Skip to main content
sharethis

ตำรวจระบุวันจับกุมแจ้งข้อหาปล้นทรัพย์ แต่ข้อหาวางเพลิงแจ้งภายหลังมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ อ้างรปภ.ชี้รูปแล้ว แต่ไม่ได้ชี้ตัว ด้านรปภ.ห้างยันยิงหนังสติ๊กเข้ามาก่อนเพลิงไหม้ สืบพยานจำเลย 7-8 ส.ค. นี้

 

6 ส.ค.55 เวลาประมาณ 10.00 น. ห้องพิจารณาคดี 11 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีการพิจารณาคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 1682/2553 ระหว่างพนักงานอัยการ กับนายอัตพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 นายภาสกร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ทั้งสองมีอายุ 16 ปีในวันเกิดเหตุเย็นวันที่ 19 พ.ค.53

จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและร่วมกันว่างเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย

ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว เป็นพยานเบิกความว่า จากการรวบรวมสำนวนการสอบสวนในคดีนี้พบว่ามีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (CTW) ได้ชี้รูปจำเลยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด โดยมีการวิ่งและยิงหนังสติ๊กเข้ามาในห้าง CTW ก่อน หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์วางเพลิงเกิดขึ้น เมื่อมีพยานบุคคลชี้ยืนยันผู้กระทำความผิด ประกอบกับมีการวางเพลิงเผาห้าง ประกอบกับผู้ต้องหาให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้อ้างพยานมาหักล้างจึงมีความเห็นสมควรส่งฟ้อง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ได้ถาม ร.ต.อ.ปิยะ ถึงมติของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 3/2553 ที่กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เป็นคดีพิเศษ รวมทั้งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วย ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปิยะ ตอบว่าใช่ โดยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นคดีที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ประธานคณะกรรมการคดีพิเศษในขณะนั้นคือนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง และขณะนั้นนายกฯ ได้มอบหมายให้รองนายกฯ คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ

เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอยังตอบทนายถามค้านด้วยว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการยุติการชุมนุมแล้ว และเด็ก 2 คนนี้ถูกจับในวันที่ 19 พ.ค.53 ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 4 โซน C เวลาประมาณ 17.00 น. โดยระหว่างจับกุมมีการต่อสู้กับเจ้าพนักงานจึงถูกตั้งข้อหาปล้นทรัพย์ โดยในวันนั้นไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ แต่มีการตั้งข้อกล่าวหาในภายหลังเนื่องจากมีพยานชี้รูป แม้ไม่ได้ชี้ตัว

สำหรับการเข้าไปตรวจในที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น ร.ต.อ.ปิยะ เบิกความว่าเข้าไปตรวจในที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุการณ์และเป็นพื้นที่ในการควบคุมของทหารแล้ว และจากการตรวจสอบภาพ VCD ในวันเกิดเหตุไม่ปรากฏภาพจำเลยถือถังแก๊สหรือมีลักษณะไปวางเพลิง  

สำหรับการแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มที่แฝงตัวเข้าไปเพื่อไปก่อเหตุในที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเบิกความว่าขณะนั้นไม่น่าจะแยกได้ เวลามีการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนสีไหนจะมีคนคอยตรวจกรองอยู่ในเวลาปกติ แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถกรองได้อย่างวันที่ 19 พ.ค.53 อันนี้จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถกรองได้หรือไม่

อัยการได้สอบถามต่อถึงเหตุที่ไม่ดำเนินคดีวางเพลิงตั้งแต่แรก ร.ต.อ.ปิยะ อธิบายว่า “กรณีดำเนินคดีฐานปล้นทรัพย์ก่อนนั้นเนื่องจากจับได้ในที่เกิดเหตุ พอจับก็ส่งดำเนินคดี ส่วนเรื่องของการวางเพลิงได้มีการร้องทุกข์และดำเนินคดีทีหลังก็เลยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในขณะนั้นจนกว่ามีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาได้มีส่วนร่วมกระทำความผิด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้จะมีการสืบพยานฝ่ายจำเลยต่อในวันที่ 7 และ 8 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ในคดีวางเพลิง CTW นี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 2 รายที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่คือ นายสายชล แพบัว อายุ 29 ปี ชาว จ.ชัยนาท และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี ชาว จ.ชัยภูมิ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณาคดีเช่นกัน ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2478/2553 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง

ส่วนคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ CTW ที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเยาวชนถูกดำเนินคดีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ในขณะที่ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันในส่วนที่เป็นผู้ใหญ่นั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาหมายเลขดำที่  2235/2553 ที่พนักงานอัยการฟ้องนายพินิจ จันทร์ณรงค์ กับพวกรวม 7 คนว่า ให้ยกฟ้องในความผิดเกี่ยวกับการปล้นทรัพย์  รวม 18 รายการ มูลค่า 95,430 บาท เนื่องจากยังไม่มีทรัพย์สินของกลางที่ยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความผิด คงมีเพียงนายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม จำเลยที่ 3 ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ( รปภ.) ประจำห้างสรรพสินค้า สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และ แบตเตอร์รี่ จากร้านขายโทรศัพท์มือถือได้ ให้ลงโทษ 3 ปี  ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกไว้คนละ 6 เดือน ส่วนข้อหาใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ ขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ศาลยกฟ้อง เนื่องจากแม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนได้ภายในห้าง แต่ไม่พบอาวุธที่ตัวจำเลย และเจ้าพนักงานก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย อีกทั้งไม่มีการนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net