Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิ่งที่คนทำหนังไทยอิสระประสบปัญหาเจอกันถ้วนหน้าตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันคือ ทำหนังมาเสร็จหนึ่งเรื่องแล้วไม่รู้จะเอาไปฉายที่ไหนต่อดี ปกติที่ทำ ๆ กันก็คือส่งเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศบ้าง ส่งฉายในงานของมูลนิธิหนังไทยบ้าง ทางเทศกาลอย่าง World Film Festival บ้าง บางทีก็เป็นเรื่องตลกร้ายไม่น้อยที่คนนอกประเทศได้ดูหนังไทยบางเรื่องมากกว่าคนในประเทศเสียอีก ส่วนการฉายเพื่อเก็บเงินค้ากำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นดูจะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย

นาน ๆ ที่เราถึงจะเห็นการฉายหนังไทยอิสระไม่อิงค่ายแบบเก็บเงิน เริ่มจากหนังสารคดีเรื่องเด็กโต๋ ของ ป๊อป อารียาและนิศา คงศรี ที่มีคนดูถล่มทลายล้นโรงหนังลิโด แต่พอหมดเด็กโต๋ก็แทบไม่มีเรื่องใดมาฉายต่อ เพิ่งมีราวสองสามปีนี้ที่พอจะได้ดูหนังไทยอิสระบ่อยครั้งในโรง เริ่มจากฟากบริษัท Pop Picture ที่จัดฉายภาพยนตร์อย่าง Hi-so ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ และ ที่รัก ของศิวโรจน์ คงสกุล และงานของบุญส่ง นาคภู่ ที่จัดฉายด้วยทุนตัวเองที่ลิโดทั้งเรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่และสถานีสี่ภาค ซึ่งผู้ชมก็มากน้อยต่างกันไป

เสียงตอบรับของการฉายหนังน่าจะอยู่ในระดับน่าพอใจ ผมมีโอกาสได้ดูคนจนผู้ยิ่งใหญ่ของบุญส่ง เขาบอกว่ารอบฉายรอบนั้นอยู่ในภาวะเท่าทุนพอดี (ลิโดคิดค่ารอบฉายกับบุญส่ง 5,000 บาท/รอบ เท่ากับว่าถ้ามีคนดู 50 คน เขาก็จะได้เท่าทุน)
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีหนังไทยอิสระสองเรื่องที่เข้าโรงฉายในวงแคบ แต่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ชนิดที่คนทำเองก็อาจจะคาดไม่ถึง หนังเรื่องแรกได้แก่ 36 ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เรื่องหลังคือแต่เพียงผู้เดียว ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี

นวพลจัดฉาย 36 ครั้งแรกที่หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยฉายสองวัน วันละ 5 รอบ นวพลใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ในเพจทางเฟซบุ๊คและเปิดให้จองบัตรราคา 150 บาทล่วงหน้าผ่านการโอนเงินทางธนาคารแล้วส่งสลิปยืนยันมาทางอีเมล เนื่องจากห้องที่จัดฉายจุคนได้ไม่มากนักเพียงรอบละ 40 คน ทว่าทั้งสิบรอบที่นวพลเปิดให้จองก็เต็มอย่างรวดเร็ว จนต้องเพิ่มรอบฉายและย้ายสถานที่ไปยังที่ ๆ กว้างกว่าเดิมคือหอประชุมของสมาคมฝรั่งเศส ซึ่งผลของการตอบรับยังคงดีเช่นเดิม บัตรถูกจองล่วงหน้าหมดอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดนวพลตัดสินใจนำไปฉายที่ House RCA ซึ่งก็มีคนไปตามดูอยู่อุ่นหนาฝาคั่ง

ขณะที่แต่เพียงผู้เดียว ของคงเดช เข้าฉายที่ลิโดและเอสพลานาด แบบจำกัดรอบและจำนวนวันฉาย (ลิโดวันละสองรอบ ที่เอสพลานาดสี่รอบ) จากปากคำของผู้ที่ได้ไปชมและการพบเจอด้วยตนเองพบว่าคนดูกันล้นโรง ที่ลิโดถึงกับต้องเสริมเก้าอี้ และมีการจองบัตรกันล่วงหน้าถึงสองสามวัน

นวพลและคงเดชอาจจะมีข้อได้เปรียบนักทำหนังคนอื่นตรงที่เขาทั้งคู่ต่างมีผู้ติดตามผลงานอยู่ไม่น้อย นวพลนั้นเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารหลายหัว อาทิ A Day มีหนังสือรวมบทความของเขาออกวางขายหลายเล่ม เป็นทั้งคนทำหนังอิสระที่เคยคว้ารางวัลรัตน์ เปสตันยี จากมูลนิธิหนังไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นคนเขียนบทให้กับหนังค่ายแมสอย่าง GTH คาดว่ามีแฟนคลับจากตัวหนังสือมาตามกรี๊ดไม่น้อย ส่วนคงเดชนั้น ฝีไม้ลายมือการทำหนังของเขาเป็นที่ชื่นชอบของหลายคนอยู่แล้ว แถมมีสาวกที่ติดตามมาตั้งแต่ครั้งทำเพลงในนาม ‘สี่เต่าเธอ’ ที่เหนียวแน่นไม่น้อยคอยสนับสนุนอยู่ไม่ขาด และส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่เพียงผู้เดียวของคงเดชได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ การรับบทของอภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือ Greasy Cafe ที่ก็มีแฟนคลับเหนียวแน่นพร้อมสนับสนุนเต็มที่เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีลำพังชื่อเสียงที่มีแต่เก่าก่อนก็คงพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสตอบรับของคนดูเป็นจำนวนมากเช่นนี้ คงต้องยกให้ผลจากการโปรโมตผ่านแฟนเพจทางเฟซบุ๊คของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่กลายเป็นเครื่องมือฟรี ๆ ที่เผยแพร่ข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก (แฟนเพจเรื่อง 36 คือ http://www.facebook.com/36exp ส่วนแต่เพียงผู้เดียวคือ http://www.facebook.com/MyOnlyOwn)

น่าสนใจว่าทั้งสองเพจนั้นดูแลโดยนวพล เมื่อมองเข้าไปดูสิ่งที่นวพลในฐานะผู้ดูแลโพสต์ข้อมูลลงไปจะพบว่าช่วงก่อนการฉายนั้นนอกจากบรรดาโปสเตอร์หนัง เขาก็จะโพสต์ข้อมูลเบื้องหลัง เล่าเรื่องการไปฉายยังต่างประเทศ โพสต์ภาพบางส่วน คลิปบางส่วนเพื่อเรียกน้ำย่อย บางทีก็โพสต์เพลงที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเท่าใดและให้อารมณ์โทนเดียวกัน สิ่งสำคัญคือนวพลโพสต์ในเพจทั้งสองบ่อยเพื่อให้เพจมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา พอหนังจะเข้าฉายก็มีการเล่นเกมชิงรางวัลอาทิ บัตรรอบสื่อ พอถึงวันฉายจริง สิ่งที่ไม่พลาดคือการนำเอาบรรยากาศจริงในวันที่ฉายทั้งจากกล้องตนเองและกล้องของผู้ชมมาโพสต์ลง (ซึ่งย่อมทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ดูเกิดภาวะปากต่อปาก) รวมถึงการลิงค์บทวิจารณ์จากบรรดาเพื่อนพี่น้องที่เขียนถึงไปให้แฟน ๆ ในเพจได้อ่านอีกต่อ แม้บางทีนวพลไม่รู้จะโพสต์อะไรเกี่ยวกับหนังของเขา เขาก็ยังหยิบเอาหนังหรือคลิปอื่น ๆ ที่เขาชื่นชอบมาแปะแนะนำให้แฟน ๆ ได้อ่านกัน

จะเห็นได้ว่าความต่อเนื่องของการผลิตเนื้อหา และตัวคอนเทนท์ว่าเราจะเล่าอะไรบ้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การประชาสัมพันธ์โดยผ่านเฟซบุ๊คนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้คนเกิดการจดจำและอยากไปร่วมงาน โดยเนื้อหานั้นหากสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ย่อมก่อให้เกิดความประทับใจต่อแฟนในเพจมากเท่านั้น โอกาสที่จะสื่อสารได้สำเร็จย่อมมีสูง

กลยุทธ์แบบนี้น่าสนใจที่จะดูกันต่อว่าเมื่อนำไปใช้กับหนังไทยอิสระเรื่องอื่น ๆ จะประสบความสำเร็จต่อเนื่องหรือเปล่า
หมายเหตุ การใช้เฟซบุ๊คโปรโมตหนังไม่ได้พึ่งเริ่มจากหนังสองเรื่องนี้ เพียงแต่หนังสองเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมาก ก่อนหน้านี้ค่ายหนัง GTH เองก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการใช้แฟนเพจสื่อสารกับคนดูเช่นกัน เพียงแต่ GTH ได้เปรียบกว่ามากในการมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ต่างจากคนทำหนังอิสระที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net