคนอ่านประโยคสุดท้ายแล้วอาจโกรธจน “ของขึ้น” เพราะคำว่า “แกนนำพาคนไปตาย” เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่เถียงกันได้มาก บ้างก็มองว่ามันไม่แฟร์เพราะเป็นการลงโทษฝ่ายที่ไม่ได้ลงมือฆ่ามากกว่า ไม่ได้โทษความผิดของฝ่ายที่ลงมือฆ่าไปแล้ว และไม่มีความหมายในเชิงว่าจะมีแนวทางป้องกันฝ่ายที่ลงมือฆ่าไปหลายต่อหลายครั้งแล้วไม่ให้ฆ่าอีกได้อย่างไร

วาทกรรมนี้หากจะมีเหตุผลอยู่บ้างก็ในแง่ของการเรียกร้องความรับผิดชอบจากแกนนำให้ถือว่า การปกป้องชีวิตของมวลชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดกว่าชัยชนะทางการเมือง จำได้ว่าผมเคยเขียนบทความชื่อ “แกนนำ นปช. อย่าพาคนไปตาย” ลงประชาไทวันที่ 16 เม.ย.53 (ในเวลานั้น อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ออกมาเตือนประมาณว่า “เพียงเพื่อให้ได้การเลือกตั้ง ตาย 1ศพ ยังไงก็ไม่คุ้ม นี่ตั้ง 25 ศพแล้วจะบวกอีกเท่าไรยังไม่ทราบ ถ้าไม่เปลี่ยนยุทธวิธีต่อสู้”) ในบทความนั้นเนื้อหาไม่ได้มุ่งตำหนิแกนนำ แต่ผมเห็นว่า ในขณะนั้นแกนนำสามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า หากไม่หาทางคืนสู่โต๊ะเจรจาให้ได้ และยังเดินเกมกดดันต่อไปเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น!

ส่วนเรื่องไม่เลือกสีเพราะไม่ไว้ใจแกนนำนั้น มีหลายคนที่คิดเช่นนั้น ผมเคยสัมภาษณ์หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านก็ตอบแบบนี้ บางคนนั้นถึงขนาดอึดอัดไม่อยากแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะกลัวถูกผลักไปเป็นสีนั้นสีนี้ เหตุผลของแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนไม่เลือกสีแต่ก็พยายามเข้าใจและเคารพเหตุผลของทุกสี บางคนไม่เลือกเพราะรังเกียจหรือเบื่อหน่ายทุกสี บางคนไม่เลือกเพราะเห็นว่าทุกสีต่างก็ “ไม่บริสุทธิ์” เพราะต่างมี “วาระซ่อนเร้น” ของตนเอง หรือต่างตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และอำมาตย์ หรือกระทั่งมองว่าพวกเลือกสีไม่รู้ประชาธิปไตย ไม่ได้สู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆ พวกนี้ก็จะพยายามมาเทศนาให้ทุกสีลดพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย หันมาเจรจาด้วยเหตุผล รับฟังกันและกัน ฯลฯ แต่ไม่รู้ว่า พวกเขามีข้อเสนออะไรที่จะแก้ระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ส่วนตัวผมนั้นเห็นว่า เหตุผลเรื่องไม่ไว้ใจแกนนำนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากนัก ผมคิดตรงไปตรงมาว่า แกนนำก็คือคนที่แสดงบทบาทหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองตามความสามารถที่เขามี ส่วนที่คนออกมาร่วมต่อสู้จำนวนมากนั้น ขึ้นอยู่กับว่า “วาระทางการเมือง” ที่แกนนำเสนอประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงสามารถปลุกเร้ามโนธรรมทางสังคมได้มากน้อยเพียงใด ถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองก็ไม่ได้ผูกอยู่กับแกนนำ และแกนนำแต่ละยุคก็ไม่ใช่คนที่ดีหรือเลวบริสุทธิ์

บางคนชอบนำ “สามเกลอหัวขวด” ไปเปรียบเทียบกับแกนนำยุค 14 /6 ตุลา เพื่อสรุปว่าแกนนำยุคนั้นสู้ด้วยอุดมการณ์มากกว่า แต่ผมเคยเห็น “ท่านพี่ใบตองแห้ง” ซึ่งเป็นคนเดือนตุลา พูดออกทีวีว่า กระบวนการ 6 ตุลา กับกระบวนการเสื้อแดงปัจจุบันก็เหมือนกันนั่นแหละคือไม่ได้บริสุทธิ์ชนิดที่มองได้แบบขาว-ดำ เขาจึงแปลกใจว่าทำไมคนที่เคยเป็นอดีตนักศึกษา 6 ตุลา จึงเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดงได้ลงคอทั้งที่ต่างก็ถูกล้อมปราบด้วยการอ้างสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกัน (พูดจบก็ปล่อยโฮออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่) นี่ยังไม่ต้องพูดถึง “กวีธรรม” ที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาว่ามองเสื้อแดงเป็น “ควายแดง” อย่างไร หรือคนอย่าง “หงา คราวาน” ยังต้องออกมาทวงสีแดงคืนด้วยอ้างว่าเป็นสีเลือดในกายของทุกคน ใครจะผูกขาดสีแดงไม่ได้ เป็นต้น นี่คือตัวอย่างให้เห็นว่า แกนนำไม่ว่ายุคไหนก็ไม่ใช่คนที่เราอาจฝากความเชื่อใจไว้ได้ แต่เราควรเชื่อและเลือกฝ่ายที่สู้ด้วยวาระประชาธิปไตยและอ้างอิงวาระดังกล่าวในการตรวจสอบแกนนำด้วย

จริงอยู่คนที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง นักการเมือง พรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนก็ไม่ใช่บริสุทธิ์ ไร้บาดแผล ซึ่งคนเสื้อแดงย่อมรู้ความจริงนี้ แต่ที่ผมมองว่า พวกเขาเลือกฝ่ายถูกก็คือพวกเขาเลือกฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ (ไม่มีกฎหมายห้าม) ประชาธิปไตยมันก็เป็นแบบนี้ จะหาอะไรที่ดีบริสุทธิ์ส่วนเดียวได้อย่างไร (สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบบอะไรก็ไม่มีที่ดีบริสุทธิ์หรอก) มันคือการเดินทาง การร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันท่ามกลางความกึ่งดิบกึ่งดีนี่แหละ

ประเด็นสุดท้าย คือมุมมองเกี่ยวกับ “ความไม่รู้เรื่อง” ของชาวบ้าน ตัวละครที่เล่าเรื่องพูดถึงความไม่รู้เรื่องของชาวบ้านที่มาชุมนุมทางการเมืองว่า

วันหนึ่งคนบนเวทีพูดเรื่อง “สองมาตรฐาน” ลุงใสแกได้ยิน แกหันมาถามผมว่า “อาจารย์เขาพูดเรื่องสองอีหยังวะ สองถานสามถานมันเกี่ยวอีหยังกับถาน (ส้วม-ผู้เขียน) พระวะ” ....

ลุงใสนี้ผมคิดว่า เป็นตัวอย่างของชาวบ้านธรรมดาๆ ที่บางครั้งก็เข้ามาเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองในอีกแบบหนึ่ง แกไม่รู้เรื่องส่วนใหญ่ที่คนพูดบนเวที แกรู้จักทักษิณคนเดียว และแกเชื่อของแกว่าทักษิณดี เพราะแกเคยเห็นทักษิณนั่งรถอีแต๋นในโทรทัศน์ และมีข่าวในช่วงทักษิณตระเวนอีสาน ใครเข้าไปขออะไรทักษิณให้หมด นายกอย่างทักษิณนี่แหละที่ลุงใสแกเชื่อว่าดี แกมาคราวนี้เพราะแกเชื่อว่าจะช่วยให้ทักษิณได้กลับมาเป็นนายกอีก

อันที่จริงผมชอบตัวละครตัวนี้นะครับในแง่ที่เขาเป็นคนที่มีจิตใจละเอียดอ่อนต่อ “บักโฮมผีบ้า” เพื่อนผู้อับโชคของเขา และช่วงท้ายๆ ของเรื่องเขาก็เล่าถึงลุงใสอย่างให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของแก แต่มุมมองข้างบนนี้ผม “รู้สึก” ว่าจะขัดกับบุคลิกภาพของตัวละครที่เป็น “ครูบ้านนอก” ผู้ไม่ติดจานดาวเทียมเกาะติดการชุมนุมทางการเมืองอย่างที่เขาเล่าแต่ต้น

เพราะอ่านมุมมองนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงนักธุรกิจคนหนึ่งออกทีวี (ที่ผมจำได้ไม่ลืม) เขาพูดถึงชาวบ้านที่มาชุมนุมว่า “แกนนำเขาชวนมาโค่นอำมาตย์ก็มาตามเขา ไม่รู้ว่าอำมาตย์คืออะไร พอมาถึงก็ถามว่า ไหนต้นอำมาตย์อยู่ไหนพวกเราจะได้ช่วยกันโค่น” ผมเลยสงสัยว่าทำไมครูบ้านนอกคนนี้จึงมีมุมมองต่อชาวบ้านเหมือนมุมมองของคนชั้นกลางในเมืองเหลือเกิน ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าอาจมีชาวบ้านอีสานจำนวนหนึ่งมีมุมมองเช่นนี้อยู่จริง แต่ผมไม่เชื่อว่าการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดง หรือเป็นเสื้อแดงเกือบทั้งภาค หรือการที่ชาวบ้านธรรมดาออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมหาศาลขนาดนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงเพราะพวกเขาไม่มีสำนึกทางการเมือง หรือเพียงแค่นิยมชมชอบทักษิณอย่างผิวเผิน

ว่าโดยสรุป เรื่องสั้น “บักโฮมผีบ้า” สะท้อนโศกนาฏกรรมของคนที่ตกเป็น “เหยื่อ” ได้อย่างสะเทือนใจ ผมชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้ อ่านแล้วทำให้ผมคิดถึงเหยื่อรายอื่นๆ นึกถึงอากง นักโทษมโนธรรมสำนึกในคดี 112 นึกถึงชาวบ้านหลายจึงหวัดที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 20-30 ปี (ที่เพิ่งได้ประกันตัวไปบ้างในระยะหลังๆ) หลายคนสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และอิสรภาพที่แลกมาได้เพียง “การเลือกตั้ง” แต่รัฐบาลที่เลือกมาไม่มีอำนาจจะทำอะไรเลย ไม่ต้องพูดถึงแก้ 112 แม้แต่จะแก้รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นขบถล้มล้างการปกครองเสียแล้ว นี่หมายความว่าเราตกเป็นเหยื่อของใคร และมีใครบ้างที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ

พูดก็พูดเถอะ อย่างอากงที่ต้องตายในคุกเพราะทำผิดด้วยข้อความเพียง 4 ข้อความ นี่คือเหยื่อในโลกความจริงที่น่าเศร้ายิ่งกว่าเหยื่อในนิยายเสียอีก อย่างอาจารย์สมศักดิ์จะว่าไปก็คือ “เหยื่อ” ที่ถูกสังคมตัดสินว่า “มีอคติต่อเจ้า” ที่ว่า “สังคม” ตัดสินเพราะไม่ใช่เสื้อเหลืองเท่านั้น แม้แต่สื่อหรือนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าบางคนก็มองว่าเขามีอคติต่อเจ้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขาสู้กับอคติเชิงโครงสร้างที่กำหนดให้พูดถึงสถาบันเฉพาะด้านบวกเพียงด้านเดียว

ความมีเหตุผลหรือเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ บุคคลที่มีบทบาทสาธารณะทุกคนต้องพูดถึงได้ทั้งด้านบวกและลบ หรือต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่ประหลาดไหม คนที่ต่อสู้ด้วยจุดยืนของเหตุผลเช่นนี้กลับกลายเป็นเหยื่อถูกพิพากษาว่ามีอคติ ขณะที่ฝ่ายปกป้องโครงสร้างอคติกลับไม่มีใครว่าอะไร

แน่นอน นิติราษฎร์ก็ตกเป็นเหยื่อ เช่นที่อาจารย์วรเจตน์ถูกทำร้ายร่างกาย และกลุ่มนิติราษฎร์ถูกโจมตีใส่ร้ายต่างๆ จะว่าไปคนที่นิยามตนเองว่าเป็นกลาง หรือไม่เลือกฝ่ายอาจกำลังตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวในความหมายใดความหมายหนึ่งอยู่ก็ได้

แต่เหยื่ออย่างเราๆ ก็ยังดีกว่าบักโฮมผีบ้า เพราะเรายังมีสติสตังสมประกอบ และสามารถเลือกได้ว่าจะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง ปลดปล่อยกันและกันไม่ให้ต้องอยู่ในสภาพที่ตกเป็น “เหยื่อ” เช่นนี้ตลอดไปได้อย่างไร!


หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: บักโฮมผีบ้า “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง: เรื่องสั้นของ สมภาร พรมทา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net