ภัยพิบัติจากเมือง “Toulouse” ประเทศฝรั่งเศส: บทเรียนที่ถูกเบียดบัง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฝรั่ง : “เอาไหม เราจะไปตั้งโรงงานให้ ประเทศยูจะได้มีรายได้ และเป็นประเทศพัฒนาแล้วเหมือนเรา”

ไทย : “เอาซิ!”

(ฝรั่ง : “อ้อ...โรงงานเคมีที่จะขายให้ เคยมีประวัติระเบิดมาแล้วนะ มีคนบาดเจ็บเยอะแยะ และยังมีผลกระทบระยะยาวที่ยังประเมินไม่ได้อีก”-เงียบ)

 

บทสนทนาเรื่องการตั้งโรงงานเพื่อการพัฒนาที่ยกมาข้างต้น สังคมไทยจะได้รับรู้เพียง 2 ประโยคแรก แต่ประโยคสุดท้ายสังคมไทยไม่เคยได้รับรู้ ไม่อยากรับรู้ และไม่ต้องการรับรู้ ความไม่รู้เช่นนี้จะว่าไปก็มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะช่วงที่เราเริ่มมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504


นิโคลัส เดซี  

นิโคลัส เดซี (Nicolas Dechy) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและนักสืบเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการองค์กรและการเข้าถึงปัจจัยความปลอดภัยด้านพลังงานโรงงานนิวเคลียร์ (Institut de Radioprotection et de Sûreté Nucléaire-IRSN) จากประเทศฝรั่งเศส มาบรรยายเกี่ยวกับภัยพิบัติโรงงานเคมี ณ เมือง Toulouse ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งระเบิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2001 หลังจากประเทศสหรัฐอเมริกาถูกวินาศกรรมจากเหตุการณ์ 9/11 ได้เพียง 10 วัน และนี่เป็นเหตุให้สังคมโลก ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า มีเหตุการณ์ภัยพิบัติจากโรงงานเคมีในเมือง Toulouse ประเทศฝรั่งเศสเกิดขึ้น

 


ภัยพิบัติโรงงานเคมี ณ เมือง Toulouse

http://www.rootcauselive.com/RootOff/RootOffArchives/1stQtr2002/RootOff11-01.htm


รายละเอียดเหตุการณ์
ตอนแรกที่โรงงานแห่งนี้ระเบิด รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งข้อสงสัยว่า “นี้เป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายหรือเปล่า?” เพราะอเมริกาเพิ่งโดนวินาศกรรมไปเมื่อ 10 วันก่อน และเหตุการณ์นี้อาจเกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อสืบสวนโดยใช้เวลาเพียง 15 วัน ผลปรากฏว่า ไม่พบความเชื่อมโยงกันกับเหตุการณ์ก่อการร้าย

การระเบิดทำให้สารเคมีแอมโมเนียไนเตรทจำนวน 300 ตัน รวมทั้งสารเคมีอื่นๆ ฟุ้งกระจายอยู่ทั่วบริเวณรอบๆ โรงงาน ขนาดของระเบิดเทียบเท่ากับแผ่นดินไหว 3.4 ริกเตอร์ และเทียบเท่ากับระเบิด TNT 20-40 ตัน ที่สำคัญโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับเมือง โรงเรียนหลายแห่ง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง โรงพยาบาลและโรงพยาบาลประสาท ทั้งหมดต้องรีบอพยพผู้ป่วยออกไปนอกบริเวณให้เร็วที่สุด ผลของการระเบิดทำให้คนจำนวน 30 คนเสียชีวิต และกว่า 2,500 คน บาดเจ็บสาหัส อีก 8,000 คนบาดเจ็บเล็กน้อย บ้านจำนวน 27,000 หลังเสียหาย คนกว่า 40,000 คน กลายเป็นคนไร้บ้านอยู่ระยะหนึ่ง สังคมฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าความเสียหายให้กับเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ในระหว่าง 1.5 ถึง 2.5 พันล้านยูโร แต่ที่สำคัญยังมีผลในระยะยาวที่ไม่สามารถประเมินค่าได้จนถึงปัจจุบัน คือ ผลกระทบด้านพิษเคมี และอาการบาดเจ็บทางด้านจิตใจ ซึ่งต้องการเครื่องมือการติดตามอย่างต่อเนื่อง

นิโคลัส นำภาพวิดีโอที่มีผู้ถ่ายไว้ในวันดังกล่าวบนรถยนต์คันหนึ่ง ภาพฉายให้เห็นว่า ระหว่างทางมีฝุ่นเคมีกระจายทั่วไปอยู่เต็มพื้นท้องถนน ยิ่งเข้าไปใกล้โรงงานมากขึ้นเท่าไหร่ ภาพความเสียหายของรถยนต์ที่ถูกแรงระเบิดอัดย่อยยับยิ่งรุนแรงมากขึ้น มีคนบาดเจ็บโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ นั่งรอความช่วยเหลืออยู่เต็มสองข้างทาง เมื่อเข้าไปถึงโรงงานก็มีแต่เพียงซากเศษเหล็กเหลือทิ้งค้างไว้อยู่เท่านั้น บทบาทของนิโคลัส คือ วิจัย สืบสวน สอบสวน สัมภาษณ์คนจำนวนหลายร้อยคน จัดเวทีสรุปบทเรียน และนำบทเรียนนั้นเสนอเป็นนโยบายด้านความปลอดภัยและการจัดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม หน่วยงานของนิโคลัสจะทำงานเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลหรือภาคธุรกิจเอกชน และนี่ส่งผลให้เขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทุกฝ่ายและเสนอข้อมูลที่สังคมฝรั่งเศสจะได้ประโยชน์ในระยะยาว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สังคมฝรั่งเศสเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการการใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งโรงงานที่จะต้องอยู่ห่างไกลจากชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล สังคมฝรั่งเศสเลือกที่จะนำแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) มาใช้เพื่อควบคุมการจัดตั้งโรงงานในรุ่นต่อๆ ไป แต่ทว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ อย่างเยอรมัน การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การย้ายฐานการผลิตจากในประเทศสู่ประเทศโลกที่สามอย่างเช่นประเทศไทย

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะพบว่า ในช่วงยุคของการพัฒนาที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้กลายเป็นฐานการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายอย่างเต็มใจ และเราก็ยินดีที่จะไม่รับรู้ ไม่อยากรับรู้ และไม่ต้องการรับรู้ ประสบการณ์ด้านภัยพิบัติที่เลวร้ายของประเทศที่พัฒนาแล้วดังกล่าว รวมทั้งไม่อยากได้ยินเสียงชาวบ้านและคนยากจนที่จะต้องเผชิญกับมลพิษที่มาพร้อมกับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีคนจำนวนหนึ่ง พยายามส่งข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ออกสู่สาธารณะ แต่เสียของเขา/เธอ อาจจะไม่ได้ได้ยิน หรืออาจถูกมองว่า “เป็นพวกขัดขวางการพัฒนา” แต่คนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ยังเลือกที่จะสร้างการเรียนรู้และปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้าใจกลไกของการพัฒนาและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่มีอำนาจน้อยอย่างประเทศไทย และผลของการพัฒนาที่ไม่ได้มีแต่โชติช่วงชัชวาลเพียงด้านเดียวเท่านั้น หรือถ้าไม่เชื่อกันอย่างไร รัฐบาลไทยจะเชิญนิโคลัสมาเป็นวิทยากรบรรยายประสบการณ์ของเขาด้วยก็จะดี

 

 

สรุปความจากเวทีวิชาการเรื่อง “So you think the Texas City accident was a disaster? Then let me tell you about the Toulouse disaster!” โดย Nicolas Dechy วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ณ Lecture Theatre 1 CBE Building #26C, The Australian National University, Presented by School of Sociology, ANU College of Arts and Social Sciences

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท