Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสื่อสารทางดิจิทัลโดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาปฏิวัติระบบการสื่อสาร ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็ว ข้อมูลที่ไม่เคยเข้าถึงก็ค้นหาได้ง่ายกว่าแต่ก่อน โดยรวมแล้วน่าจะพูดได้ว่าอินเทอร์เน็ตทำให้ประชาชนมีประชาธิปไตยทางข้อมูลมากขึ้น ความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนี้ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐเริ่มกังวลและหันมาควบคุมการใช้และการแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงหรือการรักษาอำนาจ ตัวอย่างก็มีมากมายคงไม่ต้องยกมากล่าวกันอีกในที่นี้ ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าสังคมปัจจุบันจะพัฒนาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีเสรีภาพอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง ทั้งการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี สองแนวคิดที่แตกต่างนี้คือจุดเริ่มต้นของพลวัตระหว่างการเมืองกับเสรีภาพอินเทอร์เน็ต


จากโลกออนไลน์มาสู่นโยบายทางการเมือง

ในที่นี้จะขอยกเรื่องราวของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตที่กำลังเบ่งบานขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ชื่อว่าพรรคไพเรต (Pirate Party) ที่แปลว่าโจรสลัดนั่นเอง พรรคไพเรตก่อตั้งขึ้นที่ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2006 [1] โดยถือว่าตนเองเป็นตัวแทนของผู้คนในยุคสังคมสารสนเทศ (Information society) ชื่อพรรคได้แรงบันดาลใจมาจาก Piratbyrån องค์กรต่อต้านลิขสิทธิ์ของสวีเดน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เดอะไพเรตเบย์ (The Pirate Bay) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะนำมาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เจ้าของธุรกิจดนตรีและภาพยนตร์จึงเรียกคนที่แบ่งปันและดาวน์โหลดข้อมูลเหล่านี้ว่า “โจรสลัด” แล้วชื่อนี้ก็กลายมาเป็นคำเรียกเหมาโหลของใครก็ตามที่พยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแบ่งปันข้อมูล

จุดหมายหนึ่งที่พรรคนี้จงใจนำคำว่าโจรสลัดมาใช้เป็นชื่อพรรคก็เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนในสังคมหันกลับมาคิดและตรึกตรองเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญา [2] แต่เดิมอุดมการณ์ของพรรคมีพื้นฐานมาจากหลักจริยธรรมของแฮกเกอร์ (hacker ethic) ที่เชื่อในหลักของการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเสรีและเรื่องความรู้และไอเดียเป็นสมบัติสาธารณะ

นโยบายหลักของพรรคไพเรตสวีเดนในตอนที่ก่อตั้งคือการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร การปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) ทั้งในโลกไซเบอร์และในชีวิตประจำวัน รวมถึงความโปร่งใสของระบบบริหารราชการ [3] จำนวนสมาชิกพรรคสะท้อนเหตุการณ์ทางสังคมของสวีเดนในช่วงปี 2006-2009 ได้ดีมากๆ ต้นปี 2006 สมาชิกพรรคมีจำนวน 2,000-3,000 คน ช่วงกลางปี 2006 ตำรวจได้บุกเข้ายึด server ของไพเรตเบย์ ถัดมาไม่กี่วันพรรคไพเรตสวีเดนได้จัดการประท้วงต่อต้านการจับกุมขึ้นและเมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องนี้ออกไปทำให้พรรคไพเรตเป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขึ้นและปัญหาเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์กลายเป็นประเด็นสังคมในสวีเดน [4] จำนวนสมาชิกพรรคตอนนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น

เมื่อศาลตัดสินคดีนี้ในปี 2009 จำนวนสมาชิกพรรคเพิ่มเป็น 50,000 คน [5] ถือเป็นพรรคใหญ่อันดับสามของสวีเดนถ้านับตามจำนวนสมาชิก ในปีเดียวกันนั้นเองพรรคไพเรตสวีเดนได้รับคะแนนเสียง 7.1% จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรป (European Parliament) ได้เก้าอี้สมาชิกสภาสหภาพยุโรปมาหนึ่งที่นั่ง [4]


โลโก้พรรคไพเรต


ความเคลื่อนไหวระดับสากล

การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีเสรีภาพอินเทอร์เน็ตเป็นประเด็นหลักไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสวีเดนเท่านั้น ในยุคที่การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ความคิดและความเคลื่อนไหวแนวใหม่ก็แผ่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2006 ที่พรรคไพเรตสวีเดนได้ก่อตัวขึ้นนั้นก็มีการก่อตั้งพรรคไพเรตขึ้นที่ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปด้วย ในปี 2007 พรรคเหล่านี้มารวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นองค์กรอิสระชื่อว่า Pirate Parties International (PPI) โดยมีจุดประสงค์ที่จะวางนโยบายร่วมกันและสร้างพันธมิตรทางการเมืองในวาระการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรปในปี 2009 [6] หลังจากที่พรรคไพเรตสวีเดนได้เก้าอี้ในสภาสหภาพยุโรป องค์กรนี้จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปีต่อมา



รูปที่ 1: แผนที่แสดงประเทศที่เป็นสมาชิกของ Pirate Parties International (สีม่วง), สีเขียวแสดงประเทศที่มีพรรคไพเรตแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก, สีเทาคือประเทศที่ไม่มีพรรคไพเรต
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Map_of_Pirate_Parties_International_Members.svg)

ขณะนี้ Pirate Parties International มีสมาชิกจาก 28 ประเทศทั่วโลก [7] (รูปที่ 1) หลักการของ Pirate Parties International มีทั้งหมดสิบข้อ [8] หลักสำคัญที่นอกเหนือไปจากหลักจริยธรรมของแฮกเกอร์คือ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสารและการศึกษา การปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนและสิทธิของพลเมือง รวมทั้งสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์เสรี นอกจากนี้ทางพรรคยังต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกชนิดและการเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยความแตกต่างทางชนชาติ ต้นกำเนิด ความเชื่อหรือเพศสภาพ

โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่าพรรคนี้ไม่ใช่แค่ตัวแทนของพลเมืองไซเบอร์เท่านั้นแต่มีนโยบายในด้านอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตโดยตรงนั่นเอง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคำประกาศของ Pirate Parties International ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรปในปี 2009 (Uppsala declaration) [9] โดยจะขอกล่าวถึงอย่างย่อๆ ดังนี้
 

  • ระบบลิขสิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่ไม่เข้ากับยุคสมัย ทั้งยังเป็นอุปสรรคในงานสร้างสรรค์ต่างๆ ต้องได้รับการปฏิรูป
  • ระบบสิทธิบัตรอย่างที่เป็นอยู่ผิดเพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิมไปมาก จนกลายเป็นผลร้ายต่อการคิดค้นนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยทาง Pirate Parties International จะเน้นเรื่องการปฏิรูประบบสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมยาเป็นพิเศษ รวมถึงการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และซอฟต์แวร์
  • สิทธิของพลเมือง: ความโปร่งใสในการทำงานของรัฐ การพิจารณาคดีที่รวดเร็วเป็นธรรมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยและควรจะได้รับการปกป้องจากการรุกรานโดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐ ในสังคมสารสนเทศพลเมืองต้องมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในติดต่อสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีรัฐเข้ามาควบคุมหรือสอดแนม

ขณะนี้ทาง Pirate Parties International กำลังจะจัดตั้งพรรคไพเรตยุโรป (European Pirates; PPEU) เพื่อลงเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรปในปี 2014 [10]


ความสำเร็จของพรรคไพเรตเยอรมนี

หนึ่งในสมาชิกของ Pirate Parties International ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งภายในประเทศของตนเองมากที่สุดคือพรรคไพเรตของเยอรมนี ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปลายปี 2006 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากพรรคไพเรตสวีเดนนั่นเอง ในช่วงแรกๆ พรรคนี้มักจะถูกล้อเลียนจากพรรคอื่นๆ ในเยอรมนีว่าเป็น พรรคแห่งการแบ่งปันไฟล์บ้าง (File sharer Party) พรรคเกรียนบ้าง พรรคเด็กเนิร์ดบ้าง เพราะสมาชิกพรรคส่วนใหญ่มีอายุน้อยและเป็นผู้คร่ำหวอดในโลกออนไลน์ (รูปที่ 2)
 


รูปที่ 2: อายุเฉลี่ยสมาชิกพรรคการเมืองในเยอรมนี
(ดัดแปลงมาจาก
http://www.flickr.com/photos/piratenpartei/3860611338/)

 

ในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งแรกของพรรคในปี 2009 ทางพรรคได้รับคะแนนเสียงถึง 2% จากการเลือกตั้ง [11] แม้ว่าเสียงที่ได้รับจะไม่เพียงพอต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในสภา แต่ก็ถือว่ามากที่สุดในบรรดาพรรคเล็กๆ ทั้งหลายในการเลือกครั้งนั้น (กฎหมายเยอรมันจะให้พรรคการเมืองมีที่นั่งในสภาก็ต่อเมื่อพรรคนั้นได้รับคะแนนเสียงเกิน 5% ของคะแนนทั้งหมด) ต่อมาในปี 2011 พรรคโจรสลัดก็มีโอกาสเข้าไปทำงานในสภาระดับท้องถิ่น หลังจากที่พวกเขาได้รับคะแนนเสียงถึง 8.9% ในการเลือกตั้งสภาแห่งรัฐเบอร์ลิน [12] ตั้งแต่ต้นปี 2012 มีการเลือกตั้งสภารัฐในเยอรมนีไปแล้วสามรัฐ สมาชิกพรรคไพเรตก็ได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาของรัฐทั้งสามคือรัฐซาร์ลัน (ได้คะแนนเสียง 7.4%) รัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย (7.8%) และ รัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ (8.2%) [13] ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครคาดคิด ปัจจุบันทางพรรคมีสมาชิกทั้งหมด 33,542 คน [14]


เสรีภาพอินเทอร์เน็ตในนโยบายพรรคไพเรต

นโยบายของพรรคไพเรตเยอรมนีมีประกาศไว้ทั้งหมด 19 ข้อ [15] เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น นอกจากเรื่องระบบลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรที่มีประเด็นตรงกับพรรคไพเรตในประเทศอื่นๆ แล้วก็มีประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างหนึ่ง ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการใช้ที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดการให้บริการอินเทอร์เน็ต รัฐจะต้องไม่เข้ามาคัดกรองหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสาธารณะ รวมทั้งต้องป้องกันไม่ให้บริษัทห้างร้านเข้ามาหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น การติดตามคดีและลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ต้องไม่มาเอาความผิดกับ provider หรือ network operators เพราะหน้าที่ของพวกเขาคือการให้บริการอินเทอร์เน็ตกับทุกๆ คนในสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนต้องมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว ความลับทางจดหมายต้องเปลี่ยนให้เข้ามาครอบคลุมความลับทางการสื่อสารทุกประเภท ประชาชนต้องมีสิทธิ์ที่จะจัดการกับข้อมูลส่วนตัวของตนโดยเฉพาะข้อมูลที่อาจมีการนำมาใช้โดยมิชอบ เช่น ข้อมูลชีวภาพ (biometric data) นอกจากนี้รัฐต้องไม่จัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนแบบเหมารวมหรือนำข้อมูลที่มีอยู่ไปวิเคราะห์และรัฐต้องไม่สอดส่องจับตาดูพลเมืองหรือจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวโดยไม่มีข้อสงสัยชัดเจน

ในทางกลับกันพรรคไพเรตผลักดันเรื่องความโปร่งใสในการทำงานของรัฐโดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต่างๆ ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีและถือได้ว่าเป็นเจ้าของข้อมูลได้เข้าดูข้อมูลเหล่านั้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีขั้นตอนมากเกินไปและไม่มีการจำกัดช่วงเวลาในการเปิดเผยข้อมูล (open data) และประชาชนต้องสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่และนำไปใช้ได้อย่างเสรี (open commons) นโยบายนี้เป็นการกลับขั้วอำนาจการตรวจสอบให้มาอยู่ในมือประชาชนโดยให้รัฐเป็นฝ่ายที่ต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชนที่ถือว่าเป็น “นายจ้าง” ของรัฐ นอกจากนี้พรรคไพเรตเยอรมนีก็ยังมีนโยบายทางด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับของ Pirate Parties International โดยจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการศึกษามากเป็นพิเศษ


ภาพโดย Michael Bird
ที่มา: ฟลิกเกอร์
Piratenpartei Deutschland  (CC BY 2.0)
 

คำถามที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในสื่อเยอรมันคือใครเป็นคนเลือกพรรคนี้และอะไรเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาลงคะแนนเสียงให้ ดูตามสถิติแล้วกลุ่มคนที่เลือกพรรคนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพลเมืองดิจิทัลที่เคยชินกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดและเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพรรคนั่นเอง แต่คนในกลุ่มอายุอื่นก็เลือกพรรคนี้ด้วย (ยกเว้นผู้สูงวัยอายุเกินหกสิบ) พวกเขามาจากคนทุกอาชีพทุกชนชั้นในสังคมเยอรมัน และก็ใช่ว่าพวกเขาจะคร่ำหวอดกับอินเทอร์เน็ตมากกว่าผู้เลือกพรรคอื่นๆ พวกเขาไม่ใช่ทั้งหัวเอียงซ้ายและหัวเอียงขวาและไม่ได้มีอุดมคติร่วมกันอย่างสุดโต่ง สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดจากกลุ่มผู้เลือกพรรคนี้คือความหลากหลายในอาชีพ ความคิดและอุดมคติ ซึ่งก็คือภาพรวมของสังคมเยอรมันในปัจจุบันนั่นเอง

นโยบายอื่นๆ ของพรรคนั้นก็เน้นเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางความคิดและการให้อิสระกับวิถีทางการดำเนินชีวิตที่แปลกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ [16] สิ่งที่ทำให้พรรคเกิดใหม่พรรคนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นวงกว้าง ก็น่าจะเป็นเพราะพรรคนี้มีความคิดแหวกแนวและไม่ยึดติดกับรูปแบบทางสังคมแบบเก่า (anti-establishment) มีการประเมินตนเองและความพยายามที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเอานำวัฒนธรรมจากโลกไซเบอร์มาใช้กับการเมือง

ตัวอย่างเช่น เมื่อสมาชิกสภาเบอร์ลิน Andreas Baum ของพรรคไพเรต ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวแล้วบอกจำนวนหนี้ของรัฐเบอร์ลินผิดไปมหาศาล จากหกหมื่นล้านยูโรเป็น “ไม่กี่ล้านยูโร” ทางพรรคก็ออกมากล่าวขอโทษที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาให้ละเอียดพอและได้จัดทำโปรแกรมใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ (application) เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียกดูข้อมูลหนี้รัฐได้ตามเวลาจริง [17] พฤติกรรมการเปิดใจยอมรับข้อผิดพลาดและนำไปแก้ไขถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ทางการเมืองของเยอรมนี ก่อนหน้านี้คงมีนักการเมืองเยอรมันไม่กี่คนที่กล้าออกมารับผิดโดยไม่ปัดความรับผิดชอบหรือโยนความผิดให้คนอื่น

Sascha Lobo บล็อกเกอร์ชาวเยอรมันกล่าวว่าพฤติกรรมการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนี้น่าจะมีต้นตอมาจากโลกไซเบอร์ที่มีความโปร่งใสทางข้อมูลสูง ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว พลเมืองดิจิทัลทราบดีว่าไม่ว่าพวกเขาจะพูดหรือยกข้ออ้างใดมาก็จะมีคนหาข้อมูลมายืนยันหรือคัดค้านจากอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แทนที่จะดันทุรังเถียงว่าตนเองถูกทั้งๆ ที่ตัวเองทำผิด ก็ควรหันมายอมรับข้อผิดพลาดและนำไปแก้ไขเสีย น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นอกจากนี้การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและการรีบนำไปแก้ไขเป็นสิ่งที่จำเป็นและเกิดขึ้นในโลกไซเบอร์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

โปรแกรมต่างๆ มีการแก้ไขและออก updates หรือ bug fixes อยู่เป็นประจำ โปรแกรมเมอร์คนไหนไม่ยอมรับข้อผิดพลาดและนิ่งเฉยที่จะแก้ไขให้ทันท่วงทีก็อาจจะตกงานได้ อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการยอมรับและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้เข้าไปอยู่ในนิสัยของพลเมืองไซเบอร์เสียแล้ว [18]

ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของโลกไซเบอร์ที่หยั่งรากลึกลงไปในพรรคไพเรตคือความโปร่งใส (transparency) และการมีส่วนร่วมของ “ผู้ใช้” (user participation) ในขั้นตอนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ได้เปลี่ยนมุมมองของพวกเขาจากการเป็นผู้บริโภคที่เพ่งความสนใจไปยังผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จออกมาแล้ว มาเป็นมุมมองของผู้ผลิตที่เพ่งความสนใจไปที่กระบวนการผลิต (อะไรเกิดขึ้น-ที่ไหน-อย่างไร) [19]

พรรคไพเรตได้นำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการทางการเมืองโดยพยายามให้สมาชิกพรรคทุกคนได้มีโอกาสออกความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของพรรคโดยไม่ต้องรอการประชุมใหญ่ของพรรค ปกติแล้วในพรรคการเมืองเยอรมันจะมีการประชุมพรรคโดยให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มมาประชุม ซึ่งตัวแทนเหล่านี้อาจจะถูกชักจูงจากล็อบบี้ยิสต์ได้ ทำให้นโยบายของพรรคอาจจะไม่ได้มาจากความเห็นของสมาชิกพรรคโดยตรง นอกจากนี้การประชุมไม่สามารถนำทุกเรื่องมาเข้าวาระได้ ทำให้บางเรื่องถูกละเลยหรือบางเรื่องก็มีความล่าช้าในการดำเนินการ สมาชิกพรรคไพเรตจึงพยายามแก้ปัญหานี้โดยการใช้การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตมาเป็นตัวช่วยให้การแสดงความคิดเห็นและการลงคะแนนเสียงในเรื่องต่างๆ ของสมาชิกแต่ละคนเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วขึ้น กระบวนการทางประชาธิปไตยก็จะลื่นไหลมากขึ้น (Liquid Democracy) [20] โดยใช้วิธีการผสมผสานหลักประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนกับประชาธิปไตยแบบทางตรงเข้าด้วยกัน นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของ LiquidFeedback ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เสรีที่นำมาใช้ในการประเมินผลความคิดเห็นของสมาชิกพรรคทั้งหมด เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและลงคะแนนเสียงได้ในแต่ละหัวข้อที่ตนเองสนใจโดยไม่มีการบิดเบือนจากปัจจัยอื่น ขณะนี้องค์กรอิสระ Interaktive Demokratie ได้พัฒนาซอฟต์แวร์นี้ขึ้นมาและอนุญาตให้องค์กรอื่นๆ นำไปใช้ได้ [21] ทางพรรคเชื่อว่า Liquid Democracy เป็นหลักการที่น่าจะนำมาทดแทนระบบพรรคการเมืองได้ในอนาคต

การผลักดันเพื่อให้พลเมืองมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นนี้ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคไพเรตเยอรมนี [15] ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่นี้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่เริ่มปรากฏขึ้นในยุคเดียวกันเช่น Occupy movement ในสหรัฐอเมริกา หรือ Indignant protest ในสเปน เนื้อหาหลักของความเคลื่อนไหวเหล่านี้คือการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าอินเทอร์เน็ตและการเมืองมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์มีผลต่อโลกออฟไลน์ (ไพเรตเบย์ – พรรคไพเรต) และนโยบายทางการเมืองก็มีผลต่อโลกไซเบอร์ (การควบคุมและเซ็นเซอร์) สุดท้ายวัฒนธรรมบนอินเทอร์เน็ตอาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองครั้งใหญ่ (Liquid Democracy) ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าพลวัตระหว่างการเมืองและอินเทอร์เน็ตจะเคลื่อนไปในทิศทางใด
 

 

 

 

อ้างอิง
[1] History of the Party. “http://www.piratpartiet.se/international”. Retrieved 2012-04-17.
[2] Name. “http://wiki.piratenpartei.de/Name” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[3] International - English - The Pirate Party. “http://www.piratpartiet.se/international/english”. Retrieved 2012-07-26.
[4] History and foundation. “http://en.wikipedia.org/wiki/Pirate_Party_%28Sweden%29”. Retrieved 2012-07-26.
[5] Member Count History. “https://pirateweb.net/Pages/Public/Data/MemberCountHistory.aspx” Retrieved 2012-07-26.
[6] Pirates Gather at First International Pirate Party Conference. “http://torrentfreak.com/pirates-gather-at-first-international-pirate-party-conference/”. Retrieved 2012-07-27.
[7] Members of the PPI. “http://wiki.pp-international.net/Members_of_the_PPI”. Retrieved 2012-07-26.
[8] Building the principles of PPI. “http://int.piratenpartei.de/Building_the_principles_of_PPI”. Retrieved 2012-04-17.
[9] European Pirate Platform 2009. “http://www.piratpartiet.se/nyheter/european_pirate_platform_2009”. Retrieved 2012-04-17.
[10] First meetings for PPEU statutes and organization and common program. http://ppeu.net/. Retrieved 2012-07-27.
[11] German federal election, 2009. “http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_2009”. Retrieved 2012-04-17.
[12] Wahl zum Abgeordnetenhaus von Berlin 2011. “http://de.wikipedia.org/wiki/Wahl_zum_Abgeordnetenhaus_von_Berlin_2011” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[13] Wahlergebnisse. “http://de.wikipedia.org/wiki/Piratenpartei_Deutschland”. Retrieved 2012-07-27.
[14] Mitglieder. “http://wiki.piratenpartei.de/Mitglieder#Grafiken_zu_Mitgliederzahlen”. Retrieved 2012-07-27.
[15] Manifesto of the Pirate Party of Germany: English Version. “http://wiki.piratenpartei.de/Parteiprogramm/en”. Retrieved 2012-07-27.
[16] Wer sind die Piratenwähler? “http://www.cicero.de/berliner-republik/wer-sind-die-piratenwaehler/46297” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[17] Berlins Schulden als App! “http://berlin.piratenpartei.de/2011/09/14/berlins-schulden-als-app/” (in German). Retrieved 2012-07-28.
[18] Falschliegen lernen. “http://www.spiegel.de/netzwelt/web/0,1518,801898,00.html” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[19] Das Apfelkuchen-Prinzip. “http://www.spiegel.de/netzwelt/netzpolitik/0,1518,811007,00.html” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[20] Liquid Democracy. “http://wiki.piratenpartei.de/Liquid_Democracy” (in German). Retrieved 2012-04-17.
[21] Interactive Democracy using Liquid Democracy. “http://liquidfeedback.org/mission/”. Retrieved 2012-04-17.

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net