Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“หู” ของมนุษย์เป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมไม่ได้แตกต่างไปจากการรับรู้ผ่านผัสสะอื่นๆ และเมื่อมันเป็นวัฒนธรรมมันจึงต้องผ่านการเรียนรู้ การที่สังคมหนึ่งมีการเรียนรู้การผลิตซ้ำการฟังในคนกลุ่มหนึ่งไปพร้อมๆ กับ มีการป้องกันไม่ให้มีการฟังและการเรียนรู้ในคนอีกกลุ่มมันก็เป็นกระบวนการธำรงค์รักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไว้ผ่านความสามารถของการฟัง ซึ่งนั่นก็เชื่อมโยงกับการผลิตซ้ำความสูงส่งของความสามารถในการฟังหรือการถือครอง “หู” ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

การควบคุม “หู” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสังคมสมัยใหม่ สังคมสมัยเก่าที่เส้นแบ่งของดนตรีกับสรรพเสียงต่างๆ ยังไม่ชัดเจนก็มีกระบวนการควบคุม “หู” ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ภาษาศักดิ์สิทธิ์ในบางชนชั้น ไปจนถึงกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ด้วยเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ทางพิธีกรรมที่คนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้นจะมีส่วนร่วมได้ คนในสังคมไม่สามารถแยกแยะและเข้าถึงเสียงได้เท่าเทียมกันหมดมาแต่โบราณกาลเท่าที่มนุษย์มีอารยธรรมแล้ว

กลไกต่างๆ ในสังคมดังเดิมมักจะผูกโยงกันหมด และผู้ที่พยายามละเมิดกฎเกณฑ์การผลิตซ้ำ “หู” ก็จะโดนลงทัณฑ์ที่ซ้อนกันไปหมดตั้งแต่ในระดับสังคมวัฒนธรรมไปจนถึงเศรษฐกิจการเมือง นี่คือกลไกที่จะทำให้คนไม่ละเมิดและได้มาซึ่ง “หู” ที่เขาไม่ควรจะมี กล่าวคือถ้าคุณไปละเมิดข้อห้ามทางวัฒนธรรมการฟังคุณก็อาจโดนบทลงโทษในทุกระดับของชีวิตทางสังคมจากเพื่อนร่วมสังคมไปพร้อมกับโดนบทลงโทษจากบรรดาผู้ปกครองสังคม และถึงจะเป็นสังคมที่สมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย เช่นในสังคมยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนต้น ชนชั้นศักดินาก็มีกลไกทางการเมือง (ถ้าเราจะไม่แยกมันออกจากการทหาร) ที่จะกันไม่ให้ชนชั้นล่างมี “หู” แบบชนชั้นสูงได้ [1] เพราะอย่างน้อยที่สุดดนตรีคลาสสิคก็เป็นสิ่งที่เล่นกันแค่ในรั้วในวัง ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านร้านตลาดจะเข้าถึงได้ [2] ก็ลองคิดเล่นๆ แล้วกันว่าถ้าคุณเป็นชาวนาแล้วคุณเดินดุ่มๆ เข้าไปในวังของพวกเจ้าศักดินาจะเกิดอะไรขึ้น ชนชั้นล่างจึงไม่สามารถจะมี “หู” แบบชนชั้นสูงด้วยเหตุผลดังนี้

เมื่อทุนนิยมและชนชั้นกลางเรืองอำนาจในศตวรรษที่ 19 ดนตรีอย่างดนตรีคลาสสิคก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการยกระดับทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางบางส่วนที่ได้กลายมาเป็นชนชั้นสูงใหม่ การมี “หู” ที่สามารถเข้าถึงดนตรีที่มีภูมิหลังและรายละเอียดที่ซับซ้อนอย่างดนตรีคลาสสิคของยุโรปกลายมาเป็นองค์ประกอบของชนชั้นสูงใหม่นี้ อย่างไรก็ดีชนชั้นสูงใหม่นี้ ก็ไม่สามารถสร้างพรมแดนขวางกั้นไม่ให้ชนชั้นกลางการพัฒนา “หู” ผ่านกระบวนการทางการเมืองได้แบบชนชั้นสูงยุคศักดินา เนื่องจากทุกคนดูจะเท่ากันต่อหน้าระบบทุนนิยม

ภายใต้เงื่อนไขนี้ กระบวนการสร้างพรมแดนการพัฒนา “หู” ก็เปลี่ยนไปเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจแทน กล่าวคือการได้มาซึ่ง “หู” ที่ฟังดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปได้อย่างซาบซึ้งนั้นต้องใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนดนตรี ไปจนถึงการจ่ายค่าบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ชนชั้นล่างไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ ดังนั้นการกล่าวว่าดนตรีคลาสสิคเป็นดนตรีของทุกชนชั้นนั้นจึงน่าจะตกข้อความบางส่วนไป เพราะดนตรีคลาสสิคดูจะเป็น “ดนตรีของทุกชนชั้นที่มีเงินเพียงพอ” มากกว่า ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ทำให้มันแตกต่างไปจากบรรดาสรรพสิ่งในโลกทุนนิยมที่ถึงแม้สินค้าแบรนด์หรูที่แพงที่สุดในห้างสรรพสินค้าจะไม่แบ่งแยกชนชั้นของผู้บริโภคด้วยตัวมันเอง แต่จำนวนเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคนั่นแหละที่กลายมาเป็นเครื่องแบ่งชนชั้น

รูปแบบการยกระดับทางวัฒนธรรมผ่านการพัฒนา “หู” ในเงื่อนไขของกำแพงทางเศรษฐกิจนี้ก็ปรากฏมาเรื่อยๆ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร หลังจากดนตรีสมัยนิยม (popular music) กับเทคโนโลยีบันทึกเสียงเกิดมาในตอนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รูปแบบของเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้ต่างออกไปเท่าใดนัก อย่างน้อยๆ ดนตรีที่เคยเป็นดนตรีชั้นต่ำจากโรงเหล้าและซ่องตอนต้นศตวรรษที่ 20 อย่างดนตรีแจ๊ส ก็กลายมาเป็นดนตรีที่ต้องใช้ “หู” ของผู้มีอันจะกินฟังได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำด้วยกลไกที่ไม่ได้ต่างจากกลไกที่ใช้ป้องกันไม่ให้ชนชั้นล่างเข้าถึงดนตรีคลาสสิคเท่าไร กล่าวในอีกแบบก็คือในปัจจุบันความสามารถในการฟังอดีตดนตรีชั้นต่ำอย่างแจ๊สก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ “หู” ของชนชั้นกลางระดับสูงบางกลุ่มไปเรียบร้อยแล้ว [3]

ในปัจจุบันอันเป็นยุคดิจิตัล ความสัมพันธ์กันระหว่างชนชั้นกับ “หู” ก็ยังดำรงอยู่ดี ในโลกที่ผู้คนฟัง mp3 กันอย่างกว้างขวาง ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นของ “หู” ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความสามารถในการซาบซึ้งดนตรีที่ซับซ้อนดังเช่นในยุคก่อน แต่เป็น ความสามารถในการแยกแยะ “คุณภาพเสียง” ที่แตกต่างกันจากอุปกรณ์ทางดนตรีต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดนตรี ไมโครโฟน อุปกรณ์บันทึกเสียง ยันเครื่องเสียง

ในยุคปัจจุบันอุปกรณ์ทางดนตรีสารพัดถูกผลิตจากทั่วโลกมาในคุณภาพและราคาที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถในการรับรู้ความแตกต่างนั้นก็มีราคาที่จะต้องจ่ายเพื่อที่จะได้มันมา ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากราคาที่คนจะต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หู” ที่สามารถจะซาบซึ้งไปกับดนตรีคลาสสิคหรือแจ๊สได้อย่างที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 20

ทุกวันนี้ในยุคอินเทอร์เน็ต ดนตรีที่ส่วนล่างของสังคมเคยเข้าถึงได้อย่างยากลำบากอย่างคลาสสิคและแจ๊สก็อยู่ห่างกับพวกเขาแค่เพียงมือคลิกเท่านั้นเพียงพวกเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นการไปดาวน์โหลดมาฟังหรือการดูและฟังในเว็บอย่าง YouTube ก็ล้วนเป็นหนทางในการเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ที่ง่ายดายกว่ายุคก่อนหน้านี้ที่กำแพงทางเศรษฐกิจจะทำให้คนยากจะเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ได้ง่ายๆ แน่ๆ

ในประเทศโลกที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นราคาของอาหารและเครื่องดื่มในคลับแจ๊ส และราคาบัตรคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคอันสูงลิบ หากเปรียบดูจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงลักษณะทางชนชั้นของดนตรีเหล่านี้ และในประเทศโลกที่สามที่ไม่มีการผลิตงานดนตรีเหล่านี้ในประเทศอย่างแพร่หลาย ราคาของแผ่นซีดีดนตรีเหล่านี้ที่เป็นสินค้านำเข้าราคาสูงลิบก็ดูจะเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางชนชั้นของดนตรีเหล่านี้ที่ดีเช่นกัน จะกีดกันชนชั้นที่ไม่มีอันจะกินจากการบริโภคดนตรีเหล่านี้อย่างชัดเจน [4] นี่ดูจะเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของกำแพงทางเศรษกิจในการเข้าถึงดนตรีที่หมดไปหรืออย่างน้อยๆ ก็ลดบทบาทในการปิดกั้นการเข้าถึงดนตรีเหล่านี้ในยุคอินเทอร์เน็ต

ในยุคปัจจุบันที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงดนตรีแทบทุกรูปแบบนี้ได้หรือสามารถมี “หู” ในทุกแบบที่โลกเก่ามีกำแพงสารพัดที่ป้องกันไม่ให้พวกเขามีได้ [5] กำแพงอันใหม่ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของของที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้อย่าง “คุณภาพเสียง” ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ตอนนี้คนยังไม่สามารถดาวน์โหลดมาฟรีๆ ได้

กีต้าร์ตัวละ 20,000 ต่างจากกีต้าร์ตัวละ 200,000 หรือไม่? ไมโครโฟนตัวละ 2,000 ต่างจากไมโครโฟนตัวละ 20,000 หรือไม่? เครื่องเสียงชุดละ 10,000 ต่างจากเครื่องเสียงชุดละ 100,000 หรือไม่? ไปจนถึงเสียงจาก mp3 ที่โหลดฟรีมาจากอินเทอร์เน็ตต่างจากเสียงจากแผ่นเสียงที่ราคาเป็นพันๆ หรือไม่? คำตอบของคุณจะเป็นแบบไหนมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้พัฒนา “หู” แบบชนชั้นสูงทางดนตรีในยุคดิจิตัลมาแค่ไหน

“หู” แบบนี้เกิดจากการคลุกคลีและเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ทางเสียงที่ราคาแตกต่างกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เงินและเวลาสูงในระดับที่อาจไม่ต่างจากการได้มาซึ่งหูในการฟังดนตรีแจ๊สและคลาสสิคในยุคก่อนๆ ด้วยซ้ำ แต่ความแตกต่างเหล่านี้จะดูไม่มีประเด็นเลยสำหรับคนที่ไม่มี “หู” แบบนี้ หากท่านเคยมีประสบการณ์หลุดเข้าไปในบทสนทนาของผู้คนของผู้คนที่มี “หู” ต่างจากท่านโดยสิ้นเชิง และงงงวยว่าไอ้แต่ละรุ่นของอุปกรณ์ราคาสูงลิบนั่นมันแตกต่างกันอย่างไร นี่แหละความไม่มีประเด็นที่ว่า

แน่นอนว่าบรรดาคนดนตรีทั้งหลายอาจยืนยันในความต่างของเสียงที่ท่านเพ่งแล้วเพ่งอีก (หรือตั้งใจฟังแล้วตั้งใจฟังอีก) ก็มองไม่เห็น (หรือไม่ได้ยิน) และท่านก็อาจไม่สนใจด้วยซ้ำ นี่เป็นอาการของความเสื่อมอำนาจในการแบ่งชนชั้นของ “หู” ที่เกิดการระบบที่สามารถผลิตความแตกต่างมาได้ แต่ไม่สามารถผลิตความสูงส่งมากำกับความแตกต่างได้ ซึ่งมันก็คงจะเป็นแบบนี้ตราบที่มหาวิทยาลัยยังไม่พัฒนาทักษะการแยกแยะเสียงของอุปกรณ์พวกนี้ให้เป็นศาสตร์ แบบที่มันได้รวมดนตรีคลาสสิคและดนตรีแจ๊สเข้ามาในสถาบันทางวิชาการ

นี่คือความง่อนแง่นของการเป็นชนชั้นสูงทางศิลปวัฒนธรรมในโลกทุนนิยมปัจจุบัน ที่ความต่างซึ่งเคยมีลักษณะสูงต่ำได้กลายมาเป็นความต่างที่วางอยู่บนระนาบเดียวกันที่มันไม่ได้มีความสูงส่งในระดับที่ควรค่าต่อการเหยียดหยามหรือต่อต้านด้วยซ้ำ

ในกรอบแบบนี้การยกระดับ “เสียงที่ดี” ของอุปกรณ์ทางดนตรีราคาสูงๆ และการประณามหยามเหยียด “เสียงที่ห่วย” ของอุปกรณ์ทางดนตรีราคาต่ำๆ มันก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกระบวนการดิ้นรนในการสร้างความเหนือกว่าทางศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงทาง “หู” ใหม่ที่มีสถานะของตนไม่มั่นคงเอาเสียเลยในยุคนี้ และนี่ก็คงจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการเมืองพอๆ กับที่มันจะเป็นเรื่องของสุนทรียะตราบที่ความแตกต่างของสิ่งเหล่านี้มีต้นตอมาจากความต่างทางเศรษฐกิจการเมือง

ดังนั้นการทำให้กีต้าร์ถูกๆ จากจีน ไปจนถึง mp3 และลำโพงคอมพิวเตอร์กากๆ ไม่ได้มีความต่ำต้อยด้อยค่าไปกว่ากีต้าร์แฮนด์เมดจากอเมริกา แผ่นเสียง และชุดเครื่องเสียงอย่างดี หรือการปฏิเสธความแตกต่างในเชิงสูงต่ำของคุณภาพเสียงที่ออกมาจากสินค้าทั้งสองกลุ่มจึงเป็นการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางศิลปวัฒนธรรมขึ้น และการยืนยันมันสำเร็จก็ถือเป็นชัยชนะทางศิลปวัฒนธรรมแบบประชานิยม หรือชัยชนะของ “หู” แบบชาวบ้านในยุคปัจจุบัน

แน่นอนว่านี่ยังห่างไกลชัยชนะของความเท่าเทียมหรือชัยชนะต่อทุนนิยมมาก แต่ชัยชนะในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เช่นกันเพราะมันก็ส่งผลต่อจิตสำนึกของผู้คนในระยะยาว และอย่างน้อยที่สุดชัยชนะของความเท่าเทียมทางการเมืองก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของมนุษยชาติ ตราบที่พื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมยังเต็มไปด้วยความเท่าเทียมและลำดับชั้นที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่

 

อ้างอิง:

  1. จริงๆ ประเด็นนี้ซับซ้อน เพราะก็มีงานจำนวนหนึ่งเสนอเช่นกันว่าชนชั้นศักดินาก็ไม่ใช่ชนชั้นที่จะซาบซึ้งกับดนตรีคลาสสิคนักในภาพรวม เพราะดนตรีแบบนี้ในบางครั้งก็ดูเป็นเครื่องประดับชนชั้นมากกว่า พวกชนชั้นกลางต่างหากที่เป็นพวกที่พัฒนาการฟังอย่างจริงจังและให้คุณค่ากับดนตรีเหล่านี้มากกว่าชนชั้นสูงเสียอีด ดู James H. Johnson, “Musical Experience and the Formation of a French Musical Public”, The Journal of Modern History, Vol. 64, No. 2 (Jun., 1992), pp. 191-226
  2. นี่ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นสูงจะเห็นว่าดนตรีชาวบ้านเป็นของต่ำไม่ควรจะไปยุ่ง การสนุกสนานกับศิลปวัฒนธรรมชาวบ้านของชนชั้นสูงเป็นเรื่องปกติมากๆ ชนชั้นสูงจะมีลักษณะแบบ “ทวิวัฒนธรรม” คือสามารถสนุกกับศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและล่างได้ ในขณะที่ชนชั้นล่างจะไม่สามารถซาบซึ้งกับความซับซ้อนของศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นสูงได้
  3. ส่วนประเด็นที่ว่าคนกลุ่มนี้ทับซ้อนและแตกต่างจากกลุ่มคนที่มี “หู” ดนตรีคลาสสิคอย่างไรก็คงจะเป็นประเด็นใหญ่เกินกว่าที่จะพูดในที่นี้
  4. จริงๆ มันมีประเด็นเรื่องการเปิดพรมแดนการฟังของชนชั้นกลางล่างด้วยเทปผีอยู่ด้วย แต่นั่นก็ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เกินกว่าที่จะพูดในที่นี้เช่นกัน
  5. อย่างไรก็ดีการเข้าถึงดนตรีทุกรูปแบบได้จริงๆ ก็ดูจะไม่ใช่สิ่งง่ายๆ เพราะดนตรีในโลกก็มีสารพัดรูปแบบที่ไล่ฟังให้หมดไม่หวาดไม่ไหว แต่ละท้องถิ่นในโลกก็มีดนตรีป๊อบของตัวเองทั้งสิ้นและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่แบบสองแบบด้วย การจะไล่ฟังดนตรีทุกรูปแบบมันหมายถึงการเผชิญหน้ากับดนตรีเป็นพันเป็นหมื่นรูปแบบที่แม้คนที่ฟังเพลงแบบไม่ทำมาหากินเลยก็ยากจะตามฟังได้หมดถึงจะใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีก็ตาม ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงกำแพงทางภาษาในการสืบค้นในอินเทอร์เน็ตที่ผู้นิยมชมชอบดนตรีนอกโลกภาษาอังกฤษน่าจะเคยพบเจอบ้าง (เช่นการสืบค้นเพลงภาษาญี่ปุ่นของวงดนตรีที่ชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นใน Youtube โดยคนที่ไม่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net