Skip to main content
sharethis

เผยแรงงานได้ค่าแรงจริงไม่ถึง 300 บ.

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาดัชนีค่าครองชีพในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาพบว่า แม้ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะได้รับการขึ้นค่าจ้าง 40% ตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมี 7 จังหวัด ที่มีค่าแรงขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้ว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม และภูเก็ต แต่พบว่าอำนาจการซื้อหายไป 10 บาท เนื่องจากสินค้าประเภทอาหาร พลังงานและสิ่งของจำเป็นภายในบ้านเพิ่มราคาขึ้น เหลือใช้กำลังซื้อที่แท้จริงเพียง 290 บาท และหากปรับเพิ่มเป็น 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 อำนาจการซื้อของแรงงานทั่วประเทศจะลดลงยิ่งกว่านี้

ขณะเดียวกัน จากการติดตามผลกระทบและการปรับตัวในช่วง 100 วันหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดข้างต้น มีกลุ่มตัวอย่าง 87.5% ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง แต่ 73.2% ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบระบุว่ายังสามารถรับมือได้ ส่วนอีก 14.3% ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่าข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือก่อนสิ้นปี รัฐจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจในภาพรวม เช่น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ต้องไม่มีความเสี่ยงด้านการเมือง อย่าให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มมากกว่านี้ เช่น ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงกว่าเดิม ดูแลราคาพลังงานอย่าให้ปรับเพิ่มเร็วเกินไป ตลอดจนสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้ประชาชนมั่นใจในการบริโภค และนักลงทุนกล้าลงทุนมากขึ้น

(โพสต์ทูเดย์, 30-7-2555)

หวั่นปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ธุรกิจอาจปิดตัว 80,000 ราย

ผลวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า 100 วัน หลังขึ้นค่าแรง 300 บาท 7 จังหวัด พบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังรับมือได้

แต่รายเล็กมีแนวโน้มปิดกิจการกว่า 80,000 ราย ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่งสัญญาณเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านกลางปีหน้า หลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

3 เดือนเศษ หลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ได้รับผลกระทบชัดเจน และหากปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศก็มีแนวโน้มจะลดขนาดโรงงานในอีสานแล้วย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานที่ต้องเผชิญในปีหน้า คือการย้ายถิ่นฐานมายังเมืองใหญ่มากขึ้น เพราะโรงงานในจังหวัดเล็กๆ จะปิดตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะปิดตัว 80,000 -130,000 ราย และอีก 40,000 - 50,000 ราย สถานการณ์น่าเป็นห่วง

ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่อง หลังขึ้นค่าแรงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.พบว่าร้อยละ 87 ได้รับผลกระทบ

แม้ว่าส่วนใหญ่ระบุว่ารับมือกับผลกระทบได้ แต่ก็มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 ซึ่งสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้นทุนเพิ่มมากที่สุด

รองลงมาคือกรุงเทพ และปทุมธานี ส่วนวิธีที่ผู้ประกอบการเกือบครึ่งหนึ่งนำมาใช้ปรับตัวคือ ขึ้นราคาสินค้า ลดพนักงาน และลดปริมาณการผลิต

(ไทยพีบีเอส, 31-7-2555)

สธ.เร่งขยายประกันสุขภาพท้องถิ่นให้ทันปี 56

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารหลักประกันสุขภาพของท้องถิ่น ว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้มีนโยบายสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้เริ่มที่บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา สร้างความสะดวกผู้ที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุนเป็นอย่างดี แต่สิทธิ์ดังกล่าว ไม่ครอบคลุมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว จำนวนประมาณ 800,000 คน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.มีกฎหมายและระเบียบเฉพาะ การเบิกจ่ายค่ารักษาแยกส่วน แต่ละองค์กรอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แตกต่างจาก 3 กองทุน   กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ร่วมประชุมกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิ์รับบริการสาธารณสุข โดยได้เร่งให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถประกาศใช้อย่างเร็วที่สุด เดือนเมษายน 2556 หรือ ภายในตุลาคม 2556 เป็นอย่างช้า

(ไอเอ็นเอ็น, 31-7-2555)

สวัสดิ​การฯ​แรงงานจัด สัปดาห์​ความปลอดภัย

นายสุวิชาน ​แพทย์อุดม สวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงานจังหวัดนครปฐม?​เปิด​เผยว่า สวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน จ.นครปฐม ขอ​แจ้งว่ากรมสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงานมอบหมาย​ให้ จ.​เพชรบุรี ​เป็น​เจ้าภาพ​ใน​การจัดงานสัปดาห์​ความปลอดภัย​ใน​การ​ทำงานภาคตะวันตก ประจำปี 2555?​โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 9 - 10 ส.ค. 2555?ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ​เพชรบุรี อ.​เมือง จ.​เพชรบุรี

ทั้งนี้​เพื่อ​เป็น​การรณรงค์ส่ง​เสริม​และถ่ายทอด​ความรู้ด้านปลอดภัย​ ใน​การ​ทำงานของสถานประกอบกิจ​การ หน่วยงานภาครัฐ​และองค์กรต่างๆ ที่​เกี่ยวข้อง​ในภาคตะวันตก ​ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ​การมอบรางวัลสถานประกอบกิจ​การดี​เด่นด้าน​ความปลอดภัยฯ ​การ​แสดงนิทรรศ​การด้าน​ความปลอดภัย​ใน​การ​ทำงาน ​การสัมมนาทางวิชา​การ ​การประกวดคำขวัญ ​การประกวดวาดภาพของนัก​เรียน​และนักศึกษา ​การประกวดภาพวาด ​และ​การประกวดร้อง​เพลง

ดังนั้น​จึงขอ​เชิญท่าน​และลูกจ้าง​ในสถานประกอบกิจ​การ​เข้าร่วมงาน สัมมนาวิชา​การ ​และร่วมประกวดวาดภาพ? ภาพ​โปส​เตอร์ ​และประกวดร้อง​เพลง?​โดยขอทราบหลัก​เกณฑ์​การประกวดข้างต้น ​ได้ที่สำนักงานสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน จ.นครปฐม ​โทร 034-340067-9 ต่อ 111, 113 ​และ 104

(แนวหน้า, 3-8-2555)

แฉเงินเดือนผู้บริหารมหาลัยพุ่ง 3 แสนบาท ส่วน พนง.ดิ่งเหว-สถานะแย่กว่าลูกเมียน้อย

นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ มีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหาค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น วันที่ 7 สิงหาคม ตนในฐานะประธาน ทปอ.มรภ.จึงเชิญผู้บริหารกองแผนและนโยบายของ มรภ.ทั้ง 40 แห่ง มาจัดทำข้อมูลว่าแต่ละแห่งให้เงินเดือนพนักงาน แต่ละสาย/ ระดับ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อหามาตรฐานกลางของค่าตอบแทนที่พนักงานในกลุ่ม มรภ.ควรจะได้รับ รวมถึง ต้องคำนวณด้วยว่าหากใช้มาตรฐานกลางค่าตอบแทนที่ มรภ.ทั้ง 40 แห่งตกลงร่วมกันแล้ว รัฐบาลจะต้องสนับสนุบงบประมาณเพิ่มให้มหาวิทยาลัยอีกเท่าใดถึงจะพอ จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณา และเสนอต่อสำนักงบประมาณต่อไป

นายเปรื่องกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบฯให้มหาวิทยาลัยเป็นก้อน เพื่อใช้จ่ายค่าตอบแทน 1.5-1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าให้มหาวิทยาลัยจ่ายเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น แต่รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วย ดังนั้น แต่ละแห่งจึงต้องหักจาก 1.5-1.7 เท่าไปจัดทำเป็นสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงานทำให้ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน

"โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ แต่ไม่ได้รวมพนักงาน และบอกให้มหาวิทยาลัยใช้เงินรายได้ของตัวเองเจียดจ่ายไปก่อน ซึ่งบางแห่งไม่มีเงินมากพอ ขณะที่ มรภ.ยังมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ดังนั้น รัฐจึงต้องรับภาระดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลเองไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบหรือ ไม่ หากต้องการให้ออกนอกระบบ ก็ควรต้องมีปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน และผลักดันมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยจะได้เตรียมความพร้อม" นายเปรื่องกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในภาพรวมคิดว่าระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เป็นไปตามแนวคิด หรือหลักการเกิดพนักงาน จะเห็นได้ว่าปัญหาซึ่งเป็นข้อกังวลก่อนมหาวิทยาลัยจะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยใน กำกับรัฐหลายข้อเป็นจริงขึ้นมาแล้ว อาทิ เงินเดือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งสูง 200,000-300,000 บาท แต่เงินเดือนพนักงานกลับต่ำมาก เสรีภาพทางวิชาการน้อยลง เพราะถูกระบบประเมินผลงานค้ำคออยู่ พนักงานไม่มีขวัญกำลังใจ เพราะไม่มีหน่วยงานที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้ และส่งผลกระทบถึงค่าหน่วยกิตของนักศึกษาที่สูงขึ้น จากหลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นวิกฤตหนึ่งของระบบอุดมศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข และหากยังไม่ทำให้ระบบพนักงานดีขึ้น คุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาจะต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะมีปริมาณงานวิจัยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เกิดผลในเชิงคุณภาพที่จะใช้งานวิจัยไปช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้ จริง ทั้งนี้ ในส่วนของจุฬามีปัญหาไม่มากเท่าที่อื่น เพราะยอมรับว่าจุฬาเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพ และทรัพยากรค่อนข้างมาก ขณะเดียวกับ พ.ร.บ.จุฬายังเขียนไว้ค่อนข้างดีและชัดเจน ตนเป็นหนึ่งในพนักงานสายวิชาการ ที่เลือกเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการมาเป็นพนักงานรุ่นแรก ได้เงินเดือน 1.7 เท่า และทุกครั้งที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ จุฬาจะปรับให้ด้วยแต่อาจจะช้าหน่อย ส่วนของพนักงานสายสนับสนุนจะได้รับเท่าไหร่นั้น ไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน

"ปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้น ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เตรียมออกนอกระบบ จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะจะสู้มหาวิทยาลัยใหญ่ไม่ได้ ขณะที่พนักงานที่บรรจุช้าจะเหมือนไม่มีอนาคต หากไม่จัดระบบดูแลให้ดีจะกลายเป็นปัญหา เพราะขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องลูกเมียน้อยแล้ว แต่พนักงานจะกลายเป็นลูกหลง และมีสถานะไม่ต่างจากลูกจ้างเท่านั้น" นายสมพงษ์กล่าว

(มติชน, 3-8-2555)

รพ.เอกชนบี้รัฐเพิ่มค่ารักษาเหมาจ่าย

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายโรคให้กับโรง พยาบาลเอกชน เพราะหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ผู้ป่วยของ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศได้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ เอง

ทั้งนี้ จากการดำเนินมาในช่วง 2-3 เดือน ทางโรงพยาบาลเอกชนพบว่ามีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาของโรงพยาบาลสูงกว่า เงินที่เบิกได้จริง โดยเฉพาะในโรคที่ต้องรักษาฉุกเฉิน เช่น การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น จึงขอให้ทางรัฐบาลช่วยปรับค่ารักษาแบบเหมาจ่ายรายโรคเพิ่มขึ้น

นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า ทางกรมมีความเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนที่สูง ซึ่งทางกรมมีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนแพทย์ นักวิชาการ พิจารณาปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาโรคให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการปี 2555 จะอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย.

(ไทยโพสต์, 3-8-2555)


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net