Skip to main content
sharethis

เสวนาในหัวข้อ การถ่ายภาพในโลกสมัยใหม่ผ่านสายตาช่างภาพหญิง "Women's Eyes (Mata Wanita)” ที่จัดโดยเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) 

 

ภาพส่วนหนึ่งในผลงานชุด “Burqa 2010 อิสรภาพที่ถูกขโมย” ของอำพรรณี สะเตาะ
ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายในสถานที่สำคัญต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส

 

โปสเตอร์ภาพหญิงสาวมุสลิมสวมใส่ชุดยาวและผ้าปิดหน้าสีสันสดใสที่ปิดทั้งเรือนร่างอย่างิมิดชิดที่ติดอยู่ที่เสาอาคารลานกิจกรรม Student Union มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นสิ่งดึงดูดให้นักศึกษาที่อยู่บริเวณนั้นตัดสินใจเดินเรียงรายเข้ามาร่วมกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การถ่ายภาพในโลกสมัยใหม่ผ่านสายตาช่างภาพหญิง "Women's Eyes (Mata Wanita)” ที่จัดโดยเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (DSP) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และมูลนิธิ Sasakawa

กิจกรรมเสวนาครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงในการเล่าเรื่องราวหรือแง่มุมผ่านภาพถ่าย โดยมีวิทยากร 2 คน คือ อำพรรณี สะเตาะ ช่างภาพหญิงชาวยะรัง เจ้าของผลงาน Burqa 2010 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาศิลปภาพถ่าย ม.รังสิต และ ดนยา จุฬพุฒิพงษ์ อดีตช่างภาพนิตยสาร a day weekly และหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ

อำพรรณีเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย และได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย L’École Nationale Superiéure de la Photographie เมืองอัรล์ส์ (Arles) ประเทศฝรั่งเศส สาขาศิลปะภาพถ่าย หลังจบการศึกษาแล้วเธอก็นำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นรุ่นน้องในสถาบันเดียวกับที่เธอในตำแหน่งอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย  

อำพรรณีเล่าให้ฟังว่าช่วงหนึ่งในชีวิตที่ฝรั่งเศสของเธอเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในยุคสมัย เมื่อการเมืองเคลื่อนตัว ชีวิตความเป็นอยู่ วิถี กฎหมาย หลายอย่างเปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งมีการปิดกั้นบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาเพื่อต้องการลดทอนความต่างในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็กลับเพิ่มทวีความรุนแรงของความรู้สึกที่ถูกลิดรอน อย่างน้อยก็เธอคนหนึ่งที่เป็นผู้หญิงมุสลิม

ทั้งนี้ ในปี 2553 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามผู้หญิงมุสลิมคลุมหน้าในที่สาธารณะ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกับสิทธิของผู้หญิงมุสลิมและความไม่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว

“ถึงขนาดว่า ถ้าใครสวมใส่ฮิญาบในประเทศฝรั่งเศสจะถูกปรับกว่า 100 ยูโร หรือราว 6,000 บาท” อำพรรณีกล่าว

ต่อมาช่วงเดือนเมษายน 2554 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศใช้กฎหมายห้ามผู้หญิงสวมผ้าคลุมหน้าและศีรษะในที่สาธารณะ เธอในฐานะนักศึกษาภาพถ่ายก็เกิดความคับข้องใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอและกลุ่มที่ต่อสู้เรื่องการละเมิดสิทธิในประเทศฝรั่งเศสซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวได้ร่วมกันต่อต้านกฎหมายนี้ โดยเธอเลือกใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารให้ผู้คนรับรู้ว่าหญิงมุสลิมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะสวมใส่อะไรก็ได้ ทั้งศิลปะยังเป็นศาสตร์ที่เธอชื่นชอบ  เธอจึงถือโอกาสนี้ประกาศความเป็นมุสลิมให้คนอื่นได้รับรู้อย่างภาคภูมิใจโดยการคลุมฮิญาบตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“งานศิลปะมาจากความรู้สึกและความคิดของตนเอง เพียงแต่แนวคิดในการนำเสนอของผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน... ซึ่งเราต้องกล้าเริ่มที่จะสื่อสารก่อน ส่วนกระบวนการทำให้ดูน่าสนใจนั้น เป็นขั้นตอนต่อไป... ส่วนผู้ดูจะรู้สึกนึกคิดหรือมีทัศนคติอย่างไรกับภาพนั้นก็เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิของผู้ดูภาพ หากมีเพียง 1 - 2 คนที่เข้าใจผลงานของเรา ก็ถือว่าทำงานชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว เพราะการถ่ายภาพภาพเดียวยากที่จะสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้”

ทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจสำหรับภาพถ่ายชุดนี้ซึ่งอยากให้ผู้ชมได้ตระหนักและไตร่ตรองในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมฝรั่งเศส  การแสดงออกถึงความคับข้องใจ  ผ่านภาพที่แสดงให้เห็นชุดผู้หญิงมุสลิมหลากสีกับอัตลักษณ์ที่แปลกตาในสถานที่ที่สำคัญๆ ของฝรั่งเศส  เป็นการเรียกร้องเล็ก ๆ ที่ถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายชุดนี้

จากความคิดตรงนั้น เธอจึงตัดสินใจสั่งตัดชุดบุรก้า (Burqa) หลากสีจากบ้านเกิด ยะรัง ปัตตานี เพื่อนำมาสวมใส่ถ่ายภาพตรงหน้าหอไอเฟล หน้าประตูชัย Arc de Triomphe และอีกหลายแห่ง โดยปล่อยให้ชุดบุรก้าแวววาวหลากสีพลิ้วไหวไปตามกระแสลมเพื่อสะท้อนให้เห็นสิทธิและเสรีภาพที่หญิงมุสลิมเช่นเธอถูกลิดรอนไป

สำหรับผลงาน “อิสรภาพที่ถูกขโมยหรือ Burqa 2010” ใช้เวลาในการทำ 5 - 6 เดือน โดยจัดแสดงภาพไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม – 25 กันยายน 2554 โดยเป็นภาพแนว Self Portraitt โดยการใช้ Conceptual Art ซึ่งหมายถึง การใช้แนวคิดเป็นที่ตั้ง แล้วใช้สิ่งที่สะเทือนใจที่สุดเป็นที่ตั้งและแรงบันดาลใจ

 “อย่าให้ความคุ้นเคยกลายเป็นความเคยชิน เพราะจะทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สวยงาม เราต้องมีประเด็นที่จะสื่อสาร แม้จะมีเทคนิคในการถ่ายภาพไม่ดีก็ไม่เป็นไร ให้ประเด็นเราชัดเจนแค่นั้นก็พอและเพื่อความสมจริงและความละเอียดของภาพ การทำงานสารคดีของดิฉันจะไม่มีการใช้โปรแกรมตัดต่อภาพใดๆ ทั้งสิ้น และจะใช้แสงช่วยให้ภาพดูสวยงามขึ้นเท่านั้น” อำพรรณีกล่าว

ดนยา จุฬพุฒิพงษ์ ช่างภาพอิสระ เล่าถึงการถ่ายภาพในรูปแบบของเธอว่า หากช่างภาพเป็นผู้หญิงจะทำให้ผู้ถูกถ่ายไม่รู้สึกเกร็ง  ด้วยความชอบเดินทาง ท่องเที่ยวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยการมองผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป และอยากบันทึกกิจกรรมในสถานที่นั้นๆ เธอจึงใช้ความชอบเหล่านี้เป็นแนวคิดในการถ่ายรูป

“ภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายแบบ Street Photo… โดยทั่วไปในขณะถ่ายภาพ จะไม่เข้าไปอยู่ใกล้ๆ ผู้ถูกถ่าย เพราะผู้ถูกถ่ายอาจเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะยิ้มให้ก่อนถ่ายค่ะ... ส่วนเทคนิคในการลงพื้นที่เก็บภาพ คือ ใช้ความนอบน้อม และทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่ที่ลงไปเก็บภาพ ทั้งต้องช่างสังเกต และเก็บรายละเอียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย” ดนยา กล่าว

 



 

ประวัติแสดงงานและรางวัลของ  อำพรรณี สะเตาะ

2547  นิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเทศไทย
2549 “Creator” ณ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย
2549 “Post to Grapher” ณ สีลมแกลอรี่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
2550 “YOUNG THAI ARTIST AWARD 2007” ณ หอศิลป์เจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เธอได้รับได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะภาพถ่ายจากงานแสดงภาพถ่ายครั้งนี้
2551 “Face à Faces” เดือนแห่งภาพถ่าย ณ สีลมแกลอรี่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
2552 “PhotophnomPenh Festival 2009” ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
2553 “Images Singulières” ณ Sète ประเทศฝรั่งเศส
2554 “Idols and Icons” ณ Yavuz Fine Art ประเทศสิงคโปร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net