Skip to main content
sharethis

7  สิงหาคม 2555  เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ดำเนินการสุ่มตรวจผัก 7 ชนิดซึ่งเป็นผักที่บริโภคกันทั่วไป โดยสุ่มเก็บจากผักที่ได้รับมาตรฐาน Q และผักตราห้าง (house brand)ที่ขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆในเขตกรุงเทพมหานคร  และพบว่าพืชผักดังกล่าวมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน[1]ถึง 6 ตัวอย่างจากจำนวนที่สุ่มเก็บมา 14 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 43% ของตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งได้แถลงไปเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น

นายพชร แกล้วกล้า โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค   มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แฉผลการทดสอบสารเคมีในผักโดยระบุว่า   เครือข่ายไทยแพนและนิตยสารฉลาดซื้อยังได้สุ่มผักจำนวน 7 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ที่ขายในตลาดสดทั่วไป 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ รวมถึงผักที่ขายในรถเร่ ไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

จากจำนวนตัวอย่างผักที่สุ่มตรวจจากตลาดห้วยขวาง 7 ตัวอย่าง ตลาดประชานิเวศน์หนึ่ง 7 ตัวอย่าง และจากรถเร่ 7 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมด 8 ตัวอย่างจากทั้งหมด 21 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น  38.1 % ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับผลการสุ่มตรวจผักที่มีตรามาตรฐาน Q ของกรมวิชาการเกษตรและผักที่ขายในห้างซึ่งพบว่ามีผักที่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 43 %  ทั้งๆที่ผักดังกล่าวมีราคาแพงมากกว่าผักที่ขายในตลาดสดตั้งแต่ 2-10 เท่า

ชี้ “ผักชี ถั่วฝักยาว พริกจินดา คือผัก 3 ชนิดที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด
1) ถั่วฝักยาว พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 6 ชนิด  ได้แก่ Acephate, Carbofuran, EPN, Ethion, Methomyl และ Omethoate  เช่น ถั่วฝักยาวตราผักดอกเตอร์มี CarbofuranและMethomyl  เกินค่ามาตรฐานยุโรป 3.5 และ 4 เท่าตามลำดับ ถั่วฝักยาวที่ได้จากห้างเทสโก้พระรามสองพบ Ethion เกินมาตรฐาน 5 เท่า ในขณะที่ถั่วฝักยาวที่ได้จากตลาดห้วยขวางพบ EPNเกินค่ามาตรฐานถึง 34 เท่า

2) ผักชี พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 5 ชนิด  ได้แก่ Carbofuran, Chlorpyrifos, EPN, Methidathion และ Methomy ที่น่าสนใจคือผักชีจากกูร์เมต์ มาร์เก็ต (สยามพารากอน) พบCarbofuran เกินค่ามาตรฐาน  37.5 เท่า ผักชีตลาดประชานิเวศน์ พบ Carbofuran เกิน 56.5 เท่า ในขณะที่ตลาดห้วยขวาง พบ EPN เกิน 102 เท่า

3) พริกจินดา พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 2 ชนิด ได้แก่ Methidathion และ Triazophos  โดยพริกจินดาจากรถเร่มี Methidathion ตกค้างสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 121 เท่า ในขณะที่พบจากตลาดห้วยขวางและประชานิเวศน์ประมาณ 5 เท่า

4) คะน้า พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 2 ชนิด ได้แก่ Dicrotophos และ Methidathion โดยพบสารเคมี Dicrotophos ตกค้างมากที่สุดที่ตลาดห้วยขวาง โดยพบสูงกว่า 202 เท่าเทียบกับมาตรฐานของยุโรป

นอกจากนี้ยังมีสากำจัดศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังหรือห้ามใช้นอกเหนือจากวัตถุอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด  (Carbofuran, Methomyl, Dicrotophos และ EPN) คือ  Carbofuran, Methomyl, Dicrotophos, EPN ที่เป็นสารอันตรายร้ายแรงและอยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรแล้ว ยังมีสารเคมีที่น่ากังวลอีก คือ Methidathion (ยุโรปห้ามใช้แล้ว) ที่พบในผักหลายชนิด พบจากทุกแหล่งซื้อ และมีปริมาณที่ตกค้างสูงมากจนน่ากังวล เช่น ในพริกจินดา ที่พบตกค้างมากเกินค่า MRL ถึง 121 เท่า

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์  ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network)   เสนอทางออก ดังนี้

1. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องดำเนินการควบคุมการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของบริษัทสารเคมีและเกษตรกรให้เข้มงวดเท่าเทียมกับที่มีมาตรการที่ใช้กับผักส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ติดตรา Q ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำกับอยู่ ทั้งนี้รวมทั้งการยกเลิกการขึ้นทะเบียนและห้ามมิให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หลายประเทศห้ามใช้แล้วโดยทันที

2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขต้องมีมาตรการในการสุ่มตรวจดูความปลอดภัยของผักและผลไม้โดยอาจประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรผู้บริโภค ทั้งนี้โดยทำงานในเชิงรุกร่วมกับห้างขนาดใหญ่ และตลาดสดที่อยู่ภายใต้กำกับของกรุงเทพมหานคร องค์กรท้องถิ่น หรือภาคเอกชน เพื่อให้ผักและผลไม้ภายในประเทศปลอดภัยยิ่งกว่านี้

3. ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปร่วมกันสนับสนุนและผลักดันเกษตรกรรมอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งปฏิเสธและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เป็นแนวทางหลักของระบบเกษตรและอาหารของประเทศ อีกทั้งร่วมอุดหนุนผักและผลไม้จากระบบการผลิตดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น

4. ในระยะเฉพาะหน้านี้ ผู้บริโภคอาจสามารถลดผลกระทบจากปัญหานี้ได้โดยการเลือกซื้อหรือบริโภคพืชผักที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อย ผักพื้นบ้าน ผักที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การลดสารเคมีตกค้างในผักโดยการล้างด้วยน้ำหลายๆครั้งหรือการใช้ด่างทับทิม (อาจไม่ได้ผลเสมอไปเพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดเป็นประเภทดูดซึม) ไปจนถึงการปลูกผักเพื่อบริโภคเอง โดยอาจหาข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องได้จากเว็บไซท์ที่เกี่ยวข้อง เช่น www.consumerthai.org , www.thaipan.org  และ www.ฉลาดซื้อ.com

ส่วน นางสาวทัศนีย์  แน่นอุดร  หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ แนะผู้บริโภค ควรบริโภคผัก ผลไม้ตามฤดูกาล หรือผักพื้นบ้าน  เพราะปลอดภัยจากสารฆ่าแมลง  นอกจากนี้ผู้บริโภคควรเป็นผู้กำหนดวิถีการกินได้ด้วยตนเอง    โดยต้องเข้มแข็งในการเลือกอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์  ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการมีบทบาทกำหนดสินค้าในตลาดได้อีกต่อไป

โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผอ.มูลนิธิชีววิถี ( BioThai) กล่าวเชิญชวนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการแสดงพลังในการฉลาดเลือกที่จะบริโภคอาหารที่ปลอดภัย  และรักสุขภาพ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 4 ชนิดในเวทีสาธารณะที่กรมวิชาการเกษตร ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้

 


[1]

ในการวิเคราะห์นี้ใช้ค่ามาตรฐาน MRL ของสหภาพยุโรปเป็นค่าเปรียบเทียบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net