Skip to main content
sharethis

เเถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน กรณี ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีฆ่าเเขวนคอ เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด

9 ส.ค.55 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.) ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีฆ่าเเขวนคอ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด ชื่นชมความพยายามกว่าแปดปีของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสียหาย พยานบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ร่วม และผู้พิพากษาซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีในนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของ “ระบบยุติธรรม” ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกินเลย และใช้วิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา  เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงญาติของผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้รับการเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมาย การละเลยดังกล่าว เป็นเหตุเบื้องต้นประการหนึ่งที่ทำให้นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการดำเนินคดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหลายคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย และผู้บริสุทธิ์ และทำความจริงให้ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นนั้นเป็นการทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจพรากชีวิตไปจากมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับรองถึงสิทธิในการมีชีวิตไว้ รวมถึงตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556 การที่ประเทศไทยยังดำรงไว้ซึ่งโทษประหารและมีการบังคับใช้ ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวนทางกับกระแสการยอมรับสิทธิมนุษยชนของนานาประเทศซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ยกเลิกโทษประหารแล้วกว่า 141 ประเทศ 57 ประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารอยู่ รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากนี้การลงโทษประหารชีวิตอันเป็นทฤษฎีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น จากการศึกษาพบว่ามิได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดน้อยลง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ทั้งนี้การลงโทษบุคคลที่กระทำผิดนั้นควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม สมควรเเก่เหตุ เเละก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สำนึกผิดเเก่ผู้ที่ได้กระทำความผิด

0 0 0

เเถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน
กรณี ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์
ในคดีฆ่าเเขวนคอ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง
เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด

ตามที่ ศาลอาญามีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลย สามรายในวันที่30 กรกฎาคม 2555  ในคดีดำที่ อ.3252/2552 กรณีการสังหารนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี โดยพิพากษาให้ ดต. อังคาร คำมูลนา ดต. สุดธินัน โนนทิง ดต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษเเล้วให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 5 พ.ต.อ มนตรี ศรีบุญลือ กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7  ปี จำเลยที่ 6 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิต กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต เเละให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 พ.ต.ท. สำเภา อินดี  สำหรับคดีดังกล่าวอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย เเละเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ โดยจำเลยที่ 1-3 เเละ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ ขณะนำตัวออกจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ด้วยการบีบรัดจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต และได้ปิดบังเหตุเเห่งการตายโดยร่วมกันย้ายศพไปเเขวนคอไว้ที่กระท่อมบ้านบึงนา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และ ได้ร่วมกันทำการข่มขู่พยาน  เหตุเกิดระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2547 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด เเละมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในระหว่างที่มีการประกาศนโยบายดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุฆ่าเเขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ฯ ขึ้น และยังมีคดีในลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนอีกหลายคดี

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอแสดงความเห็นต่อคดีดังกล่าวต่อไปนี้

1. ขอชื่นชมความพยายามกว่าแปดปีของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสียหาย พยานบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ร่วม และผู้พิพากษาซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีในนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษ และขจัดภาวะลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคดีนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาในการนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษได้ เนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐการกระทำผิดมักจะมีวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ และพบอุปสรรคในการพิสูจน์ว่าการกระทำความผิดเพราะผู้กระทำเชี่ยวชาญในด้านหลักฐานในคดีจึงเป็นการง่ายในการกลบเกลื่อน หรือทำลายหลักฐานความผิดของตน รวมถึงปัญหาการใช้อำนาจในการข่มขู่พยานอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้ คำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดจะต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป หรือสูงกว่า เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนในการขจัด “วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด” (Impunity) ของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นในฐานะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเหนือบุคคลทั่วไปจำต้องใช้อำนาจของตนอย่างระมัดระวัง ซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ ยุติธรรม เคารพในสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เละคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม โดยไม่ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

2. คดีนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ได้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของ “ระบบยุติธรรม” ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกินเลย และใช้วิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา  เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงญาติของผู้เสียชีวิต และบังคับให้บุคคลสูญหายไปจากพื้นที่ มีการกระทำทารุณกรรม และฆาตกรรมอำพรางคดี อันเป็นการขัดกับหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. 2519) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539

3. กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้รับการเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมาย การละเลยดังกล่าว เป็นเหตุเบื้องต้นประการหนึ่งที่ทำให้นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่

4. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการดำเนินคดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหลายคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย และผู้บริสุทธิ์ และทำความจริงให้ปรากฏ

5. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนดังรายชื่อแนบท้ายนี้ มีความเห็น และขอตั้งข้อสังเกตว่าโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ยังคงกำหนดให้มีโทษประหาร ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 18    เนื่องจากโทษประหารชีวิตนั้นเป็นนั้นเป็นการทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจพรากชีวิตไปจากมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับรองถึงสิทธิในการมีชีวิตไว้ รวมถึงตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556 การที่ประเทศไทยยังดำรงไว้ซึ่งโทษประหารและมีการบังคับใช้ ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวนทางกับกระแสการยอมรับสิทธิมนุษยชนของนานาประเทศซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ยกเลิกโทษประหารแล้วกว่า 141 ประเทศ 57 ประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารอยู่ รวมทั้งประเทศไทย นอกจากนี้การลงโทษประหารชีวิตอันเป็นทฤษฎีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น จากการศึกษาพบว่ามิได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดน้อยลง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ทั้งนี้การลงโทษบุคคลที่กระทำผิดนั้นควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม สมควรเเก่เหตุ เเละก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สำนึกผิดเเก่ผู้ที่ได้กระทำความผิด

 

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุ
ษยชน (ครส.)
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสั
นติธรรม (สสธ.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net